|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
|
๒. ท่าทีของพุทธศาสนา ต่อเรื่องนรก-สวรรค์
ทีนี้ พูดถึงการวางท่าที ซึ่งเป็นหัวข้อที่สอง การวางท่าทีเป็นหัวข้อที่บอกแล้วว่าสำคัญ การวางท่าทีสำคัญกว่าความมีจริงหรือไม่ ? ตอบได้ว่าสำคัญกว่าแง่ที่พูดถึงนรก-สวรรค์หลังตาย แต่มันจะไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนรก-สวรรค์ระดับที่สาม เพราะการวางท่าทีว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร จะสอดคล้องกับสิ่งที่ปฏิบัติได้ ซึ่งอยู่ในระดับที่สามหรือรองลงไป ก็ระดับที่สอง ๑) มีศรัทธา ขอย้อนหลังหน่อย เมื่อพูดถึงท่าที ก็ต้องย้อนมาตั้งแต่ระดับที่หนึ่ง คือนรก-สวรรค์หลังจากตายแล้ว ที่เป็นแหล่งเป็นโลกเป็นภพ ซึ่งเราจะไปรับผลกรรม หรือพูดตามแบบศาสนาที่มีเทพเจ้าสูงสุดว่า จะไปรับโทษ รับรางวัล นรก-สวรรค์ระดับนี้ ได้บอกแล้วว่า เป็นเรื่องที่เราคนสามัญไม่อาจพิสูจน์ได้ ไม่ว่าในทางลบหรือทางบวก เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องขึ้นกับศรัทธา ว่าอันนี้ถ้าทางศาสนาสอนไว้ จะเชื่อไหม ? อยู่ที่นี่เท่านั้นเอง ส่วนในทางพุทธศาสนานั้น ก็บอกว่าให้เชื่ออย่างมีเหตุผลสำหรับสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ในเมื่อจะต้องเอาทางศรัทธา ก็ต้องให้ได้หลักก่อน ศรัทธา คือการไว้วางใจในปัญญาของผู้อื่น หรือพูดในแง่หนึ่งคือ เราฝากปัญญาไว้กับคนอื่น หมายความว่า เราไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเอง จึงไปยอมรับความรู้ของคนอื่น ไว้วางใจในความรู้ของเขา เขาบอกว่าตรงนั้นมีของอย่างนั้น ๆ เราจะเชื่อไหม ถ้าเราไว้ใจในความรู้ของเขา เราก็เชื่อ เราก็ฝากปัญญาไว้กับเขา แต่ถ้าเมื่อใดเรารู้เห็นด้วยตนเอง เราไม่ต้องฝากปัญญาไว้กับผู้อื่น เราก็ไม่ต้องเชื่อใคร แต่เราต้องรู้เห็นจริงๆ ซึ่งเลยขั้นศรัทธา ตอนนี้ เรื่องนรก-สวรรค์เรายังไม่รู้เห็นด้วยตนเอง ก็มีปัญหาว่า เราจะยอมฝากปัญญาไว้กับผู้อื่นไหม ? ทีนี้คนที่เราจะฝากปัญญาไว้ เราก็ต้องคิดว่าน่าเชื่อหรือไม่ ถ้าจะเชื่อ เราก็ต้องดูภาวะแวดล้อม โดยมากคนเราจะอาศัยสิ่งต่อไปนี้เป็นเครื่องช่วยชักจูง ให้มอบความไว้วางใจในปัญญาของผู้อื่น คือ ๑. ด้านที่หนึ่ง ดูที่ปัญญา คือมองดูว่า ตามปกติคนผู้นี้ เป็นคนมีความรู้ มีปัญญาจริงไหม ? คำสั่งสอนของศาสนานี้ เช่นอย่างพุทธศาสนา ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนหลักธรรมโดยทั่วไปนี้ มีเหตุผลไหม ? เป็นความจริงไหม ? ถ้าเห็นว่าคำสอนของท่านเท่าที่เรารู้และเข้าใจได้ คือเท่าที่ปัญญาของเราจะหยั่งถึงได้ และเท่าที่เราผ่านมา ล้วนเป็นความจริงทั้งนั้น ก็ทำให้พลอยเชื่อสิ่งที่เรายังไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเอง เราคิดว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสมานั้น เท่าที่เรามองเห็นได้ก็เป็นความจริง เราจึงเห็นว่าพระองค์มีปัญญาพอที่เราจะฝากปัญญาของเราไว้กับท่านได้ เราจึงเกิดศรัทธาขึ้น เป็นขั้นที่หนึ่ง ๒. ด้านที่สอง ดูที่เจตนา ซึ่งเป็นความปรารถนาดี อันนี้เป็นเหตุแห่งความไว้วางใจอีกด้านหนึ่ง ถ้าคนเขามีปัญญา แต่เขาไม่หวังดี เขาอาจจะหลอกเรา แต่ถ้าเขาต้องการช่วยเหลือเรา เขามีแต่เมตตา ปรารถนาดีต่อเราอย่างจริงใจ เราก็ศรัทธาได้เพราะน่าไว้ใจ เพราะฉะนั้น เรื่องของศรัทธา หลักใหญ่ก็อยู่ที่ว่า บุคคลผู้นั้น ๑. มีความรู้จริง มีปัญญาจริง สมควรเชื่อไหม ? ๒. มีเจตนาของผู้ปรารถนาดี มีเมตตากรุณา จริงใจไหม ? การที่จะมีเมตตากรุณาและจริงใจหรือไม่ ก็อยู่ที่เหตุปัจจัยประกอบ เช่นว่า ท่านมีเบื้องหลังที่จะหวังได้อะไรจากเราไหม ? ถ้าจะหลอกเรา จะหลอกเราไปทำไม หรือตามปกติท่านเป็นผู้มีความประพฤติบริสุทธิ์ไหม ? ที่จะทำให้เราเห็นว่าเป็นผู้มีความหวังดีปรารถนาดีต่อเราอย่างแท้จริง เหมือนอย่างพ่อแม่ เมื่อเราเป็นเด็ก ๆ ยังมีความรู้ไม่พอ ยังเล็กอยู่ เราก็ต้องทำอะไรๆ โดยอาศัยความเชื่อเท่านั้น โดยเฉพาะพ่อแม่เป็นผู้หวังดี เราเกิดความไว้วางใจ เราก็เชื่อ โดยเป็นไปเอง เราอยู่ในโลก เราอยู่ด้วยความเชื่อมากมาย เรานั่งรถยนต์โดยสารมา เราไม่เคยพิสูจน์เครื่องยนต์ว่ามันเรียบร้อยหรือไม่ เราเคยไปพิสูจน์ทุกอย่างไหม มันวิ่งๆ ไป เครื่องอุปกรณ์หรือส่วนประกอบอาจหลุดได้ เวลานี้ เรานั่งกันอยู่บนกุฏิ เอ เสากุฏินี่เขาหล่อไว้ดีหรือเปล่า เรายังไม่ได้ตรวจเลย คานไม้ที่ทำไว้อยู่ในที่ถูกต้องมั่นคงหรือเปล่า เกิดนั่งๆ อยู่มันหล่นลงมาก็หมดน่ะสิ อะไรอย่างนี้ มนุษย์เราอยู่ด้วยความไว้วางใจ ต้องอาศัยศรัทธา โดยบางทีไม่รู้ตัวเลย มันเป็นไปเองในชีวิตประจำวันทั้งที่ความจริงเราไม่ได้พิสูจน์ เราไม่ได้รู้เห็นอะไรทุกอย่าง เราเห็นว่าเขาไม่ได้มาหลอกลวงอะไรเรา เพียงแค่นี้ เราก็เชื่อในขั้นพื้นฐานไปเสียแล้ว สำหรับในทางพุทธศาสนา ก็เป็นอันมาพิจารณากันว่า ๑. พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีปัญญามาก เท่าที่แสดงออกเป็นคำสั่งสอนต่าง ๆ นั้นเป็นจริง มีเหตุผลน่าเชื่อไหม ? ๒. พระองค์มีความปรารถนาดี มีเมตตากรุณา สอนเราโดยบริสุทธิ์พระทัย ต้องการให้เราได้รับประโยชน์ใช่ไหม ? ถ้าหากเรามั่นใจในพระองค์โดยเหตุผลทั้งสองประการ เราก็โน้มไปข้างมีศรัทธา หรือมีศรัทธาได้ พระองค์สอนเรื่องนรก-สวรรค์ว่าชาติหน้ามีจริง หรือเปล่า ถ้าเรามีศรัทธา เราก็น้อมไปทางที่จะเชื่อตามที่มีหลักฐานว่าพระองค์ได้ตรัสไว้ เรื่องก็เป็นอย่างนั้น เป็นอันว่า นรก-สวรรค์ขั้นนี้ อยู่ที่ศรัทธา แต่ทั้งนี้ พึงทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า ในที่นี้ มุ่งเอาศรัทธาในความหมายแบบพุทธ คือ ศรัทธาหมายถึง เมื่อมีมูลฐานดังที่ว่านั้นแล้ว ก็รับไว้ศึกษา เพื่อให้รู้จริงด้วยปัญญาต่อไป (ศรัทธาเพื่อปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาปิดปัญญา)
Create Date : 03 พฤศจิกายน 2567 |
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2567 10:54:56 น. |
|
0 comments
|
Counter : 161 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|