|
|
|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
|
|
|
๓) นรก - สวรรค์ แต่ละขณะจิต |
|
๓) นรก - สวรรค์ แต่ละขณะจิต
ทีนี้ ไปสู่ระดับที่สาม จะพูดในแง่หลักวิชาการก่อน เรื่องวิจารณ์ไว้ทีหลัง คือการที่เราปรุงแต่งสร้างนรก-สวรรค์ของเราเองตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ท่านกล่าวว่า คนที่ยังไม่รู้อริยสัจ ๔ ยังไม่แทงตลอดสัจธรรม ไม่เข้าใจในหลักการแห่งสัจจะของอริยชน ก็ยังปรุงแต่งสร้างสวรรค์-นรกกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยอายตนะของเรานั่นแหละ คือ ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรา ข้อนี้ ก็คล้ายๆ กับข้อที่ ๒ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนขึ้นไปเท่านั้นเอง คือเป็นเรื่องสัมพันธ์กับสภาพ และระดับจิตใจ เมื่อยังเป็นปุถุชน จิตของเราก็ปรุงแต่งอยู่เสมอ เมื่อมีความรู้สึกด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ปรุงแต่งอยู่เรื่อยไป คือปรุงแต่งด้วยกิเลส มีความดี-ความชั่ว มีกุศล-อกุศลในใจของเราเอง การปรุงแต่งอย่างนี้ เป็นเรื่องของปฏิกิริยาต่อสิ่งที่รับเข้ามาเช่น เมื่อเราได้เห็นสิ่งที่สวยงาม เราชอบใจ เราก็มีความสุข ได้เห็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เราขัดใจ ก็เกิดทุกข์ หรือว่า เราได้รับประทานอาหาร ได้กินขนม ลิ้นได้รับรสที่อร่อย เราก็มีความสุข ถ้าหากเราได้รับรสที่ขม ไม่อร่อย เราก็มีความทุกข์ อันนี่เป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้ บางทีเราปรุงแต่งจากข้างในออกไป คือไม่ใช่สิ่งภายนอกฝ่ายเดียวที่ปรุงแต่ง แต่เราปรุงแต่งขึ้นเอง เช่น ใจคอเราไม่ดีเราเกิดความโกรธ เกิดอารมณ์ค้าง เลยเห็นอะไรขัดใจไปหมด ทั้งที่คนหรือของนั้นไม่ได้ทำอะไรเรา ไม่ได้มาเบียดเบียนไม่ได้มุ่งมาที่เราเลยด้วยซ้ำ คนโน้นเดินมาดีๆ ไม่ได้ทำกิริยากระทบกระทั่งเรา แต่เรามองเห็นเป็นว่าเขาล้อเรา หรือสำคัญว่าเขามีใจคิดไม่ดีต่อเราต่างๆ นานา เพราะใจของเราเองปรุงแต่งอาศัยพื้นจิตของเราไม่ดีอยู่แล้ว มีอกุศลขึ้นมาในใจ ใจเราไม่ดี มองอะไรกระทบตัว ขัดใจไปหมด ขุ่นมัว มีทุกข์เรื่อยๆ ตลอดวัน แต่ถ้าเราใจดี บางทีไปประสบอะไรที่ดีใจขึ้นมา วันนั้นเลยยิ้มได้ทั้งวัน เห็นอะไรดีไปหมด อย่างนี้เรียกว่าการปรุงแต่งสวรรค์-นรกของเรา เพราะว่านรก-สวรรค์อย่างนี้เป็นเรื่องทันตาทันใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องรอชาติหน้า อยู่ที่การสร้างจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรามีภูมิธรรมดี สร้างกุศลไว้มาก ทำจิตใจให้อิ่มเอิบเป็นสุข รู้จักมองในแง่ดี ก็รับอารมณ์ที่เป็นสุขไว้ได้มาก แต่ถ้าเราสร้างพื้นภูมิจิตสะสมไว้ในทางที่ทำให้จิตมีกิเลสมาก มีกิเลสต่างๆ ที่ทำให้จิตเศร้าหมองบ่อยๆ เราก็จะสร้างนรกของเราเรื่อยไป ไม่ว่าจะไปเห็นอะไร ก็รู้สึกไม่ดี ไปไหนใจก็ไม่สบายมีแต่ความทุกข์มากมาย ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ยังไม่ต้องคิดเลยไปถึงนรก-สวรรค์ชาติหน้า เพราะปัจจุบันที่เป็นอยู่ กลายเป็นเรื่องที่เราควรจะเอาใจใส่มากกว่า และเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราได้รับผลอยู่ตลอดเวลา นรก-สวรรค์ข้างหน้ายังไกล แม้ข้างหน้าที่ยังไกลนั้น มองง่ายๆ ว่า เมื่อในปัจจุบันเรามีแต่ความเร่าร้อนขุ่นมัวเป็นทุกข์อยู่เสมอ ก็น่ากลัวว่าเราจะไปไม่ดี ฉะนั้น ท่านจึงให้เอาใจใส่นรก-สวรรค์ที่มีอยู่ตลอดเวลา ที่เราปรุงแต่งอยู่เรื่อยๆ และสอนให้เรายกระดับจิตขึ้นไป คือขั้นต้น ถ้าเราสะสมพื้นจิตใจไว้ในทางไม่ดี มักมีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำให้รับอารมณ์โดยปรุงแต่งสร้างนรกขึ้นมาเรื่อย ถ้าเราสร้างสมพื้นจิตใจไว้ในทางดี มีเมตตา มีใจกว้างเผื่อแผ่ สร้างปัญญาไว้มาก ใจเราดี มีความโล่งโปร่งสบาย เราก็สร้างสวรรค์ได้ และมีสวรรค์อยู่เสมอ แม้ว่าสภาพแวดล้อมอาจไม่ดีเท่าที่ควร แต่เราทำจิตของเราได้ ใจเราสบาย ก็สามารถทำสภาพที่จะนำไปนรก ให้กลายเป็นสวรรค์ไปได้ ในชั้นสูงขึ้นไปอีก เรามีปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตดี ทำให้วางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ในกรณีอย่างนี้ก็ถึงขั้นพ้นเลยเรื่องนรก-สวรรค์ไปแล้ว คือมีจิตใจปลอดโปร่งแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา มีความสุขทันตาในปัจจุบัน นี่ไม่ต้องพูดถึงข้างหน้า ซึ่งเนื่องไปจากปัจจุบันนี้ก็จะต้องไปดีด้วย ปัจจุบันนี้แหละเป็นสิ่งที่แน่นอน เรารับผลอยู่ในขณะนี้แล้วและเป็นเครื่องส่อส่องถึงข้างหน้าต่อไปด้วย เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนา จึงถือเรื่องปัจจุบันนี้เป็นสำคัญ เพราะ ๑. เราได้รับผลทันที เรารับผลเห็นอยู่ชัดๆ แน่นอน ๒. ข้างหน้าก็เป็นผลสืบไปจากปัจจุบันนี้เอง เอาปัจจุบันนี้ไปทำนายข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันจึงสำคัญกว่าทั้งสองประการ ถึงมองข้างหน้า ก็ต้องมองที่ปัจจุบันออกไปเป็นสำคัญ เรื่องนรก-สวรรค์ในแง่ของการปรุงแต่งในชีวิตประจำวันและตลอดเวลา หรือนรก-สวรรค์ที่เราปรุงแต่งขึ้นมาเรื่อย ๆ นี้ ก็มีมาในพระไตรปิฎก นี่ก็คือนรกที่เกิดพร้อมกับการ ได้เห็น ได้ยิน ได้รับรู้ทางอายตนะต่างๆ กล่าวคือการที่อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับรู้ แต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ เรียกว่า “ฉผัสสายตนิกนรก” ถ้าในทางตรงข้าม ก็เป็น “ฉผัสสายตนิกสวรรค์” แล้วแต่ว่าเป็นฝ่ายนรก หรือสวรรค์ อันนี้มาในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๘ ข้อ ๒๑๔ หน้า ๑๕๘ อีกแห่งหนึ่งคล้ายๆ กัน เฉพาะเรื่องนรกคือ “มหาปริฬาหนรก” มาในเล่ม ๑๙ ข้อ ๑๗๓๑ หน้า ๕๖๒ ท่านว่า นรกที่ว่านั้น ไม่หนักหนาเท่านรกที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ที่คนผู้มีอวิชชาไม่รู้อริยสัจแล้วปรุงแต่งทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง นี่คือนรก-สวรรค์ระดับที่ ๓ ซึ่งพุทธศาสนาเน้นมาก คำว่า “ฉผัสสายตนะ” แปลว่า อายตนะที่รับรู้ทั้ง ๖ หมายความว่า นรกหรือสวรรค์เกิดที่อายตนะรับรู้ทั้ง ๖ นั่นเอง สาระของนรก-สวรรค์คืออะไร มันก็เป็นเรื่องของการรับอารมณ์ที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา เท่านั้นเอง เราไปสวรรค์ ว่าตามที่พูดไว้ในวรรณคดี ก็ได้สิ่งที่รับรู้ คืออารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้เห็นสิ่งที่สวยงาม ได้ยินเสียงดนตรีทิพย์ ไพเราะเสนาะโสต ทางจมูกได้กลิ่นหอมหวล และลิ้นได้รับรสที่ดีอร่อย กายสัมผัสสิ่งนุ่มนวล ใจปลาบปลื้มเพลิดเพลิน ก็เป็นเรื่องของอายตนะทั้งนั้น คนไปนรก ก็ได้รับความทรมาน ได้เห็น ได้ยิน แต่สิ่งที่ไม่ดีจนกระทั่งร่างกายถูกบีบคั้นต่างๆ ก็เป็นเรื่องของอายตนะทั้งนั้น ที่จริงในปัจจุบัน เราก็ได้รับรู้ทางอายตนะเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ว่านรก-สวรรค์ข้างหน้า หรือนรก-สวรรค์เวลานี้ มันก็อยู่ที่อายตนะรับรู้นี่เอง ถ้าเอาสาระแล้ว มันไม่ได้ไปไหนเลย อยู่แค่นี้ ตกลงว่า ตามหลักการนี้ เราจะต้องรู้จักนรก-สวรรค์ทั้ง ๓ ระดับ และแก่นแท้ของนรก-สวรรค์ ก็อยู่ที่ระดับสามดังว่านี้
นรก-สวรรค์ ระดับที่ ๑ หลังจากตาย ไกลตัว ยังไม่ได้รับปัจจุบันเรายังไม่รู้สึก แล้วมันก็เนื่องไปจากปัจจุบันด้วย ต้องสร้างในปัจจุบัน ต่อมาใน ระดับที่ ๒ สวรรค์ในอก นรกในใจ ก็อยู่ที่ชีวิตที่สร้างภูมิระดับจิตในปัจจุบัน แต่ยังเป็นเรื่องที่มีเป็นครั้งคราวเพราะเอาเฉพาะที่เป็นเรื่องใหญ่ พอมาใน ระดับที่ ๓ ก็ละเอียดลออ เป็นไปอยู่ประจำตลอดทุกเวลาที่รับอารมณ์ ขณะนี้ ถ้าเราสร้างความรู้สึกที่ดี ก็ทำให้เกิดสวรรค์ได้เดี๋ยวนี้ สมมติว่าใจไม่สบาย เอ ฟังเรื่องนี้ไม่น่าสนใจ ชักรำคาญ เห็นอะไรไม่ดีไปหมด ชักกลุ้ม แต่ถ้าทำใจให้ดีขึ้นมาว่า เอ นี้เป็นเรื่องสำคัญ ถึงจะยากหน่อย ก็ควรพยายามเอาใจใส่ให้ดี สร้างฉันทะให้อยากรู้ ทำอารมณ์ดี ให้ใจสบายขึ้นมา หรือแค่ทำใจสู้ คิดจะฝึกตน ก็มองอะไรชักจะดีขึ้นไปหมด สวรรค์เริ่มมาแล้ว สวรรค์ที่มีในปัจจุบันนี้ แม้จะละเอียดอ่อนจนเราอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่า การสร้างนรก-สวรรค์ใหญ่ๆ ก็มาจากสร้างเล็กๆ น้อยนี้เอง คือ จากอารมณ์ที่ละเมียดละไมตลอดเวลา ซึ่งละเอียดอ่อน คนเราสร้างบุคลิกลักษณะ สะสมนิสัยใจคอจากอะไร ก็จากความคิดและพฤติกรรมทุกขณะจิต จากการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ดำเนินไปทีละเล็กละน้อย ถ้าพยายามสร้างจิตใจของเราให้ดี ทำอารมณ์ให้ดี ค่อยเป็นค่อยไป ทำใจต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง บุคลิกก็ดีขึ้น จิตใจก็สบายขึ้น อะไรๆ ก็ดีขึ้น นี่เป็นการสร้างสมระยะยาว เก็บเล็กผสมน้อย ก็เหมือนในทางวัตถุ เราต้องรู้จักเก็บออม ทางด้านจิตใจก็ต้องมีการสะสมนิสัย นี้ก็เป็นเรื่องที่ท่านให้มามองในระดับที่สามซึ่งจะไปเป็นเหตุของสวรรค์-นรกอันใหญ่ต่อไปข้างหน้า และเป็นเรื่องที่เราต้องประสบตลอดเวลา ควรให้ความสำคัญกับมัน อันนี้ อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย ถ้าเราทำได้ เราก็ได้รับผลในปัจจุบันนี้เลย เราจะไม่ต้องทรมานเพราะนรก เราจะมีจิตใจที่บริสุทธิ์สะอาดผ่องใสสบาย และพบสวรรค์อยู่เรื่อยๆ เอาละ นี้เป็นเรื่องของนรก-สวรรค์ในแง่ของความมีอยู่ ซึ่งแยกเป็น ๓ ระดับ
Create Date : 02 พฤศจิกายน 2567 |
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2567 20:45:48 น. |
|
0 comments
|
Counter : 72 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|