Group Blog
จะแปลผลการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซีและค่ามะเร็งตับ(AFP) อย่างไร ###
















จะแปลผลการตรวจคัดกรอง

ไวรัสตับอักเสบบี และซี

 และค่ามะเร็งตับ (AFP) อย่างไร



ต่อจากบทที่แล้วสำหรับท่านที่รักสุขภาพ

เมื่อไปตรวจเช็คตับตามโรงพยาบาลหลายแห่ง  

นอกจากจะตรวจเช็คค่าตับแล้ว มักจะตรวจค่ามะเร็งตับ

ร่วมกับคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซีให้ด้วย

จะแปลผลอย่างไร





การตรวจว่ามีการติดเชื้อไวรัสบีหรือซี 

 ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหามาก คือ ไวรัสบี (HBsAg)

ถ้าให้ผลบวกแปลว่ามีการติดเชื้อไวรัสบีอยู่ 

 ต้องไปตรวจเพิ่มเติมว่าอยู่ระยะไหนของโรค

จะต้องให้การรักษาหรือไม่

สำหรับไวรัสซี (AntiHCV  ถ้าให้ผลบวก

 แปลได้สองแบบคือ

เคยติดเชื้อมาแล้วและโรคหายไปแล้ว

หรือกำลังมีโรคอยู่

ขั้นต่อไปต้องไปตรวจเลือดเพิ่มเติม

เพื่อนับจำนวนไวรัส

(HCV RNA) เพื่อพิสูจน์ว่ามีเชื้ออยู่หรือไม่

มากน้อยอย่างไร

AFP (เอ เอฟ พี) ย่อมาจาก

คำว่า Alpha fetoprotein)

เป็นสารที่หลั่งออกมาจากเซลล์ตับปกติ

ที่กำลังแบ่งตัวเพิ่มจำนวน

หรือหลั่งออกมาจากเซลล์มะเร็งตับ

นอกจากนี้ยังหลั่งออกมาจากรกในครรภ์มารดา 

 จากเซลล์มะเร็งบางชนิดที่มีเซลล์ของตัวอ่อน

ที่เรียกว่า Germ cell tumor ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อย

เห็นอย่างนี้่การแปลผลย่อมมีความซับซ้อน

 ไม่ใช่ค่าสูงขึ้นจะต้องเป็นมะเร็งตับเสมอไป





ค่า AFP  ปกติแล้วต้องวัดระดับได้

ในคนปกติที่มีอวัยวะ

ที่เรียกว่า ตับอยู่ในร่างกาย 

 จึงไม่ใช่ให้ค่าออกมาเป็นตัวเลข 0 (ศูนย์)

โดยมากมีค่าต่ำกว่า 10 ng/mL

แต่นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่

(96 เปอร์เซ็นต์ของประชากร)

แต่ก็มีส่วนน้อยที่มีค่าเกิน 10 ng/mL

โดยไม่มีมะเร็งอยู่ในตับ 

เมื่อแพทย์ตรวจแล้วไม่พบว่า

มีก้อนเนื้อในตับ หรือไม่มีโรคตับแข็งซ่อนอยู่

ท่านก็เป็นคนพิเศษที่มีค่าสูงกว่าคนอื่น

ค่า AFP ที่สูงมาก เกิน 200 - 400 ng/mL มักจะบ่งว่า

มีก้อนมะเร็งตับอยู่แต่บางครั้งค่าเหล่านี้ขึ้นสูงได้

แต่มักจะสูงไม่มากนัก

ในผู้ป่วยที่กำลังมีการอับเสบของตับ

 เนื่องจากในระหว่างนั้นตับมีการสร้างเซลล์ตับใหม่

ทดแทนเซลล์ที่เสียไปก็จะทำให้ค่านี้สูงขึ้นได้

ค่า AFP อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นมะเร็งตับ

เพราะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับ

ชนิดเฮปาโตมา 100 คน

จะมีผู้ป่วยที่มีค่า AFP สูงขึ้นเพียง 20 - 60 คน

ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน

และชนิดรูปแบบของเซลล์มะเร็ง แปลอีกแบบก็คือ

ในผู้ป่วยมะเร็งตับชนิดนี้ 100 คน

 40-80 คน ค่าของ AFP

จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ฉะนั้นคนที่มีโรคตับอักเสบเรื้อรัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโรคตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ

 เช่นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี

 ดื่มแอลกอฮอล์มาก

ไขมันพอกตับ โรคตับเรื้อรังอื่นๆ

ควรจะต้องตรวจ AFP ร่วมกับ

การทำอัลตราซาวนด์ของตับอย่างสม่ำเสมอ

อย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน เพื่อดูว่าในตับมีก้อนหรือไม่







คนที่ไม่ควรได้รับการตรวจ AFP

คือ ผู้หญิงในขณะตั้งครรภ์

เพราะจะมีค่า  AFP สูงขึ้น

โดยเป็นส่วนที่สร้างมาจากรกของมารดา

ถ้าแพทย์เผลอไปตรวจเข้า

ก็จะสร้างความกังวลใจโดยใช่เหตุ

แต่ถ้าหญิงมีครรภ์ร่วมกับเป็นพาหะไวรัสบี

 อยากจะระวังเรื่องมะเร็ง

ก็ใช้วิธีทำอัลตราซาวนด์ของตับแทน

 เพื่อดูก้อนเนื้อในตับ

และไม่เป็นอันตรายกับเด็กในครรภ์มารดา

.........................

จากหนังสือรู้ทันโรคตับ 2  ตอนที่  6

ของ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ศูนย์โรคตับ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกวชิรุณหิศ

ถนนพระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330






Create Date : 03 มีนาคม 2558
Last Update : 22 กันยายน 2561 15:40:03 น.
Counter : 24627 Pageviews.

4 comment
### เมื่อตรวจพบค่าตับทำงานผิดปกติจะทำอย่างไร ###













เมื่อตรวจพบค่าตับผิดปกติจะทำอย่างไร

ปัจจุบันหลายท่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้

คงเป็นคนที่รักการดูแลสุขภาพ

จึงไปตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำ 

เมื่อตรวจเลือดแล้ว

พบค่าตับผิดปกติย่อมเกิดความสงสัย

หรืออาจจะมีบางท่านยังไม่ได้หยิบขึ้นมาดูด้วยซ้ำ

ว่าค่าการทำงานตับของตนเองเป็นอย่างไร 

 ค่าตับที่ตรวจน้้นประกอบด้วยค่าเหล่านี้








สิ่งที่สำคัญขั้นต้นคือ ต้องทราบก่อนว่า

ค่าตับของเราผิดปกติหรือไม่

โดยดูจากค่า Bilirubin , AST,ALT

 หรือ Alkaline Phosphatase

ถ้าค่าที่ออกมาเกินจากค่าปกติแปลว่าผิดปกติ

และเมื่อค่าalbumin ต่ำกว่า  3.5 เรียกว่าผิดปกติ

ปัญหาของบ้านเราคือ

แพทย์ส่วนใหญ่เมื่อตาเหลือบไปดูค่าเหล่า

นี้ มักไม่ค่อยให้ความสนใจเมื่อเห็นค่าเกินปกติไม่มาก

  ก็มักจะไม่แนะนำในการตรวจเพิ่มเติม

โดยมีการเชื่อผิดๆแบบดั้งเดิมว่า

ถ้าค่า AST หรือ ALT

ไม่สูงเกินสองหรือสามเท่า ไม่น่าจะเป็นอะไร

 จึงเป็นหน้าที่ของตัวท่านต้องสะกิดใจตนเอง

และของแพทย์ผู้แปลผล

ประการต่อมาคือ ค่าต่างๆเหล่านี้เวลาผิดปกติ

 ผู้แปลต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ

 และระยะของโรค ค่าสูงหรือต่ำมากน้อยอย่างไร

ไม่ได้แปลไปตามหลักคณิตศาสตร์

 ตัวอย่างเช่น ถ้าค่า AST เท่ากับ  400

ไม่ได้แปลว่าความรุนแรงของตับอักเสบเป็นสิบเท่า

ของคนที่มีค่าปกติที่ 40

ถ้าไปดูค่า albumin ซึ่งบ่งว่า

ตับทำหน้าที่สร้างโปรตีนได้ดีหรือไม่

ค่าอยู่ที่  4.0  ซึ่งถือว่าเป็นปกติ

 ก็ไม่ได้แปลว่าข้างในเนื้อตับเป็นปกติเสมอไป

ขอให้ท่านมีหน้าที่เพียงรับทราบว่า

ค่าเหล่านั้นผิดปกติ แต่อย่าคิดต่อในทางร้าย

หรือแปลเอาเองจนเกิดอาการเครียด

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์







ค่าบางอย่างไม่ได้ขึ้นมาจากตับโดยตรง

เช่นค่า  AST ขึ้นได้จากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ

 ค่า alkaline phosphatase สูงขึ้น

อาจจะเป็นส่วนที่มาจากกระดูก

 สำใส้ และที่อื่นๆของร่างกาย

จากการทานยา  ยาสมุนไพร

การติดเชื้อในร่างกาย เป็นต้น

ฉะนั้นท่านก็อย่าเครียดว่าจะต้องหาโรคตับให้ได้

 แพทย์บอกว่าหาไม่พบ

อธิบายไม่ได้ก็ไปเที่ยวตระเวนหาแพทย์ท่านอื่นๆ

 เพื่อให้บอกให้ได้ว่าฉันเป็นโรคตับนะจึงจะพอใจ 

 อย่างนี้ก็มีให้เห็น

ขั้นต่อไปแพทย์จะทำอะไรต่อ

คงต้องขึ้นกับค่าความผิดปกตินั้นเป็นอะไรได้บ้าง

บางครั้งค่าเหล่านี้ขึ้นมาจากอะไรก็ตาม

แล้วหายเองโดยเร็ว

เช่น  ท่านไปได้ยาแก้อักเสบ 

 ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อ

เมื่อหยุดยาไปค่าตับก็กลับเป็นปกติในเวลาไม่นาน

พอมาตรวจอีกครั้งค่าต่างๆก็กลับมาเป็นปกติแล้ว

โดยมาก็จะต้องตรวจเลือดซ้ำ 

หรือตรวจเพิ่มเติมตามแต่เหตุอันควร

สิ่งที่มักได้ตรวจคู่เสมอเป็นเบื้องต้น

คือตรวจคลื่นเสียงของตับ

หรือที่เรียกว่า  อัลตราซาวนด์ตับ 

 เพื่อดูเนื้อตับ  ผิดตับ ท่อน้ำดี

ถุงน้ำดี และอวัยวะโดยรอบที่ส่วนบนของช่องท้อง


......................................................



จากหนังสือรู้ทันโรคตับ 2  ตอนที่  5

ของ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ศูนย์โรคตับ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกวชิรุณหิศ

ถนนพระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330










Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 22 กันยายน 2561 15:33:54 น.
Counter : 35134 Pageviews.

1 comment
### เมื่อใดควรไปตรวจหาโรคตับ โดยไม่ต้องรอให้ใครบอก ###












"เมื่อใดควรไปตรวจหาโรคตับ

โดยไม่ต้องรอให้ใครบอก"

โรคตับเป็นเหมือนภัยเงียบ

เป็นเหมือนสนิมกัดกร่อนตับไปเรื่อยๆ

เมื่อไหร่ออกมาบอกว่า "คุณเป็นโรคตับนะ"

หลายคนไปไม่ถึงฝั่ง ที่สำคัญคือโรคตับส่วนใหญ่

ป้องกันได้  รักษาได้ ถ้าไม่ปล่อยจนสายเกินไป

เอาแค่ภาวะตับอักเสบเรื้อรังเพียงอย่างเดียว

คนทั้งโลกรวมถึงคนไทย

ก็ได้รับอาณิสงส์เป็นกันมากมาย

นับไม่ถ้วน   ท่านทราบหรือไม่

เอาแค่ตับอักเสบเรื้อรัง

จากไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี สองชนิดนี้

บ้านเราพบหนึ่งคนในทุกสิบสองคน คือ

ถ้าท่านเดินผ่านคนสิบสองคน

ต้องมีคนหนึ่งที่มีไวรัสบีหรือซีแอบกินตับอยู่

ถ้านับรวมโรคตับจากการดื่มแอลกอฮอล์มาก

และจากคนอ้วน  คนเป็นเบาหวานจนเป็นไขมันพอกตับ

ตัวเลขน่าจะออกมาอย่างน้อยหนึ่งในทุกแปดถึงสิบคน

ถ้าปล่อยให้ตับอักเสบเรื้อรังไปนานๆ

ก็จะตามมาด้วยตับแข็ง

และอาจได้ของแถมเป็นมะเร็งตับ

แล้วตัวท่านเองมีโรคตับหรือไม่

ฉะนั้น  ถ้าตั้งคำถามว่าควรไปตรวจโรคตับหรือไม่

ลองสำรวจตัวเองตามนี้ ถ้าเข้าได้แม้แต่ข้อเดียว

ก็ควรไปตรวจเช็คโรคตับ








--- เคยมีอาการดีซ่านในอดีต

--- พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติใกล้ชิด

 เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี

---  สามี ภรรยา มีไวรัสตับอักเสบซี

---  ในครอบครัวมีคนป่วยเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง

 ตับแข็ง มะเร็งตับ

---  เคยได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดเมื่อระยะ

ก่อนยี่สิบปีที่แล้ว เช่น เคยผ่าตัดได้รับเลือด

--- เคยสัก เจาะ บอดี้เพียชซิ่งตามร่างกาย

--- เคยไปทำฟันในที่ๆไม่สะอาด ไม่ถูกสุขอนามัย

--- ไปตัดผม ช่างตัดใช้มีดโกนซ้ำกับคนอื่น

หรือเอามีดโกนไปถูกับสบู่หรือผ้าที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

--- เคยฉีดยาเสบติดเข้าเส้น ใช้เข็มร่วมกับคนอื่น

--- ในอดีตเคยถูกฉีดยาวัคซีนตามโรงเรียน

ด้วยเข็มเหล็ก เข็มเดียวฉีดซ้ำหลายคน

---  อ้วน น้ำหนักเกิน เป็นเบาหวาน

---  ดื่มแอลกอฮอล์มาก และนานหลายปี

ไม่ว่าจะเป็นเหล้าไวน์ เบียร์ ไลท์เบียร์

---  มีอาการเพลีย ปวด จุก แน่นท้อง ไม่ทราบสาเหตุ

--- เคยมีขาบวม ท้องบวม

---  น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

---  เคยไปเช็คร่างกาย เจาะเลือด พบค่าตับผิดปกติ

--- เคยไปเช็คร่างกาย ทำอัลตราซาวนด์ของตับ

พบตับขาวหรือไขมันพอกตับ

---  เกิดมาเป็นคน ตอนนี้โตแล้ว

 กลัวหรือไม่กลัวเข็มก็ตาม

---  อยากรู้จังว่ามีโรคตับซ่อนอยู่หรือไม่

...................

จากหนังสือรู้ทันโรคตับ 2  ตอนที่  4

ของ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ศูนย์โรคตับ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกวชิรุณหิศ

ถนนพระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330







Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 22 กันยายน 2561 15:31:06 น.
Counter : 1254 Pageviews.

0 comment
### โรคตับมีอะไรให้เลือกบ้าง ###













โรคตับมีอะไรให้เลือกบ้าง

โรคตับมีมากมายจนสามารถนำมาเขียนได้เป็นเล่ม

หนากว่าสมุดหน้าเหลืองเยลโล่เพจเจส

สำหรับค้นหาเบอร์โทรศัพท์สักห้าเล่มเรียงกัน

ฉะนั้นเมื่อมีโรคจำนวนมากจึงดูลึกลับ

 น่าสะพรึงกลัว  หมอเองก็กลัวคนเป็นโรคก็ยิ่งกลัว

 แถมบางโรคใครได้รับเกียรติถูกเลือกให้เป็นแล้ว

อยู่ได้ไม่นานทุกคนจึงเกิดอาการ

 "ตับหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม"

หน้าซีดเผือดเมื่อถูกบอกว่าเป็นโรคตับ

เราลองมาดูแบบง่ายๆ ตามกลุ่มโรคที่พบบ่อย

  เมื่อใครก็ตามไปตรวจเช็คร่างกาย

 หรือเกิดอาการโรคตับไปหาหมอ

แล้วถูกบอกว่าตับผิดปกติ

1.  ตับอักเสบ

คำว่าอักเสบเทียบได้กับเวลาเป็นฝี หรือถูกมีดบาด

แล้วผิวหนังตรงขอบแผล

มีอาการบวมแดง ร้อน และกดเจ็บ

แต่การอักเสบเวลาไปอยู่ในเนื้อตับ

 ตับไม่สามารถตะโกนบอก

เจ้าของตับได้ว่า "โอ๊ยเจ็บ!"

 เพราะตับไม่มีเส้นประสาทอยู่ข้างใน

จะทราบได้ก็ตอนไปตรวจ

ค่าการอับเสบของตับ (SGOT หรือ SGPT)

แล้วพบว่าสูงกว่าค่าปกติ

 มากน้อยตามแต่เระยะและชนิดของตับอักเสบ

บางคนก็อาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง

 คลื่นใส้อาเจียน ปวดแน่นท้อง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม

 แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ

กระตุกต่อมสำนึกของเจ้าตัวให้ทราบได้






ตับอักเสบแบ่งออกง่ายๆ

เป็นตับอักเสบเฉียบพลัน คือเกิดการอักเสบ

จากอะไรก็ตามแล้วหายสนิทภายใน 6 เดือน

 สาเหตุที่พบส่วนใหญ่

ได้แก่ ยาหรือสมุนไพรและไวรัสตับอักเสบทุกชนิด

ความรุนแรงก็มีตั้งแต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค

จนโรคหายไปแล้ว

หรือมาด้วยคลื่นใส้อาเจียน

ตาเหลืองแล้วโรคหายเอง

ไปจนถึงขั้นตับวายเสียชีวิต 

ตับอักเสบเรื้อรังก็คือ

 ตับอักเสบที่เป็นแล้วไม่หายใน  6 เดือน

ได้แก่โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือซี 

โรคตับจากแอลกอฮอล์

หรือจากไขมันพอกตับ เป็นต้น

ภาวะตับอักเสบเรื้อรังนี้เมื่อเป็นนานๆเข้า สิบ ยี่สิบปี

ตับจะเกิดพังผืดขึ้นเรื่อยๆ

 เมื่อเป็นพังผืดหรือแผลเป็นทั้งตับ

ก็เรียกว่าเกิดภาวะตับแข็ง

 ตับก็จะแข็งไม่นุ่มเหมือนเดิม

เมื่อโรคไม่ได้รับการแก้ไข

 เนื้อตับถูกแทนที่ด้วยพังผืด

จนไม่มีเนื้อตับปกติทำงานอย่างพอเพียง

ก็จะแสดงอาการของตับวาย

หรือตับแข็งระยะท้ายจนเสียชีวิต และที่สำคัญ

บางคนจะเกิดมีมะเร็งตับแทรกขึ้นมา

เมื่อถึงเวลาอันควร

2. ก้อนในตับ


คำนี้ยิ่งน่ากลัว เมื่อไปตรวจเช็คตับ

ด้วยการตรวจคลื่นเสียงของตับ

แล้วพบจุดหรือก้อนในเนื้อตับ 

 หรือบางท่านก็มีอาการของโรคตับ

แล้วไปตรวจพบก้อนเข้า ต้องจำไว้ว่า 

เมื่อพบก้อนจากการตรวจเช็คร่างกายประจำปี

ส่วนใหญ่เป็น"ก้อนชนิดเนื้อดี"

มีอยู่สองสามชนิดที่พบบ่อย ขยายขนาดช้า

และไม่กลายเป็นมะร็ง

โดยมากไม่ต้องไปทำอะไรกับก้อน

เพียงแต่ติดตามทักทายกับก้อนกันอย่างสม่ำเสมอ

ก้อนอีกชนิดหนึ่งเป็นก้อน

 "เนื้อร้ายหรือมะเร็ง" อันนี้สำคัญ

ต้องรีบหาให้พบกันตั้งแต่เนิ่นๆ

 เพื่อจะให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม

ก้อนมะเร็งนี้แบ่งง่ายๆเป็น "มะเร็งที่เนื้อตับ"

 หรือที่เรียกว่า"เฮปาโตมา (Hepatoma)"

ที่เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์

ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ไขมันพอกตับ

 จนเกิดภาวะตับแข็ง เป็นต้น

หลายคนเมื่อเป็นแล้วจะมีค่ามะเร็งในเลือดที่เรียกว่า

แอลฟา-ฟีโตโปรตีน(Alfa-fetoprotein)

หรือใช้คำย่อว่า AFP สูงขึ้น

"มะเร็งท่อน้ำดี" เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณท่อน้ำดีของตับ

พบบ่อยทางภาคอีสานเกี่ยวเนื่องกับพยาธิใบไม้ในตับ

เมื่อก้อนไปอุดท่อน้ำดีจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง

หรือคันตามตัว สุดท้ายคือ "มะเร็งที่กระจายมาจากที่อื่น"

เช่น  เป็นมะเร็งลำใส้ใหญ่  ตับอ่อน หรือที่ใดก็ตาม

แล้วกระจายมากับเลือดที่ไหลผ่านตับ มาอาศัยอยู่ในตับ

อาการก็เป็นไปตามโรคมะเร็งต้นกำเนิดในตำแหน่งนั้นๆ

หรือมาแสดงอาการตอนที่มาอยู่ในตับ




3. ถุงน้ำในตับ

ถุงน้ำหรือภาษาแพทย์ใช้คำว่า ซีสท์ (Cyst)

 คือเป็นถุงมีผนังโดยรอบอุ้มน้ำ

หรือของเหลวอยู่ภายใน มีขนาดแตกต่างกัน

ตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนขนาดเกือบเต็มตับ

 มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งไปจนถึงนับไม่ถ้วน

 ถุงน้ำในตับส่วนมากไม่ก่อปัญหา

คิดเสียว่ามีไว้เป็นเครื่องประดับในตับ

 แต่ก็มีส่วนน้อยที่เป็นถุงน้ำชนิดที่ก่อปัญหา 

 ฉะนั้นในเบื้องต้นอย่าตกใจหรือคิดมาก

เมื่อรู้ว่าตนเองมีถุงน้ำในตับ 

 แต่ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจ

และติดตามตามความเหมาะสม

4. โรคท่อน้ำดีหรือถุงน้ำดี

ตับไม่ได้มีเพียงเนื้อตับ

มีส่วนที่เป็นท่อสำหรับขับน้ำดีออกจากเซลล์ตับ

เริ่มจากท่อเล็กๆไปจนท่อใหญ่

เปิดออกบริเวณลำใส้เล็กส่วนต้น

และยังมีถุงน้ำดีห้อยอยูู่ข้างๆ ท่อน้ำดี

 โรคที่นำมาพบแพทย์บ่อยๆได้แก่

นิ่วในถุงน้ำดี  ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี 

 ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในท่อน้ำดี

ติดเชื้อในท่อน้ำดี

  และมะเร็งท่อน้ำดีที่ตำแหน่งต่างๆ

5. โรคอื่นๆ  

อีกมากมาย  เช่น โรคของท่อหลอดเลือดดำ

ที่วิ่งเข้าและออกจากตับ 

โรคตับแต่กำเนิดหลายๆชนิดเป็นต้น

.......................

จากหนังสือรู้ทันโรคตับ 2  ตอนที่  3

ของ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ศูนย์โรคตับ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกวชิรุณหิศ

ถนนพระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330








Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 22 กันยายน 2561 15:27:45 น.
Counter : 4888 Pageviews.

0 comment
### ทำไมถึงไปพบว่าเป็นโรคตับ ###







ทำไมถึงไปพบว่าเป็นโรคตับ

คนไทยส่วนมากแล้วไม่เคยทราบว่าตนเองมีโรคตับซ่อนอยู่

เอาเฉพาะโรคตับอักเสบเรื่องรังชนิดเดียว ถ้าจะว่ากันตามสถิติ

คนไทยอายุตั้งแต่  15 ปีขึ้นไป (80 % ของประชากร)

ถ้านับจากคนที่ 1  ไปถึง คนที่  12 

จะมีหนึ่งคนในนั้นที่มีไวรัสบี หรือซี แอบซ่อนอยู่

นี่ยังไม่นับรวมคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก

ทั้งเหล้าแดง เหล้าขาว   ไวน์ เบียร์ จนเป็นโรคตับ

คนที่อ้วน น้ำหนักเกิน หรือมีโรคเบาหวาน

ซึ่งมักจะมีโรคไขมันพอกตับซ่อนอยู่ ถ้านับคนเหล่านี้เข้าไปด้วย

น่าจะมีคนไทยสัก 1  ในทุกๆ 8 คน หรือประมาณ 7 ล้านคน

ในประเทศแห่งนี้มีโรคตับซ่อนอยู่

แต่การรับรู้หรือการประชาสัมพันธ์ให้ทราบนั้น

เป็นอันดับท้ายของคนเอเซีย

ปัญหาที่เราไม่ทราบว่ามีโรคตับซ่อนอยู่ก็เพราะว่า

โรคตับไม่มีอาการแสดงออก หรือมีอาการก็ไม่ชัดแจ้ง

เช่น รู้สึกเพลีย อืดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร

หรือปวดท้องแบบรำคาญๆ  คนที่แข็งแรงเป็นนักกีฬา

ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยต้องไปพบแพทย์ ก็เป็นโรคตับได้

ไม่มีข้อยกเว้น









ฉะนั้นผู้ที่มาค้นพบเจอโรคตับก็มีสองกลุ่ม คือ

ประเภทแรก....ไม่มีอาการแสดงให้รู้ ไปตรวจเช็คร่างกายแล้ว

พบความผิดปกติของตับ ที่พบได้บ่อยคือ

ตรวจพบค่าตับ  SGOT (หรือ AST) และค่า SGPT (หรือ ALT)

เกินค่าปกติ  ตรวจพบเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg บวก)

ตรวจพบไวรัสซี ( AntiHCV บวก) ตรวจพบค่ามะเร็งตับ (AFP)สูงกว่าปกติ

ตรวจคลื่นเสียงของตับ พบว่ามีสีขุ่นขาวกว่าปกติ

แพทย์บอกว่าเป็น "ไขมันตับ" ตรวจพบก้อนในตับ ถุงน้ำในตับ

พบนิ่วในถุงน้ำดี  พบติ่งเนื้อหรือที่เรียกว่า "โพลิป"ในถุงน้ำดี

พบท่อน้ำดีโตกว่าปกติ มีการอุดตันที่ใดที่หนึ่ง

ปัจจุบันในบางโรงพยาบาลมีการตรวจวัดความหนาแน่นตับ

แล้วพบว่าค่าสูงกว่าปกติ หรือบางท่านเห็นญาติป่วยเป็นโรคตับแข็ง

มะเร็งตับ เลยไปตรวจพบโรคตับเหล่านี้่เป็นต้น

ประเภทที่  2 ....คือมีอาการของโรคตับนำมาก่อน

 เช่นปัสสาวะสีเหลืองเข้มมากขึ้น  ตาเหลือง ตัวเหลือง

อ่อนเพลีย คลื่นใส้ อาเจียน คันตามร่างกายแต่ไม่มีผื่นบริเวณผิวหนัง

ปวดท้องบริเวณด้านขวาบนหรือเหนือสะดือ ปวดท้องตื้อๆตลอดเวลา

แบบไม่สะบายท้อง ปวดท้องคล้ายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร

บางท่านปวดท้องรุนแรงบริเวณด้านขวาบน

ของช่องท้องเป็นเวลาหลายชั่วโมง  ปวดท้องร่วมกับเป็นไข้

จากโรคของถุงน้ำดี  น้ำหนักลด เบื่ออาหาร จากมะเร็งตับ

บางท่านมาด้วยอาการโรคตับแข็งหรือตับวายระยะท้าย

คือบวมบริเวณหลังเท้า ขา  แล้วค่อยๆเป็นมากขึ้นจนท้องบวม

มีน้ำในท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนสีถ่าน

หรือยางมะตอย มีอาการสับสน  หลงลืม อารมณ์แปรปรวน

อารมณ์ดีผิดปกติ อารมณ์ฉุนเฉียว 

นอนไม่หลับในตอนกลางคืนไปหลับในตอนกลางวัน


ฉะนั้น ท่านที่เป็นผู้ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ

เมื่อตั้งคำถามกับตนเองว่า

จะหลีกหนีโรคตับได้อย่างไร ทางที่ดีควรจะไปตรวจหาโรคตับ

อย่ารอให้โรคตับมาถามหาท่าน ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ

ดีกว่าปล่อยให้เป็นโรคระยะที่รักษาไม่ได้ ปัจจุบันมียาดีๆ

และวิธีการรักษาโรคตับมากมายหลายวิธี 

โรคที่เคยรักษายากก็รักษาให้หายขาดได้

 เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี  หรือซี  

โรคตับที่แต่เดิมวินิจฉัยไม่ได้ ก็มักจะวินิจได้

เพราะมีแพทย์และทีมงานที่มีความรู้ความสามารถ

อยู่ในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น




หลักสำคัญคืออย่าทำเหมือนลิงฉลาดสามตัว (Three wise monkeys)

อย่างในสุภาษิตคำสอนของจีนยุคขงจื้อ คือ ปิดตา ปิดหู ปิดปาก

(see no evil, hear no evil ,speak no evil)

ซึ่งแปลได้หลายความหมาย แต่ในที่นี้เปรียบได้กับความกลัว

คือกลัวตัวเองจะรู้ว่าเป็นอะไร กลัวโรคร้าย  กลัวคนอื่นจะทราบ

เลยแอบหลอกตัวเองด้วยการปิดการรับรู้เสีย

ทั้งตัวเองและผู้อื่นก็ไม่รู้ รอให้เป็นถึงที่สุดแล้วค่อยยอมรับ

ถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินแก้.

.....................

จากหนังสือรู้ทันโรคตับ 2  ตอนที่  2

ของ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ศูนย์โรคตับ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกวชิรุณหิศ

ถนนพระราม 4  เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330





Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2558 14:28:38 น.
Counter : 3208 Pageviews.

1 comment
1  2  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ