Group Blog
All Blog
### ความหวาดกลัวนี้เกิดจากความหลง ###















“ความหวาดกลัวนี้เกิดจากความหลง”

ร่างกายนี้เกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป

ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตายไปไม่ได้

ถ้ามีปัญญาคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆจนไม่หลงไม่ลืม

 พอเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ปัญญาก็จะสอนให้ใจอยู่เฉยๆ

ให้ปล่อยวาง เพราะว่าถ้าไปมีความอยากไม่ตาย อยากไม่แก่

อยากไม่เจ็บ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

นี่คือเรื่องของปัญญาและเรื่องของสติ

ที่จะเกิดขึ้นจากการมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียร

ธรรมเหล่านี้ ก็จะอยู่นอกใจอยู่ชั่วขณะที่ได้ยินได้ฟัง

อย่างตอนนี้ พอเราแยกทางกันกลับบ้าน

กลับไปสู่ที่อยู่อาศัยของเรา หรือกลับไปทำอะไรต่างๆ

 ถ้าเราไม่มีความเพียรที่จะเจริญ ระลึกถึงความตาย

สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนี้ก็จะหายไป กลายเป็นสัญญา

กลายเป็นความจำไป พอเราไปประสบกับความตายของเราก็ดี

 หรือของคนอื่นก็ดี เราก็จะเกิดความตกใจ

เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาทันที

 เพราะว่าเราไม่มีปัญญาอยู่คู่กับใจไว้คอยปกป้องรักษาใจ

 ไม่ให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นมา

ความหวาดกลัวนี้เกิดจากความหลง

 ความลืมไปว่าร่างกายนี้จะต้องแก่ เจ็บ ตายนั่นเอง

 พอเกิดความหลง เกิดความลืมก็เกิดความอยาก

อยากให้ร่างกายนี้ไม่ตาย

พอไปเจอความตายเข้าก็จะเกิดความหวาดกลัว

เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที

เพราะว่าไม่มีปัญญาคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆนั่นเอง

แต่ถ้าเราเอาความตายนี้ ที่เราได้ยินในขณะนี้ไปกับเราด้วย

 หลังจากที่ออกจากที่นี่ไปแล้ว

เราก็ยังระลึกถึงความตายอย่างต่อเนื่อง

ใจของเรานี้ก็จะมีปัญญาคอยคุ้มครองคอยรักษา

ไม่ให้ใจของเราทุกข์ วุ่นวายไปกับความตาย

นี่คือเรื่องของการมีความเพียร

 เราต้องพยายามเพียรเจริญสติ เพียรปัญญาให้มาก

 เพียรนั่งสมาธิทำใจให้สงบ

 เพราะถ้าใจสงบแล้วใจจะสามารถปล่อยวางร่างกายได้

 ถ้าปัญญาสอนหรือชี้ให้เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา

ร่างกายนี้ประกอบขึ้นมาจากธาตุทั้ง ๔ คือดินน้ำลมไฟ

 และสักวันหนึ่ง ก็จะต้องกลับคืนสู่ธาตุเดิม ธาตุที่มีอยู่ในร่างกายนี้

คือธาตุทั้ง ๔ นี้ เช่นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟนี้

สักวันหนึ่งก็จะต้องแตกความสามัคคีกันจะต้องแยกทางกัน

 ร่างกายนี้พอไม่หายใจแล้ว ธาตุลมก็หยุดการเข้าออกแล้ว

 ธาตุไฟก็จะหายไป ธาตุน้ำก็จะไหลออกมา

 ไหลจนกระทั่งร่างกายนี้แห้งกรอบไป กลายเป็นดินไป

 นี่คือเรื่องของร่างกายของทุกๆ คน

เกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตายด้วยกันทุกคน

 ไม่มีใครสามารถที่จะห้ามความแก่ ความเจ็บ

ความตายของร่างกายได้ แต่ปัญญานี้จะห้ามไม่ให้ใจทุกข์

กับความแก่ ความเจ็บ ความตายได้

 เพราะว่าเวลามีปัญญาก็จะทำให้ใจนี้ยอมรับความจริง

ยอมรับว่า ร่างกายนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

แต่ใจผู้พิจารณาร่างกายนี้ไม่ได้เป็นร่างกาย

ใจเป็นผู้รู้ เป็นผู้คิดเท่านั้น ใจมาได้ร่างกายมาเป็นสมบัติไว้

สำหรับรับใช้ใจ ตอบสนองความต้องการต่างๆของใจ

 ใจต้องการจะดูรูป ฟังเสียงก็ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 แต่ถ้าใจมีความสงบแล้วใจก็จะไม่ต้องใช้ร่างกาย

เพราะความสุขที่ได้จากความสงบนี้เป็นความสุขที่ดีกว่า

ความสุขที่ได้จากการใช้ร่างกายไปดูรูป หรือไปฟังเสียงต่างๆ

 เมื่อมีความสุขที่ดีความสุขที่ได้จากทางร่างกาย

การใช้ร่างกายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

 เมื่อไม่มีความจำเป็นแล้ว ร่างกายจะอยู่หรือจะไปก็จะไม่เป็นปัญหา

 แต่ถ้าใจยังไม่มีความสงบ

 ยังไม่สามารถหาความสุขจากความสงบได้

ใจก็จะต้องไปอาศัยร่างกายหาความสุขผ่านทางร่างกาย

ถ้ายังต้องอาศัยร่างกายก็จะต้องเกิดความรัก เกิดความหวงขึ้นมา

 เกิดความอยากไม่ให้ร่างกายตายไปจากใจ

เพราะถ้าไม่มีร่างกายแล้วใจก็จะไม่สามารถหาความสุขได้นั่นเอง

 นี่คือเรื่องของการปล่อยวางร่างกาย

จะปล่อยวางร่างกายได้เราต้องมีสมาธิ มีความสงบ

 มีความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ก่อน

 ถ้าเรามีความสุขที่เกิดจากความสงบแล้วเราจะปล่อยวางสิ่งต่างๆ

เช่นร่างกายนี้ได้อย่างสบาย

เพราะความสุขที่ได้ผ่านทางร่างกายนี้

สู้ความสุขที่ได้จากความสงบไม่ได้

นี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องเพียรพยายามสร้างขึ้นมาให้ได้ก่อน

ก็คือความสุขที่เกิดจากความสงบ

ความสุขที่เกิดจากการทำใจให้รวมเป็นสมาธิ รวมเป็นหนึ่ง

 เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา

ใจจะรวม ใจจะสงบได้นี้ต้องอาศัยสติเป็นเครื่องมือ

สตินี้จะดึงใจให้รวมเป็นหนึ่งดึงใจให้เข้าไปข้างใน

 สิ่งที่คอยดันใจให้ออกมาทางร่างกายก็คือตัณหาความอยากต่างๆ

เช่นความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็จะดึงใจให้ออกมาทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เพื่อที่จะได้เสพสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

แล้วก็ได้รับความสุขชั่วคราว แล้วก็จะต้องเสพอยู่เรื่อยๆ

ใจก็จะไม่ยอมเข้าไปข้างในจะออกมาอยู่เรื่อยๆ

จะออกมาหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ

ถ้าปล่อยให้ออกมาใจก็จะไม่มีวันสงบ

 ใจจะสงบได้ก็ต่อเมื่อใจนี้ถอนออกมาจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ถอนออกมาจากตาหูจมูกลิ้นกาย รวมเข้าไปสู่ใจ

 การที่จะให้ใจถอนออกจากรูปเสียงกลิ่นรส

 ถอนออกมาจากตาหูจมูกลิ้นกายได้

ก็ต้องใช้สติเป็นเครื่องมือนั่นเอง

ถ้าเราเจริญสติแบบใดแบบหนึ่ง จะเป็นมรณานุสติ

หรือจะเป็นพุทธานุสติ หรือจะเป็นกายคตาสติ

 หรือสติแบบอื่น มีอยู่ ๔๐ ชนิดด้วยกันที่เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐

กรรมฐาน ๔๐ นี้เป็นเครื่องมือเจริญสติ

บางชนิดก็เป็นเครื่องมือเจริญปัญญาด้วย

 เช่นมรณานุสติหรืออสุภะ เหล่านี้จะเป็นทั้งสติและเป็นทั้งปัญญา

 แต่ถ้าจริตไม่เหมาะกับการเจริญมรณานสุติหรืออสุภะ

 ก็จำเป็นที่จะต้องใช้อย่างอื่น เช่นอานาปานสติหรือกายคตาสติ

หรือพุทธานุสติไปก่อน เพื่อทำให้ใจให้รวมเป็นสมาธิ ให้ใจสงบ

 ถ้าใจรวมเป็นสมาธิแล้วมีความสงบ

ได้ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้

ก็จะสามารถที่จะเลิกการใช้ร่างกาย

 เลิกการใช้สิ่งต่างๆมาเป็นเครื่องมือในการให้ความสุขกับใจได้

 เพราะความสุขที่ได้จากความสงบนี้

เป็นความสุขที่เหนือความสุขทั้งปวงนั่นเอง

 ถ้าเปรียบเทียบก็เป็นเหมือนสินค้าที่มีคุณค่ามีราคาที่สูงสุด

 ถ้าเราได้สินค้าที่มีราคาที่ดีกว่าสิ่งที่เรามีอยู่

เช่นบ้าน เรามีบ้านแล้วเราได้บ้านใหม่ที่มีคุณค่า

มีราคาที่ดีกว่าบ้านเก่าที่เราอยู่

เขาให้เราเลือกว่าจะเอาบ้านเก่าบ้านใหม่

 เราก็ต้องเลือกเอาบ้านใหม่กัน เพราะมันดีกว่าบ้านเก่า

หรือรถยนต์ มีคนเสนอเอารถยนต์รุ่นใหม่ออกมาล่าสุด

แพงที่สุดกับขอเเลกเปลี่ยนกับรถเก่าๆของเรานี้ เราจะเอาหรือไม่เอา

 เราก็ต้องเอาเพราะมันเป็นของที่ดีดีกว่า ของที่เรามีอยู่ ฉันใด

ความสุขที่พวกเรา มีกันอยู่นี้

ความสุขที่ได้จากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้

 เป็นความสุขที่สู้ความสุขที่ได้จากความสงบไม่ได้

ถ้าใจเรารวมเป็นสมาธิแล้วเราจะเห็นความแตกต่าง

ของความสุข ๒ รูปแบบนี้ทันที และเราจะรู้ทันทีว่า

เราจะเอาความสุขแบบไหน

 พอได้สัมผัสความสุข ที่เกิดจากความสงบเพียงครั้งเดียว

แม้แต่เพียงชั่ววูบเดียว ชั่วขณะเดียว ก็ทำให้เกิดความพึงพอใจ

 เกิดฉันทะ เกิดความยินดีที่จะหาความสุขแบบนี้

 แทนที่จะหาความสุขแบบเดิม ถ้ามีฉันทะแล้วจะเกิดมีวิริยะ

มีความอุตสาหะที่จะเพียรพยายามเจริญสติให้ต่อเนื่องให้มากขึ้น

 เพราะถ้ามีสติมากเท่าไร ก็จะสามารถทำใจให้สงบ

ได้มากขึ้นไปเท่านั้นนั่งเอง

 ถ้ามีสติน้อยทำได้เป็นช่วงๆ ทำได้เป็นพักๆ

ก็จะได้ความสงบเป็นช่วงๆ เป็นพักๆ

แต่ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

 ก็จะสามารถมีความสงบได้อย่างต่อเนื่อง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙

“เพียรระลึกถึงความตาย”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มกราคม 2559
Last Update : 28 มกราคม 2559 10:49:22 น.
Counter : 759 Pageviews.

0 comment
### “ความสุขของคนตาดี” ###















“ความสุขของคนตาดี”



พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


.

“ทุกครั้งที่เราหยุดความคิดที่ไม่ดีได้ก็เหมือนหยุดสร้างภพชาติ”

ถาม : จิตเราเป็น ๗ ภพชาติ เราจะทราบได้อย่างไร

พระอาจารย์ : ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็คือทุกครั้งที่เราหยุด

ความคิดไปในทางที่ไม่ดีได้ มันก็เหมือนหยุด

การสร้างภพชาติเท่านั้นเอง

ที่เขาว่า ๗ ภพชาตินี้ก็อาจจะเป็นการพูดโดยประมาณ

 ให้เห็นภาพเห็นรูปเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้วก็คือ

ความคิดที่ไม่ดีคิดไปในทางกิเลส ตัณหา

นี้มันจะเป็นการก่อสร้างภพชาติไปเรื่อยๆ พอเราหยุดความคิดนี้

มันก็จะตัดการก่อสร้างภพชาติลงไปตามลำดับจนกว่ามันจะหมดไป

ถ้ายังมีอยู่มันก็ยังมีภพชาติอยู่ จะมีมากมีน้อย

อย่างพระโสดาบันนี้ก็มีแค่ ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

 พระสกิทาคาก็มีชาติเดียวเป็นอย่างมาก

พระอนาคามีนี้ก็ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป

พระอรหันต์นี้จะไม่มีความคิดที่จะไปก่อภพก่อชาติเลย

 ตัดหมด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

อยากเที่ยว อยากดื่ม อยากดู อยากฟังนี้ไม่มีในใจของท่าน

 อยากจะเป็นนั่น อยากจะเป็นนี่ อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น

คนนี้ เป็นอย่างนี้ จะไม่มี อยากไม่ให้เป็นก็ไม่มี

อะไรจะเป็นก็ปล่อยมันเป็นไป อะไรจะไม่เป็นก็ปล่อยมันไม่เป็นไป

ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

 ใจจะสักแต่ว่ารู้เพียงอย่างเดียว อยู่กับความสงบพอแล้ว

 ความสงบนี้เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งปวง.

......................

ธรรมะบนเขา วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘













ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มกราคม 2559
Last Update : 28 มกราคม 2559 10:20:38 น.
Counter : 986 Pageviews.

0 comment
### ผลของการขาดสติ ###















ผลของการขาดสติ

"ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราเจริญสติ

คนขาดสติลงไป วินาทีหนี่งก็ตาม

สามารถทำให้เราเป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง 

เป็นสัตว์นรกก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ 

เป็นอสุรกายก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผีก็ได้

มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นคนใด ที่ลืมตัวลงไปขณะหนึ่งนั้น

 เรียกว่าคนไม่มีสติ คนที่ไม่มีสตินั้น

ท่านมาเปรียบอุปมัยอุปมาว่า เหมือนกับคนตาย

แต่ไม่ใช่ตาย หมดลมหายใจนะ ตายจากความดี

 ความงาม มันเน่า มันเหม็น เหมือนกับอุจจาระ 

ร้ายไปกว่าอุจจาระอีกซะด้วย

คนไม่มีสตินี้ สามารถพูดได้ ทำได้ คิดได้

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดๆไป  ตามอารมณ์ตัวเอง"

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ










ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 มกราคม 2559
Last Update : 27 มกราคม 2559 13:19:01 น.
Counter : 900 Pageviews.

0 comment
### เพียรระลึกถึงความตาย ###













“เพียรระลึกถึงความตาย”

ธรรมที่ผู้ปฏิบัติผู้ที่ปรารถนาอันแรงกล้า

ต่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงควรจะมีอยู่ในใจเสมอ

 ก็คือความพากเพียร ความยินดีในการที่จะเจริญธรรมต่างๆ

 ที่เป็นเหตุที่จะทำให้หลุดพ้นได้

ต้องมีความรักในการทำความเพียร

 ชอบทำความเพียร

คิดอยู่กับการทำความเพียรเสมอในทุกอิริยาบถ

 ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับไป โดยให้ยึดคติธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า “หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ด้วยความเพียร”

ความเพียรนี้เป็นตัวที่จะผลักดันให้ผู้ปฏิบัติได้เจริญก้าวหน้า

ในธรรมต่างๆ ถ้าขาดความเพียรแล้ว ธรรมต่างๆ เช่นสติ ปัญญา

จะไม่สามารถปรากฏขึ้นมาได้ ต้องมีความเพียรเป็นผู้ผลักดัน

 ผลักดันให้เจริญสติ ให้ควบคุมความคิด

ไม่ให้คิดไปในทางกิเลสตัณหา ความโลภ ความอยากต่างๆ

ให้คิดไปในทางธรรม เช่นให้เจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ

 การระลึกถึงความตายนี้เป็นการเจริญสติ

เหมือนกับการเจริญพุทธานุสติ คือการบริกรรมพุทโธๆ

แต่การเจริญมรณานุสตินี้ เป็นประโยชน์ ๒ ส่วน

 เป็นการเจริญสติและเป็นการเจริญปัญญาควบคู่ไปด้วย

การเจริญพุทธานุสตินี้เป็นการเจริญสติเพียงอย่างเดียว

ไม่ได้ปัญญา แต่ถ้าเจริญมรณานุสติ ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ

จะได้ทั้งสติและจะได้ทั้งปัญญา

 ถ้าถูกจริตผู้ที่เจริญมรณานุสตินี้

 ก็จะสามารถก้าวหน้าในธรรมได้อย่างรวดเร็ว

 เพราะเมื่อมีสติก็จะทำให้ใจสงบนิ่งเป็นอุเบกขาได้

แล้วเมื่อเกิดกิเลสตัณหา ความรักตัวกลัวตายเกิดขึ้นมา

ก็จะมีปัญญาคือความตายนี้ มาระงับดับความรักตัวกลัวตายได้

 ทำให้ใจไม่ต้องทุกข์กับความตาย

เพราะมีปัญญาที่เห็นว่าร่างกายนี้ เมื่อเกิดมาแล้ว

ย่อมมีความตายไปเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

 การที่จะทำให้ได้ผลในการดับความทุกข์

ที่เกิดจากความรักตัวกลัวตายได้

 ก็ต้องอาศัยความเพียรพยายามที่จะเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ

การเจริญมรณานุสตินี้ก็เจริญได้ทั้งกับร่างกายของเรา

และร่างกายของผู้อื่น โดยเฉพาะร่างกาย

ของคนที่เรามีความผูกพันธ์ด้วย มีความรักมีความห่วงใย

 ถ้าเราหมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ

เราก็จะเห็นว่าความห่วงใยของเรานี้ไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด

 ไม่เป็นผลแต่อย่างใด เป็นแต่โทษกับเราเอง

 เพราะทำให้เรานั้นทุกข์ไปเปล่าๆ

เพราะคนเราทุกคนนั้นย่อมมีความตายเป็นธรรมดา

 ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ นี่คือประโยชน์

ที่เราจะได้รับจากการเจริญมรณานุสติ

จะทำให้เราหายวิตกหายกังวล หายห่วงใยในชีวิตของทุกๆ คนได้

ทั้งของเราและทั้งของผู้อื่น เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

 มีเกิดแล้วย่อมมีตายเป็นธรรมดา

ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ธรรมเหล่านั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

นี่เป็นสิ่งที่จะปรากฏขึ้นมาในใจถ้าหมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ

การจะเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆได้

ก็ต้องอาศัยความพากเพียรนี่เอง พยายามพากเพียรพิจารณา

พยายามเจริญสติ ระลึกถึงความตายอยู่อย่างสม่ำเสมอ

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนพระอานนท์

 ตอนต้นพระองค์ทรงถามพระอานนท์ว่า

 อานนท์วันๆหนึ่งเธอระลึกถึงความตายสักกี่ครั้งด้วยกัน

พระอานนท์ก็ตอบว่าวันละ ๔-๕ ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน

 หลังจากตื่นขึ้นมาเป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า

อานนท์เธอยังตั้งอยู่ในความประมาทอยู่

เธอยังพิจารณาความตายไม่พอเพียง

ต่อการที่จะทำให้เธอได้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 ถ้าเธอต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์จากความกลัวตาย

เธอจะต้องระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

เธอควรจะทำความเพียรระลึกถึงความตายนี้

ทุกลมหายใจเข้าออกเลย แล้วเธอก็จะเห็นว่าความตายนี้

มันสั้นนิดเดียว พอหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว

ไม่ได้เป็นเรื่องยืดยื้อเรื่องยาว เรื่องน่าหวาดกลัวแต่อย่างใด

หายใจเข้าไปแล้วไม่หายใจออกมาก็ตาย

หรือหายใจออกมาแล้วไม่หายใจเข้าไปก็ตาย

มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแว๊บเดียวเท่านั้นเอง ชั่วขณะเดียว

ไม่ทันที่เราจะตกใจหรือกลัวได้เลย

 ถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา

ความตายนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ

เป็นเรื่องของการหายใจเข้าออกนี่เอง

แต่สำหรับผู้ที่มีจิตที่ยังอ่อนไหวอยู่

 เป็นจิตที่ไม่สามารถเจริญมรณานุสติได้

 เช่นเวลาระลึกถึงความตายแล้ว มีความหวาดกลัว

หรือมีความหดหู่ใจก็ต้องใช้การเจริญสติแบบอื่น

 แต่ก็จะทำให้ต้องเสียเวลาหน่อย

เพราะว่าต้องทำให้ใจนั้นสงบขึ้นมาก่อน

 แล้วถึงจะสามารถที่จะมาเจริญมรณานุสติได้อีกครั้ง

เพราะว่ายังไงนี้ ความตายนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องพิจารณากันทุกรายไป

เพียงแต่ว่าจะทำตอนไหน จะทำควบคู่ไปกับการเจริญสติเลย

 หรือจะต้องแบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน

ขั้นตอนแรกเจริญสติเพื่อทำใจให้สงบเป็นสมาธิก่อน

 เมื่อใจสงบเป็นสมาธิมีฐานของความสงบสนับสนุนแล้ว

 เวลาออกจากสมาธิมาก็ให้เจริญมรณานุสติให้พิจารณาความตาย

ถ้ามีความสงบแล้วนี้เวลาพิจารณาความตาย จะไม่มีอารมณ์หดหู่

จะไม่มีความหวาดกลัว เพราะว่ากิเลสตัณหา

ที่เป็นตัวที่ทำให้จิตเกิดความหดหู่ใจ เกิดความหวาดกลัวนั้น

ได้ถูกอำนาจของสมาธิกดเอาไว้

จึงไม่สามารถที่จะมาสร้างอารมณ์หดหู่

อารมณ์หวาดกลัวให้กับใจได้ ใจก็จะสามารถระลึก

หรือพิจารณาความตายได้ แล้วก็จะเห็นว่า

ความตายนี้ เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนฝนตกแดดออกนี่เอง

ไม่มีผลกระทบกับใจเลย สิ่งที่ถูกกระทบคือร่างกาย

ซึ่งร่างกายนี้ก็ไม่มีความรู้สึกรับรู้เรื่องความตายของตนเอง

 ร่างกายก็เป็นเหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง เวลาที่ต้นไม้ถูกตัดล้มลงไป

 ต้นไม้ก็ไม่แสดงอาการอะไรต่อการล้มตายของต้นไม้

มีแต่ใจเท่านั้นแหละ ที่เป็นผู้ที่ไปมีปฏิกิริยา

กับความตายของร่างกาย

 แต่พอใจมีปัญญามาสอนให้รู้ว่า ใครตายใครไม่ตาย

ใจก็จะไม่ปฏิกิริยาต่อความตาย ใจก็จะยอมรับสภาพ

รับรู้ความเป็นจริงของความตายของร่างกายได้

 เพราะผู้ที่ตายนี้ไม่ใช่เป็นใจนะ ผู้ที่ตายก็คือร่างกาย

แต่ผู้ที่ทุกข์ ผู้ที่เดือดร้อนนี้คือใจ

ร่างกายนี้เขาไม่เดือดร้อน กับความตายของเขา

เหมือนกับต้นไม้ที่เขาไม่เดือดร้อนเวลาที่เขาถูกตัดล้มลงไป

แต่ถ้ามีเจ้าของ เจ้าของต้นไม้นั้น ก็อาจจะเดือดร้อนขึ้นมาได้

 ถ้ามีความรักมีความหวงในต้นไม้ต้นนั้น

ไม่อยากจะให้ต้นไม้นั้น ล้มตายจากไป

เวลาที่ใครมาตัดต้นไม้ก็จะทำให้เจ้าของต้นไม้นั้นเกิดความเสียใจ

 เกิดความโกรธได้ เช่นเดียวกับร่างกายกับใจ

ใจเป็นเจ้าของร่างกาย แต่เป็นเจ้าของชั่วคราว

ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ถาวร เพราะร่างกายนี้

ไม่ได้เป็นสมบัติที่ถาวรของใจ ร่างกายได้มาแล้ว

ก็จะต้องแก่ เจ็บ ตายไปในที่สุด

 ถ้าใจได้รู้ความจริงจากการได้พิจารณา

แยกแยะใจออกจากร่างกายได้ เวลาเกิดอะไรขึ้นมากับร่างกาย

 ใจก็จะวางเฉยได้ ปล่อยวางได้

 ไม่ทุกข์ไปกับความตายของร่างกาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙

“เพียรระลึกถึงความตาย”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 มกราคม 2559
Last Update : 27 มกราคม 2559 11:34:14 น.
Counter : 994 Pageviews.

0 comment
### ความจริงของทุกชีวิต ###















"ความจริงของทุกชีวิต"

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนพุทธศาสนิกชน

ให้หมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่าเราเกิดมาแล้ว

ย่อมมีการพลัดพราก จากกันเป็นธรรมดา

ล่วงพ้นการพลัดพรากจากกันไปไม่ได้

นี่คือความจริงของชีวิตของทุกๆชีวิต

ไม่ว่าจะสูงจะต่ำจะรวยจะจน จะฉลาดหรือโง่

จะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

 ถ้าไม่พิจารณาอยู่เนื่องๆใจจะหลงจะลืม

จะคิดว่าจะอยู่ร่วมกันไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

 พอถึงเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากกัน

 ก็จะเกิดความทุกข์ใจเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

แต่ถ้าหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะไม่หลงจะไม่ลืม

จะเตรียมตัวเตรียมใจจะไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ

 กับบุคคลต่างๆ เพราะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วจะต้องจากกันอย่างแน่นอน

นี่คือธรรมที่สำคัญเพราะจะปกป้องจิตใจ

ไม่ให้ทุกข์กับการพลัดพรากจากกันจากการสูญเสียสิ่งต่างๆไป

 การพิจารณาก็ควรพิจารณาสิ่งต่างๆ

หรือบุคคลต่างๆ ที่เรารักหรือเราชัง

เพราะบุคคลที่เรารัก หรือสิ่งที่เรารักนี้มีอิทธิพล

ต่อความรู้สึกของเรานั่นเอง สำหรับสิ่งที่เราไม่รักไม่ชัง

บุคคลที่เราไม่รักไม่ชังนี้ ไม่ค่อยเป็นปัญหา

เขาจะมาเขาจะไปไม่มีปัญหาอะไร

 แต่คนที่เรารักสิ่งที่เรารัก ถ้าเขาจากเราไป เราจะเดือดร้อน

 เราจะวุ่นวายใจ หรือสิ่งที่เราชัง บุคคลที่เราชัง

 เวลาจะต้องอยู่กับเขา เราก็วุ่นวายใจ ไม่สบายใจ

เราต้องพิจารณาว่าไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องจากเราไปอยู่ดี

 ในขณะที่เขาอยู่ เราไม่สามารถที่จะให้เขาไปได้

 เราก็ต้องทำใจ สำหรับคนที่เรา หรือสิ่งที่เรารัก

 ถ้าเขาอยู่กับเรา เราก็จะดีใจมีความสุข

แต่เราก็จะไม่สามารถสั่งให้เขาอยู่กับเราไปได้ตลอด

 ไม่ช้าก็เร็ว ไม่เขาก็เราก็ต้องจากกันไปอยู่ดี

นี่คือสิ่งที่เราต้องหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 ถามตัวเราเองว่าเรารักใคร เราชอบใคร

เราอยากให้เขา อยู่กับเราไปนานๆใช่ไหม

แต่เขาจะอยู่กับเราไปนานๆได้หรือเปล่า

หรือเราจะอยู่กับเขาไปนานๆได้หรือเปล่า

เรากับเขาจะไม่มีวันจะต้องจากกันไปหรืออย่างไร

ถ้ามันมาถึงวันนั้นวันที่จะต้องมีการจากกัน เราจะทำใจอย่างไร

ถ้าเราหมั่นคอยเตือนใจสอนใจ ถึงความเป็นจริงอันนี้

ว่าจะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

 ไม่ว่าจะเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นบุตรเป็นธิดา

เป็นญาติสนิทมิตรสหายหรือเป็นสิ่งของต่างๆ

เช่นลาภ ยศสรรเสริญ สุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เป็นสิ่งที่จะต้องมีการพลัดพรากจากกันอย่างแน่นอน

ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าเราหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

เราจะเตรียมตัวเตรียมใจและปรับใจของเรา

หัดอยู่แบบไม่ต้องมีเขาให้ได้ ไม่ต้องมีลาภยศ สรรเสริญ

 สุขทางตาหู จมูกลิ้นกาย ไม่ต้องมีบิดามารดา

 ไม่ต้องมีสามีภรรยา ไม่ต้องมีบุตรธิดา ไม่ต้องมีญาติพี่น้อง

อยู่ตัวคนเดียวนี่แหละดีที่สุด แม้แต่ร่างกายนี้ก็ต้องจากเราไป

การอยู่คนเดียวนี้หมายถึงว่าแม้แต่ไม่มีร่างกายก็ยังอยู่ได้ไม่เดือดร้อน

แม้เเต่ร่างกายนี้ก็ต้องจากเราไปเช่นเดียวกัน

และการที่เราจะอยู่คนเดียวได้โดยที่ไม่ต้องมีบุคคลต่างๆ

ไม่ต้องมีสิ่งต่างๆ เราต้องมีธรรมเท่านั้น

ถึงจะทำให้เราอยู่คนเดียวได้ อยู่ตามลำพังได้

 ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ เราต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง

ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งแล้วเราไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆ

ไม่ต้องพึ่งบุคคลต่างๆ ไม่ต้องพึ่งลาภยศ สรรเสริญ

ไม่ต้องพึ่งความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ต้องพึ่งพ่อพึ่งแม่

 พึ่งสามีพึ่งภรรยา พึ่งบุตรธิดา พึ่งญาติสนิทมิตรสหาย

 พึ่งร่างกายของเราเอง เพราะเขาเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ไม่ถาวร ไม่ช้าก็เร็วเขาก็จะต้องจากเราไป

 และเวลาที่เขาจากเราไป เราไม่มีที่พึ่งเราจะทำอย่างไร

เราก็ต้องเดือดร้อน จนกว่าเราจะหาที่พึ่งใหม่ได้

เช่นสามีจากไป ถ้ายังต้องการมีสามีก็ต้องไปหา สามีใหม่

 ลูกจากไป ถ้ายังอยากจะมีลูกก็ต้องหาลูกมาใหม่

ถ้าคลอดเองไม่ได้ก็ไปขอเด็กมาเลี้ยงเป็นลูก

 เพราะเรายังพึ่งสิ่งเหล่านี้ เพื่อมาให้ความสุขกับเรานั่นเอง

เพราะว่าเราไม่มีธรรมะเป็นที่พึ่ง

ไม่มีธัมมัง สรณัง คัจฉามิ เป็นที่พึ่ง

 ถ้าเรามีธัมมัง สรณัง คัจฉามิเป็นที่พึ่งแล้วเราไม่ต้องพึ่งอะไร

 ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องพึ่งลาภยศ สรรเสริญ

ไม่ต้องพึ่งตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ต้องพึ่งทรัพย์สมบัติ

ไม่ต้องพึ่งตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ต้องพึ่งร่างกายคือชีวิตอันนี้

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สละให้หมด

 สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง สละอวัยวะ

คือความสุขทางตาหูจมูก ลิ้นกาย และให้สละชีวิต

สละร่างกายอันนี้ถ้ามันต้องไปให้มันไปไม่ต้องไปพึ่งมัน

มันไม่ใช่เป็นที่พึ่ง มันเป็นภาระ หะเว ปัญจักขันธา

มันเป็นภาระที่ใจจะต้องแบกตั้งแต่วันเกิดไปจนถึงวันตาย

 ผู้ฉลาดนี้จึงไม่กลับมาเกิด ไม่กลับมาแบก ภาระ

หะเว ปัญจักขันธา อันนี้ ไม่มาแบกรูปขันธ์นี้

เพราะว่ามันเป็นทุกข์นั่งเอง ตั้งแต่เกิดมานี้ก็ต้องทุกข์แล้ว

ทุกข์กับการหายใจเข้าออก ทุกข์กับการหาอาหาร

 หาน้ำอะไรต่างๆ มาดูแลเลี้ยงดูร่างกาย

 แล้วก็ต้องมาทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วย

 ทุกข์กับความชราภาพของร่างกาย

 แล้วก็มาทุกข์กับความตายของร่างกาย

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่าอย่าไปยึดอย่าไปติดให้สละให้หมด

 ทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน เวลาทรัพย์หมดไปก็ต้องวุ่นวายเดือดร้อน

เวลาอวัยวะเสื่อมไป เวลาตาหูจมูกลิ้นกายเสื่อมไปก็เดือดร้อน

 เวลาร่างกายตายไปก็เดือดร้อน

ดังนั้นอย่าไปพึ่งสิ่งเหล่านี้ให้มาพึ่งธรรมะ

นี่คือความหมายของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสสอนให้ละ

ให้สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละร่างกาย

เพราะถ้าไม่สละก็ยังจะยึดติดกับสิ่งเหล่านี้อยู่

เมื่อยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สามารถไปสร้างธรรมะ

ให้เป็นธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ขึ้นมาได้นั่นเอง

ผู้ที่ต้องการธัมมัง สรณัง คัจฉามิ จึงต้องละทุกสิ่งทุกอย่าง

 ด้วยการพิจารณาอยู่เนืองๆว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นไป

ถ้าเราเห็นการพลัดพรากอยู่เรื่อยๆ

เราก็จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆ เหล่านี้

เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการไปยึดไปติดไปพึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้

มาให้ความสุข เพราะเวลาที่เขาพลัดพรากจากไป

ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไป

แล้วก็จะเหลืออยู่แต่ความอยากได้กลับคืนมา

 เวลาไม่ได้ก็จะทุกข์ทรมานใจ

อย่างมีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง ในสมัยพระพุทธกาล

มีแม่คนหนึ่งคลอดลูกออกมาเล็กๆอายุไม่กี่วันก็เสียชีวิตไป

 แม่ที่รักลูก ก็อยากจะให้ลูกฟื้นกลับคืนมา

 ร้องห่มร้องไห้นอนกอดลูก ไม่ยอมไปทำอะไร

 ชาวบ้านเห็นเข้าก็สงสารก็เลยบอกว่าให้ไปหาพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจะช่วยเธอได้

เธอก็คิดว่าพระพุทธเจ้าจะทำให้ลูกของเธอฟื้นกลับคืนมา

เธอก็เกิดมีความดีใจ มีกำลังใจ อุ้มลูกไปหาพระพุทธเจ้า

 ไปกราบพระพุทธเจ้าแล้วก็กราบขอพรจากพระพุทธเจ้า

ว่าขอให้พระพุทธเจ้าช่วยทำให้ลูกของเธอฟื้นกลับคืนมา

 พระพุทธเจ้าทรงตอบไปว่า อ๋อ… ง่ายมาก

เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร

 เพียงแต่ว่าเธอต้องไปหาเมล็ดผักกาดมาให้เราสักกำมือหนึ่ง

และเมล็ดผักกาดนี้ จะต้องมาจากบ้านที่ไม่มีการพลัดพรากจากกัน

 ไม่มีคนตายจากกัน พอเธอได้ยินอย่างนั้น

 เธอก็รีบกลับไปที่หมู่บ้าน

 เพื่อที่จะไปขอเมล็ดผักกาดจากเพื่อนบ้านมา

พอเธอเคาะประตูถามบ้านแรก ถามว่ามีเมล็ดผักกาดหรือเปล่า

 เขาก็ตอบว่ามี แล้วมีคนที่ตาย

มีคนที่พลัดพรากกันในบ้านนี้หรือเปล่า

 เขาก็บอกว่ามี ไปบ้านที่สอง บ้านที่สาม จนถึงบ้านสุดท้าย

ก็มีคำตอบเหมือนกันหมด

ทุกคนทุกบ้านนี้ มีการพลัดพรากจากกัน ไม่ปู่ ไม่ย่า ไม่ตาก็ยาย

หรือทวด ไม่พี่ก็น้า อา ไม่ก็น้อง ไม่ก็ลูก ไม่ก็หลาน

มีการพลัดพรากจากกันทุกบ้าน

ไม่มีบ้านไหนไม่มีการพลัดพรากการกัน

พอเธอได้พบกับความจริงอันนี้ เธอก็มองกลับมาที่ตัวเธอเอง

แล้วก็พิจารณาว่าเราก็เป็นเหมือนเขา เขาก็เป็นเหมือนเรา

เราก็ไม่ได้เป็นคนที่สูญเสียเพียงคนเดียว

ทุกๆคนนี้ก็มีการสูญเสียด้วยกันทั้งนั้นเสียมากเสียน้อยเสียช้าก็เร็ว

 ไม่ช้าก็เร็วต้องเสียไป ถึงแม้ว่าลูกคนนี้จะโตเป็นหนุ่มเป็นสาว

ในที่สุดเขาก็ต้องแก่ตายไปอยู่ดี

 พอเธอพิจารณาความจริงอันนี้ได้

ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากความอยากให้ลูกฟื้นคืนมาก็หมดไป

 ความทุกข์ใจก็หมดไป เพราะเห็นสัจจธรรมความจริงว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นของชั่วคราว

มีวันที่จะต้องหมด มีวันที่จะต้องจากกันไป

มาทุกข์กับเขา มันก็เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา

นี่คือสิ่งที่ทำให้คนเราหายทุกข์ได้

เวลาที่จะต้องเผชิญกับการพลัดพรากจากกัน

ก็คือต้องยอมต้องเห็นความจริงและต้องยอมรับความจริงอันนี้

ไม่ฝืนไม่ต่อต้านความจริง เพราะพวกเราที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้

 มีความเสมอภาคในเรื่องของการสูญเสีย เสียกันหมดทุกคน

 ได้มากได้น้อยก็ต้องเสียกันไปหมด เพราะทุกคนก็มาตัวเปล่าๆ

และเวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ ผู้ที่มานี้ก็คือจิตนี่เอง

 จิตใจมาได้ร่างกาย พอได้ร่างกายเจริญเติบโต

ก็ใช้ร่างกายหาสิ่งต่างๆมาเป็นสมบัติของตน

 มาให้ความสุขกับตน ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ

ได้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ได้สามี ได้ภรรยา

 ได้บุตร ได้ธิดา ได้ญาติสนิทมิตรสหาย

ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความสุขกับตน

แต่ก็เป็นความสุขชั่วคราว

 เพราะในที่สุดก็ต้องสูญเสียทุกอย่างไป

 เวลาที่ต้องจากโลกนี้ก็ไม่มีอะไรติดตัวไป

เหมือนกับเวลาที่มาก็ไม่มีอะไรติดตัวมา

นอกจากความสุขหรือความทุกข์ หรือความโง่หรือความฉลาด

ส่วนใหญ่ที่ยังกลับมากันอยู่นี้ก็เพราะความโง่นี่เอง

 โง่ที่ไม่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นกองทุกข์

 ไม่ใช่เป็นกองสุข ไม่รู้ว่าเป็นกองไฟ

เหมือนกับแมงเม่าที่เห็นกองไฟแล้ว แทนที่จะบินหนี

กลับบินเข้าหากองไฟ เพราะเห็นแสงสว่าง

ชอบแสงสว่างของกองไฟ แต่ไม่รู้ว่าเวลาเข้าใกล้กองไฟ

จะต้องเจอความร้อน ที่จะต้องฆ่าแมลงนั้นไป

เวลาเข้าไปถึงกองไฟก็สายไปเสียแล้ว ออกมาไม่ได้

ก็จะต้องทุกข์กับมันไป แต่ผู้ที่มาเกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนา

 มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเผยแผ่อยู่นี้

จะมีผู้ที่จะคอยตักคอยเตือน คอยห้ามไม่ให้บินเข้าหากองไฟ

ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่มีพระธรรมคำสอน

จะไม่มีใครมาห้าม จะมีแต่ยุยงส่งเสริมให้บินเข้าหากองไฟ

 จะมีแต่ยุยงส่งเสริมให้หาลาภยศ สรรเสริญ

 ให้หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน

 ให้หาความสุขจากบุคคลต่างๆ จากบิดา จากมารดา

 จากสามีภรรยา จากบุตรจากธิดา จากญาติสนิทมิตรสหาย

แล้วผลเป็นอย่างไร ผลก็คือความทุกข์ใจที่จะเกิดขึ้น

เวลาพลัดพรากจากกันไป

ตอนนี้เรามีพระพุทธศาสนามีพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า

มาคอยสอน มาคอยเตือนเราว่าอย่าบินเข้ากองไฟ ให้บินออกมา

ให้ไปหาที่เย็น ไปหาธรรมะกัน อย่าไปหาลาภยศสรรเสริญ

 อย่าไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

อย่าไปหาบุคคลนั้นบุคคลนี้ อย่าไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้

ให้มาหาธรรมะกัน ธรรมะนี้จะทำให้ใจของเราสงบ

แล้วถ้าใจเราสงบแล้วใจเราจะไม่หิวไม่โหย ไม่ต้องการอะไร

ไม่ต้องมีอะไร ใจของเราอยู่ได้ตามลำพัง

อยู่กับความสงบนี้ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

 ที่เกิดจากการเอาธรรมะมาเป็นที่พึ่ง ปฏิบัติธรรม

ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆและสิ่งที่เราได้นี้ก็เป็นสิ่งที่ถาวร

 เป็นสิ่งที่ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันหมด

ไม่มีวันที่จะต้องมาร้องห่มร้องไห้มาเศร้าโศกเสียใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


..................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘

“การพลัดพราก”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 มกราคม 2559
Last Update : 26 มกราคม 2559 10:44:36 น.
Counter : 1243 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ