|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
ผลกรรมตามนัยจูฬกรรมวิภังคสูตร |
|
- ผลกรรมตามนัยแห่งจูฬกรรมวิภังคสูตร
เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็ขอนำพุทธพจน์แห่งสำคัญ ที่กล่าวถึงผลกรรมซึ่งสืบเนื่องจากปัจจุบัน ไปถึงภพหน้า ตามที่ปรากฏในจูฬกัมมวิภังคสูตร (หรือสุภสูตร) มาแสดงไว้
สรุปใจความได้ ดังนี้
“ดูกรมานพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นที่กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้ทรามและประณีต”
๑. ก. สตรี หรือบุรุษ มักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด หมกมุ่นอยู่ในการประหัตประหาร ไร้เมตตาการุณย์ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีอายุสั้น
ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ละเว้นปาณาติบาต มีเมตตาการุณย์ มักเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีอายุยืน
๒. ก. สตรี หรือบุรุษ ผู้มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือไม้ศัสตรา ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโรคมาก (ขี้โรค)
ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ไม่มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโรคน้อย (มีสุขภาพดี)
๓. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นง่าย ใครว่ากล่าวนิดหน่อย ก็ขัดใจพลุ่งพล่าน พยาบาท แสดงความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม (ไม่สวยไม่งาม)
ข. สตรีหรือบุรุษ ผู้ไม่มักโกรธ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนน่าเลื่อมใส (มีรูปร่าง ท่าทาง ชวนใจนิยม)
๔. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้มีใจริษยา คนอื่นได้ลาภได้รับความเคารพนับถือกราบไหว้บูชา ก็ไม่สบายใจ ทนไม่ได้ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีศักดาน้อย (ต่ำต้อยด้อยอำนาจ)
ข. สตรี หรือบุรุษ ผู้ไม่มีใจริษยา ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีศักดามาก (มีเดชมีอำนาจมาก)
๕. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้ไม่บำเพ็ญทาน ไม่ให้ปันข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโภคะน้อย
ข. สตรี หรือ บุรุษ ผู้บำเพ็ญทาน ให้ปันข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีโภคะมาก
๖. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้เป็นคนแข็งกระด้าง เย่อหยิ่ง ชอบดูถูกคน ไม่เคารพนับถือ กราบไหว้ แสดงความเอื้อเฟื้อ แก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีตระกูลต่ำ
ข. สตรี หรือ บุรุษ ผู้ไม่เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง แสดงความเคารพนับถือ กราบไหว้ เอื้อเฟื้อ แก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีตระกูลสูง
๗. ก. สตรี หรือ บุรุษ ผู้ไม่เข้าหาไม่สอบถามสมณะหรือพราหมณ์ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีโทษ ไม่มีโทษ อะไรควรปฏิบัติ ไม่ควรปฏิบัติ อะไรเมื่อทำ จะเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ อะไรเมื่อทำ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขชั่วกาลนาน ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนทรามปัญญา
ข. สตรี หรือ บุรุษ ผู้รู้จักเข้าหาสอบถามสมณะหรือพราหมณ์ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้น หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง ก็จะเป็นคนมีปัญญามาก
จะเห็นได้ว่า ในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่จะประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกระทำที่มีลักษณะเป็นความประพฤติปฏิบัติอย่างประจำ เป็นส่วนแห่งการดำเนินชีวิต ชนิดที่จะสร้างสมคุณภาพของจิตใจ ปรุงแต่งลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพได้ และเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง
ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่า ทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว เช่น ให้ทานครั้งหนึ่งก็มีผลมากมาย ไม่มีขอบเขต จะหวังเป็นอะไร ปรารถนาได้อะไร ก็ได้ก็เป็นอย่างนั้นหมด ซึ่งถ้าเน้นกันนัก ก็จะทำให้คนมุ่ง แต่จะทำบุญกรรม แบบฝากเงินในธนาคารเฉยไว้ไปรอรับผลดอกเบี้ย หรือแบบคนเล่นลอตเตอรี่ที่ลงทุนทีหนึ่งหวังผลกำไรมหาศาล แล้วเลยไม่ใส่ใจกรรมดีชนิดที่เป็นความประพฤติปฏิบัติทั่วไป และการดำเนินชีวิตดีงามประจำวันอย่างที่ตรัสไว้ในสูตรนี้ *
รวมความว่า สาระของจูฬกรรมวิภังคสูตรนี้ ก็ยังคงยืนหลักการสำคัญที่ว่า การนึกถึงผลกรรมที่จะได้ประสบในชีวิตภพหน้า พึงเป็นไปในลักษณะของความมั่นใจที่อาศัยกรรม คือ คุณภาพจิตใจ และคุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง และการได้รับผลห่างไกลเบื้องหน้านั้น มีลักษณะที่สืบทอดต่อเนื่องออกไปอย่างมีความสัมพันธ์กันได้ตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัย
หลักสำหรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ อาจพูดอย่างสั้นๆได้แนวหนึ่งว่า ความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกรรมในชาติหน้า จะต้องเป็นความเชื่อที่มีลักษณะช่วยเสริมธรรมฉันทะให้เข้มแข็งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
หากความเชื่อเกี่ยวกับผลกรรมในชาติหน้าอย่างใด ไม่ช่วยเสริมธรรมฉันทะ แต่กลับเป็นไปในทางส่งเสริม โลภะ หรือ ตัณหาถ่ายเดียว ก็พึงเข้าใจว่า ความเชื่ออย่างนั้น เป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อน และควรได้รับการแก้ไข
* เนื้อหาของสูตรนี้ เป็นการตอบปัญหาของสุภมาณพ ซึ่งเป็นคนวรรณะพราหมณ์ การที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่สุภมาณพอย่างนี้ มองในแง่สัมพันธ์กับศาสนาพราหมณ์ มีข้อสังเกตอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก เป็นการแย้งต่อคำสอนของพราหมณ์ที่ว่า พรหมเป็นผู้สร้าง ผู้บันดาลชี่วิตมนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่าง โดยให้มองอย่างไหม่ว่า การกระทำของคนนั่นเอง เป็นเครื่องสร้างสรรค์ปรุงแต่งชีวิตของมนุษย์ ประการที่สอง ตามพิธีกรรมของพราหมณ์ เช่น การบูชายัญ ผู้ประกอบพิธีและถวายทักษิณาแก่พราหมณ์ จะได้รับผลานิสงส์มากมายมหาศาลชนิดที่จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์โดยทางเหตุ ปัจจัยกับสิ่งที่กระทำนั้นเลย การตรัสผลของกรรม ตามแนวแห่งสูตรนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจอย่างใหม่ในแง่นั้นด้วย
Create Date : 05 พฤศจิกายน 2567 |
|
0 comments |
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2567 10:59:29 น. |
Counter : 123 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|