 |
|
|
|
 |
|
มลายู ขยายจากสุมาตรา ขึ้นยังมาเลเซีย |
|
มลายู ขยายจากสุมาตรา ขึ้นยังมาเลเซีย
ได้กล่าวแล้วว่า ศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่ในสุมาตราภาคใต้ หลังจากพ่ายแพ้แก่แคว้นโจละแห่งอินเดียใต้ ใน ปี 1025/๑๕๖๘ แล้ว ก็อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ อาณาจักรต่างๆ ที่อยู่ใต้อำนาจ ทั้งในสุมาตราเอง ทั้งในชวา และบนแผ่นดินแหลมมลายู ต่างก็ทยอยแยกตัวออกไปเป็นอิสระ โดยเฉพาะที่โดดเด่นขึ้นมาจนแทนที่ศรีวิชัย ก็คืออาณาจักรมัชปาหิตในชวา ซึ่งมีอำนาจปกครองปาเลมบัง ที่เคยเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยด้วย ในสุมาตราเอง ทางภาคตะวันตก เป็นถิ่นชื่อว่ามลายู (Malayu/ Melayu) หรือชัมพี (Jambi; เมืองหลวงก็ชื่อชัมพี) ของชนชาติที่เรียกว่า มีนังกะเบา (Minangkabau) ซึ่งมีคนอินเดียอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้ง แต่ ค.ศต. 2 (ราว พ.ศ. ๗๐๐) จึงเป็นดินแดนที่นับถือศาสนาฮินดู เมื่อศรีวิชัยรุ่งเรืองตั้งแต่ ค.ศต. 7 (พ.ศ.๑๒๐๐ เศษ) เป็นต้นมา ชัมพีก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น และราว ค.ศ.1100/พ.ศ. ๑๖๔๓ ได้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่หนหนึ่ง (บางท่านสันนิษฐานว่า เมื่อศรีวิชัยที่ปาเล็มบังเปลี้ยลงเพราะถูกพระเจ้าราเชนทร์แห่งโจละมาโจมตีในปี 1025/๑๕๖๘ ศูนย์อำนาจของศรีวิชัยจึงย้ายร่นลึกเข้าไปอยู่ ณ ชัมพีที่เป็นแดนมลายูนี้) เมื่อศรีวิชัยเสื่อมลงๆจนถึง ค.ศต.14 ชาวมีนังกะเบาก็ได้ตั้งอาณาจักรชัมพีของตนขึ้น แต่ขาดโอกาสที่จะสร้างฐานกำลังนาวีให้แข็งแกร่งอย่างศรีวิชัยในอดีต จึงกลายเป็นช่องว่างให้มัชปาหิตในชวายิ่งใหญ่ขึ้นมา เมื่อมัชปาหิตเรืองอำนาจมาก ชัมพีก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมัชปาหิตแห่งชวาด้วย เช่นเดียวกับดินแดนศรีวิชัยในอดีต ที่หมดอำนาจไปแล้ว เมื่อจะสิ้น ค.ศต.14 ทั้งชัมพี และปาเลมบังคือศูนย์เดิมของศรีวิชัยได้พยายามตั้งตัวเป็นอิสระ แต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะเจ้าปรเมศวร ผู้ครองปาเลมบัง ได้ประกาศในปี 1389/๑๙๓๒ ทำนองว่าจะไม่ขึ้นต่อมัชปาหิต แล้วถูกพวกชวาแห่งมัชปาหิตขับไล่ หนีไปตั้งตัวที่สิงคโปร์ ก็ถูกตามไปกำจัด ต้องหนีต่อไปขึ้นแผ่นดินแหลมมลายูแล้วเปลี่ยนตัวเป็นมุสลิม ตั้งอาณาจักรมะละกาขึ้นมา โดยสถาปนาตนเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ชาห์ มีงานวิจัยทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงมติว่า ดินแดนที่เรียกว่ามลายู (Malayu/Melayu) ในสุมาตรานั้น มิใช่เฉพาะส่วนของอาณาจักรชัมพี (ซึ่งยังเป็น Province หนึ่งของอินโดนีเซียปัจจุบัน) เท่านั้น แต่รวมตลอดทั้งปาเล็มบังด้วย พูดคร่าวๆ ว่า สุมาตราเป็นถิ่นแท้แต่เดิมของมลายู ดังนั้น การที่เจ้าชายปรเมศวรจากสุมาตรา ไปตั้งรัฐสุลต่านแห่งมะละกาขึ้นบนแผ่นดินด้านปลายแหลมนั้น จึงเป็นการนำเอาความเป็น “มลายู” ไปสถาปนา หรือไปขยายบนแผ่นดินซึ่งเรียกในบัดนี้ว่าแหลมมลายู หรือคาบสมุทรมาเลย์ (Malay Peninsula)* ต่อมา รัฐสุลต่านแห่งมะละกาบนคาบสมุทรมาเลย์ ก็เรืองอำนาจ เป็นใหญ่ขึ้นแทนที่มัชปาหิต ซึ่งเมื่อสิ้น ค.ศต.14 (ราวพ.ศ.๑๙๕๐) ก็เสื่อมลงๆ จนเลือนหายไปในช่วงต้น ค.ศต. 16 (ประมาณปี1527/๒๐๗๐) เอกสารบางแห่งกล่าวว่า ในเสี้ยวแรกของ ค.ศต. 15 (คือในช่วงปี 1401-1425/๑๙๔๔–๑๙๖๘) มัชปาหิตถูกกองเรือจีนโจมตี การสู้รบกัน ทำให้เกิดทุพภิกขภัยตามมา แล้วมัชปาหิตก็เสื่อมลงๆ ดำรงอิสรภาพอยู่ได้อีกราว ๕๐ ปีก็ตกไปอยู่ใต้อำนาจของรัฐสุลต่านแห่งมะละกา ในยุคของอาณาจักรมะละกานี้ ศาสนาอิสลาม ซึ่งก่อนนั้นแพร่ไปช้าๆ ก็ได้เปลี่ยนเป็นแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถึงปี 1500/๒๐๔๓ อิสลามก็ได้ตั้งหลักมั่นแล้วในยะฮอร์ เคดาห์ เปรัก ปะหัง และตรังกานู (Johor, Kedah, Perak, Pahang, Terengganu) แต่แล้ว เมื่อเข้าสู่ยุคอาณานิคม อาณาจักรมะละกาก็สิ้นอำนาจไป โดยถูกโปรตุเกสเข้าครอบครองใน ค.ศ.1511/พ.ศ.๒๐๕๔ ถึงตอนนั้น ช่องว่างแห่งอำนาจเกิดขึ้น อาณาจักรมุสลิมยิ่งใหญ่ชื่อ ว่าอาเจะฮ์/Aceh ก็เรืองอำนาจขึ้นมาที่สุมาตราภาคเหนือ เวลาผ่านมาถึงบัดนี้คือใน ค.ศต. 16 (พ.ศ. ๒๐๐๐ เศษ) กษัตริย์ มีนังกะเบาแห่งชัมพี ที่เป็นแหล่งเดิมของมลายู ก็ได้เปลี่ยนเป็นมุสลิม ดินแดนนี้จึงเข้าสู่ยุคของศาสนาอิสลาม จะเห็นว่าศูนย์อำนาจหรือความยิ่งใหญ่ เคลื่อนย้ายไปหมุนเป็นวง เริ่มจากศรีวิชัยที่สุมาตรา ย้ายสู่มัชปาหิตในชวา แล้วเลื่อนไปมะละกา บนแหลมมลายูครบแล้ว ก็เหมือนมาตั้งต้นใหม่ที่สุมาตราอีก ข้อต่างคือ เมื่อเริ่มรอบแรก ใน ค.ศต. 7 สุมาตราเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา ครั้นเริ่มรอบใหม่ ใน ค.ศต. 16 สุมาตราเป็นดินแดนแห่งศาสนาอิสลาม เมื่อได้พูดถึงสุมาตราแล้ว คราวนี้ก็หันไปดูทางด้านชวาบ้าง
* มีการพยายามสืบค้นกันในเรื่องนี้ เช่น งานวิจัยของ Professor Leonard Y. Andaya เรื่อง The Search for the ‘Origins’ of Melayu ที่พิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies ในอังกฤษ ฉบับ October 2001
บางมติถึงกับว่า แหล่งเดิมของมลายูเริ่มที่บอร์เนียว แล้วจึงมาพัฒนาที่สุมาตรา
Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2567 7:48:58 น. |
|
0 comments
|
Counter : 222 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|