 |
|
|
|
 |
|
อิสลาม เริ่มเข้าที่ สุมาตรา |
|
อิสลาม เริ่มเข้าที่ สุมาตรา
เมื่อหลวงจีนอี้จิงมาถึงศรีวิชัย ในปี 671/๑๒๑๔ นั้น ศาสนาอิสลามกำลังเกิดขึ้นใหม่ๆ ในแดนอาหรับ นับตามฮิจเราะฮ์ศักราชเป็นปีที่ ๔๙ เข้าสู่ยุคกาหลิฟราชวงศ์อูมัยยัด ที่ดามัสกัส ในซีเรีย ได้ ๑๐ ปี อันเป็นช่วงเวลาที่อาหรับ และอิสลามกำลังแผ่ขยายอย่างรวดเร็วยิ่ง อีกเพียงประมาณ ๓๐ ปีหลังจากนั้น ทัพมุสลิมอาหรับก็บุกเข้าลุ่มแม่น้ำสินธุรบชนะ และเข้าครอบครองดินแดนเข้ามาเรื่อยๆ ทัพมุสลิมอาหรับเข้าตีดินแดนที่ปัจจุบันเป็นแคว้นสินธ์ หรือสินท์ (Sindh หรือ Sind = Sindhu คือสินธุ) โดยยกเข้าบุกทางเรือก่อน แต่ไม่สำเร็จ จึงโจมตีทางบก และเข้าครองดินแดนในปี 712/๑๒๕๕ แล้วต่อมาในปี 775/๑๓๑๘ ก็ยกทัพมาทางเรือ เข้าตีเมืองวลภี ได้ทำลายทั้งเมืองวลภีนครหลวง และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่ชื่อว่าวลภี หมดสิ้น พระเจ้าศีลาทิตย์ที่ ๖ ได้ถูกสังหาร เป็นอันสิ้นราชวงศ์ไมตรกะ จากแคว้นสินธุนั้น ทัพมุสลิมอาหรับพยายามเดินหน้าเข้าสู่ปัญจาบ และแคชเมียร์ (กัศมีระ) ต่อไปอีก แต่ในแถบนี้ เจ้าถิ่นเข้มแข็งมาก สามารถสกัดกั้นไว้ได้ ดินแดนของมุสลิมอาหรับในอินเดียจึงถูกจํากัดอยู่แค่นั้น ขยายออกไปไม่ได้อีกเลย จนสิ้นยุคของมุสลิมอาหรับ ประวัติศาสตร์จำหมายว่า การที่ทัพมุสลิมอาหรับพิชิตแคว้นสินธ์/สินธุ์ได้ในปี 711/๑๒๕๔ นี้เป็นนิมิตหมายแห่งการที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่แดนภารตะ และพร้อมกันนั้น แคว้นสินธ์ที่พิชิตได้คราวนี้ ก็เป็นจุดกำหนดสุดเขตแดนด้านตะวันออกที่มุสลิมอาหรับแผ่อำนาจไปถึงด้วย การแผ่ไปของอิสลามและขยายแดนอำนาจของมุสลิม ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มขึ้นใหม่ และดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ยิ่งใหญ่แท้จริง หลังจากนี้ประมาณ ๓ ศตวรรษ ในยุคของมุสลิมเตอร์ก ดังกล่าวแล้วว่า ทัพมุสลิมเตอร์กรุกรบบุกเข้ามาในชมพูทวีป จนได้ตั้งรัฐสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ขึ้น เมื่อ ค.ศ.1206/ พ.ศ.๑๗๔๙ การเข้าครองของมุสลิมเตอร์ก เริ่มด้วยสงครามใหญ่ในปี 1001/๑๕๔๔ ซึ่งคราวนี้พิชิตแคว้นปัญจาบก่อน* และเมื่อตั้งรัฐสุลต่านแห่งเดลีแล้วก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ได้เข้าครองแคว้นคูชราต (Gujarat) ซึ่งอยู่ถัดจากแคว้นสินธุมาทางตะวันออก ในปี 1297/๑๘๔๐ จากนั้น เพียงถึงปี 1310/ ๑๘๕๓ สุลต่านแห่งเดลีก็เข้ายึดเมืองมทุรา (Madura บัดนี้เรียก Madurai) ที่อยู่เกือบปลายสุดภาคใต้ของอินเดียได้ จากคูชราต ซึ่งเป็นรัฐบนฝั่งทะเลตะวันตกของอินเดีย (มีเมืองท่าสำคัญ โดยเฉพาะสุราต/Surat และภารุจ/Bharuch ที่โบราณเรียกว่า ภารุกัจฉ์ อันมีชื่อเสียงมากมาแต่พุทธกาล ใกล้อ่าวแคมเบย์/Cambay) และจากอินเดียภาคใต้นั้น ศาสนาอิสลามก็มากับพ่อค้าชาวอินเดีย สู่อินโดนีเซีย ตั้งแต่ คศ.ต. 13 คือ พ.ศ.๑๘๐๐ เศษ เป็นต้นมา โดยเริ่มที่สุมาตราภาคเหนือ การมาของศาสนาอิสลามสู่ดินแดนอันเป็นเกาะและชายทะเลแถบนี้ มีลักษณะอันเป็นที่สังเกตว่า มากับเหล่าพ่อค้าวาณิช มิใช่มากับกองทัพเหมือนอย่างการแผ่ขยายบนผืนแผ่นดิน ในชมพูทวีป เป็นต้น ความจริง พ่อค้าชาวอาหรับ ตลอดจนชาวเปอร์เซีย (เปอร์เซียหรืออิหร่านไม่ใช่ชาวอาหรับ แต่เป็นคนอารยัน) จากตะวันออกกลาง ได้เดินทางค้าขายทางทะเลมานาน ตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แต่ส่วนมากมาแค่อินเดีย ส่วนน้อยจึงเลยมาแถบสุมาตราและชวา (ตลอดจนไปถึงจีน) แต่ที่สำคัญก็คือ ในยุคก่อนศาสนาอิสลามเกิดขึ้น แดนอาหรับมีชนเผ่าใหญ่ - น้อยมากมาย และเต็มไปด้วยสงครามระหว่างเผ่า (tribal warfare) ครั้นเมื่ออิสลามเกิดขึ้นในปี 622/๑๑๖๕ แล้ว พระศาสดานบีมูฮัมมัด ต้องใช้เวลาไม่น้อยในการสู้รบรวมชนชาวอาหรับให้เป็นอันเดียวกัน แม้ในยุคของกาหลิฟที่สืบต่อมา ตลอดจนในยุคของสุลต่านทั้งหลาย การแผ่อิสลามและการขยายดินแดนมุสลิม ที่เป็นงานอันมุ่งออกไปบนผืนแผ่นดิน ก็เป็นภาระใหญ่ที่ดำเนินมาอีกหลายศตวรรษ ดังนั้น การแผ่มาของอิสลามทางแถบนี้ ที่เป็นเรื่องก่อน คศ.ต. 13 (ราวพ.ศ.๑๘๐๐) แม้จะมีร่องรอยอยู่บ้าง ก็จึงสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องรายย่อย เป็นการส่วนบุคคลหรือภายในหมู่ในกลุ่ม ยังไม่เป็นงานเป็นการ ตามที่มีหลักฐาน ศาสนาอิสลามเริ่มต้นในอินโดนีเซียเมื่อสุด คศ.ต. 13 ที่สุมาตราภาคเหนือ โดยมีรัฐพาณิชมุสลิมเล็กๆ ของชนชาวอาเจะห์ ๒ แห่งชื่อสมุทรปาไซ (Samudra-Pasai) และเปอร์ลัก (Perlak) ทั้งนี้ สุลต่านท่านแรก คือ Sultan Malik al Saleh แห่งปาไซ (ต่อจากนี้อีก ๒๐๐ ปีเศษ จึงเกิดรัฐสุลต่านแห่งอาเจะฮ์ /Aceh ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในสุมาตราภาคเหนือนี้)
.............
* สงครามใหญ่ครั้งนี้ (ระหว่างสุลต่านมะหะหมุด กับราชาไชยบาล ในปี 1001/๑๕๔๔ และครั้งต่อมา กับราชาอานันทบาล ในปี 1008/๑๕๕๑) เป็นเรื่องทื่สยดสยองมาก ผู้สนใจอาจจะอ่านไว้เป็นความรู้
- ปธน. มาครง ขับพวกคลั่งพระเจ้าพ้นฝรั่งเศลภายใน ๒ ชม.
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1361169037904704&set=gm.1855801871516627&idorvanity=238431716586992
https://www.facebook.com/reel/1351189138780132
Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 28 กรกฎาคม 2567 12:07:14 น. |
|
0 comments
|
Counter : 261 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|