Group Blog
All Blog
### งานที่สำคัญของนักปฏิบัติ ###
















"งานที่สำคัญของนักปฏิบัติ"

การเจริญสติจึงเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง

เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการปฏิบัติ ถ้าอยากจะอ่านออกเขียนได้

ก็ต้องเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ก่อน ถ้าไม่รู้จักอักษรต่างๆ

จะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ฉันใด

ถ้าอยากจะควบคุมความคิด ให้ไปในทางมรรค ให้หยุดคิด

ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ก็จะต้องมีสติก่อน

 เมื่อมีสติแล้วก็จะสามารถหยุดความคิดได้

ด้วยการรวมเข้าสู่สมาธิเป็นพักๆ

แต่สมาธิจะไม่สามารถหยุดความคิดปรุงแต่งได้อย่างถาวร

จะสงบได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมา ต้องไปดำเนินชีวิตต่อ

 เพราะยังมีร่างกายที่จะต้องเลี้ยงดู

พอออกจากสมาธิใจก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย

จึงต้องใช้ปัญญาคอยสกัดไว้

 ถ้าคิดไปในทางสมุทัย คิดไปในทางที่จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา

 ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัด สิ่งที่ใจอยากได้อยากมีอยากเป็นนั้น

 ต้องสอนใจว่าเป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับมันได้

 เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ให้ความสุข

 แต่ให้ความทุกข์ เวลาได้อะไรมาใหม่ๆก็ดีใจมีความสุข

 สักระยะหนึ่งก็เปลี่ยนไป หรือใจเราเปลี่ยนไป

เคยชอบแต่เดี๋ยวนี้เบื่อแล้วเพราะจำเจ

เวลาได้มาใหม่ๆก็ดีอกดีใจชอบอกชอบใจ

พอเห็นจำเจก็จะเกิดความเบื่อหน่าย

เคยมีความสุขกับสิ่งนั้น เดี๋ยวนี้กลับมีความทุกข์

จึงต้องหาของใหม่ๆมาทดแทนอยู่เรื่อยๆ

 เพราะความรู้สึกของเราเปลี่ยนไป ไม่เที่ยงเหมือนกัน

 สิ่งที่เราสัมผัสเกี่ยวข้องด้วยก็ไม่เที่ยง

 ไม่สามารถควบคุมบังคับเขาได้

เขาจะให้ความสุขกับเราไปตลอดได้อย่างไร

เวลาที่เขาเปลี่ยนไป ความทุกข์ก็จะกลับเข้ามาแทนที่

 ต้องสอนใจอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

 แล้วใจจะไม่อยากได้อะไรมาให้ความสุข เพราะไม่คุ้มค่า

ได้ความสุขเพียงเล็กๆน้อยๆ แล้วก็ต้องมาทุกข์ทรมานใจ

 ทุกข์เพราะต้องดูแลรักษา ทุกข์เพราะเศร้าโศกเสียใจ

เวลาที่เกิดการสูญเสีย นี่คือการใช้ปัญญา

ต้องมองให้เห็นไตรลักษณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง

 ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ลาภยศสรรเสริญ

 ล้วนไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา

ถ้าสิ่งที่ให้ความสุขกับเราจากเราไป

เราก็จะต้องทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจ

อย่างเดือนนี้ก็เป็นเดือนสุดท้ายของอายุราชการ

ของคนที่มีอายุครบ ๖๐ ปี เคยมีตำแหน่งใหญ่โต

พอถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ความใหญ่โตก็หมดไป

จะอยู่เป็นใหญ่เป็นโตต่อไปก็ไม่ได้ เพราะถึงวาระที่จะต้องหมดไป

ถ้าทำใจไม่ได้ ควบคุมความคิดไม่ได้

ว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้ว เป็นคนธรรมดาแล้ว

ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเราแล้ว ก็จะมีความว้าเหว่

เศร้าสร้อยหงอยเหงา ปัญหาต่างๆอยู่ที่ความคิดของเรานี่เอง

เราจึงต้องฝึกควบคุมความคิดของเรา

การฝึกสตินี่แหละเป็นการดึงใจดึงความคิดของเราไว้

เบื้องต้นก็ให้ดึงเข้ามาสู่ความว่าง สู่ความเป็นกลาง

 ทำอะไรก็อย่าไปคิดปรุงแต่ง ให้เพียงสักแต่ว่ารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่

กำลังรับประทานอาหารก็ให้รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร

 ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้

กำลังอาบน้ำ กำลังแปรงฟัน กำลังหวีผม กำลังแต่งตัว

 กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้ใจรู้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

ถ้าไม่ดึงใจไว้ให้รู้กับการกระทำของร่างกาย

ใจจะคิดเรื่อยเปื่อย ร่างกายอยู่ตรงนี้

แต่ใจไปคิดถึงลูกที่อยู่ต่างประเทศโดยไม่รู้สึกตัว

ทำอะไรก็จะผิดพลาด หรือสงสัยว่าทำไปแล้วหรือยัง

เพราะใจไม่ได้รู้อยู่กับการกระทำ ไปรู้อยู่กับเรื่องที่กำลังคิดปรุงแต่ง

 อย่างนี้แสดงว่าขาดสติ ไม่สามารถควบคุมความคิดปรุงแต่งได้

 ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ถ้าเป็นอย่างนี้เวลานั่งทำสมาธิให้ใจสงบ

ก็จะไม่สงบ เพราะใจจะสงบได้ต้องหยุดความคิดปรุงแต่ง

 ต้องมีสติคอยดึงไว้ เช่นการบริกรรมพุทโธ

เป็นการดึงความคิดปรุงแต่ง ไม่ให้คิดปรุงแต่ง

ให้คิดแต่คำว่าพุทโธๆอย่างเดียว จะได้ไม่มีอารมณ์

ทำให้ใจเป็นกลาง ทำให้ใจว่าง ทำให้หยุดคิดได้

 รวมเข้าสู่ความสงบได้ ถ้าไม่ชอบคำบริกรรม

 ใช้การดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ แต่ต้องสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้

อย่าไปคิดเรื่องอื่น ให้รู้อยู่กับเรื่องของลมอย่างเดียว

หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก

ให้รู้อยู่ตรงจุดเดียว อย่าตามลมเข้าตามลมออก

ห้อยู่แถวปลายจมูก เวลาลมเข้าออกจะสัมผัสอยู่แถวปลายจมูก

 ให้รู้อยู่ตรงนั้น เฝ้าดูอยู่ตรงนั้น อย่าไปบังคับลมหายใจ

 จะหยาบจะละเอียด จะหายใจสั้นหายใจยาว ก็ให้รู้ตามความจริง

 ไม่ต้องบังคับ ให้ใช้ลมเป็นที่ผูกใจด้วยสติ

ถ้าใจเป็นเหมือนเรือ สติก็เป็นเหมือนเชือก

ลมหายใจก็เป็นเหมือนเสาของท่าเรือ ถ้าผูกเรือไว้กับเสา

 น้ำก็จะไม่พัดพาให้เรือลอยไปได้ เรือก็จะจอดนิ่ง

ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก

รู้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะสงบนิ่ง

 พอสงบแล้วก็จะมีความสุขสบายเบาอกเบาใจ

 ตอนนั้นจะไม่รับรู้การเจ็บปวดของร่างกาย ถ้ารู้ก็จะไม่รำคาญใจ

รู้ว่าชาหรือเจ็บตรงนั้นมันปวดตรงนี้ แต่ไม่รู้สึกทรมานใจ

เพราะใจไม่มีปฏิกิริยากับความเจ็บของร่างกายนั่นเอง

นี่คือการควบคุมความคิดให้เข้าสู่ความสงบ

แต่ความสงบของสมาธินี้มีระยะเวลา

 อยู่ได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมา

 ต้องออกมาปฏิบัติภารกิจอื่นๆ พอถอนออกมาใจจะเริ่มคิดปรุงแต่ง

 ถ้าไม่ต้องคิดเรื่องภารกิจต่างๆ ก็ให้ใจคิดไปในทางปัญญา

ให้เตรียมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่จะต้องเกิดขึ้น

 เช่นให้พิจารณาร่างกาย ว่าสักวันหนึ่งต้องแก่ลงไป

 ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายไป เช่นเดียวกันกับร่างกายของผู้อื่น

 ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นคนใกล้ชิดหรือเป็นคนที่ไม่รู้จัก

 ก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องสอนให้ใจรู้และรับความจริงนี้ให้ได้

 ถ้ารู้และรับความจริงได้ก็จะปล่อยวางได้ จะรับว่าเป็นเรื่องปกติ

 เหมือนกับยอมรับกับฝนตกแดดออก ไม่มีปฏิกิริยา

 ไม่มีความอยากจะให้ตกหรือไม่ตก เพราะเรารู้ว่า

ไม่ใช่วิสัยของเราที่จะไปสั่งได้

เป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับความจริง ฉันใด

ร่างกายของเราหรือร่างกายของผู้อื่น

ก็เป็นเหมือนกับฝนตกแดดออก จะต้องแก่ต้องเจ็บ

ต้องตายไปด้วยกันทุกคน เราต้องยอมรับ

 เหมือนกับยอมรับฝนตกแดดออก

ถ้ายอมแล้วจะสบายอกสบายใจ ไม่เดือดร้อน

ถ้ายังไม่แน่ใจว่ารับได้จริงหรือไม่ ก็ต้องไปหาสถานที่ทดสอบใจ

 ไปสถานที่ที่เรากลัว เพราะความกลัวคือความทุกข์

ที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของเราเอง ต้องไปหาสถานที่แบบนั้น

 เพื่อจะได้ทดสอบใจดูว่า สามารถควบคุมความคิด

ไม่ให้สร้างความกลัวขึ้นมาหลอกเราได้หรือไม่

ถ้ากลัวผีก็ต้องไปอยู่สถานที่ที่เราคิดว่ามีผี

กลัวสิงสาราสัตว์ก็ต้องไปอยู่สถานที่ที่มีสิงสาราสัตว์

กลัวความตายก็ต้องไปอยู่สถานที่ที่ล่อแหลมต่อความตาย

 จะได้พิสูจน์กันจริงๆ ว่ายอมรับความตายได้หรือไม่

เพราะเวลาไปอยู่ในสถานที่เหล่านี้แล้ว

ในเบื้องต้นความกลัวจะต้องเกิดขึ้นมาทันที

 เพราะผู้ที่สั่งให้คิดสร้างความกลัวขึ้นมามีกำลังมากกว่า

 แต่ถ้าเราพยายามต่อสู้ด้วยการควบคุมบังคับใจด้วยสมาธิ

 หรือสอนใจด้วยปัญญา ก็จะสามารถยับยั้งความคิด

ที่จะคิดไปในทางสมุทัยได้ ถ้ายังไม่รู้จักการพิจารณาทางปัญญา

ก็อาศัยอุบายของสมาธิไปก่อน ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

หรือสวดมนต์ไป สวดบทพุทธคุณธรรมคุณสังฆคุณ

อย่าไปคิดถึงความกลัว อย่าไปปรุงแต่งเรื่องของความกลัว

ให้คิดปรุงแต่งอยู่กับบทพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ

 อิติปิโสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ

ฝากเป็นฝากตายไว้กับการสวด ความกลัวก็จะหายไป

เวลาใจสงบตัวลง ความคิดปรุงแต่งก็จะหยุดชั่วคราว

ตอนนั้นก็จะปรากฏให้เห็นว่า ความกลัวไม่ได้อยู่ภายนอก

 แต่อยู่ในใจของเรานี่เอง อยู่ที่ความคิดปรุงแต่ง

ได้ยินเสียงอะไรก็ปรุงแต่งว่าเป็นผี เป็นอะไรต่างๆนานา

แทนที่จะไปคิดอย่างนั้น เราต้องสวดมนต์ไปหรือบริกรรมพุทโธๆไป

 อย่าปล่อยให้ใจมีโอกาสไปคิดถึงสิ่งที่เรากลัว

 พอจิตสงบแล้ว ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เรากลัวนั้นไม่ได้มาทำอะไรเราเลย

 เขาไม่รู้เรื่องอะไรของเราเลย เราต่างหากที่ไปกลัวเขาเอง

 นี่เป็นอุบายของสมาธิ คือบริกรรมพุทโธ

หรือสวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เราถนัด

 ฝากเป็นฝากตายไว้กับการสวดเลย

เหมือนคนที่ใกล้ตาย ไม่รู้จะยึดกับอะไรก็ยึดการสวดมนต์

ถ้าสวดได้อย่างต่อเนื่องจนจิตรวมลงเข้าสู่สมาธิได้

เวลาตายไปก็จะไปสู่สุคติ ถ้าฝึกมามากหรือฝึกจนชำนาญแล้ว

เวลาเข้าสู่วาระคับขันจะมีที่พึ่ง ด้วยการสวดมนต์นี่แหละ

สวดไปจนจิตใจสงบนิ่ง ก็จะไม่รู้เรื่องของร่างกาย

จะหยุดหายใจไปก็ไม่เป็นปัญหา จิตตอนนั้นเป็นสุคติแล้ว

เป็นฌานเป็นสมาธิ เป็นพรหมไปแล้ว

นี่คือความสำคัญของการเจริญสติ ทำจิตใจให้สงบ

ถ้าทำถึงขั้นนี้ได้ ตายไปก็จะได้ไปชั้นพรหม

อย่างที่พระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป

ที่มีความชำนาญในการเข้าออกในฌานขั้นต่างๆ

 เวลาที่ท่านจะตายท่านก็ใช้การเจริญสมาธินี้

ทำจิตให้เข้าสู่ฌานเข้าสู่ความสงบ

 แล้วจิตก็จะแยกออกจากร่างกายไป

จิตก็ไปตามสถานภาพของจิต ถ้าเป็นฌานก็จะเป็นพรหมโลก

 รูปฌานก็เป็นรูปภพ อรูปฌานก็เป็นอรูปภพ

ถ้าไม่สงบในระดับฌาน แต่ก็ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย

 ยังรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสอยู่ แต่ไม่ทุกข์ทรมานใจ ก็จะเป็นชั้นเทพ

 ไปเสวยรูปเสียงกลิ่นรสของเทพ ถ้าว้าวุ่นขุ่นมัว

หวาดกลัวจนเป็นบ้าก็จะต้องไปอบาย ไปนรก

 เป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน เป็นอสุรกาย

อยู่ที่การควบคุมความคิดปรุงแต่งนี่เอง

จึงต้องพยายามฝึกสติอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ขั้นที่ ๑ คือสมาธิ

ถ้าได้ปัญญาก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม

 จะสามารถดับหรือควบคุมความคิดปรุงแต่งให้อยู่ในทางมรรค

 ไม่ให้ไปทางสมุทัยได้ จะดับความทุกข์ได้อย่างถาวร

ตามลำดับขั้นของปัญญา ขั้นโสดาบันก็จะดับความทุกข์

หรือควบคุมความคิดได้ในระดับหนึ่ง

ขั้นสกิทาคามีขั้นอนาคามีก็ควบคุมความคิดได้ในอีกระดับหนึ่ง

ขั้นพระอรหันต์ก็จะควบคุมความคิดได้ทั้งหมด

ขั้นพระโสดาบันก็จะควบคุมความคิด

 ในเรื่องความแก่ความเจ็บความตายได้

 ยอมรับความแก่ความเจ็บความตายได้

 ขั้นพระสกิทาคามีก็จะสามารถควบคุมความคิด

ในทางกามารมณ์ได้บางส่วน จะควบคุมกามารมณ์ให้เบาบางลงไป

 เวลาที่เกิดกามารมณ์ขึ้นมา ก็จะนึกถึงความไม่สวยไม่งาม

 ความสกปรกของร่างกาย พิจารณาอสุภะในรูปแบบต่างๆ

จะพิจารณาว่าเป็นซากศพก็ได้ จะพิจารณาว่ามีอาการต่างๆ

ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนังก็ได้ มีโครงกระดูกมีอวัยวะน้อยใหญ่

มีปอดมีไตมีตับมีลำไส้ หรือจะพิจารณาสิ่งที่เป็นปฏิกูล

ที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย ที่ส่งกลิ่นเหม็นก็ได้

 เช่นอุจจาระปัสสาวะน้ำเหงื่อเป็นต้น เป็นสิ่งที่สกปรก

ที่ออกมาจากร่างกาย ที่กิเลสไปปรุงแต่งว่าสวยว่างาม

 ทำให้เกิดความใคร่ความยินดี

ถ้าเป็นพระสกิทาคามีนี้ท่านว่าทำได้พอประมาณ

คือลดความรุนแรงของกามราคะ ทำให้เบาบางลงไป

แต่ยังไม่สามารถกำจัดได้หมด ต้องขั้นพระอนาคามี

ที่จะหยุดกามราคะได้ทันที ทุกครั้งที่โผล่ขึ้นมา

 จะมีอาวุธมีเครื่องมือที่จะหยุดยั้งกามราคะได้ทันทีเลย

 นี่คือขั้นของพระอนาคามี สามารถควบคุมความคิด

ในทางกามารมณ์ได้หมด

ส่วนพระอรหันต์นี่จะสามารถควบคุมความคิดทุกรูปแบบได้

ควบคุมความคิดเรื่องอัตตาตัวตน เรื่องความยึดติดกับความสุข

ที่ละเอียดที่มีอยู่ในจิต ให้จิตปล่อยวาง ไม่ให้ยึดติด

 ไม่ให้อาศัยเป็นเครื่องมือให้ความสุขกับใจ

เพราะมีความสุขที่ดีกว่ารออยู่

 ถ้าปล่อยความสุขที่มีอยู่ภายในจิตที่ไม่เที่ยง ที่มีเกิดมีดับ

มีการเปลี่ยนแปลงได้ ใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์

 เหลือแต่ความสงบสุขไปตลอด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ไม่มีวันหมดสิ้น เพราะเป็นความสุขตามธรรมชาติของใจ

ที่มีอยู่คู่กับใจมาตลอด แต่ถูกอวิชชาหลอกให้ใจไปคิดปรุงแต่ง

 สร้างความทุกข์ขึ้นมากลบ จนทำให้ไม่เห็นความสุขชนิดนี้

ที่มีอยู่ภายในใจตลอดเวลา

ถ้าเจริญสติสมาธิปัญญาตามลำดับ

ความคิดต่างๆก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับ

จะอยู่ในความสงบ จะคิดเมื่อมีความจำเป็น

จะคิดไปในทางมรรคเสมอ คิดด้วยเหตุด้วยผล

 คิดตามหลักของความจริง จะไม่ฝืนความจริง จะไม่ทุกข์

 เพราะสมุทัยไม่สามารถเกิดขึ้นได้

เพราะมีมรรคคอยควบคุมความคิดอยู่ตลอดเวลา

 และทำลายความคิดที่จะไปทางสมุทัยได้หมด

นิโรธคือการดับทุกข์จึงดับอย่างถาวร ดับอยู่ตลอดเวลา

ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกต่อไป นี่คือการดับทุกข์ด้วยปัญญา

 จะดับได้อย่างถาวร แต่ถ้าดับด้วยสมาธิจะดับได้ชั่วคราว

ในขณะที่จิตหยุดคิดปรุงแต่งแล้วรวมเข้าสู่ความสงบ

แต่ความดับทุกข์ด้วยปัญญานี้ไม่ต้องเข้าสมาธิ

จะสามารถควบคุมบังคับไม่ให้ไปคิดในทางสมุทัย

 เห็นอะไรก็ไม่อยากได้ ได้ยินอะไรก็ไม่อยากได้

 สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ได้ยิน ไม่ดีใจเสียใจ

 ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ ที่ใจสัมผัสรับรู้ ใจปล่อยวางทุกอย่าง

 ให้เป็นไปตามความจริง นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ

ของพุทธศาสนิกชน เริ่มต้นจากการทำบุญให้ทาน

 แล้วก็รักษาศีล จากนั้นก็ภาวนา.

........................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

กัณฑ์ที่ ๔๑๖ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ ๒๓)

"ความคุมความคิด"













ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 ธันวาคม 2558
Last Update : 25 ธันวาคม 2558 10:31:46 น.
Counter : 1019 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ