อ้างอิงกันบ่อย แยกมาย้ำอีกที
ตัวแกนของความไม่ประมาท ก็คือสติ ความไม่ประมาท ท่านแปลว่า ความไม่อยู่ปราศจากสติ คือเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ สติ คืออะไร คือความระลึก คอยนึก เหมือนคอยจับตาดูอยู่ และคอยจับเอามาดู ทั้งตื่นตัว และคอยตรวจสอบ ที่ว่าจับตาดู และจับเอามาดูนั้น เป็นการทำงานประสานกันของสติ กับ ปัญญา สติเหมือนมือที่จับหรือเชือกที่ใช้ดึง ปัญญา เหมือนตาที่มองดู เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป ที่จะทำให้เกิดผลกระทบในทางที่เสียหายไม่ดีไม่งาม จะทำให้เกิดความเสื่อม สติที่ตื่นตัวคอยดูหรือจ้องอยู่ ก็จับเอามาส่งให้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาเหตุปัจจัย เป็นต้น และหาทางแก้ไขป้องกัน ถ้ามีอะไรที่จะเป็นโอกาสทำให้เกิดความดีงามความเจริญ สติก็รีบ จับเอามาส่งให้ปัญญาพิจารณาหาทางปฏิบัติหรือดำเนินการ ย้ำว่า สติสร้างความตื่นตัว และคอยตรวจสอบ สติจะคอยตรวจสอบอยู่เสมอ คอยจับตาและคอยจับเอามาดู เพราะฉะนั้น เราจะไม่เพลี่ยงพล้ำ เพราะสติที่คอยตรวจตราไว้ทำให้ไม่ประมาท และปัญญาก็ได้โอกาสที่จะทำงาน แต่ถ้าเราขาดสติ เราจะพลาดอยู่เรื่อย โดยทำผิดพลาดบ้าง พลาดโอกาสบ้าง ติดในความสุขสบายมัวหลงเพลิดเพลินก็เลยไม่สร้างและไม่ใช้โอกาสเสียบ้าง ข้อสำคัญ เมื่อสติไม่อยู่ ปัญญาก็มาไม่ได้ เมื่อสติไม่ทำหน้าที่ ปัญญาก็ไม่มีโอกาสที่จะทำงาน เมื่อคนขาดสติ ปัญญาก็หายไปด้วย
นี่คือการฝึกสติ เจริญปัญญา (สัมปชัญญะ) โดยใช้อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง เป็นสนามฝึก
สติ ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจหรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำ (ในขณะนั้นๆ) , จำการที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้
สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้, มักมาคู่กับสติ
สติปัฏฐาน ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ, ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง, การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกรอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจของกิเลส
Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2567 9:50:25 น. |
|
0 comments
|
Counter : 191 Pageviews. |
 |
|