Group Blog
All Blog
### ความสุขที่ไม่ต้องไปทำตามความอยาก ###














“ความสุขที่ไม่ต้องทำตามความอยาก”

สิ่งที่พระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวก

ท่านได้ประพฤติได้ปฏิบัติมาจนท่านมีที่พึ่งทางใจขึ้นมา

 ที่พึ่งทางใจก็เกิดจากการกระทำของเรา ๓ ประการนี้

ทำบุญ ละบาป แล้วก็กำจัดความอยากต่างๆ

ด้วยการไม่ทำตามความอยาก

 อยากไปเที่ยวก็เปลี่ยนใจอยู่บ้านดีกว่า

 อยู่บ้านแล้วมานั่งสมาธิทำใจให้สงบ

 จะได้ความสุขมากกว่าออกไปเที่ยวนอกบ้าน

 ออกไปเที่ยวนอกบ้านเสียเงินเสียทองเสียเวลา

 แล้วก็ได้ความสุขเดี๋ยวเดียว

พอกลับมาถึงบ้านความสุขที่ได้ก็หายไปหมดแล้ว

 แต่ถ้าเราอยู่บ้านได้อยู่บ้าน

อ่านหนังสือธรรมะฟังเทศน์ฟังธรรม

หรือนั่งสมาธิทำใจให้สงบได้เราจะมีความสุข

 แล้วเราก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง

ร่างกายของเราก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

เสื้อผ้าก็ไม่ต้องไปซัก

เพราะออกไปนอกบ้านก็ต้องแต่งเนื้อแต่งตัว

 กลับมาเสื้อผ้าก็สกปรกก็ต้องเอาไปซักอีก

 ประโยชน์ของการชำระจิตใจนี้

ดีกว่าการไปทำตามความอยาก

การทำตามความอยากนี้ไม่เรียกว่าเป็นการชำระจิตใจ

 แต่เป็นการทำให้จิตใจสกปรกมากขึ้น

สิ่งที่ทำให้จิตใจของเราสกปรกก็คือ

ความโลภ ความอยาก ความโกรธ ความหลงนี่แหละ

พอใจสกปรกก็ทำให้ใจคิดไม่ดีพูดไม่ดีทำไม่ดี

 พอคิดไม่ดีพูดไม่ดีทำไม่ดีใจก็มีแต่ความทุกข์

 แต่ถ้าใจได้รับการชำระอยู่เรื่อยๆด้วยการฝืน

ไม่ทำตามความอยากต่างๆ

 เวลาอยากจะทำอะไรก็ไม่ทำ

 ความอยากก็จะน้อยลงไป

และเวลาทำใจให้สงบ ความอยาก ความโลภ

 ความโกรธ ความหลงก็จะสงบตัวลงไป

เหลือแต่ความสะอาดของใจ เหมือนกับน้ำ

 สมัยก่อนนี้เวลาเขาจะใช้น้ำนี้

เขาต้องไปตักน้ำจากในแม่น้ำซึ่งแม่น้ำนี้น้ำไม่สะอาด

 ก่อนจะใช้น้ำได้นี้เขาต้องใช้สารส้มแกว่งมันก่อน

พอแกว่งสารส้มแล้วของที่เป็นสิ่งสกปรก

ก็จะตกตะกอนแยกออกจากน้ำ

 ทำให้น้ำที่ขุ่นนั้นใสขึ้นมา

จิตใจของพวกเราที่ขุ่นมัวกันทุกวันนี้

ก็ขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ

ความหลง ความอยากต่างๆ

แต่พอเราเอาสารส้มคือการนั่งสมาธิการเจริญสติ

บริกรรม พุทโธๆ นี้มาแกว่งในใจเราเดี๋ยวไม่นาน

 กิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ

 ความหลงก็จะตกตะกอนแยกออกจากใจ

 ทำให้ใจนี้ใสสะอาดบริสุทธิ์มีความสุข

ใจยิ่งสะอาดเท่าไหร่ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

 นี่แหละความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสะอาดของใจ

ไม่ได้อยู่ที่การมีความร่ำรวย มีข้าวของเงินทอง

มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีบุคคลนั้นมีบุคคลนี้

พวกเรามีกันหมดแล้วๆวิเศษไหม

ใจของเรามีความสุขไหมรึกลับมาวุ่นวายมากขึ้น

มีอะไรก็ต้องวุ่นวายกับสิ่งที่เรามี

มีลูกก็ต้องวุ่นวายกับลูก

 มีสามีมีภรรยาก็ต้องวุ่นวายกับสามีกับภรรยา

 มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

ก็ต้องวุ่นวายไปกับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 สู้ไม่มีดีกว่าอยู่เฉยๆทำใจให้สงบ

ทำให้กิเลสตัณหาตกตะกอนลงไปดีกว่า

แล้วถ้าเราอยากจะแยกตะกอนออกจากน้ำอย่างถาวร

 เราก็ต้องตักน้ำที่สะอาดเอาไปใส่อีกภาชนะหนึ่ง

แยกกันออกไป ต่อไปใจของเราจะไม่มีปัญหา

จะมีแต่ความสงบมีแต่ความสะอาด

วิธีแยกตะกอนออกจากน้ำก็คือใช้ปัญญา

คอยสอนใจเตือนใจว่าอย่าทำตามความอยาก

อย่าทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง

 เพราะจะทำให้ใจขุ่นมัว

พอเรามีปัญญาเราก็จะแยกใจของเรา

ให้ออกจากตะกอนที่ทำให้จิตใจเราขุ่นมัวได้

พอต่อไปปัญญากำจัดตะกอนแยกใจ

ออกจากกิเลสตัณหา ได้หมดแล้ว

 ใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์ไปตลอด

มีความสุขไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด

ถึงแม้ร่างกายนี้ตายไปใจ ก็ยังมีความสุขต่อไป

เพราะใจไม่มีวันตายไม่ตายตามร่างกายนั่นเอง

 นี่คือใจของพระพุทเจ้า

ใจของพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นแบบนี้

หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว

ใจของท่านก็ยังสะอาดบริสุทธิ์

ความสะอาดบริสุทธิ์ของใจนี้ที่เราเรียกว่านิพพาน

 พระนิพพานก็คือความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ

 ใจที่ปราศจากกิเลสตัณหา ความโลภ

ความโกรธ ความอยากต่างๆ

ถ้าพวกเราเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

มาปฏิบัติ เอามาเป็นแบบเป็นฉบับแล้วปฏิบัติตามได้

ต่อไป ใจของพวกเรานี้จะมีแต่ความสุขไปตลอด

จะไม่มีความทุกข์ และไม่ต้องมีอะไรด้วย

ไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

ไม่ต้องมีสามี ไม่ต้องมีภรรยา ไม่ต้องมีบุตรมีธิดา

 ไม่ต้องมีแม้แต่ร่างกาย

 ต่อไปพอร่างกายนี้ตายไป

เราก็ไม่ต้องไปหาร่างกายอื่น

ถ้าใจเราสะอาดบริสุทธิ์

เราก็ไม่ต้องมาแก่มาเจ็บมาตายใหม่

เหมือนอย่างที่เราเป็นกันอยู่นี้และจะเป็นกันต่อไป

ตราบใดที่เรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง

 มีความอยากอยู่ภายในใจของเรา

ดังนั้นหน้าที่ของพวกเราก็คือ

เราต้องมาทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์

ด้วยการทำความดี ละการกระทำบาป

แล้วก็ชำระใจด้วยการปฏิบัติธรรม

 นั่งสมาธิ เจริญปัญญา รับรองได้ว่าไม่นาน

ก็จะสามารถทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์

หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะในศาลา วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

“ความจำเป็นของการเข้าวัด”











ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพคต่ะ




Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2559 11:09:48 น.
Counter : 961 Pageviews.

0 comment
### ความจำเป็นของการเข้าวัด ###















“ความจำเป็นของการเข้าวัด”

การเข้าวัดเพื่อมาหาที่พึ่งทางใจ

 เพราะว่าการทำมาหากินของเรานี้

หาที่พึ่งได้เพียงร่างกาย

แต่สิ่งที่เราหามาได้ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทอง บุคคลต่างๆสิ่งของต่างๆ

 มากน้อยเพียงไรก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของใจได้

 ไม่สามารถมาปกป้องคุ้มครองรักษาใจ

 ไม่ให้ทุกข์ไม่ให้วุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆได้

 แต่ถ้าพวกเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เป็นที่พึ่งทางใจเราจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์

คุ้มครองจิตใจของเราไม่ให้ทุกข์

ไม่ให้เดือดร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ

ที่เราจะต้องประสบพบเห็นกันในชีวิตนี้

การเข้าวัดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

 พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เข้าวัดกัน

อย่างน้อยก็อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง

 เพื่อที่จะได้มาสร้างที่พึ่งทางใจ

 มาสร้างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ให้มีเกิดขึ้นมาสู่ในใจของพวกเรา

 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้

 ถ้ายังอยู่ข้างนอกใจของเราอยู่

ยังไม่สามารถคุ้มครองเราได้

 เราต้องน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เข้ามาสู่ใจของเรา

วิธีที่จะน้อมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 เข้าสู่ใจของเราๆก็ต้องศึกษาให้รู้จักว่า

พระพุทธเจ้าคือใคร

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนอะไร

พระอริยสงฆ์สาวกท่านทำตัวอย่างไร

ถึงได้เป็นพระอริยสงฆ์สาวก

เพราะว่าการที่จะสร้างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ให้เข้ามาสู่ใจได้ ต้องสร้างด้วยการปฏิบัติ

เอาตัวอย่างของพระพุทธเจ้า

เอาคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เอาตัวอย่างของพระอริยสงฆ์สาวก

มาเป็นแบบฉบับ มาเป็นครูเป็นอาจารย์

ถ้าเรามีครูมีอาจารย์ แล้วเราปฏิบัติตาม

คำสั่งสอนของครูอาจารย์

เราก็จะได้รับผลทางพระพุทธศาสนา

 เราก็จะมีที่พึ่งทางใจ

ถ้าทางโลกเราไปเรียนหนังสือเชื่อฟังครูบาอาจารย์

เราก็จะได้ปริญญากัน

นี่คือสิ่งที่เราต้องมี คือมีครูมีอาจารย์มีตัวอย่างที่ดี

 ในการดำเนินชีวิตที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ

 และป้องกันความทุกข์ความเดือดร้อนใจต่างๆ

ไม่ให้เข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจของพวกเรา

เราต้องศึกษาพระพุทธประวัติ

 ทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้าว่า

 พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเป็นใคร

 ท่านปฏิบัติตัวอย่างไร

จึงทำให้ท่านเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้

แล้วเราก็ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ว่าท่านสอนให้เราปฏิบัติอย่างไร

ถึงจะทำให้เกิดมีที่พึ่งทางใจขึ้นมา

 แล้วเราก็ดูตัวอย่างของพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย

ที่ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอริยสาวก

ท่านก็เป็นเหมือนพวกเราที่ปราศจากที่พึ่งทางใจ

 แต่พอได้พบกับพระพุทธเจ้าก็ดี

 หรือได้พบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี

 ก็เกิดศรัทธา เห็นการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า

เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาก็พยายามปฏิบัติตาม

พอปฏิบัติได้แล้ว ก็จะได้ที่พึ่งทางใจขึ้นมา

นี่คือเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ที่เป็นสรณะที่พึ่งทางใจของพวกเรา

 ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นที่พึ่งทางใจ

 เพราะยังไม่ได้อยู่ในใจของเรายังอยู่ข้างนอกอยู่

เช่นอยู่ในหนังสือพระธรรมคำสอนก็อยู่

ในหนังสือ พระพุทธเจ้าก็อยู่ในพระประวัติ

หรืออยู่ตามวัด เช่น อยู่ตามศาลาตามโบสถ์

คือพระพุทธรูปต่างๆ

พระอริยสงฆ์สาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

เป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเรา

 แต่ยังไม่ได้เข้ามาสู่ใจของพวกเรา

 เหมือนกับยารักษาโรค เวลาที่เราไปซื้อยามา

ถ้าเรายังไม่ได้รับประทานยา

ก็ยังอยู่ภายนอกของร่างกาย ยาก็จะไม่สามารถ

รักษาโรคภัยไข้เจ็บของเราให้หายไปได้

 ถ้าเราไม่รับประทานยา

 แต่ถ้าเรารับประทานยา ยาก็จะเข้าไปสู่ร่างกาย

 แล้วก็จะไปทำลายเชื้อโรคต่างๆที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

พอเชื้อโรคถูกทำลายไปหมดร่างกายก็หายเป็นปกติ ฉันใด

ความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆของพวกเรา

จะหายไปได้ก็ต่อเมื่อเราน้อมเอาคำสอน

ของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ

เอาแบบฉบับของการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า

มาเป็นตัวอย่าง

 เอาแบบฉบับของพระอริยสงฆ์สาวก มาเป็นตัวอย่าง

 ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านทำดี คิดดี พูดดี

ท่านทำบุญละบาป ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์

พวกเราก็ต้องทำแบบท่าน ถ้าเราทำบุญ

อย่างวันนี้เรามาทำบุญกัน เอาข้าวของเงินทองต่างๆ

มาแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ไม่มี เช่นพระภิกษุสามเณร

ท่านต้องรออาศัยการทำทาน การทำบุญจากพวกเรา

 ท่านจึงจะมีอาหาร มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค

 มีเครื่องนุ่งห่มไว้สวมใส่

การที่เราแบ่งปันของต่างๆนี้ให้แก่ผู้อื่นเป็นการทำบุญ

 ทำบุญแล้วก็จะทำให้ใจของเรามีความสุข

ถ้าไม่ทำบุญนี้ใจของเราจะไม่มีความสุข

เหมือนกับไม่ได้รับประทานยา

ถ้าไม่ได้รับประทานยาใจของเราจะกระวนกระวาย

 จะกระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุข

 เพราะมีความอยากต่างๆคอยมารบกวนใจของเรา

อยากได้สิ่งนั้นอยากมีสิ่งนี้

อยากจะไปที่นั่นอยากจะมาที่นี่

อยากจะไปเที่ยวอยากจะไปทำอะไรต่างๆ

 แต่ถ้าเรามาทำบุญการทำบุญของเรานี้

จะเข้าไปกำจัดความอยากต่างๆ

 ทำให้ใจของเรามีความสุข ความอิ่ม ความพอ

ทำให้เราไม่ต้องไปดิ้นรน

ไปหาสิ่งต่างๆมาให้ความสุขกับเรา

นี่คือการทำความดีที่เกิดจากการทำทาน

การทำความดีอย่างอื่นก็มี

เช่น การรับใช้หรือช่วยเหลือผู้อื่น

 รับใช้บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์

 ผู้มีพระคุณของพวกเรา

ถ้าเราสละเวลา แทนที่จะเอาเวลาไปเที่ยว

ไปเล่นตามความอยาก

เรามาเอาเวลานี้มาดูแลผู้มีพระคุณของพวกเรา

 ไปเยี่ยมเยียนมีข้าวมีของอะไรก็ซื้อติดไม้ติดมือไป

แล้วไปถึงถ้ามีอะไรที่จะช่วยท่านได้ก็ช่วย

 ช่วยกวาดบ้าน ช่วยถูบ้าน ช่วยซักผ้า

 ช่วยทำอะไรต่างๆที่คนสูงอายุจะทำไม่ได้

หรือทำลำบาก ทำแล้วเราจะมีความสุขมากว่า

 การไปเที่ยวไปเล่นไปทำอะไรต่างๆ

นี่คือเรื่องของการทำความดี

จะทำให้เรามีความสุขใจ

และจะทำให้เราไม่วุ่นวายใจ

ไปกับความอยากต่างๆ

นอกจากนั้นก็ทรงสอนให้เราไม่กระทำบาป

ไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี สื่งที่ไม่ดีเราไม่ควรกระทำ

ก็คือบาป และอบายมุขต่างๆ

บาปก็คือ หนึ่งการฆ่าสัตว์ สองการลักทรัพย์

 สามการประพฤติผิดประเวณี

 สี่การพูดปดโกหกหลอกลวง

แล้วก็ห้าคือการเสพอบายมุขคือสุรายาเมา

เที่ยวกลางคืนเล่นการพนัน คบคนไม่ดีเป็นมิตร

 ความเกียจคร้าน นี่คือสิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่เราควรจะเลิก

ถ้าเรามีความเกียจคร้าน

เราก็จะต้องเอาความขยันเข้ามาทำลาย

 อย่าอยู่เฉยๆนั่งอยู่เฉยๆ

อย่าปล่อยให้เวลาอันมีค่าของชีวิตของเราผ่านไป

โดยไม่ได้ทำประโยชน์

เราสามารถทำประโยชน์ได้ตลอดเวลา

ให้กับชีวิตของเรา

 ถ้าเราอยู่เฉยๆไม่รู้จะทำอะไรก็ดูสิว่า

ในบ้านนั้นสกปรกหรือเปล่า

เสื้อผ้าสกปรกหรือเปล่าเรียบร้อยหรือเปล่า

 มาซักเสื้อผ้ามากวาดบ้านถูบ้าน

มาจัดบ้านให้สะอาดเรียบร้อย

บ้านที่สะอาดเรียบร้อยก็จะน่าอยู่

จะไม่ต้องออกไปเที่ยวข้างนอกกัน

ที่เราอยู่บ้านไม่ติดเพราะเห็นบ้านแล้วมันรกรุงรัง

 เต็มไปด้วยข้าวของต่างๆ

แล้วเราไม่มีเวลามาจัดการ

มาจัดระเบียบให้มันดูสวยงามน่าอยู่กัน

เราจึงอยากออกไปข้างนอกไปตามร้านค้าต่างๆ

 ที่เขามีการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ

 ถ้าเรามาจัดบ้านเราให้เป็นระเบียบ

เราก็จะมีความสุขอยู่กับบ้านของเรา

เราก็ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน

ถ้าเราจัดบ้านเสร็จยังไม่รู้จะทำอะไร

 เรามาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ได้

หนังสือธรรมะ เปิดอ่านก็ได้

 หรือถ้าเราอยากจะปฏิบัติธรรมก็นั่งสมาธิไปก็ได้

ทำอะไรก็ฝึกเจริญสติ พุทโธๆ ไป

อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่องราวต่างๆ

เพราะคิดแล้วก็จะเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา

 เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา

พอเกิดความอยาก

ก็ต้องเดือดร้อนไปทำตามความอยาก

 ทำตามความอยากก็ต้องใช้เงินใช้ทองทำกัน

 เงินทองก็จะร่อยหรอไปเรื่อยๆ

 แทนที่จะเก็บเงินเก็บทองไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็น

 พอถูกความอยากเรียกร้องขึ้นมา

ก็เลยต้องใช้ให้ไปทำตามความอยาก

พอเงินหมดก็ต้องเดือดร้อน

 ต้องไปกู้หนี้ยืมสินถ้าหาเองไม่ได้

 หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องไปลักขโมยไปทำบาปทำกรรม

 เพราะเราไม่รู้จักวิธีใช้เวลาของเรา

ใช้เงินทองของเรา ให้เกิดประโยชน์

ถ้าเราใช้เงินทองตามความอยากนี้

มีเท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้

เพราะเห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด

เห็นรองเท้า เห็นเสื้อผ้า เห็นกระเป๋า

เห็นของเล่น เห็นโทรศัพท์มือถือเห็นอะไรจิปาถะ

 อยากได้ไปหมดทั้งๆที่ได้มาแล้ว

มันก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้นแต่อย่างใด

 ไม่ได้ทำให้เรารวยขึ้นแต่อย่างใด

แต่กลับทำให้เราจนลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้นเราต้องระมัดระวังเรื่องของการใช้เงิน

อย่าไปใช้ตามความอยาก

ให้ใช้ตามความจำเป็น

 ถ้าเราอยากจะได้อะไรก็ให้ถามว่า

 ถ้าไม่ได้มาแล้วจะตายหรือไม่

ถ้าไม่ตายก็แสดงว่าไม่จำเป็น

 ก็อย่าไปซื้อเก็บเงินไว้ดีกว่า เงินสำคัญกว่า

เพราะเวลาเกิดจำเป็นจะต้องซื้ออะไรที่จำเป็น

จะได้มีเงินซื้อ ไม่ต้องไปขอยืมเงิน

หรือไปขอทานจากผู้อื่น

ถ้าเรารู้จักควบคุมการใช้เงินไม่ใช้ตามความอยาก

 เราจะเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

พวกเราที่ไม่ได้เป็นเศรษฐีกันก็เพราะว่า

หยุดใช้เงินไม่เป็น ใช้เงินเก่งแต่หาเงินไม่เก่ง

พวกเศรษฐีนี้เขาหาเงินเก่งแต่ใช้เงินไม่เก่ง

 เพราะเขารู้จักควบคุมการใช้เงินทองของเขา

 ให้อยู่ในความจำเป็นเท่านั้น

ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อเก็บเงินไว้เงินมันงอกขึ้นมา

 ถ้าซื้อของไม่จำเป็นเงินหดไปแล้ว ก็เงินหายไป

ของที่ได้มาเวลาจำเป็นจะต้องใช้เงิน

เวลาเอาไปขายก็ขายไม่ได้กี่ตัง

 ดังนั้นอย่าไปซื้อของต่างๆที่ไม่จำเป็น

 อย่าใช้เงินตามความอยาก

เพราะจะทำให้เราเดือดร้อนในภายหลัง

 ถ้าเรารู้จักควบคุมการใช้จ่ายเงินทอง

 ชีวิตของเรานี้จะไม่เดือดร้อน

จะมีเงินทองไว้จับจ่ายใช้สอย กับสิ่งที่จำเป็นเสมอ

 แล้วก็จะมีเงินทองเหลือมาทำบุญ

ยิ่งทำบุญได้มากเท่าไหร่ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปเท่านั้น

ไม่ทำบาปก็จะไม่มีความทุกข์.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

ธรรมะในศาลา วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

“ความจำเป็นของการเข้าวัด”










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2559 10:43:46 น.
Counter : 1023 Pageviews.

0 comment
### ใช้ความคิดปรุงแต่งต้านความคิดปรุงแต่งเพื่อเข้าสมาธิ ###













“ใช้ความคิดปรุงแต่ง

ต้านความคิดปรุงแต่งเพื่อเข้าสมาธิ”

การที่เราจะทำจิตให้รวมเป็นสมาธิได้ เราก็ต้องมีสติ

 เป็นตัวดึงใจให้เข้าสู่ความสงบนั่นเอง

ถ้าเราไม่มีสติดึงใจ ใจมันก็จะถูกตัณหาความอยากผลักดัน

ให้ออกไปหาสิ่งต่างๆอยู่เรื่อยๆ ให้คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 แล้วก็อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็จะไปทำตามความอยาก

 ใจก็จะไหลไปตามกระแสของความอยาก

 จะไม่มีวันที่จะเข้าสู่ความสงบความเป็นอุเบกขาได้

ถ้าไม่มีสติคอยยุติความคิดปรุงแต่ง

 ที่จะคิดไปในทางความอยาก

เราจึงต้องใช้ความคิดปรุงแต่ง

ต้านความคิดปรุงแต่ง เช่นคิดพุทโธๆไป

ความคิดพุทโธๆไปนี้

ก็จะต้านความคิดที่จะไปหาความสุข

 ทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ หาสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้

 ถ้าเราพุทโธๆไป หรือว่าถ้าเรามีกำลังมากพอ

ที่ไม่ต้องใช้พุทโธ ผูกมันไว้กับร่างกายก็ได้

 ให้มันอยู่กับร่างกายตลอดเวลา ไม่ให้มันไปคิดเรื่องอื่น

ให้คิดอยู่กับเรื่องของร่างกาย ร่างกายกำลังทำอะไร

ก็ให้รู้อยู่กับการกระทำของร่างกายก็ได้

หรือถ้าร่างกายไม่ได้ทำอะไร

ก็จะดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้

 จะดูความแก่ความเจ็บความตายของร่างกายไปก็ได้

ให้มันอยู่ในปัจจุบัน หรือให้มันรู้เฉยๆได้ก็ยิ่งดี

รู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไร กำลังอาบน้ำ กำลังล้างหน้า

 กำลังแปรงฟัน ก็ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่

 ไม่ให้ลอยไปที่อื่น อย่างนี้ก็เท่ากับเป็นการดึงใจ

 ให้เข้าสู่ปากประตูของความสงบนั่นเอง

พอเรานั่งเฉยๆนั่งหลับตาพุทโธสัก ๒ – ๓ ทีเท่านั้น

มันก็เข้าไปข้างในแล้ว เพราะว่ามันอยู่ปากประตูแล้ว

 พอเราเปิดประตูเราก็ดันมันเข้าไปได้เลย

 แต่ถ้าเราไม่มีสติดึงมันให้อยู่กับร่างกาย

ให้มันอยู่ในปัจจุบัน มันชอบไปอดีตไปอนาคต

 ไปที่เรื่องนั้นที่เรื่องนี้

 เวลานั่งสมาธิ เราก็จะไม่มีวัน

ที่จะดึงมันเข้าไปสู่ความสงบได้

เพราะมันอยู่ห่างไกลจากประตูมาก

 จนเกินกำลังของเราที่จะดึงมันเข้าไปได้

 ฉะนั้นเราต้องพยายามดึงมันมาไว้ที่ปากประตูก่อน

 ก่อนเวลาที่เราจะนั่งสมาธิ

พอมันอยู่ปากประตูแล้ว

เวลาเรานั่งสมาธิ เราพุทโธ ๒ - ๓ ที

มันก็เข้าไปได้เลย นี่คือเรื่องของการเจริญสติ

การจะมีสมาธิได้นี้จะต้องมีสตินำทาง

 ต้องมีสติดึงใจให้เข้าข้างใน ถ้าไม่มีสติดึงใจ

ตัณหาความอยากมันจะดันออกไปข้างนอกตลอดเวลา

ดังนั้นเราจึงต้องควบคุบความคิดของเรา

 เพราะความคิดของเราเป็นเครื่องมือของตัณหา

ความอยากนั่นเอง ถ้าเราปล่อยให้มันคิดปั๊บ

มันจะคิดไปทางความอยากทันที

คิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้แล้ว

เดี๋ยวก็อยากจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามมา

 พอเกิดความอยากแล้วก็เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ

 ถ้าไม่ได้ทำตามความอยากก็ยิ่งทุกข์ทรมานกันไปใหญ่

 ในที่สุดก็ทนไม่ได้ ก็ต้องไปทำตามความอยาก

พอทำตามความอยากแล้ว มันก็ทำให้เกิดกำลังมากขึ้น

 เกิดความอยากมากขึ้นไปอีก

 แล้วมันก็จะทำให้การทำใจให้สงบนี้ยากขึ้นไปอีก

 ดังนั้นเราต้องเจริญสติให้มากเพื่อควบคุมความคิด

 ที่จะคิดไปในทางความอยาก

เพื่อจะได้ลดกำลังของความอยากลงไปเรื่อยๆ

แล้วต่อไปความอยากมันก็จะอ่อนกำลัง

การจะเข้าสมาธิก็จะเข้าได้อย่างง่ายดาย

พอเรามีสมาธิแล้วเราก็มาศึกษามาพิจารณาความจริง

ของขันธ์ ๕ ของสภาวธรรมต่างๆ ของสิ่งต่างๆ

ที่เรามีความผูกพันมีความเกี่ยวข้อง มีความรักมีความชอบ

 เราก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า มันไม่ใช่สิ่งที่น่ารักน่าชอบ

 เพราะมันเป็นเหมือนงูพิษดีๆนี่เอง

 ถ้าเราไปรักไปชอบงูพิษ

เดี๋ยวเราก็ถูกงูพิษกัดตายได้ ฉันใด

 ถ้าเราไปรักสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

เราก็จะต้องถูกมันกัดตาย

ถูกมันสร้างความทุกข์ให้กับเรา

 พอเราเห็นว่ามันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

เราก็จะได้ไม่อยากได้ เราก็จะอยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องมีอะไร

 พอเราไม่มีอะไรเราก็จะไม่มีอะไรมาให้ความทุกข์กับเรา

 เราก็จะอยู่อย่างสุขอย่างสบายไปตลอด

นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ เรื่องของการศึกษาความจริง

 ของสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรา

นอกจากขันธ์ ๕ แล้วมันก็มีของภายนอกขันธ์ ๕

เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้อยู่ภายนอก

 ลาภยศสรรเสริญนี้ก็อยู่ภายนอก

 ของพวกนี้เราก็ต้องตัดให้ได้เหมือนกัน

 เราก็ต้องไม่ไปยึดไปติด

ร่างกายของคนอื่นก็เหมือนกัน

 อย่าว่าแต่ร่างกายของเรา

 ร่างกายของคนอื่นเราก็ต้องไม่ไปยึดไปติดไปอยากได้

 เพราะเขาก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน

ต้องพยายามพิจารณาเพื่อจะได้แก้ความหลง

แก้ความเห็นผิด จนเราไม่หลงไม่ลืมไม่เห็นผิดอีกต่อไป

จนเราไม่มีความอยากที่อยากจะได้อะไรอีกต่อไป

 การพิจารณาถึงจะหมดความจำเป็น

ถ้ายังมีความหลงยังมีความอยากอยู่

 ก็ยังต้องพิจารณาไปเรื่อยๆ

แล้วถ้าพิจารณาแล้วยังตัดไม่ได้

ก็ต้องกลับมาทำสมาธิเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สลับกันไป

ทำกันไป พิจารณาแล้วตัดไม่ขาดก็กลับมาทำสมาธิต่อ

 ทำสมาธิเสร็จแล้วก็ออกมาพิจารณาใหม่

ถ้าพิจารณาใหม่ยังไม่ขาดก็กลับไปทำสมาธิใหม่

ทำไปอย่างนี้สลับกันไปสลับกันมาจนกว่ามันจะขาด

เหมือนกับเวลาตัดไม้ตัดด้วยมีด

ตัดไปแล้วมันไม่ขาดก็พัก

 ไปกินข้าวไปพักนอนหลับ เอามีดไปลับ

 พอตื่นขึ้นมาก็กลับมาฟันไม้มันใหม่

 ฟันมันยังไม่ขาดมีดมันทื่อก็กลับไปลับมีดใหม่

 ร่างกายมันเหนื่อยก็กลับไปพักผ่อน

มันหิวก็ให้อาหารมันใหม่

 จิตก็เหมือนกับร่างกายทำงาน

เวลาพิจารณาแล้วมันตัดไม่ขาด

ก็ต้องกลับเข้าไปในสมาธิใหม่

พักในสมาธิ ออกจากสมาธิมาก็มาพิจารณาใหม่

ยังตัดไม่ขาดก็กลับเข้าไปในสมาธิใหม่

กลับไปกลับมาอย่างนี้

 ไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะต้องขาดจนได้

เพราะนี่มันเป็นวิธีเดียวเท่านั้น

ที่จะทำให้เราตัดความอยากต่างๆ

ที่เป็นเหตุที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ต่างๆ

ขึ้นมาได้นั่นเองไม่มีทางอื่น

ทางของพระพุทธเจ้านี้เป็นทางเดียวเท่านั้น

 ที่จะนำพาสัตว์โลกไปสู่ความสิ้นสุด

ของความทุกข์ทั้งหลายได้

ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด

พระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตาม

 ก็จะสอนเหมือนกันหมดทุกๆพระองค์

คือสอนให้เจริญปัญญา สอนให้เจริญสติ

สอนให้เจริญสมาธิ สอนให้รักษาศีล สอนให้ทำทาน

 เพราะนี่คือขั้นบันไดขั้นตอนของการปฏิบัติ

 ที่จะนำพาไปสู่การสิ้นสุดของความทุกข์

ที่เกิดจากความอยากทั้งหลาย

ไม่มีทางอื่นมีทางนี้ทางเดียว

 และไม่มีผู้อื่นทำให้เราได้

 เราต้องเป็นผู้กระทำเพียงผู้เดียว

 เราต้องเป็นผู้ศึกษา เมื่อเราศึกษาแล้ว

เราก็จะได้รู้จักวิธีที่จะนำเอาไปปฏิบัติ

 พอเรานำเอาไปปฏิบัติเราก็จะได้รับผล

 ช้าบ้างเร็วบ้างก็ขึ้นอยู่กับความพยายาม

ความขยันหมั่นเพียร อยู่ที่ความฉลาด

 อยู่ที่ความสามารถที่จะนำคำสอน

มาปฏิบัติกับตนได้มากได้น้อย

 อันนี้มีความแตกต่างกัน

 จึงมีการบรรลุช้าบ้างเร็วบ้างต่างกันไป

อยู่กับสิ่งที่มีอยู่ในใจของแต่ละบุคคล

คือมีแรงต้านมากน้อยต่างกัน

 จิตใจบางคนก็มีแรงต้านมาก คือมีกิเลสหนา

 ก็มีแรงต่อต้านธรรมของพระพุทธเจ้ามาก

 จิตใจที่มีกิเลสบาง ก็จะมีแรงต้านธรรมของพระพุทธเจ้าน้อย

 คนที่มีกิเลสบางก็จะสำเร็จง่ายกว่าคนที่มีกิเลสหนา

ฉะนั้นการปฏิบัติของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน

 ผลจากการปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

บางคนก็บรรลุได้เร็ว บางคนก็บรรลุได้ช้า

บางคนก็บรรลุได้ง่าย บางคนก็บรรลุได้ยาก

เพราะมีอินทรีย์ มีกิเลสมากน้อยต่างกันนั่นเอง

 แต่ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จะมีมากมีน้อย

 ถ้ามีความเพียร มีศรัทธาความเชื่อ

ปฏิบัติอย่างไม่ถอยไม่หยุดไม่หย่อน

 ก็ต้องสำเร็จด้วยกันทุกคน ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

 ต่างกันตรงนั้น ช้าหรือเร็ว ยากหรือง่าย

ดังนั้นเราไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับคนอื่น

เห็นเขาปฏิบัติง่ายปฏิบัติเร็ว เราปฏิบัติยากปฏิบัติช้า

ก็ขอให้คิดว่าเรามันมีกิเลสหนาปัญญาทึบ

 มีบุญน้อยสร้างบุญมาน้อย

 สร้างแต่กิเลสมาแต่ภพก่อนๆ

 สะสมแต่กิเลสตัณหาไม่เคยสะสมบุญบารมี

 ไม่เคยสะสมปัญญาเลย

 พอมาทำชาตินี้มันก็เลยยากและช้า

 เพราะกิเลสก็หนาปัญญาก็ทึบ

ส่วนบางคนนี่เขากิเลสบางปัญญาแหลมคม

 เขาปฏิบัติปุบปั๊บไม่กี่วันไม่กี่เดือนเขาก็บรรลุได้

แต่นี่เป็นเรื่องของคุณสมบัติของแต่ละบุคคล

ที่ไม่มีใครที่จะไปเปลี่ยนแปลงได้

เพราะมันเป็นเรื่องของผล

ที่เกิดจากเหตุที่ทำมาในอดีตนั่นเอง

 ในอดีตพวกเราแต่ละคน

ได้สร้างบุญบารมีสร้างบาปสร้างกรรมมาไม่เท่ากัน

 บางคนสร้างบุญบารมีมาก สร้างบาปสร้างกรรมน้อย

มันก็ปฏิบัติได้ง่ายและได้เร็ว

บางคนสร้างบุญบารมีน้อย

สร้างบาปสร้างกรรมมาก มันก็ช้ามันก็ยาก

แต่ไม่ว่าจะช้าหรือจะยาก ก็บรรลุได้เหมือนกัน

 แล้วพอบรรลุได้มันก็มีผลเท่ากัน

เหมือนกับนักศึกษาที่จบปริญญา

จะจบปีนี้หรือจะจบอีก ๕ ปีข้างหน้า

มันก็ได้ปริญญาเท่ากันเหมือนกัน

 การบรรลุก็เช่นเดียวกัน เมื่อบรรลุแล้ว

ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เหมือนกัน เท่ากัน

ไม่มีความแตกต่างจากกัน

พระอรหันต์ทุกรูปนี้มีความบริสุทธิ์ทางจิตใจเท่ากันหมด

ไม่ว่าจะเป็นยุคพระพุทธกาล หรือยุคในปัจจุบันนี้

ก็จะมีจิตที่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน

 มี นิพพานัง ปรมัง สุขังเหมือนกัน

 แต่ความรู้ความสามารถที่จะมานำธรรมะของตน

 ที่ได้ศึกษาที่ได้เห็นมานี้

 เอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้อื่นนี้

 ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถ

ที่จะชี้แจงแถลงไข นำเอารายละเอียดต่างๆ

ออกมาชี้แจงให้แก่ผู้อื่นให้ได้เห็น

บางท่านก็มีความสามารถมาก ก็ทำให้มีผู้ที่สนใจศึกษา

ได้รับประโยชน์มาก บางท่านก็มีความสามารถน้อย

 ก็ไม่สามารถที่จะอบรมสั่งสอนให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์

 แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่เป็นปัญหา สำหรับผู้ที่ได้บรรลุแล้ว

 เพราะท่านไม่ได้สอนด้วยความอยากอยู่ดี

 ท่านสอนไปตามกำลังตามความรู้

ตามความสามารถของท่าน

 เช่นสมัยปัจจุบันนี้ หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์นี้

ท่านก็เป็นพระเกจิ แต่องค์หนึ่งท่านก็มีความรู้

ความสามารถที่สั่งสอน

จึงทำให้หลวงปู่มั่นมีลูกศิษย์ลูกหามาก

 หลวงปู่เสาร์นี้ท่านไม่สามารถสั่งสอนผู้อื่น

 ท่านก็เลยมีลูกศิษย์ลูกหาน้อย

แต่ความบริสุทธิ์ของใจของท่านมีเท่ากัน

ดังนั้นเราไม่วัดกัน ตรงที่ความสามารถ

ในการเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่น หรือในการมีบารมี

ในเรื่องของการได้รับลาภสักการะต่างๆ

อันนี้เป็นส่วนประกอบส่วนย่อย

 ส่วนประกอบส่วนสำคัญที่เท่ากันหมด ก็คือ

ความบริสุทธิ์ของใจ พระอรหันต์ทุกรูปนี้

 มีความบริสุทธิ์เท่ากันหมด

แต่มีความรู้ความสามารถพิเศษต่างกันไป

บางท่านก็มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะเหินเดินอากาศได้

 บางท่านก็มีความรู้ความสามารถ

ในการเผยแผ่สั่งสอนธรรมะได้

อย่างพระพุทธเจ้านี้ทรงยกย่องพระสารีบุตร

ว่าเป็นอัครสาวกมือขวา เพราะว่าพระสารีบุตรนี้

 เป็นผู้ที่แสดงธรรมได้ฉลาด มีความสามารถมาก

ในการแสดงธรรมให้แก่ผู้อื่น รองจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

 พระพุทธเจ้ายกให้เป็นมือขวาเลย

 เพราะท่านเห็นความสำคัญของการเผยแผ่ธรรมะ

 มากกว่าความมีความสามารถทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์

เช่นพระโมคคัลลาน์

 พระโมคคัลลาน์นี้ก็เป็นผู้ที่มีความสามารถ

ในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มากกว่าสาวกทุกองค์

รองจากพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว

 พระพุทธเจ้าจึงตั้งให้เป็นอัครสาวกมือซ้าย

นี่คือความสามารถพิเศษที่ติดมากับใจของแต่ละบุคคล

 แต่สิ่งที่มีเท่ากันหมด ก็คือความบริสุทธิ์

ความปราศจากความโลภความโกรธความหลงของใจ

 ความปราศจากความอยากต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ

 อันนี้มีเท่ากันหมดเหมือนกันหมดทุกๆองค์

 แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน

 ไม่มีใครบริสุทธิ์มากกว่ากัน บริสุทธิ์เหมือนกันหมด

 เหมือนกับเอาเสื้อผ้าใส่ไปในถังซักผ้าแล้วก็ซักมัน

 พอมันซักเสร็จมันก็สะอาดเท่ากันหมด

ไม่ว่าจะเป็นตัวใหญ่ตัวเล็กตัวน้อย

ถ้าอยู่ในถังอันเดียวกันซักพร้อมกัน

มันก็สะอาดเท่ากัน ฉันใด

 เรื่องของความบริสุทธิ์ใจนี้ก็เท่ากัน

แต่เรื่องของบารมีนี้ไม่เท่ากัน

บารมีที่ได้ ในการเผยแผ่สั่งสอนก็ดี

ในการมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ก็ดี

ในการมีลาภสักการะก็ดี

อย่างในสมัยปัจจุบันนี้ ก็ต้องยกให้หลวงตา

ในเรื่องลาภสักการะ มีศรัทธาญาติโยม

ร่วมถวายเงินถวายทองคำเป็นจำนวนมาก

 ไม่มีครูบาอาจารย์รูปไหนที่ได้ลาภสักการะเท่ากับหลวงตา

 อันนี้ก็เป็นเรื่องของบารมีที่ท่านได้สร้างสมไว้ในอดีต

 เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง

 ที่ทำให้ท่านได้ทำใจของท่านให้สะอาดบริสุทธิ์

ดังนั้นเราต้องแยกประเด็นให้ถูก

 อย่าไปกังวลกับเรื่องความยากความง่าย

 ความช้าความเร็ว ความมีลูกศิษย์ลูกหามากหรือมีน้อย

 มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์หรือไม่มี

มีลาภสักการะหรือไม่มี อันนี้อย่าไปกังวล

ขอให้เรากังวลอยู่ว่า เรามีศีลสมาธิปัญญาหรือเปล่า

 มีทานมีศีลมีสมาธิมีปัญญามีสติหรือเปล่า

อันนี้เป็นตัวสำคัญ ในการที่จะทำให้เรา

บรรลุธรรมขั้นต่างๆได้

 ให้เราทุ่มไปที่ตรงนี้ ทำทานให้มาก รักษาศีลให้มาก

 เจริญสติให้มาก นั่งสมาธิให้มาก เจริญปัญญาให้มาก

แล้วผลมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง

ช้าหรือเร็วมันก็ขึ้นอยู่กับ

 เรื่องของบุญของกรรมที่เราทำมาในอดีต.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๔๗๔ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

“เรื่องขันธ์ ๕”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2559 11:19:12 น.
Counter : 1165 Pageviews.

3 comment
### เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในขันธ์ ๕ ###












“เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในขันธ์๕”

เวทนา เวทนานี้ก็มีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน

คือ มีสุขเวทนา มีทุกขเวทนา

และไม่สุขไม่ทุกขเวทนา

 ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง

หรือการสัมผัสรับรู้ของทางร่างกาย

 ร่างกายเวลาหิวก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

เวลาได้รับประทานอาหารอิ่มก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมา

 เวลาที่ไม่หิวไม่อิ่มก็เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา

 เวลาที่สัมผัสกับอากาศร้อนก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา

เวลาที่ได้สัมผัสกับอากาศเย็นก็เกิดสุขเวทนา

เวลาร้อนแล้วอาบน้ำหรือเวลาเข้าห้องปรับอากาศ

 ก็จะเกิดสุขเวทนาขึ้นมา

เวลาที่ไม่ได้พบอากาศร้อนไม่ได้พบอากาศเย็น

ก็จะเกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนา

นี่คือเวทนาที่ผ่านทางร่างกาย

ที่มีการเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย

ที่เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับได้เสมอไป

บางครั้งบางคราวบางเวลาเราก็ควบคุมได้เปลี่ยนได้

เช่นอากาศร้อน ถ้าเรามีเงินซื้อเครื่องปรับอากาศมา

 เราก็จะสามารถปรับอากาศให้มันเย็น

 ปรับทุกขเวทนาให้เป็นสุขเวทนาได้

แต่ถ้าไฟดับเราก็จะปรับไม่ได้

มีเงินก็ไม่สามารถที่จะทำให้ไฟติดได้

อันนี้ก็ต้องศึกษาให้รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราอาจจะปรับได้

อาจจะปรับไม่ได้ ถ้าปรับได้ก็มีความสุขใจ

 ถ้าปรับไม่ได้ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 ถ้าไม่อยากจะเกิดความทุกข์ใจ ก็ต้องทำใจ

คืออย่าไปปรับเวทนา หัดอยู่กับเวทนาทั้ง ๓ ชนิด

 ทุกขเวทนาก็อยู่กับมันไป สุขเวทนาก็อยู่กับมันไป

ไม่สุขไม่ทุกข์ก็อยู่กับมันไป อย่าไปยึดอย่าไปติด

แต่ส่วนใหญ่นี้เราจะยึดติดกับสุขเวทนากัน

 เวลาได้สุขเวทนาก็อยากจะให้มันสุขไปเรื่อยๆ

ไม่อยากจะให้มันหมดไป เช่นอากาศเย็นที่ผ่านมา

 เรามีความเย็นสบายกัน

เราก็อยากจะให้มันเย็นอย่างนี้ไปตลอด

แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว มันเริ่มกลับมาร้อนแล้ว

ถ้าเรายังอยากจะให้มันเย็นอยู่

เราก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

แต่ถ้าเราพิจารณาให้เห็นว่า มันเป็นอนัตตา

เราไปสั่งเวทนาให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้

 เราก็ปรับใจเรา ตอนนี้ไม่เย็นแล้ว ตอนนี้เริ่มร้อนแล้ว

 ก็หัดอยู่กับความร้อนไป ทำใจ อย่าไปต่อต้านความร้อน

 เพราะเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ เราไปแก้เขาไม่ได้

 ถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเวทนา ปล่อยวางเวทนาได้

เราก็จะไม่มีความทุกข์ใจ

นี่คือวิธีปฏิบัติต่อเวทนา

เพื่อที่จะทำให้เราไม่ต้องมีความทุกข์กับเวทนา

ก็คือ เราต้องเข้าใจว่า เวทนาเขามีเหตุมีปัจจัย

ที่ทำให้เขาปรากฎขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาก็ดี

ทุกขเวทนาก็ดี หรือไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็ดี

 เขามีเหตุมีปัจจัยทำให้เขาปรากฎขึ้นมา

แล้วบางทีเราก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยน

หรือไปสั่งให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์เราก็ต้องทำใจ ปล่อยวาง

อย่าไปอยาก อันนี้ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับเวทนาทั้ง ๓

ถ้าเราปฏิบัติกับเวทนาได้ถูกต้อง ก็คือปล่อยวางได้

 เราก็จะไม่ทุกข์กับเวทนาทั้ง ๓

เหมือนกับเราไม่ทุกข์กับร่างกาย

 ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของร่างกาย

ว่าเขาเป็นอะไรอย่างไร เราก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย

 ถ้าเราเข้าใจเวทนาทั้ง ๓ เราก็จะไม่ทุกข์กับเวทนาทั้ง ๓

 เช่น เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็รู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้

 สั่งให้ความเจ็บหายไปทันทีทันใดไม่ได้

แต่เราไม่ต้องทุกข์กับความเจ็บของร่างกายได้

 ถ้าเรามีปัญญา มีความรู้ที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฐิ

รู้ว่าทุกขเวทนาของร่างกายที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้

 เป็นสิ่งที่เราห้ามเขาไม่ได้ เปลี่ยนเขาไม่ได้

 แต่เราห้ามใจของเราไม่ให้ไปทุกข์กับเขาได้

 โดยควบคุมความอยาก ไม่ให้ไปอยาก

ควบคุมใจให้นิ่งให้สงบ ให้เป็นอุเบกขา

 นี่คือเรื่องของการพิจารณาเรื่องของเวทนา

ส่วนสัญญาคือความจำ ความจำนี้ก็คือ

 เรามีความจำที่ไม่ถูก เราจำผิด

เช่นเราจำว่าร่างกายนี้สวยงาม

จำว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา

 จำว่าร่างกายนี้จะอยู่ไปนานๆ

 อันนี้เราก็ต้องมาเปลี่ยนสัญญาใหม่

การเปลี่ยนสัญญาใหม่ก็คือ

การศึกษาความจริงของร่างกายนี่เอง

ถ้าเราศึกษาบ่อยๆ พิจารณา

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของร่างกายบ่อยๆ

ต่อไปเราก็จะเปลี่ยนความจำใหม่

แทนที่จะจำว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา

 เราก็จะจำว่ามันไม่ใช่เป็นตัวเรา มันเป็นเพียงอาการ ๓๒

 มันเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มันไม่เที่ยง

 มันเกิดแก่เจ็บตาย อันนี้คือสัญญาความจำ

ตอนนี้ความจำของเราจำผิด มีความเห็นผิดนั่นเอง

 สัญญาก็คือความจำหรือความเห็นผิด

เราก็ต้องมาแก้ความเห็นผิด ด้วยการศึกษาความจริง

 เมื่อเราศึกษาความจริงอยู่เรื่อยๆ

ต่อไปความเห็นผิดนี้ก็จะหายไป

ก็จะมีความเห็นที่ถูกต้องปรากฎขึ้นมามีความจำที่ถูกต้อง

 พอเรามีความจำที่ถูกต้องแล้ว

เราจะไม่ไปคิดไปในทางที่ผิด

ถ้าเราคิดว่าเป็นของเรา เราก็จะเกิดความอยาก

 สังขารความคิดปรุงเเต่งก็จะคิดไป

 อยากจะปกป้องรักษาร่างกายของเรา ถ้าเป็นของเรา

 เราก็อยากจะรักษามันดูเเลมัน ให้มันดี

 ไม่ให้มันแก่ไม่ให้มันเจ็บไม่ให้มันตาย

เเต่พอรักษาไม่ได้ มันก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แต่ถ้าเรามีสัญญาความถูกต้องว่า มันไม่ใช่ตัวเราของเรา

 สังขารก็จะไม่คิดไปในทางที่จะไปคอยดูแลรักษามัน

 ถ้าดูแลก็ดูแลแบบพอที่จะดูแลได้

ถ้าดูแลไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ไม่ไปวุ่นวายไปกับมัน

นี่คือ การเปลี่ยนสัญญากับสังขารใหม่

สัญญาคือความจำ สังขารคือความคิดปรุงเเต่ง

มันจะไปด้วยกัน ๒ ตัวนี้ ถ้ามีความคิดผิด

 ถ้ามีความเห็นผิดมันก็จะคิดผิด

ถ้ามีความเห็นถูกมันก็จะคิดถูก

 ถ้ามันเห็นว่าเป็นของเรา

 มันก็จะคิดไปในทางปกป้องรักษาดูแล

ถ้ามันคิดว่ามันไม่ใช่เป็นของเรา

 มันก็จะคิดว่าไม่ต้องไปปกป้องดูแลรักษา

พอไม่ต้องปกป้องดูแลรักษา มันก็สบายไม่ทุกข์

 เพราะสิ่งที่เราจะไปปกป้องดูแลรักษา

เราก็ปกป้องดูแลรักษาไม่ได้อยู่ดี

คือร่างกายของเรา จะไปรักษามันยังไงไม่ให้มันแก่

 ไม่ให้มันเจ็บ ไม่ให้มันตาย มันก็ทำไม่ได้อยู่ดี

ในที่สุดมันก็ต้องแก่เจ็บตายไป

 ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้อง

ความคิดของเราก็จะมีความถูกต้องตามมา

 เราก็จะไม่ไปวุ่นวายไปกับมันมากจนเกินไป

ดูแลรักษามันได้ก็รักษามันไป ดูแลรักษามันไม่ได้ก็ยอมรับ

 หยุดต่อต้าน หยุดต่อสู้ ไม่ยอมไม่สู้ละ ยอมแพ้

ยอมแพ้ความเเก่ ยอมแพ้ความเจ็บ ยอมแพ้ความตาย

พอยอมแล้วเราก็จะหยุด หยุดต่อสู้ ไม่ไปรักษามันแล้ว

 ไม่ไปทำศัลยกรรมตกแต่ง ไม่ไปย้อมผม

ไม่ไปทำอะไรต่างๆ เพื่อจะรักษาความหนุ่มความสาวเอาไว้

 เพราะรู้ว่าทำยังไงก็ทำไม่ได้อยู่ดี ใจก็จะได้ไม่วุ่นวาย

 ใจก็จะได้สงบ นี่คือการศึกษาเกี่ยวกับสัญญาสังขาร

 สัญญาความจำตอนนี้จำผิด

ต้องมาเปลี่ยนความจำให้มันจำถูก

จำว่าไม่ใช่เป็นของเรา จำว่าร่างกายไม่สวยงาม

 จำว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงเกิดแก่เจ็บตาย

 แล้วสังขารก็จะคิดไปในทางปล่อยวาง

 จะไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

จะไม่อยากได้สิ่งที่ไม่สวยงาม

ก็จะไม่คิดไปในทางตัณหานั่นเอง

สังขารเรานี้ส่วนใหญ่จะคิดไปในทางตัณหา

 เพราะเรามีความเห็นผิด มีความจำผิด

คิดว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นจะให้ความสุขกับเรา

สิ่งนั้นสิ่งนี้จะอยู่กับเราเป็นของเราไปตลอด

แต่ถ้าเรามีสัญญาใหม่ สัญญาที่ถูกต้อง

 เราจะเห็นว่ามันไม่สุขอย่างเดียว มันมีทุกข์ด้วย

แล้วมันก็ไม่ถาวร มันเป็นของชั่วคราว

 แล้วเราก็ไปสั่งมันไม่ได้เสมอไป

ไปปกป้องรักษามันไม่ได้ตลอดเวลา

อันนี้พอเห็นความจริงแล้ว

สังขารความคิดปรุงเเต่งที่อยากจะได้ ก็ระงับไป

จะไม่อยากได้อะไร พอไม่มีความอยาก ก็จะไม่มีความทุกข์

นี่คือเรื่องของรูป เวทนา สัญญา สังขาร

ส่วนวิญญาณคือ ผู้ที่ทำหน้าที่รับรู้ ความจริงที่ผ่านมา

ทางตาหูจมูกลิ้นกายนี่เอง เช่น รูปที่สัมผัสกับตา

 ก็เป็นรูป สัญญาก็รู้เฉยๆ สักแต่ว่า รู้ว่าเป็นรูป

ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าเป็นเสียง

ถ้าสัญญาสังขารมีความเห็นที่ถูกต้อง มันก็จะไม่ไปปรุงเเต่ง

 แต่ถ้ามันไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง มันมีความหลง

 มันก็จะไปปรุงเเต่ง อยากให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ทันที

 พอได้ยินเสียงที่ชอบก็อยากจะให้มันอยู่ไปนานๆ

 พอได้ยินเสียงที่ไม่ชอบก็อยากจะให้มันหายไปเร็วๆ

 แทนที่จะรู้เฉยๆ มันไม่ยอมรู้เฉยๆ

เเต่ถ้าสัญญาสังขารนี้ มีความเห็นที่ถูกต้อง

 มีความคิดที่ถูกต้อง มันก็จะปล่อยวาง มันก็จะรู้เฉยๆ

ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน เห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น

 นี่คือหน้าที่ของวิญญาณ

แต่มักจะถูกสัญญาสังขารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 สัญญาสังขารที่หลง พอเห็นรูปก็อยากจะได้

 หรืออยากไม่ได้ เพราะไปคิดว่าดีหรือไม่ดีขึ้นมา

 ไม่มองว่ามันเป็นเพียงดินน้ำลมไฟนั่นเอง

มาจากดินน้ำลมไฟ เห็นกระดาษที่มีหมายเลข

ก็อยากจะได้ขึ้นมา ทั้งๆที่มันก็เป็นเพียงกระดาษ

เอาไปกินก็กินไม่ได้ แต่เเย่งกันฆ่ากันแทบเป็นแทบตาย

 ก็เพราะไอ้กระดาษที่มีหมายเลขปั๊มอยู่เท่านั้นเอง

เพราะมองไม่เห็นว่ามันเป็นเพียงกระดาษ มันเป็นเพียงธาตุ

คิดว่ามันเป็นความสุข ได้มามากๆแล้วจะมีความสุขมาก

 นี่ก็คือความหลง ถ้าไม่ได้ศึกษาความจริงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

ก็จะไปหลงคิดว่าเป็นของมีค่า

เห็นก้อนหินก็ไปหลงว่าเป็นของมีค่า

ตั้งราคากันเป็นร้อยล้านพันล้านขึ้นมา

 ก้อนหินแท้ๆดีๆนี่เอง เพียงแต่ว่ามันหายากหน่อย

ก็เลยกลายเป็นของมีค่าขึ้นมา เพชรนี่คืออะไร

 เพชรก็คือก้อนหิน เพียงแต่ว่ามันหายาก

ก็เลยเป็นของมีราคาขึ้นมา

ส่วนก้อนหินที่มันหาง่ายมันเลยไม่มีราคา

 อย่างก้อนหินบนเขานี้เต็มไปหมด มันก็หินเหมือนกัน

แต่ทำไมมันไม่มีใครอยากได้

ก็เพราะว่ามันไม่มีใครอยากได้

 มันถึงไม่มีราคา พอไม่มีราคาก็ไม่มีใครอยากได้

พอมันมีราคามันก็แย่งกัน พออยากได้มันแย่งกัน

 มันก็เลยกลายเป็นของมีราคาเท่านั้นเอง

 แต่คนที่เห็นความจริงแล้ว ก็ไม่อยากได้ เฉยๆ

ได้มาแล้วเอามาทำอะไร ก็เอามาทำอะไรไม่ได้

 มันก็เป็นก้อนหินดีๆนี่เอง

นี่คือเรื่องของการศึกษา เพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ

 คือความเห็นที่ถูกต้องเรียกว่าปัญญา

ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว

เราก็จะได้ปฏิบัติกับสิ่งต่างๆได้อย่างถูกต้อง

ก็คือเราจะปล่อยวาง เราจะไม่อยากได้

พอเราปล่อยวางและไม่อยากได้ เราก็จะไม่ทุกข์

 ความทุกข์เกิดจากความอยากของเรา

ไม่ได้เกิดจากสิ่งต่างๆในโลกนี้ ว่ามีหรือไม่มี

สิ่งต่างๆจะมีหรือไม่มี ถ้าใจเราไม่ไปอยากกับเขาแล้ว

เราไม่มีความทุกข์กับเขา

 แต่ถ้าเราไปอยากกับเขาแล้ว เวลาเขามีเราก็ทุกข์ได้

ถ้าเขาเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ

 พอเราไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบเราก็ทุกข์

ถ้าหายไป ถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบเราก็เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน

 เพราะเราอยากให้เขาอยู่

สิ่งที่เราชอบเราก็อยากจะให้เขาอยู่

 สิ่งที่เราไม่ชอบเราก็อยากจะให้เขาหายไป

 พอเขาไม่หาย เขายังอยู่เราก็ทุกข์

สิ่งที่เราชอบ อยากให้เขาอยู่ พอเขาไม่อยู่ เราก็ทุกข์อีก

แต่ถ้าเราไม่มีอยากแล้ว

เขาจะอยู่หรือเขาจะไม่อยู่ เราก็จะไม่ทุกข์

การศึกษาเพื่อให้เรายุติความหลง

เพื่อจะได้ไม่มีความชอบหรือไม่ชอบ

 ความชอบหรือไม่ชอบนี้เกิดจากความหลง

พอเรารู้ว่า เขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

 เขาไม่มีประโยชน์อะไรกับจิตใจของเรา

เขาไม่ได้ทำให้จิตใจของเรา

ดับความทุกข์ภายในใจของเราได้

ความสุขที่เราได้รับก็เป็นความสุขปลอม

 ความสุขที่เราคิดขึ้นมาเอง

เวลาที่เราได้เขามาเราก็ดีอกดีใจ

เเต่เวลาที่เราเสียเขาไปเราก็จะเสียอกเสียใจ

 แต่ถ้าเราไม่อยากได้เขาแล้ว เวลาเขามาเราก็เฉยๆ

เวลาเขาไปเราก็เฉยๆ

นี่คือเรื่องของการพิจารณาสิ่งต่างๆ

 เช่น ขันธ์ ๕ เราต้องพิจารณาว่าเขาไม่เที่ยง เป็นทุกข์

 คือรูปกับเวทนานี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีการเปลี่ยนแปลง

 ส่วนสัญญา เราก็ต้องเปลี่ยนสัญญาใหม่

จากการที่เห็นว่าเที่ยงให้เห็นว่าไม่เที่ยง

จากการที่เห็นว่าสุขให้เห็นว่าเป็นทุกข์

 จากการที่เห็นว่าเป็นของเรา ให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นของเรา

 พอเราเห็นตามความจริงแล้ว สังขารความคิดปรุงเเต่ง

ก็จะไม่คิดไปในทางความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

หรือไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สังขารก็จะเฉยๆ

 จะอยู่กับสิ่งต่างๆได้

 เวลาร่างกายเจ็บก็อยู่กับความเจ็บของร่างกายได้

เวลาร่างกายแก่ก็อยู่กับความแก่ของร่างกายได้

 เวลาร่างกายตายก็อยู่กับความตายของร่างกายได้

แต่การที่จะทำใจได้นี้ ก็ต้องมีสมาธิ มีอุเบกขา

ถ้าพิจารณาโดยไม่มีอุเบกขา

พิจารณาไปแล้วก็ทำใจไม่ได้อยู่ดี

หยุดความอยากไม่ได้อยู่ดี เพราะใจไม่มีกำลัง

ที่จะทำตามความเห็นที่ได้ศึกษานั่นเอง

เพราะว่ายังมีสิ่งที่มันต่อต้านความจริงอยู่ภายในใจ

 ก็คือความอยาก ความหลงนั่นเอง

ดังนั้นการที่พิจารณาโดยที่ไม่มีสมาธิ ก็จะไม่ได้ผลอะไร

 อยากจะได้ผล เราก็ต้องกลับมาทำสมาธิก่อน

 ทำจิตใจให้สงบ ให้เป็นกลางให้เป็นอุเบกขาก่อน

พอจิตเป็นกลางเป็นอุเบกขาแล้ว เวลาออกจากสมาธิมา

 เราก็จะได้เอาความเป็นกลางความเป็นอุเบกขานี้

มาใช้ในการพิจารณาสิ่งต่างๆ

แล้วเราก็จะปล่อยวางสิ่งต่างๆได้

 ถ้าเห็นด้วยปัญญาว่ามันเป็นทุกข์

เราก็จะได้ไม่ไปอยากได้

แต่ตอนนี้ถ้าเราไม่มีสมาธิ

 ต่อให้รู้ว่าเป็นทุกข์ก็หยุดมันไม่ได้

 เช่นคนที่ติดยาเสพติด รู้อยู่ว่าเสพแล้วมันเป็นทุกข์

 แต่ก็หยุดเสพไม่ได้ คนที่ติดสุราอยู่ว่าดื่มไปแล้วมันเป็นโทษ

 ก็หยุดดื่มไม่ได้ คนที่สูบบุหรี่ติดบุหรี่

ถ้าไม่มีสมาธิไม่มีอุเบกขา

พิจารณาว่ามันเป็นโทษมันก็หยุดไม่ได้อยู่ดี

ดังนั้นต้องมีสมาธิถึงจะสามารถที่จะปฏิบัติตามปัญญาได้

 ปฏิบัติตามความเห็นที่ถูกต้องได้

 ดังนั้นเราข้ามขั้นสมาธิไปไม่ได้ ไม่ว่าใครก็ตาม

ที่คิดว่าจะเข้าสู่ขั้นปัญญาได้

ถ้าเข้าได้ ถ้ามันทำได้มันก็ต้องหยุดได้

มันก็ต้องหยุดความอยากได้ถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาจริง

 แต่ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว

แต่ก็ยังหยุดความอยากไม่ได้

ก็ถือว่ายังไม่เป็นปัญญา ยังไม่บรรลุผล

ผลที่เราต้องการก็คือการหยุดความอยาก

หยุดความทุกข์ที่เกิดจากความอยากนี้

ดังนั้นถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว

เราหยุดความอยากไม่ได้

อยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายไม่ได้

เราก็ต้องมาทำสมาธิก่อน

ทำสมาธิให้ใจสงบเป็นอุเบกขาให้ได้ก่อน

 ทำจิตให้รวมเป็นอัปปนาฯให้ได้ สักแต่ว่ารู้

พอออกจากสมาธิแล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะหยุดความอยากได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๔๗๔ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

“เรื่องขันธ์ ๕”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2559 13:36:38 น.
Counter : 1268 Pageviews.

1 comment
### เรื่อง ขันธ์ ๕ ###













“เรื่องขันธ์ ๕”

วันนี้จะขอบรรยายอธิบายเรื่องขันธ์ ๕

ให้ท่านทั้งหลายได้รู้จัก

 และรู้จักวิธีที่จะปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ ให้ถูกต้อง

เพราะตอนนี้พวกเราปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ ไม่ถูกต้อง

ทำให้ใจของพวกเราต้องมีแต่ความวุ่นวาย

มีแต่ความทุกข์ความไม่สบายใจ

เพราะเราไม่ได้รู้จักขันธ์ ๕ อย่างแท้จริง

ขันธ์นี้ก็คือ ธรรม ๕ ประการหรือ ๕ อาการด้วยกัน

 ที่ประกอบเป็นชีวิตของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย

แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนร่างกายและส่วนจิตใจ

ส่วนร่างกาย เรียกว่า รูปขันธ์

ส่วนจิตใจ ก็เรียกว่า นามขันธ์

นามขันธ์นี้ก็มีอยู่ ๔ ขันธ์ด้วยกัน

 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ร่างกายหรือรูปขันธ์ ก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง ก็คือร่างกาย

 การปฏิบัตินี้ก็เพื่อให้รู้แจ้งในขันธ์ ๕

 ให้รู้ตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕

ไม่ใช่รู้ตามความรู้สึก นึกคิดของจิตใจ

 เพราะตามความรู้สึกนึกคิดของจิตใจนี้

 เป็นความรู้ที่ออกจากความหลง

คือ ความเห็นผิดเป็นชอบ

 เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

จึงทำให้จิตต้องเกิดความทุกข์ เกิดความไม่สบายใจ

 ถ้าเราได้ศึกษาและเข้าใจความจริงของขันธ์ ๕

เราก็จะไม่ทุกข์กับขันธ์ ๕

เมื่อเราไม่ทุกข์เราก็จะมีแต่ความสุข

 ดังนั้นผู้ใดก็ตาม ถ้าได้ศึกษาขันธ์ ๕ จนรู้แจ้งเห็นจริง

ตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์

ที่เกิดจากการหลงยึดติดอยู่กับขันธ์ ๕ นั่นเอง

ขันธ์ ๕ ขันธ์แรก เราเรียกว่า รูปขันธ์

 ก็คือ ร่างกาย ร่างกายนี้เราต้องศึกษา

ให้เห็นตามความเป็นจริงของร่างกายว่า

ร่างกายนี้มีอะไรบ้าง ร่างกายนี้ ท่านก็ให้พิจารณา

ให้เห็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย

 คือให้เห็นทั้ง ๓๒ อาการด้วยกัน

ตอนนี้เราส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นครบ ๓๒ อาการ

 เราจะเห็นเพียง ๕ อาการ ก็คือ

เราจะเห็นแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง

 ส่วนอีก ๒๗ อาการนี้ เรามองไม่เห็นหรือไม่มองกัน

 จึงทำให้เราไม่เห็น ความจริงที่แท้จริงของร่างกาย

 เรากลับเห็นว่าร่างกายสวยงาม

 เพราะว่าเราไม่ได้เห็นส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย

เมื่อเราเห็นว่าร่างกายสวยงาม

ก็เกิดความอยากได้ร่างกายนั้นมาเป็นสมบัติ

แต่พอเราได้มาแล้ว เราก็มาเสียใจในภายหลัง

เพราะว่ามันไม่ได้สวยงามอย่างที่เราคิดไว้

ถ้าเราเห็นว่ามันไม่สวยงาม เราก็จะได้ไม่ต้องไปอยากได้

ร่างกายของคนอื่นมาเป็นคู่ครองของเรา

 เราก็จะอยู่คนเดียวได้

อยู่คนเดียวได้ก็จะสบายใจกว่าอยู่กับอีกคนหนึ่ง

 เพราะอยู่กับอีกคนหนึ่งก็ต้องมีปัญหา

ต้องมีการคอยดูแลกัน คอยรักษาแล้วก็ต้องมีอะไรต่างๆ

 ที่อยู่คนเดียวไม่มี ก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้น

จากบุคคลที่เราอยู่ด้วย

แล้วก็จะทำให้เราอยู่คนเดียวได้

โดยที่ไม่มีความรู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา

ถ้าเราเห็นความจริงของร่างกายที่ไม่สวยงาม

ดังนั้น เราจึงต้องศึกษาอาการ ๓๒ ของร่างกาย

จนให้มันฝังอยู่ในใจของเรา

 เวลาเราเห็นร่างกาย เราจะเห็นครบทั้ง ๓๒ อาการ

หรืออย่างน้อยก็อาการที่ไม่สวยงาม

เพื่อที่จะได้ยับยั้งความอยาก ยับยั้งกามารมณ์

ที่จะทำให้ จิตใจของเรามีความหงุดหงิดรำคาญใจ

 มีความเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่

 แล้วก็จะต้องบังคับให้เรา ต้องไปหาคู่ครองมาอยู่ด้วย

 แล้วก็มาทุกข์กับคู่ครองต่อไป

ถ้าเราเห็นอาการที่ไม่สวยงามของร่างกาย

เราก็จะได้ไม่ต้องไปมีความอยากในกามารมณ์

เราก็จะไม่รู้สึกมีความหงุดหงิดรำคาญใจ

 จะไม่มีความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่

 เวลาที่เราอยู่คนเดียว นี่คือ การศึกษารูปขันธ์

 ในมุมของความไม่สวยงาม

เราอย่าเห็นแต่ส่วนที่สวยงาม

เราต้องมองให้เห็นส่วนที่ไม่สวยงามด้วย

 เพื่อจะได้ไม่หลงไปกับกามารมณ์นั่นเอง

 นี่คือข้อที่ ๑ เราต้องศึกษาดูอาการ ๓๒

 คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

 จากหนังแล้วเราก็เข้าไปใต้ผิวหนัง

จะเห็นเนื้อ เห็นเอ็น เห็นกระดูก เห็นเยื่อในกระดูก

 เห็นม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่

ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ

 แล้วก็จะเห็นส่วนที่เป็นส่วนน้ำ เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง

 น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย

น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมันข้น น้ำมูตร

นี่คือส่วนที่ไม่มีใครปรารถนาอยากจะเห็นกัน

 แต่ก็มีอยู่ภายในร่างกายที่สวยน่าดูทางภายนอก

แต่ถ้ามองเข้าไปใต้ผิวหนังแล้ว ก็จะเห็นว่าไม่น่าดูเลย

ไม่น่ารักไม่สวยงามเลย

นี่คือสิ่งที่เราต้องศึกษาเกี่ยวกับรูปขันธ์ คือร่างกาย

เพื่อที่จะได้คลายความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ

 เห็นร่างกายที่ไม่สวยงามว่าสวยงาม

นี่คือข้อที่ ๑ เกี่ยวกับการศึกษารูปขันธ์ คือร่างกาย

ข้อที่ ๒ ที่เราต้องศึกษาเกี่ยวกับรูปขันธ์ ก็คือ

 ต้องดูว่าอาการทั้ง ๓๒ นี้ ไม่มีตัวมีตน

เป็นการประกอบขึ้นมาจากดินน้ำลมไฟ

 ดินน้ำลมไฟก็มาทางอาหาร ทางน้ำดื่ม

ทางอากาศที่หายใจเข้าไป

 เมื่อมารวมกันก็จะทำให้อาการ ๓๒ นี้เจริญเติบโตขึ้นมา

 เวลาอยู่ในท้องก็เริ่มต้นจากธาตุ

คือน้ำที่มีอยู่ในร่างกายของพ่อกับในร่างกายของแม่

 เมื่อน้ำหรือธาตุทั้ง ๔ มารวมกัน ก็จะก่อตัวขึ้นเป็นอาการ ๓๒

 และพอได้รับธาตุ ๔ คืออาหารผ่านทางสายเลือดของมารดา

 ร่างกายที่ก่อตัวขึ้นมาก็จะเจริญเติบโต

อาการ ๓๒ ก็จะเริ่มปรากฎขึ้นมา

จนพอร่างกายเจริญสมบูรณ์เต็มที่

ไม่สามารถอยู่ในครรภ์ได้ ก็คลอดออกมา

 พอคลอดออกมาแล้ว ก็มารับธาตุคืออาหารต่อ

 ดื่มนม ดื่มน้ำ หายใจ เอาอาหารเข้าไป

 อาหารก็คือธาตุดินนี้เอง พอได้รับธาตุอย่างต่อเนื่อง

 อาการ ๓๒ ก็จะเจริญงอกงามเจริญเติบโตขึ้นมา

 จนเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมา

เมื่อเจริญจนถึงขีดเต็มที่แล้ว ก็จะหยุด

 แล้วจะเริ่มนับถอยหลัง ก็จะเริ่มเสื่อมลงไป

 ร่างกายก็จะเริ่มแก่ชราไปทีละเล็กทีละน้อย

โรคภัยไข้เจ็บก็จะเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับร่างกาย

 แล้วต่อไปก็จะหยุดหายใจ

พอร่างกายหยุดหายใจแล้ว

 ธาตุที่รวมกันอยู่ในร่างกายทั้ง ๔ ก็จะแยกทางกันไป

ถ้าปล่อยร่างกายทิ้งไว้ในป่าช้า

ร่างกายมันก็จะเน่าเปื่อย แห้งกรอบไป

ธาตุน้ำก็จะไหลออกมา ธาตุลมก็จะระเหยออกมา

 ที่ส่งกลิ่นไม่ดี กลิ่นเหม็นนี้ก็ธาตุลม

ธาตุน้ำก็น้ำเลือด น้ำเหลืองอะไรต่างๆ ที่ไหลออกมา

 ธาตุไฟก็ละลายออกมา ทำให้ร่างกายที่เคยอบอุ่น

 กลายเป็นร่างกายที่เย็นเฉียบไป ทิ้งไปเรื่อยๆ

ต่อไปร่างกายก็จะแห้งกรอบ ผุเปื่อยกลายเป็นดินไป

 ในสมัยนี้เราก็เร่งวิธีสลายธาตุทั้ง ๔ ด้วยการนำเข้าเตาเผา

 เข้าเมรุ เผาด้วยไฟ เผาเสร็จตอนเช้า

ก็มาเก็บเศษขี้เถ้าเศษกระดูก ก็เป็นธาตุดิน

 ธาตุน้ำก็ถูกไฟเผาระเหยไปหมด

ธาตุลมก็ออกไปหมด ธาตุน้ำก็หมด เหลือแต่ธาตุดิน

นี่คือ การพิจารณาให้รู้ความจริงของรูปขันธ์

คือร่างกายนี้ว่า เป็นเพียงอาการ ๓๒

ที่ทำมาจากดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ในร่างกายนี้

 ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีพี่ไม่มีน้อง ไม่มีสามีไม่มีภรรยา

 ไม่มีบุตรไม่มีธิดา อยู่ในร่างกายนี้

 ผู้ที่อยู่ในร่างกายนี้ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

คือผู้ที่มาครอบครองร่างกายนี้

ผู้ที่มาใช้ร่างกายให้ทำอะไรต่างๆนี้ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 ผู้ที่ใช้ร่างกายนี้ ก็เรียกว่าใจ

ที่ใช้นามขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 เป็นเครื่องมือในการสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ

ดังนั้น การพิจารณารูปขันธ์ ก็คือต้องพิจารณาให้เห็นว่า

 เป็นอาการ ๓๒ ไม่สวยงาม

เป็นอาการที่ทำมาจากดินน้ำลมไฟ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล

 ไม่มีตัวตนอยู่ในอาการ ๓๒ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

 แล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ถาวร

เป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป

นี่คือเรื่องของการศึกษาความจริงของรูปขันธ์

 เพื่อจะได้ทำลายความหลงที่ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ

ความหลงคืออะไร ก็คือเห็นว่าร่างกายนี้สวยงาม

เห็นว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา

เห็นว่าร่างกายนี้จะอยู่ไปนานๆ จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

จะไม่ตาย จะไม่แก่ นี่คือความหลงที่อยู่ในหัวใจ

ของผู้ที่ไม่เคยศึกษาความจริงของร่างกาย

ถ้าได้ศึกษาแล้ว ก็จะไม่หลงกับความหลงของร่างกาย

 ก็จะไม่ยึดไม่ติดกับร่างกาย

 จะไม่มีตัณหาความอยากได้ร่างกาย

จะไม่มีความอยากจะได้ร่างกายของคนนั้นคนนี้

มาเป็นคู่ครอง มาให้ความสุข

เพราะจะเห็นว่าไม่สวยงาม ไม่ได้เห็นว่าสวยงาม

 จะเห็นว่าเป็นความทุกข์เพราะว่า

เป็นร่างกายที่จะต้องแก่เจ็บตาย

จะต้องมีวันพลัดพรากจากกัน

เวลาไม่พลัดพรากจากกัน เวลาอยู่ด้วยกัน

 เวลาไม่สบายก็ต้องมาเป็นทุกข์มาห่วงใยกัน

ถ้าไม่อยากจะมีความทุกข์

ก็ไม่ต้องมีร่างกายของคนอื่นมาแบก

ถ้าเห็นความจริงก็จะไม่อยากจะอยู่กับคนนั้นคนนี้

 อยากจะอยู่คนเดียว สบายใจกว่า

คนที่ยังอยากจะอยู่กับคนนั้นคนนี้อยู่

 ก็เพราะยังมีความหลง

คิดว่ามีเขาแล้วจะทำให้เรามีความสุข

 แต่คนที่เห็นความจริงแล้ว จะไม่หลง

จะรู้ว่ามีเขาแล้วจะมีความทุกข์ นี่คือการศึกษา

เพื่อให้เราได้ปล่อยวางร่างกายของคนอื่นและของเรา

 ร่างกายของคนอื่นเราก็รู้ว่าไม่สวยงาม

เราก็จะไม่อยากได้

 ร่างกายของเรา เราก็รู้ว่าจะต้องแก่เจ็บตาย

 ไม่ใช่ตัวเราเป็นเพียงอาการ ๓๒ ทำมาจากดินน้ำลมไฟ

เราก็จะไม่ยึดติดกับร่างกายที่เราเรียกว่าเป็นของเรานี้

 เราก็จะปล่อยให้มันแก่มันเจ็บมันตายตามสภาพของมันไป

 เราจะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

นี่คือเรื่องของรูปขันธ์ที่เราต้องศึกษา

 เพื่อที่เราจะได้ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติดรูปขันธ์

คือร่างกายทั้งของเราและทั้งของผู้อื่น

 ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของพ่อของแม่ ของสามีของภรรยา

 ของบุตรของธิดา หรือของใครก็ตาม

เราจะรู้ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

เป็นเพียงอาการ ๓๒ ไม่เที่ยง

เกิดแก่เจ็บตาย เป็นอนัตตา เป็นทุกข์

 ถ้าเราไปยึดไปติด ไปอยากให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ

อยากจะให้เขาไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

 นี่คือการศึกษาเกี่ยวกับรูปขันธ์

เพื่อเราจะได้ไม่หลงยึดติด พอเราไม่ยึดติดแล้ว

เราจะไม่ทุกข์กับร่างกาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

กัณฑ์ที่ ๔๗๔ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

“เรื่องขันธ์ ๕”










ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2559 11:32:23 น.
Counter : 1053 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ