กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
11 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ถ้าสังเวชเป็น   ก็จะได้เห็นธรรมกาย



๘. ถ้าสังเวชเป็น   ก็จะได้เห็นธรรมกาย
 
มกุฎพันธนเจดีย์  เมืองกุสินารา
 
ศุกที่ ๑๗ ก.พ.๒๕๓๘
 

     เราได้เดินทางมาโดยลำดับ  เพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน วันนี้เป็นวันที่ ๗ ของการเดินทาง
 
     ส่วนในด้านของสังเวชนียสถาน  วันนี้เรามาถึงสถานที่ปรินิพพานและใกล้ๆ เนื่องกันอยู่กับสถานที่ปรินิพพาน คือ สถานที่ถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระ ซึ่งเป็นส่วนที่ถือว่าผนวกอยู่กับสถานที่ปรินิพพานนั้น
 
     สังเวชนียสถานแห่งนี้ นับในพุทธประวัติต้องถือเป็นที่ ๔ เป็น ลำดับสุดท้าย
 
     แม้ว่าเราจะได้เดินทางมาไม่เป็นไปตามลำดับทั้งหมด แต่เราก็มาตามลำดับใน ๓ แห่งสุดท้าย คือ นับจากสถานที่ตรัสรู้เป็นต้นมา เรา เดินทางตามลำดับที่ถูกต้องแท้จริง คือจากสถานที่ตรัสรู้ ที่พุทธคยา  ต่อมาก็เดินทางถึงสถานที่แสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
 
     มาลงท้ายสถานที่นี้ คือสถานที่ปรินิพพานภายใต้ร่มคู่ไม้สาละ ณ สาลวันอุทยาน ของมัลลกษัตริย์ ที่เมืองกุสินารา อันเป็นที่จบสิ้นของพุทธประวัติ  โดยนับเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าเอง
 
 
235 ยิ่งเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ก็ยิ่งมีเครื่องบูชาที่จะถวายเพิ่มมากๆ
 
 
      ถึงแม้อาจจะมีความเหนี่อยกาย   แต่ก็ไม่เหนื่อยใจ   แม้จะเมื่อยกาย    ก็ไม่เมื่อยใจ   แต่ใจกลับยิ่งมีปีติ   ถึงแม้บางทีกายจะหิวกระหาย แต่ใจก็ เอิบอิ่ม ทำให้มีความสุขเป็นอานิสงส์ด้วย เราลองคิดดูว่า
 
     ประการแรก    พระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในประเทศของเรา คือประเทศไทย อันได้ชื่อว่าเป็นดินแดนของพระพุทธศาสนานั้น เรามี ความเจริญทั้งในด้านวัตถุและนามธรรม
 
     ด้านวัตถุ  เราก็มีพุทธศาสนาที่เป็นสถาบันใหญ่โต มีคณะสงฆ์ใหญ่ มีพระจำนวนตั้ง ๓-๔ แสนรูป มีวัดวาอาราม ๓ หมื่นกว่าวัด และยังมี ศิลปวัตถุพุทธศาสนสถานต่างๆ มากมายทั่วประเทศ
 
     ในทางนามธรรม คือ เรื่องของชีวิตจิตใจ พระพุทธศาสนาก็ได้เป็น รากฐานของวัฒนธรรมไทย ดังปรากฏพลังส่งผลออกมาทั้งในทางภาษา ทั้งวรรณคดีทั้งเรื่องของวิชาความรู้และนิสัยใจคอของประชาชน และ สิ่งเหล่านี้ได้สืบกันมาจากบรรพบุรุษของเรา จากบิดามารดาปู่ย่าตายาย เป็นเวลาหลายร้อยปีหรือแม้กระทั่งเป็นพันปี
 
     ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย  พระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายไปในที่อื่นมากมาย จนกระทั่งบัดนี้ก็ถึงประเทศตะวันตก ดังที่กำลังได้รับ ความสนใจในประเทศทางยุโรป ทางอเมริกา มีชาวพุทธจำนวนเพิ่มขึ้น มาตามลำดับ

     ความเจริญแพร่หลายทั้งหมดนั้น  ที่แผ่ขยายกว้างขวางไปอย่างไพศาลนั้น  จุดเริ่มต้นก็มาจากชมพูทวีป  คือดินแดนที่เราได้จาริกมาทั้งหมดนี่เอง  บัดนี้เราได้มาถึงสถานที่อันเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนา อันเป็นจุดตั้งต้นของความเจริญงอกงามทั้งหมดนั้นแล้ว เราก็ควรจะมี ความปีติอิ่มใจ มีความยินดีเปี่ยมล้นด้วยกำลังใจ
 
     ถ้ามองในแง่ของตัวสถานที่เอง  ก็อาจจะเห็นเป็นว่า  สถานที่เหล่านี้ไม่ค่อยมีความหรูหราโอ่อ่าอะไร แต่กลายเป็นที่ที่ปรักหักพัง ทรุดโทรม ไปตามกาลเวลา
 
     ในแง่นี้ก็เป็นเครื่องทำให้เรายิ่งซึ้งใจในธรรม   กล่าวคือ  คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสแสดงไว้ทำให้เห็นความจริงตามพระธรรมนั้นยิ่งขึ้น
 
     พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้แล้วว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มี ความเส่อมสลายไปเป็นธรรมดา สถานที่เหล่านี้แหละที่เคยเป็นจุด เป็น แหล่ง เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรือง พระราชามหากษัตริย์ก็เคย ยกทัพกันไปกันมาอยู่บริเวณนี้อีกทั้งมีชุมชน มีมหานครต่างๆ มากมาย แต่บัดนี้สถานที่เหล่านี้ได้กลายเป็นป่าดง เป็นทุ่งนา เป็นสถานที่ห่างไกล กลายเป็นบ้านนอกไป
 
     สภาพทั้งหมดนี้  ชี้ชัดถึงความเป็นอนิจจังของสิ่งทั่งหลาย  ถ้าเราทำใจมองได้ตามนี้   เราก็จะได้ปัญญา  เกิดความรู้เข้าใจซาบซึ้งในธรรม
 
     ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ อันเกี่ยวข้องกับความเจริญรุ่งเรือง และความแผ่ขยายตัวของพระพุทธศาสนา ทำให้เราเกิดปีติ มีความอิ่ม ใจ และพร้อมกันนั้น การได้เห็นอนิจจัง ก็ทำให้เราได้ปัญญา ที่ทำให้เกิด ความรู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขาร
 
     ทั้งหมดนี้ก็น้อมนำไปสู่การที่จะได้นำธรรมของพระพุทธเจ้า มา เป็นเครื่องนำทางชีวิต และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้องสืบต่อไป


     อีกประการหนึ่ง  การจาริกผ่านพบบุญสถานเหล่านั้น ก็จะทำให้ เจริญศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในแง่ที่ทำให้มองเห็นว่า ในการที่พระองค์ ได้เสด็จจาริกไปนั้น ได้ทรงเสียสละอุทิศพระวรกายในการบำเพ็ญพุทธ กิจมากมายเพียงใด จึงทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปได้ และด้วย พระมหากรุณาของพระองค์พระพุทธศาสนาจึงได้มาถึงเรา เราได้นับถือ พระพุทธศาสนา สังคมของเราในประเทศไทยก็ได้อยู่ร่มเย็น มีสันติสุข เพราะอาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้า
 
     เราได้เดินทางมาเพียงแค่นี้  ก็ได้เห็นความลำบากต่างๆ ทําให้คิด ว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเดินทางจาริกด้วยพระบาทเปล่า ลำบากกว่าเรามากมาย เราเดินทางด้วยรถยนต์ยังขนาดนี้เลย พระพุทธเจ้าจะทรงลำบากพระวรกาย เหน็ดเหนื่อยขนาดไหน
 
     ยกตัวอย่าง เช่นสถานที่นี้ที่เราเดินทางมาถึง คือเมืองกุสินารา ถ้า วัดจากเมืองราชคฤห์มา ตามคัมภีร์ ท่านบอกว่าเป็นระยะทาง ๒๕ โยชน์ถ้าคำนวณดูตามตัวเลข โยชน์หนึ่งประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ก็จะได้ ประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร นี้คือวัดแบบตรงมา ไม่ได้ผ่านที่โน่นที่นี่ มาตามลำดับอย่างของเรา
 
     ของเรานี้ จากราชคฤห์ไปผ่านพาราณสี ที่อิสิปตนมฤคทายวัน ก่อน แล้วจึงมานี่ ระยะทางของเราไกลกว่า แต่ของพระพุทธเจ้าถ้าวัด จากเมืองราชคฤห์มานี่ ๒๕ โยชน์ประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร
 
     ทีนี้  ถอยหลังไปอีก พระพุทธเจ้าเสด็จจากสถานที่ตรัสรู้ที่พุทธคยา ใกลๆเมืองราชคฤห์แล้วเสด็จมาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่แสดงปฐมเทศนา นั้น ตามคัมภีร์ว่า ๑๘ โยชน์ เป็นระยะทางที่คำนวณให้เป็นตัวเลข ปัจจุบัน เป็นกิโลเมตร ประมาณ ๒๘๘ กิโลเมตร
 
     แต่ตัวเลขทางรถยนต์ ประมาณ ๒๔๐ กม. ตัวเลขนี้ ผิดกัน ๔๘ กม. ก็นับว่าใกล้เคียง เพราะว่าสมัยก่อนไม่มีพาหนะ อย่างสมัยใหม่การเดินทางต้องใช้เกวียน   ก็อาจจะคดเคี้ยวมากกว่าน

     ในระยะทาง ๑๘ โยชน์นี้พระพุทธเจ้าเสด็จเดินทางด้วยพระบาทเปล่าภายในเวลา ๑๑ วัน พวกเราเดินทางด้วยรถยนต์ ๑๑ ชั่วโมงเศษ ก็ลองคิดดูว่า พระพุทธเจ้าลำบากกว่าเราแค่ไหน
 
     พระองค์บำเพ็ญพุทธกิจตลอดพระชนมชีพ เสด็จเดินทางไปที่โน่นที่นี่ จนกระทั่งมาจบลงที่นี่ เราก็ได้เดินทางมาตามรอยพระพุทธบาท ตามทางพุทธกิจ จนกระทั่งถึงที่สุดท้ายเช่นเดียวกัน


235 เรื่องแทรกประดับความรู้
 
 
     ตรงนี้  มีเรื่องที่ขอแทรกเป็นความรู้ประกอบสักหน่อย  ที่ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จจากพุทธคยามายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใช้เวลา ๑๑ วัน นั้น เป็นการพูดผ่านๆ เพื่อการเทียบเคียงให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ  แต่ญาติโยมบางท่านอาจจะอยากทราบรายละเอียดในเหตุการณ์จริงว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาเดินทางเท่าไร  อย่างไรแน่ ก็ขอบอกว่า  เรื่องตรงนี้  เราไม่อาจรู้ชัดได้ ในพระไตรปิฎกไม่ได้เล่าจำเพาะไว้ และในอรรถกถาก็ว่าไว้แตกต่างกัน
 
     พระไตรปิฎกตอนนี้ก็คือ เล่ม ๔ พระวินัยปิฎก  ท่านมุ่งจะเล่าถึงการ เกิดมีการบวชและตั้งสังฆะ จึงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา  ผ่านเรื่องเบญจวัคคีย์บวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา  มาจนถึงมีการอุปสมบทโดยสงฆ์  ที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมวาจา อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้  แล้วก็จบตอน  (เรียกว่า “มหาขันธกะ”)  ท่านคงมุ่งให้เห็นจุดสังเกตที่เด่นๆ เท่านั้น จึงไม่แสดงรายละเอียดตลอดทั้งหมด
 
     ตามที่เล่าไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเสวย วิมุตติสุขที่ใต้ร่มมหาโพธิ์สัปดาห์หนึ่ง ที่ใต้ร่มไทรอชปาลนิโครธสัปดาห์หนึ่ง ที่ใต้ร่มไม้จิกมุจลินท์สัปดาห์หนึ่ง ที่ใต้ร่มไม้เกดราชายตนะสัปดาห์หนึ่ง (ที่ร่มไม้เกดนี้พาณิช ๒ คน คือ ตปุสสะและภัลลิกะมาเฝ้า) จากนั้น เสด็จกลับไปประทับใต้ร่มไทรอชปาลนิโครธ  (ตรงนี้ไม่ได้บอก ว่าประทับนานเท่าใด) ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้ว่าลึกซึ้งยากที่ใครจะรู้เข้าใจตามได้ แต่ทรงทราบ และประทานโอกาสแก่การอาราธนาของพระพรหม  แล้วทรงพิจารณาบุคคลที่ควรจะเสด็จไปทรงแสดงธรรมก่อน จนตกลงพระทัยว่าจะทรงแสดงแก่เบญจวัคคีย์ ซึ่งเวลานั้นอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี


     ตรงนี้  ท่านบอกเพียงว่า  “ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่อุรุเวลาตามควรแก่พุทธาภิรมย์แล้ว   จึงเสด็จจาริกไปทางพระนครพาราณสี”    โดยระหว่างทางจากต้นโพธิ์ไปยังตำบลคยา   ได้ทรงพบกับอุปกาชีวก  แล้วเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงพาราณสี    ถึงอิสิปตนมิคทายวัน   เสด็จเข้าไปหาภิกษุเบญจวัคคีย์   (“อนุปุพฺเพน จาริกํ จรมาโน  เยน พาราณสีอิสิปตนํ  มิคทาโย   เยน   ปญฺจวคฺคิยา  ภิกฺขู  เตนุปสงฺกมิ"  วินย. ๔/๑๒/๑๕)

     ถ้าว่าตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกดังนี้ จะทราบการเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้าเพียง ๔ แห่ง คือ ๔ สัปดาห์  ไม่ทราบชัดว่าประทับอยู่ที่พุทธคยานานเท่าใด เสด็จออกจากที่นั่นวันไหนเสด็จถึงป่าอิสิปตนะ และทรงแสดงธรรมจักรวันใด  รวมแล้วเสด็จพุทธดำเนินทั้งหมดกี่วัน

     ทั้งนี้  พึงสังเกตว่า  ในพระไตรปิฎก  ท่านมุ่งแสดงพระธรรมวินัย คือสาระเป้าหมายอยู่ที่หลักธรรมหลักวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงเรื่องราวเหตุการณ์อะไรเกี่ยวข้องจึงพลอยปรากฏขึ้นมาด้วย ส่วนเรื่องราว เหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาทางธรรม ท่านก็ไม่พูดถึง

     ทีนี้ก็เป็นงานของอรรถกถา   ที่จะเล่าเรื่องประกอบ  หรือบอกรายละเอียด  ตอนนี้แหละ อรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก (สมันตปาสาทิกา, วินย. อ.๓/๑๖)  ก็เล่าเพิ่มว่า  เมื่อเสวยวิมุตติสุขที่ใต้ร่มมหาโพธิ์จบสัปดาห์แล้ว  ก่อนเสด็จไปประทับใต้ร่มไทรอชปาลนิโครธนั้น  ทรงเสวยวิมุตติสุข ณ ที่ ๓ แห่ง ที่มาเป็นอนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ และรัตนฆรเจดีย์ เป็นอันเพิ่มอีก ๓ สัปดาห์  รวมเป็นเสวยวิมุตติสุข ๗ แห่ง ๗ สัปดาห์

     อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้ สมันตปาสาทิกา ซึ่งต้องถือว่าเป็นอรรถกถาเจ้าของเรื่องที่จะพึงเล่าเรื่องราวและอธิบายความตอนนี้แต่ท่านกลับรวบรัดผ่านไปเลย ไม่ให้รายละเอียดเพิ่มจากที่กล่าวในพระไตรปิฎก ได้ความเพิ่มเพียงในตอนที่เสด็จถึงป่าอิสิปตนะแล้วว่า ทรงแสดงธรรมจักรในวันอาสาฬหบุรณมี และในวันแรม ๕ ค่ำ เบญจวัคคีย์บรรลุอรหัตตผล ในโลกจึงมีพระอรหันต์  ๖ องค์

     ทีนี้ก็จึงต้องค้นหาในอรรถกถาอื่นๆ แล้วก็ปรากฏว่ามีบางแห่งเล่ารายละเอียดเพิ่มอีก แต่กลายเป็นว่าเล่าคนละท่อนคนละตอน ไม่ได้ความชัดเด็ดขาดลงไป ขอเอามาเล่าให้ฟังเป็นความรู้

     คัมภีร์สุมังคลวิลาสินีบอกว่า  เมื่อจะเสด็จไปแสดงปฐมเทศนานั้น พระพุทธเจ้า (ในอดีต) พระองค์อื่นๆ เสด็จมาทางอากาศ  แล้วเสด็จลงที่อิสิปตนะเลย  แต่พระพุทธเจ้าของพวกเรา ทรงเห็นอุปนิสัยของอุปกะ จึงเสด็จพุทธดำเนินทาง ๑๘ โยชน์ ด้วยพระบาทเปล่า  (อฏฺฐารสโยชนมคฺคํ ปทสาว อคมาสิ, ที.อ.๒/๕๐/๖๗)
 
     ส่วนว่า อรรถกถาแห่งชาดก อรรถกถาแห่งอปทาน และอรรถกถาแห่งพุทธวงส์  (ชา.อ.๑/๑๒๗, พุทธ.อ.๙๘๖/๔๒๒, อป.อ.๑/๔/๑๐๓)   เล่ารายละเอียดต่างออกไปบ้างว่า   เมื่อตกลงพระทัยว่าจะเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์ที่พาราณสีแล้ว  ประทับเที่ยวบิณฑบาตใกล้ควงโพธิ์ช่วงหนึ่ง   จนถึงรุ่งเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ อาสาฬหมาส  จึงเสด็จออกเดินทาง ๑๘ โยชน์  ทรงพบอุปกะระหว่างทาง แล้วเสด็จถึงอิสิปตนะเย็นวันนั้น
 
     เมื่อไม่บ่งชัดลงไปและไม่ตรงกันแท้  ก็เลยเท่ากับเปิดไว้ให้มีการสันนิษฐานประกอบ ก็เอามาเล่าให้ฟัง  เป็นทางเจริญปัญญาจะสันนิษฐานกันบ้างก็ได้  ส่วนที่พูดไปนั้นก็ไม่ใช่เป็นการตัดสิน แต่เป็นการพูดโดยประมาณ   เท่ากับบอกว่าครั้งนั้น   หลังจากเสวยวิมุตติสุขแล้ว  พระพุทธเจ้าทรงมีเวลาสำหรับการเสด็จไปป่าอิสิปตนะทั้งหมด ๑๑ วัน
 
     (เรื่องที่อรรถกถากล่าวแย้งกัน หรือค้านกันนี้   มีมากหลายแห่ง เป็นเรื่องของการศึกษา ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ท่านค้านกันอย่างจัง ดังที่ในอรรถกถาแห่งอปทาน, อป.อ.๑/๔๘๐ เล่าว่า  พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวชในวันที่เจ้าชายราหุลประสูติ และพร้อมกันนั้น ท่านก็บอกด้วยว่า  “ข้อความใดที่กล่าวในอรรถกถาแห่งชาดกว่า ในกาลนั้น ราหุลกุมารประสูติแล้ว ๗ วัน ข้อความนั้น  ไม่มีในอรรถกถาทั้งหลายอื่น เพราะฉะนั้น พึงถือเอาดังที่กล่าวมานี้”)


 


 



Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2567 20:15:32 น. 0 comments
Counter : 174 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space