 |
|
|
|
 |
|
วัดถ้ำ: พุทธ เชน ฮินดู เปลือกดูคล้าย |
|
วัดถ้ำ: พุทธ เชน ฮินดู เปลือกดูคล้าย เนื้อในคนละอย่าง
น่าสังเกตด้วยว่า วัดถ้ำของฮินดูที่เอลโลราก็เป็นพวกไศวะ เหมือนกันกับศังกราจารย์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศังกราจารย์จะตั้งคณะสงฆ์และวัดฮินดูขึ้นแล้ว ก็ยังอยู่ในระยะต้นๆ คงยังไม่แพร่หลายไปทั่ว แม้นักบวชฮินดูมีขึ้นแบบใหม่ก็คงยังมีจำนวนน้อย เพราะฉะนั้น วัดถ้ำฮินดูที่เอลโลรา โดยสถานะหลัก เมื่อสร้างขึ้น มาแล้ว ก็เป็นเพียงเทวสถาน หรือเทวาลัย คือเป็นที่อยู่ของเทวดามากกว่า ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดที่ถ้ำไกรลาส (สันสกฤต = ไกลาส) มันไม่ใช่ที่อยู่ของคน และรูปร่างก็ไม่เป็นถ้ำแล้ว เพราะตัดเจาะภูเขาออกมา ไม่เหมือนอย่างถ้ำพุทธแบบเดิม แบบเดิมนั้นเขาตัดเจาะเข้าไปเป็นถ้ำ คือ ข้างบนก็ยังมีภูเขาเป็นหลังคา แต่ที่ไกรลาสมันไม่ใช่เป็นถ้ำแล้ว เขาตัดภูเขาลงมาเลย กลายเป็นช่องว่างตรงขึ้นไปบนฟ้า กลายเป็นเทวาลัยที่อยู่ตรงกลางภูเขาไปเลย เป็นคนละลักษณะ กลายเป็นที่สำหรับผู้คนมาเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า ไม่ใช่ที่อยู่ของพระสงฆ์ผู้แสวงวิเวก เปลี่ยนแปลงไปหมด นี่คือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่สำคัญ ทีนี้จะขอพูดถึงเชนบ้าง ลองเทียบกับฮินดูนิดหน่อย ศาสนาเชนของมหาวีระนั้น ก็เป็นศาสนาที่มีมาตั้งแต่พุทธกาล อาจจะก่อนพระพุทธเจ้านิดหน่อย เรียกง่ายๆ ว่าร่วมสมัย ศาสนาเชนนี้อยู่ๆ ก็มาโผล่ที่ภูเขาอยู่ในหมู่ถ้ำเอลโลราด้วย อย่างไรก็ดี ถ้ำของเชนนั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สังเกตได้ พวกเชนนี้เราเรียกว่าพวกนิครนถ์ คำว่า นิครนถ์ นั้น แปลว่า ไม่มีกิเลสเครื่องผูกรัด หมายความว่า ไม่ยึดถืออะไรทั้งสิ้น แม้แต่ผ้าก็ไม่ต้องนุ่ง เพราะฉะนั้น พวกเชน หรือ นิครนถ์ นี่ เขาถือว่าเขาไม่ยึดติดถือมั่นในอะไร เขาก็เลยไม่นุ่งผ้า จะเห็นว่า ศาสดามหาวีระ หรือเชน นั้น ไม่นุ่งผ้า ถ้ำของเชน ก็สร้างแบบของพุทธเหมือนกัน รูปของมหาวีระนั้นเหมือนพระพุทธรูปเลย ชาวพุทธมาถ้าไม่รู้จักแยก ก็นึกว่าเป็นพระพุทธรูป เหมือนกันหมดทุกอย่าง มีอย่างเดียวที่ต่างคือ ไม่นุ่งผ้า เสียดายที่โยมไม่ได้ไป ก็เลยไม่ได้เห็น เพราะฉะนั้น จุดสังเกต ถ้าไปที่ถ้ำเชน จะเห็นรูปมหาวีระ หรือ นิครนถนาฏบุตร ที่ว่าเหมือนพระพุทธรูปเลย แต่ไม่นุ่งผ้า ทีนี้ มาถึงรุ่นลูกศิษย์ศาสนาเชนได้แตกเป็น ๒ นิกาย เพราะอีกนิกายหนึ่งคงคิดว่า ถ้าไม่นุ่งผ้าเห็นจะไม่ไหว ก็เลยนุ่งผ้าขึ้นมา แต่นุ่งผ้าขาว เลยเกิดเป็น ๒ นิกาย นิกายหนึ่งเป็นทิคัมพร นุ่งลมห่มฟ้า และอีกนิกายหนึ่ง เศวตัมพร นุ่งผ้าขาว อย่างที่ได้ไปเห็นนักบวชหญิงสาธวีที่ไปนั่งในพิธีที่นาลันทา ผู้หญิง ๒ คน เป็นนักบวชของนิครนถนาฏบุตร นิกายเศวตัมพร นุ่งผ้าขาว ไม่ถึงกับแก้ผ้า อันนี้ก็เป็นเรื่องของศาสนาเชน ที่ได้มาสร้างถ้ำที่เอลโลราด้วยในยุคหลังๆ ที่บอกเมื่อกี้ว่า หลัง พ.ศ. ๑๓๐๐ ขึ้นมา ในเรื่องนี้มีคติอย่างหนึ่งให้เราพิจารณาว่า พระพุทธศาสนาก็สอนให้ไม่ยึดติดถือมั่นเหมือนกัน ศาสนาเชนเขาไม่ยึดติดถือมั่น อยู่อย่างธรรมชาติ ถึงขนาดที่ไม่นุ่งผ้า แต่พระพุทธศาสนาเราเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ความไม่ยึดติดถือมั่นนั้น หมายถึงภาวะจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของวัตถุ หรือสิ่งของทั้งหลาย แต่ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงนั้น ก็รู้เหตุรู้ผลในสมมติ และปฏิบัติต่อสมมติให้ถูกต้อง ด้วยความรู้เท่าทัน โดยทำตามเหตุผล ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงมีลักษณะที่ให้คนทำอะไรเข้มแข็ง จริงจังมีความรับผิดชอบ อย่างที่อาตมาได้เคยพูดไปทีหนึ่งแล้วว่า ความ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ความไม่เอาเรื่องเอาราว ฉะนั้น ถ้าเราศึกษาพระ พุทธศาสนาให้ครบ เราจะเห็นได้จากด้านพระวินัยมาประกอบว่า พระพุทธศาสนาที่แท้เป็นอย่างไร ถ้าศึกษาด้านธรรม แล้วจับผิดจับถูกไม่รู้จริง เราอาจจะมองในแง่ที่ธรรมสอนว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรมั่นถือมั่น ควรปล่อยวาง อะไรต่ออะไรก็เป็นไปตามธรรมดาของมัน ก็เลยปล่อยมันไปตามเรื่อง ไม่เอาเรื่องเอาราว แล้วคิดว่านี่คือไม่ยึดติดถือมั่น บางทีศึกษาธรรมแบบมองเอียงไปข้างเดียว เลยโน้มเอียงที่จะเข้าใจไปทางนั้น ไม่มีเครื่องกำกับให้มองให้ตรงพอดี แต่พอมาศึกษาพระวินัยแล้ว จะได้เครื่องช่วยกำกับการมองที่จะทำให้เห็นทั่วชัดจริง พระวินัยนั้น อย่างที่พูดแล้ว แสดงให้เห็นแบบอย่างแห่งชีวิตของพระ และช่วยให้เราได้ชีวิตของพระไว้เป็นแบบอย่าง หมายความว่า ชีวิตของพระที่อยู่ตามวินัยนั้น ท่านจัดไว้ตามแบบอย่าง และให้เป็นแบบอย่าง เอาอะไรเป็นแบบ ก็เอาชีวิตของท่านที่หลุดพ้นนั่นแหละเป็นแบบ วินัยแสดงตัวแบบให้รู้ว่าการดำเนินชีวิตของพระที่เป็นอยู่ในโลกนี้อย่างถูกต้องเป็นอย่างไร คือ ด้านหนึ่งยอมรับความจริงของสมมติ และดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่ดีงามเป็นแบบอย่าง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเข้าถึงความจริงของปรมัตถ์ มีความโล่งเบาเบิกบานไม่ยึดติดเป็นอิสระ อย่างพระมีจีวรแค่ ๓ ผืน แต่ท่านต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ท่านมี ซึ่งตนเกี่ยวข้องอยู่นั้น ถ้าจีวรอธิษฐาน คือ ผืนที่กำหนดไว้สำหรับตัว เกิดขาด มีรูโหว่เท่าหลังเล็บนิ้วก้อย แล้วปล่อยไว้ ไม่ปะชุน ก็ขาดอธิษฐาน แล้วก็ขาดครอง ก็ต้องอาบัติมีความผิด จะเห็นว่ามีความรับผิดชอบมากขนาดไหน ที่พูดนี้ เหมือนว่าตรงข้ามกับที่เข้าใจมาก่อน ที่อาจจะคิดว่า ไม่ยึดมั่น คือไม่เอาเรื่องเอาราว จีวรก็ไม่ใช่ของเราจริง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จีวรจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน สกปรกก็ช่างมัน มันจะขาดจะเปื่อย ก็เรื่องของมัน ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็ผิดเต็มที่ คนอินเดียดูท่าเหมือนจะไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นคนอยู่ง่าย อย่างไรก็ได้ ผ้าจะขาดอย่างไร จะสกปรกอย่างไร ก็ชั่ง อย่างนี้ดีไหม แต่วินัยของพระไม่ยอมให้เลย อย่างที่ว่าเมื่อกี้ แม้แต่ขาดรูโหว่เพียงเท่าหลังเล็บนิ้วก้อย ไม่รีบปะชุน ก็ไม่ได้ สกปรกไม่ได้ ระวังกันหน่อย เดี๋ยวโยมจะเข้าใจผิด เห็นพระองค์ไหนอยู่สกปรก รกรุงรัง จีวรสกปรก ไม่ซัก แสดงว่าท่านไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เลยเลื่อมใส จะไปกันใหญ่ นี่แหละ ธรรมวินัย จึงคู่กัน พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับการปฏิบัติของเชน ที่ว่าไม่นุ่งผ้า แสดงว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธศาสนาบอกว่า เราต้องเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งทำให้เรามีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุเหล่านั้น แต่เรายอมรับความจริงโดยเหตุผลอย่างรู้เท่าทันว่า สิ่งที่มนุุษย์ได้วางกันเป็นสมมตินี้ ก็เป็นไปตามความมุ่งหมายเพื่อการใช้ประโยชน์ในสังคม ต้องปฏิบัติไปตามเหตุผลด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ก็จึงเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามสมมติ กลายเป็นว่าพระอรหันต์ถือสมมติสำคัญ เอาจริงเอาจังในเรื่องสมมติ แต่ทำด้วยความรู้เท่าทัน สมมติเป็นเรื่องที่จะต้องรู้เท่าทัน แล้วปฏิบัติด้วยความรู้เท่าทัน หลายท่านเข้าใจสมมติเป็นเหลวไหลไป แต่สมมติไม่ใช่หมายความว่า เป็นเรื่องเหลวไหล ตรงข้าม สมมติ คือ สํ (ร่วมกัน) + มติ = มติร่วมกัน ได้แก่ ข้อตกลง การยอมรับร่วมกัน หรือสิ่งที่เห็นร่วมกันแล้วกำหนดวางเป็นข้อที่จะหมายรู้หรือที่จะปฏิบัติไปตามนั้น ด้วยเหตุนี้ สมมติ แม้จะไม่มีสภาวะที่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นความจริงที่มีผลอันสำคัญตามตกลง จึงจะต้องกำหนดวางสมมตินั้นด้วยปัญญา แล้วปฏิบัติให้สมตามสมมติด้วยปัญญาที่รู้เหตุรู้ผลอย่างจริงจัง
https://pantip.com/topic/42540174
Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2567 16:54:32 น. |
|
0 comments
|
Counter : 233 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|