Group Blog
All Blog
<<< " คนที่ซื้อของทางเน็ตควรอ่าน" >>>












คนที่ชอบซื้อของทางเน็ต สมควรอ่านให้ดีดี.....

มีคนเขียนโพสนี้มาให้ทุกท่านครับ

(มาทราบทีหลังว่า คนเขียนโพสนี้คือ

Boonlong Noragitt

ผู้พิพากษา ที่ศาลอาญาธนบุรี ครับ)

ท่านใดมีปัญหาข้อกฎหมาย

สามารถถามท่านได้โดยตรงนะครับ

https://www.facebook.com/boonlong.n/

posts/1165769496769977?hc_location=ufi

วันนี้ขอดราม่าเล็กๆ แต่มีสาระ

ผมไม่ค่อยมีเวลา ชอบนั่งซื้อของทางเน็ต

เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ในไทยยังไม่มีการขายของทางเน็ต

 ได้แต่ซื้อใน eBay มาสิบกว่าปีก่อน

 ตอนนี้ไทยเรามีการขายของทางเน็ตกันเพียบ

 ผมก็ซื้อตามปกติ และไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย

จนกระทั่งได้ไปซื้อของจากค่ายดังของเยอรมัน

 บริษัท ล. โฆษณาในทีวีน่าเชื่อถือ

ในครั้งสุดท้ายที่ซื้อ

 ปรากฏว่าสั่งของ ๒ ชิ้น ๆ ละ ๙๐๐ บาท

 พอมาส่งเราก็จ่ายเงินไป ๑,๘๐๐ บาท

 เปิดกล่องดูมีของแค่ชิ้นเดียว แถมใบส่งของเป็นคนอื่น

 แต่ของอย่างเดียวกัน ผมก็ถ่ายรูปของในกล่อง

 พร้อม Delivery Note ส่งให้ดู

 เจ้าหน้าที่รับปากว่าจะติดต่อในทันที....

เงียบหายไปสามวัน มีคนจากบริษัทอะไรไม่รู้

โทรมาสอบถาม ผมก็เล่าเรื่องแล้วก็...เงียบ

หายไปอีก ๑๐ วัน ก็มีเจ้าหน้าที่ บริษัท ล. โทรมา

แล้วก็...เงียบหายไปอีก ๕ วัน

 ก็มีเจ้าหน้าที่โทรมาอีก ผมเลยบอกว่า

"ผมเป็นผู้บริโภคที่ดี

 จ่ายเงินก่อนเห็นสินค้า (ตามกฎของคุณ)

 ได้เงินผมไปแล้วสินค้าได้ไม่ครบ เพราะคุณส่งผิด

 เวลาผ่านเป็นเดือนยังไม่เรียบร้อย

 แค่ส่งของให้ผมอีกชิ้นมันยากหรือครับ

 ความผิดของคุณทำไมผมต้องมารับกรรมนั้นด้วย

 ผมให้เวลา ๗ วัน เกินจากนั้นไปเจอกันในศาล"

 เจ้าหน้าที่ก็วางสายไปอย่างไม่พอใจ

 เพราะได้ยินเสียงแข็ง ๆ ของผมที่เริ่มมีอารมณ์

เย็นวันที่ ๗ ผมก็นั่งพิมพ์ภาพที่ถ่ายส่งให้ดูตอนเปิดกล่อง

 หลักฐานอย่างอื่นไม่มีอะไรเลย

เช้าวันรุ่งขึ้นเดินไปศาลแขวง

ในเขตที่ผมนั่งสั่งซื้อหน้าคอมทางอินเตอร์เน็ต

 พูดยากจัง 555 ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือบ้านผมนั่นเอง

 เพื่อให้เจ้าพนักงานศาลช่วยจัดการให้

เริ่มเข้าสาระครับ

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคบัญญัติให้

ต้องมีเจ้าพนักงานศาล ทำหน้าที่ร่างฟ้องให้ผู้บริโภค

เรียกกันว่า "เจ้าพนักงานคดี"

 ช่วยค้นหาหลักฐานทางทะเบียนของจำเลยให้

 กรณีนี้คือหนังสือรับรองบริษัท

 ศาลจะนัดเร็วครับ ประมาณ ๓๐ วันได้เจอกัน

 ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่ยุ่งยากอะไรเลย

 เพราะกฎหมายนี้สร้างเพื่อคุ้มครอง

ใครครับ....แน่นอน ผู้บริโภค

เจ้าพนักงานศาลร่างคำฟ้องให้ผมเสร็จเรียบร้อย

โดยไม่ต้องมีทนายความ

ให้ผมลงชื่อในเอกสารหลายอย่าง

 แล้วพาไปยื่นที่เคาเตอร์รับฟ้อง

ได้วันนัดเป็นอันเสร็จเรียบร้อย

หลังจากได้รับคำฟ้องผมแล้ว

บริษัท ล. โทรหาบอกจะคืนเงิน ๙๐๐ บาท

 ผมบอกว่าตอนนี้จะตกลงอะไรให้ไปคุยกันในศาล

 เลยได้ส่งอีเมล์ให้ผม บอกว่า

ได้รับของที่ผมส่งคืนแล้ว ๒ ชิ้น ผมก็เริ่มฉุนเล็กน้อย

 จะเอามาเป็นทริกในคดีหรือเปล่าว่าผมคืนของเอง

 ไว้เจอกัน ส่งสองสามครั้ง

 แถมส่งข้อความมือถืออีกต่างหาก

 ทีอย่างนี้ดำเนินการรวดเร็วฉับไวในทันที

ในวันศาลนัด ทางบริษัท ล. เตรียมทนายความ

ที่จ้างจากนอกบริษัท ล. นิติกรของบริษัท

 และผู้จัดการ เตรียมเอกสารมาปึกใหญ่

 ศาลถามว่าคุณไม่ส่งของใช่ไหม เขาก็ขอไกล่เกลี่ย

ในห้องไกล่เกลี่ย ผู้จัดการก็ขอโทษ

ทนายเริ่มรู้ว่าผมเดินไปตรงไหน

 ทนายความในและนอกห้องพิจารณา

ก็ทักทายยกมือไหว้

 เรียกท่าน หน้าบัลลังก์ก็รู้จัก พอรู้สถานะเรา

การพูดคุยก็ง่ายขึ้นเยอะ

 ทนายความไม่โย้เย้เรื่องมากตามสไตล์

 ในที่สุดก็ยอมตามฟ้องทุกประการ

 จ่ายเงินคืนให้ผม ๙๐๐ บาท

พร้อมค่าเสียเวลาค่าโมโหอีก ๒๐,๐๐๐ บาท

หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ๑๕ วัน

 แถมคูปองลดราคามาอีก ๑,๐๐๐ บาท

ผมก็เอาเงินที่ได้ไปทำบุญ

อยากให้รู้ว่า.....

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้น

 บัญญัติไว้สำหรับผู้บริโภค

ไม่ต้องมีทนายความ

ไม่ต้องหาหลักฐานของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ

 มีเจ้าพนักงานศาลร่างคำฟ้องให้เรียบร้อย

 แถมหากต้องสืบพยาน ศาลถามให้

 ไม่ต้องรู้อะไรมากครับ แค่รู้ว่าเราเสียหาย

 เสียเปรียบอย่างไร คุ้มครองไม่ว่าเรื่องการซื้อขาย

การให้บริการ สินค้าไม่ดี ไม่มีคุณภาพ

ส่งของไม่ครบ สินค้ามีปัญหากับเนื้อตัวร่างกาย

 เรียกว่าได้หมด แถมหน้าที่นำสืบตามที่เราฟ้อง

ตกกับฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ

ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และค่าส่งหมายเลย

 สรุปง่าย ๆ ไม่เสียสักบาทแล้วกัน

 คนไทยยังรู้เรื่องนี้น้อย

 แถมยังยอมเสียเปรียบอย่างไม่น่าเชื่ออีกจำนวนมาก

หากเราโดนกระทำและเสียหาย

การนิ่งเฉย คือการทำลายระบบ

 เพราะเราไม่ต่อต้านผู้ไม่สุจริต

 กลับสนับสนุนให้เขาเหิมเกริม

กล้าปฏิบัติแย่ๆ กับลูกค้าอีกนับจำนวนไม่ถ้วน

การกระทำของผมในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท

 แต่ทำให้เขาไม่กล้าไปปฏิบัติแย่ ๆ

กับประชาชนอีกจำนวนมาก นั่นคือสิ่งที่ผมชนะ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ








ขอบคุณที่มา fb.Kraisorn Chairojkanjana




Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2561 9:58:47 น.
Counter : 1387 Pageviews.

2 comment
### ลูกนอกสมรสรับมรดกจากบิดาได้นะ ###










#‎ลูกนอกสมรส‬ ถ้าพ่อดูแลเลี้ยงดูออกหน้าออกตา

ชาวบ้านรับรู้ มีสิทธิ์รับมรดกได้นะ#

ชีวิตคู่ในยุคใหม่ หลายๆท่านอยู่กินกันฉันผัวเมีย

 จนมีลูกมีเต้า บุตรที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

ตามกฎหมาย เรียกว่า

 " บุตรนอกกฎหมาย" หรือ"บุตรนอกสมรส"

ซึ่งลูกบางท่านต้องเสียสิทธิ์ในการรับมรดก

เพราะความไม่รู้ซึ่งคิดว่า

 ต้องเป็นลูกที่พ่อแม่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น

ถึงจะได้รับมรดกของพ่อได้

เพจทนายเพื่อนคุณ ตระหนักถึงการเสียสิทธิ์

ในการรับมรดกของลูกนอกสมรส

จึงขอ ตอกย้ำ! สร้างความชัดเจน!! ในเรื่องดังกล่าวนี้

มาตรา1627 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 ได้กล่าวว่า "บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

และบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน

 เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้"

จะเห็นได้ว่าตามความหมายในมาตรานี้

บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว หมายถึง ดังนี้

1.บุตรสืบสายโลหิตของบิดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา

2.การรับรองในที่นี้เป็นการแสดงออกโดยพฤตินัย

ก็ถือว่าบิดาได้รับรองแล้ว เช่น ให้ใช้นามสกุล

 เลี้ยงดูส่งเสียจนชาวบ้านรับรู้ว่าเป็นลูก

ฎีกา 1854/2551

ผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากับมารดาของผู้ตาย

ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5

 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน

ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตลอดมา

ซึ่งทำให้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมาย

ที่ผู้คัดค้านรับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม

 แต่ผลของบทบัญญัติดังกล่าวก็เพียงแต่ให้ถือว่า

บุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

มีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น

หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรม

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่

ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทของผู้ตาย

หรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย

ที่จะมีสิทธิคัดค้านการขอจัดการมรดก

หรือร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

ฎีกา 513/2546

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564

 บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

 ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627

 ให้ถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 ซึ่งมีผลทำให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดก

ในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้น

เมื่อ ช. ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย

ในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ส. และเด็กชาย ว.

บุตรของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม

ของเด็กชายทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะ

จากจำเลยผู้ทำละเมิดแก่ผู้ตายได้

สรุป "บุตรนอกสมรส" หรือ"บุตรนอกกฎหมาย"

ถ้าบิดาดูแลเลี้ยงดูชาวบ้านรับรู้หรือมีพฤติกรรม

แสดงออกถึงความเป็นพ่อ

กฎหมายก็ถือว่าบิดาได้รับรองบุตรโดยพฤตินัย

ทำให้มีสิทธิ์รับมรดกเทียบเท่าบุตรในสมรส

ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมชั้นแรกครับ

ขอขอบคุณภาพจาก comment-joke-funny.blogspot.com







ขอบคุณที่มา fb. ทนายเพื่อนคุณ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 11 มิถุนายน 2559
Last Update : 11 มิถุนายน 2559 11:13:01 น.
Counter : 2171 Pageviews.

0 comment
### เมื่อรถบรรทุกจ่ายส่วยใครผิด ###




.....คุณ Ong Krub นำคำพิพากษาที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัย

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ที่มีการกระทำในลักษณะเดียวกับที่มีคลิป

เผยแพร่มาลงให้อ่านกันคือ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๐๙/๒๕๔๑

เป็นฎีกาย่อมีเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย อ่านดูครับ

.....คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

ร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจ

ให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ

เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงิน

จากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมา

ไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่

.....โดยจำเลยที่ 1เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า

"ตามธรรมเนียม" คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิด

ก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ด้วยความเกรงกลัว

ต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ

 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าว

เป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ

ข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุก

มอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4

อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว

.....และหากรถยนต์บรรทุกคันใด

มีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย

ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม

การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าว

ย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงิน

จากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบ

เพื่อไม่กระทำการในตำแหน่งคือไม่จับกุมตามหน้าที่

อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149

.....แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน

จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้

เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกัน

โดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

 คือผิดทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148

และ มาตรา 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์

ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่ากัน

 และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้ว

ก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

 มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก

.....ขอยืนยันอีกครั้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง

ที่เรียกรับเงินจากคนขับรถบรรทุกสิบล้อ

ตามคลิปที่มีการนำมาเผยแพร่มีความผิด

มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘

หรือมาตรา ๑๔๙ แน่นอน

ขึ้นอยู่กับผู้บังคัญชาของนายตำรวจคนดังกล่าว

จะดำเนินคดีหรือไม่ เท่านั้น

.....ถ้าผู้บังคับบัญซาไม่ดำเนินคดี ประชาชนทั่วไปก็มีสิทธิ

ไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกัน

ละปราบปรามการทุจริตภาครัฐหรือ ป.ป.ท. สอบสวนได้

.....แต่ถ้าจะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดำเนินคดี

แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงคนดังกล่าว

อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

ก็ต้องไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกัน

และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ครับ



ขอบคุณที่มาของข้อมูล fb. อาจารย์ชูชาติ ศรีแสง





Create Date : 23 มีนาคม 2559
Last Update : 23 มีนาคม 2559 10:45:08 น.
Counter : 856 Pageviews.

0 comment
### พินัยกรรมชีวิต สิทธิการตายโดยชอบด้วยกฎหมาย ###















‘พินัยกรรมชีวิต-สิทธิการตาย

โดยชอบด้วยกฎหมาย'

‘พินัยกรรมชีวิต-สิทธิการตายโดยชอบ ก.ม.’ :

 โอภาส บุญล้อมรายงาน


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด

 ได้มีคำพิพากษาคดีสำคัญที่ประชาชนคนไทยควรรู้เป็นอย่างยิ่ง

 เพราะเป็นเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกคน

คดีดังกล่าว เป็นคดีที่กลุ่มแพทย์กลุ่มหนึ่ง

 นำโดย นพ. ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น

และ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น เป็นจำเลย

 ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลพิพากษา

ให้ยกเลิกกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 12 วรรคสอง

 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

  ที่ว่าด้วยการให้สิทธิการตายกับผู้ป่วย

หรือการขอละเว้นการรักษาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

ทั้งนี้ สาเหตุที่แพทย์กลุ่มดังกล่าวยื่นฟ้อง เพราะเห็นว่า

กฎกระทรวงที่ให้สิทธิกับผู้ป่วยในการปฏิเสธการรักษาของแพทย์

ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น

เป็นการขัดต่อจรรยาบรรณของแพทย์

ที่ห้ามแพทย์หยุดการรักษาผู้ป่วย

สำหรับ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

 บัญญัติว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนา

ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป

เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน

 หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

วรรคสอง บัญญัติว่า การดำเนินการตามหนังสือ

เพื่อแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์

และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

วรรคสาม บัญญัติว่า เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข

ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว

มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด

และให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา "ยกฟ้อง"

โดยประเด็นสำคัญในคำพิพากษา คือ ศาลเห็นว่า

 1.กระบวนการร่างกฎหมายเป็นไปตามขั้นตอนครบถ้วน

2.มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาวิชาชีพและองค์กรต่างๆ

3.สอดคล้องตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญปี 50

 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพและประกาศสิทธิผู้ป่วยของแพทยสภา

 รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศของแพทยสมาคมโลก

4.การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาลนั้น

 เป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกาย

โดยเป็นการยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้า

เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบความประสงค์ของตนว่า

จะใช้สิทธิเช่นใด จึงไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

และความสงบเรียบร้อยของประชาชน

นั่นเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

ได้รับรองว่า กฎกระทรวงว่าด้วยการให้สิทธิการตายกับผู้ป่วย

ที่จะปฏิเสธการรักษาจากแพทย์ในช่วงระยะสุดท้าย ชอบแล้ว

สิทธินี้มีมาตั้งแต่ ปี 2550 แล้ว แต่ผ่านมา 8 ปี

ปรากฏว่าคนไทยใช้สิทธินี้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

 เนื่องจากไม่รู้ถึงสิทธิดังกล่าว

แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า

1.การที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษา

ซึ่งมีผลทำให้แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าวนั้น

ไม่ใช่สิทธิเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่ แต่เป็นสิทธิในการเลือก

ที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ

2.แพทย์ไม่มีหน้าที่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา

ไม่ประสงค์จะรับการรักษา ถึงแก่ความตาย

 เพราะหากทำจะมีความผิดตามกฎหมายฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

 จะเห็นได้ว่ากรณีสิทธิการตายของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต

 ไม่ใช่การการุณยฆาต หรือปรานีฆาต

ที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “euthanasia” หรือ “mercy killing”

ที่สามารถทำให้บุคคลตายโดยเจตนา

ด้วยวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก

 เช่น การใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง

เพื่อยุติชีวิตผู้ป่วยเพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น

หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา

3.ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์

แบบประคับประคองจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

 จึงไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา

 4.หากผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาระบุในหนังสือแสดงเจตนา

ให้งดเว้นการรักษาหรือใช้ยา

และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง

เพื่อยุติชีวิตที่ไม่ใช่วาระสุดท้าย ซึ่งเป็นการเร่งการตาย

แพทย์ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้

หากปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว

 แพทย์จะใช้มาตรา 12 วรรคสอง

 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

 มายกเว้นความผิดของตนเองไม่ได้

และในเรื่องทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ปฏิเสธการรักษา

 มีตัวอย่างให้เห็นซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วย

 คือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

 ได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ปฏิเสธ

การรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต

 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551

มีใจความว่า “ในขณะที่เขียนหนังสือแสดงเจตนารมณ์นี้

 ผมมีสติสัมปชัญญะเป็นปกติดีทุกประการ

 โดยมีญาติของผมเป็นพยาน ผมขอใช้สิทธิตามมาตรา 12

ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

โดยขอยืนยันสิทธิของผมดังนี้

ในกรณีที่ผมป่วยด้วยสาเหตุใดก็ตาม

จนตกอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจรักษาให้หายกลับมามีชีวิตได้อีก

 และผมไม่มีสติสัมปชัญญะ ที่จะพิจารณา

เกี่ยวกับแผนการรักษาของผมได้แล้ว หากหัวใจผมหยุดเต้น

 ผมขอไม่รับการกระตุ้นหัวใจด้วยวิธีการต่างๆ

หากการหายใจผมล้มเหลวลง ผมขอไม่รับการเจาะคอ

หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

 ผมขอรับการรักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน

 ไม่ขอรับการรักษาหรือรับการกระทำใด

ที่จะยืดการตายของผมออกไปโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้เพื่อให้ผมเสียชีวิตไปโดยธรรมชาติ”

ก่อนหน้านี้ เคยมีการจัดสัมมนากันในเรื่อง

 “การให้สิทธิการตายกับผู้ป่วย" ตามมาตรา 12 วรรคสอง

 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ไปร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

 ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กล่าวว่า

ไม่เห็นด้วยเพราะกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการออกแบบการตาย

ให้เร็วขึ้นตามเอกสารเพียงหนึ่งใบ

 และผลักภาระความรับผิดชอบมาให้แพทย์

โดยเฉพาะหากเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

เมื่อผู้ป่วยยังไม่ถึงวาระสุดท้ายที่จะตาย

“กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยตายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 เพราะอาจไม่ทราบว่าตนจะรักษาหายหรือไม่

หรือญาติอยากให้ตายเพราะอยากสิ้นสุดภาระการดูแล

ย้ำว่า ไม่ได้กลัวการฟ้องร้อง แต่กลัวบาปติดตัว

 และมองว่าไม่จำเป็นต้องทำตามคนไข้ทุกอย่าง

ถ้าขัดกับมโนสำนึกของแพทย์”

ด้าน ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ๊งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพ

และจริยศาสตร์ บอกว่า หลักการของ

“หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 (Living will)”เป็น “การแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า”

 ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติได้ถูกต้องมีหลักการ

และยังเห็นว่า วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์

และเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีเครื่องมือช่วยยืดชีวิตผู้ป่วย

บางครั้งทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า

 “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง”

กล่าวคือ ผู้ป่วยจะต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ

เพื่อจะได้รับออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ผู้ป่วยอาจจะไม่มีความรู้สึกตัว หรือมีเพียงเล็กน้อย

จนไม่มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้

การช่วยชีวิตแบบดังกล่าวทำให้ความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยลดลง

 ผู้ป่วยจึงควรมีสิทธิที่จะตายโดยปฏิเสธการรักษาดังกล่าวได้

เพื่อให้กระบวนการตายมีสภาพเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

"สิทธิที่จะตายจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติ 

 มนุษย์สามารถกำหนดว่าตนเองจะใช้สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่

 (the right to life) หรือสิทธิที่จะตาย (the right to die)

ได้ตามความประสงค์ของแต่ละคน

เป็นการยอมรับสิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตนเองของมนุษย์

รวมทั้งความมีอิสระในการตัดสินโชคชะตาของตนเอง

 (the right to self-determination)

สิทธิที่จะตายจึงแฝงเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอิสระเสรี

ของมนุษย์นั่นเอง"

ส่วน นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์

โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า

การอยู่โรงพยาบาลนานๆ โดยใส่เครื่องไม้เครื่องมือแพทย์

ไม่ใช่สิ่งดี เพราะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน

แต่เราเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าสามารถยืดอายุได้

ซึ่งทำให้เกิดความทรมานต่อผู้ป่วย

 ให้เอาประโยชน์คนไข้เป็นที่ตั้ง

ผศ.ดร.ทัศนีย์ ทองประทีป วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ กล่าวว่า

 ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

 การตายเป็นเรื่องสำคัญ การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่ดี

ซึ่งแพทย์พยาบาลเป็นคนกลางในการทำหน้าที่รักษา

 การมีกฎกระทรวงทำให้เราสบายใจขึ้น

แต่แพทย์และผู้ใช้บริการต้องพูดคุยกันมากขึ้นในเรื่องเจตนา

 เพราะผู้ป่วยภาวะอารมณ์ไม่มั่นคงในแต่ละวัน

 ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของญาติด้วย”

“สิทธิการตาย” ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย

 แต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว

สำหรับเมืองไทยที่ถกเถียงเรื่องนี้มีความชัดเจนมากขึ้น

หลังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมา











ขอบคุณที่มา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2558
ขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพค่ะ




Create Date : 05 มกราคม 2559
Last Update : 5 มกราคม 2559 11:30:23 น.
Counter : 1182 Pageviews.

0 comment
### สิทธิในการเป็นภรรยาและบุตร ###












.....ชาย หญิง ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา

แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย

จึงไม่ใช่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายไปฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่

ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย

.....ยกเว้นกรณีทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากินร่วมกัน

ก็มีสิทธินำมาแบ่งกันฝ่ายละครึ่งหนึ่งก่อน

ส่วนที่เป็นของผู้ตายซึ่งเป็นมรดกผู้มีสิทธิรับมรดกก็รับไป

.....ถ้าสามีหรือภรรยาถูกกระทำละเมิด เช่น ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย

 ถูกรถชนถึงแก่ความตาย ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย

ที่จะเรียกค่าเสียหายใดๆ หรือค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้กระทำละเมิดได้

.....บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน

 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา

แต่ไม่ใช่บุตรที่ชอบกฎหมายของบิดา

ถ้าเลิกอยู่กินกันบิดาไม่มีสิทธิใดๆ ในตัวบุตร

.....ถ้าต้องการให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

 บิดามารดาก็ต้องไปจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง

หรือบิดาไปจดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร

บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย

หรือค่าอุปการะเลี้ยงดู จากผู้ที่กระทำละเมิดต่อบิดา

เสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

.....บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าบิดาให้การรับรองว่าเป็นบุตร

เช่น ไปแจ้งตอนเด็กเกิดว่าเป็นบุตร ให้ใช้นามสกุล

 แนะนำแก่บิดา มารดา ญาติ หรือพรรคพวกเพื่อนฝูงว่าเป็นบุตร

 ส่งให้ศึกษาเล่าเรียน เช่นนี้ บุตรคนนั้นมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาได้

 แต่ไม่มีสิทธิอื่นๆ เหมือนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

 เช่น บำเหน็จตกทอดต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

จึงมีสิทธิได้รับเพราะไม่ใช่มรดกของผู้ตาย

 ..................................






ขอบคุณที่มา fb. Chuchart Srisaeng

ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ





Create Date : 18 ธันวาคม 2558
Last Update : 18 ธันวาคม 2558 11:59:33 น.
Counter : 954 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ