 |
|
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | |
|
 |
|
|
พูดถึงกันบ่อย ดูชัดๆ
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์
ทั้งที่ความเป็นอนิจจัง ทุกข์และอนัตตา นี้ เป็นลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลาย เป็นความจริงที่แสดงตัวของมันเองอยู่ตามธรรมดาตลอดทุกเวลา แต่คนทั่วไปก็มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะเป็นเหมือนมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุมไว้ ถ้าไม่มนสิการคือไม่ใส่ใจพิจารณาอย่างถูกต้อง ก็มองไม่เห็น สิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องปิดบังซ่อนคลุมเหล่านี้ คือ
๑. สันตติ บังอนิจจลักษณะ
๒. อิริยาบถ บังทุกขลักษณะ
๓. ฆนะ บังอนัตตลักษณะ
๑. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับ หรือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไป ก็ถูก สันตติ คือความสืบต่อ หรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่องปิดบังไว้ อนิจจลักษณะ จึงไม่ปรากฏ สิ่งทั้งหลายที่เรารู้เราเห็นนั้น ล้วนแต่มีความเกิดขึ้นและความแตกสลายอยู่ภายในตลอดเวลา แต่ความเกิด-ดับ นั้น เป็นไปอย่างหนุนเนื่องติดต่อกันรวดเร็วมาก คือ เกิด-ดับ-เกิด-ดับ-เกิด-ดับ ฯลฯ ความเป็นไปต่อเนื่องอย่างรวดเร็วยิ่งนั้น ทำให้เรามองเห็นเป็นว่า สิ่งนั้นคงที่ถาวร เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างตัวเราเอง หรือ คนใกล้เคียงอยู่ด้วยกัน มองเห็นกันเสมือนว่าเป็นอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานสังเกตดู หรือ ไม่เห็นกันนานๆ เมื่อพบกันอีกจึงรู้ ว่า ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากเดิม แต่ความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทีละน้อย และต่อเนื่องจนไม่เห็นช่องว่าง
ตัวอย่าง เปรียบเทียบพอให้เห็นง่ายขึ้น เช่น ใบพัดที่กำลังหมุนอยู่อย่างเร็วยิ่ง มองเห็นเป็นแผ่นกลมแผ่นเดียวนิ่ง เมื่อทำให้หมุนช้าลง ก็เห็นเป็นใบพัดกำลังเคลื่อนไหวแยกเป็นใบๆ เมื่อจับหยุดมองดู ก็เห็นชัดว่า เป็นใบพัดต่างหากกัน ๒ ใบ ๓ ใบ ๔ ใบ หรือเหมือนคนเอามือจับก้านธูปที่จุดไฟติดอยู่แล้วแกว่งหมุนอย่างรวดเร็วเป็นวงกลม มองดูเหมือนเป็นไฟรูปวงกลม แต่ความจริงเป็นเพียงธูปก้านเดียวที่ทำให้เกิดรูปต่อเนื่องติดเป็นพืดไป หรือ เหมือนหลอดไฟฟ้าที่ติดไฟอยู่สว่างจ้า มองเห็นเป็นดวงไฟที่สว่างคงที่ แต่ความจริงเป็นกระแสไฟฟ้า ที่เกิด-ดับไหลเนื่องผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือเหมือนมวลน้ำในแม่น้ำ ที่มองเห็นดูเป็นผืนหนึ่งผืนเดียว แต่ความจริงเป็นกระแสน้ำที่ไหลผ่านไปๆ เกิดจากน้ำหยดน้อยๆมากมายมารวมกัน และไหลเนื่อง สิ่งทั้งหลาย เช่น ดังตัวอย่างเหล่านี้ เมื่อใช้เครื่องมือ หรือ วิธีการที่ถูกต้องมากำหนดแยกมนสิการเห็นความเกิดขึ้น และความดับไป จึงจะประจักษ์ความไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ เป็นอนิจจัง
๒. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา ก็ถูก อิริยาบถ คือความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังไว้ ทุกขลักษณะ จึงไม่ปรากฏ, ภาวะที่ทนอยู่มิได้ หรือภาวะที่คงสภาพเดิมอยู่มิได้ หรือภาวะที่ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้ ด้วยมีแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเร้าอยู่ภายในส่วนประกอบต่างๆ นั้น จะถึงระดับที่ปรากฏแก่สายตา หรือความรู้สึกของคน มักจะต้องกินเวลาระยะหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้น ถ้ามีการคืบเคลื่อนยักย้าย หรือทำให้แปรรูปเป็นอย่างอื่นไปเสียก่อน ก็ดี สิ่งที่ถูกสังเกตเคลื่อนย้ายพ้นจากผู้สังเกตไปเสียก่อน หรือผู้สังเกตแยกพรากจากสิ่งที่ถูกสังเกตไปเสียก่อน ก็ดี ภาวะที่บีบคั้น กดดัน ขัดแย้งนั้น ไม่ทันปรากฏให้เห็น ปรากฏการณ์ส่วนใหญ่มักเป็นเช่นนี้ ทุกขลักษณะ จึงไม่ปรากฏ
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในร่างกายของมนุษย์นี้แหละ ไม่ต้องรอให้ถึงขั้นชีวิตแตกดับดอก แม้ในชีวิตประจำวันนี้เอง ความบีบคั้น กดดัน ขัดแย้งก็มีอยู่ตลอดเวลา ทั่วองคาพยพ จนทำให้มนุษย์ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยในท่าเดียวได้ ถ้าเราอยู่หรือต้องอยู่ในท่าเดียวนานมากๆ เช่น ยืนอย่างเดียว นั่งอย่างเดียว เดินอย่างเดียว นอนอย่างเดียว ความบีบคั้นกดดันตามสภาวะจะค่อยๆเพิ่มมากขึ้นๆจนถึงระดับที่เกิดเป็นความรู้สึกบีบคั้น กดดันที่คนทั่วไปเรียกว่าทุกข์ เช่น เจ็บ ปวดเมื่อยจนในที่สุดก็จะทนไม่ไหว และต้องยักย้ายเปลี่ยน ไปสู่ท่าอื่น ที่เรียกว่าอิริยาบถอื่น เมื่อความบีบคั้น กดดัน อันเป็นทุกข์ตามสภาวะนั้นสิ้นสุดลง ความบีบคั้น กดดัน ที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ก็หายไปด้วย (ในตอนที่ความรู้สึกทุกข์หายไปนี้ มักจะมีความรู้สึกสบาย ที่เรียกว่าความสุขเกิดขึ้นมาแทนด้วย แต่อันนี้เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ว่าโดยสภาวะแล้ว มีแต่ความทุกข์หมดไปอย่างเดียว เข้าสู่ภาวะปราศจากทุกข์)
ในความเป็นอยู่ประจำวันนั้น เมื่อเราอยู่ในท่าหนึ่ง หรือ อิริยาบถหนึ่งนานๆ พอจะรู้สึกปวดเมื่อยเป็นทุกข์ เราก็ชิงเคลื่อนไหว เปลี่ยนไปสู่ท่าอื่น หรืออิริยาบถอื่นเสีย หรือ เรามักจะเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่า เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ จึงหนีรอด จากความรู้สึกทุกข์ไปได้ เมื่อไม่รู้สึกทุกข์ ก็เลยพลอยมองข้าม ไม่เห็นความทุกข์ที่เป็นความจริงตามสภาวะไปเสียด้วย ท่านจึงว่า อิริยาบถบังทุกขลักขณะ
๓. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความแยกย่อยออกเป็นธาตุต่างๆ ก็ถูกฆนะ คือความเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันเป็นมวล หรือเป็นหน่วยรวม ปิดบังไว้ อนัตตลักษณะ จึงไม่ปรากฏ
สิ่งทั้งหลาย ที่เรียกว่า อย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนเกิดจากเอาส่วนประกอบทั้งหลาย มารวบรวมปรุงแต่งขึ้น เมื่อแยกย่อยส่วนประกอบเหล่านั้นออกไปแล้ว สิ่งที่เป็นหน่วยรวม ซึ่งเรียกว่าอย่างนั้นๆ ก็ไม่มี โดยทั่วไป มนุษย์มองไม่เห็นความจริงข้อนี้ เพราะถูกฆนสัญญา คือ ความจำหมาย หรือ ความสำคัญหมายเป็นหน่วยรวม คอยปิดบังไว้ เข้ากับคำกล่าวอย่างชาวบ้านว่า เห็นเสื้อ แต่ไม่เห็นผ้า เห็นแต่ตุ๊กตา มองไม่เห็นเนื้อยาง คือ คนที่ไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณา บางทีก็ถูกภาพตัวตนปิดบังตาหลอกไว้ ไม่ได้มองเห็นเนื้อผ้าที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นรูปเสื้อนั้น ซึ่งว่าที่จริง ผ้านั้นเองก็ไม่มี มีแต่เส้นด้ายมากมายที่มาเรียงกันเข้าตามระเบียบ ถ้าแยกด้ายทั้งหมดออกจากกัน ผ้านั้นเองก็ไม่มี หรือเด็กที่มองเห็นแต่รูปตุ๊กตา เพราะถูกภาพตัวตนของตุ๊กตาปิดบังหลอกตาไว้ ไม่ได้มองถึงเนื้อยาง ซึ่งเป็นสาระที่แท้จริงของตัวตุ๊กตานั้น เมื่อจับเอาแต่ตัวจริง ก็มีแต่เนื้อยาง หามีตุ๊กตาไม่ แม้เนื้อยางนั้นเอง ก็เกิดจากส่วนผสมต่างๆ มาปรุงแต่งขึ้นต่อๆกันมา
ฆนสัญญา ย่อมบังอนัตตลักษณะไว้ในทำนองแห่งตัวอย่างง่ายๆ ที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ เมื่อใช้อุปกรณ์ หรือวิธีการที่ถูกต้องมา วิเคราะห์มนสิการ เห็นความแยกย่อยออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ จึงจะประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน มองเห็นว่าเป็นอนัตตา

มนสิการ การทำในใจ, ใส่ใจ, พิจารณา

ลักษณะทั้งสาม คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นภาวะที่สัมพันธ์เนื่องอยู่ด้วยกัน เป็นอาการสามด้านหรือสามอย่าง ของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ดังพุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยๆ ว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา (ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ, ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา)” และมักมีข้อความที่ตรัสต่อไปอีกด้วยว่า “สิ่งใดเป็นอนัตตา, สิ่งนั้นพึงเห็นด้วย สัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่เป็นตัวตนของเรา” หรือที่ตรัสในรูปคำถามคำตอบในที่หลายแห่งว่า “รูป ฯลฯ เที่ยง หรือไม่เที่ยง ?” เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ก็ตรัสต่อไปว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ?” เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ก็ตรัสต่อไปว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปได้เป็นธรรมดา, ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นตัวตนของเรา ?"
ความเนื่องอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์สืบต่อกัน ความเป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ของลักษณะทั้งสามนี้ อาจกล่าวให้สั้นที่สุดได้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ประมวลกันเข้า องค์ประกอบเหล่านั้นสัมพันธ์กันโดยอาการที่ต่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับสลาย เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดกัน ผันแปรเรื่อยไป รวมเรียกว่าเป็นกระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในสภาพนี้
๑. ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายเกิดสลายๆ องค์ประกอบทุกอย่าง หรือกระบวนธรรมทั้งหมด ไม่คงที่ = อนิจจตา
๒. ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายหรือกระบวนธรรมทั้งหมดถูกบีบคั้นด้วยการเกิดสลายๆ ต้องผันแปรไป ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ ไม่คงตัว = ทุกขตา
๓. ภาวะที่เกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ไม่มีตัวแกนถาวรที่จะบงการ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นตัว =อนัตตตา
ถ้ามองดูลักษณะทั้งสามอย่างนี้พร้อมไปด้วยกัน ก็จะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สมมติเรียกเป็นตัวตนอันหนึ่งๆ นั้น เป็นที่รวมขององค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่มาแออัดยัดเยียดกันอยู่ และองค์ประกอบเหล่านั้นทุกอย่าง ล้วนกำลังเกิดดับ แตกสลาย ไม่คงที่ และต่างก็จะแยกพรากกระจัดกระจายกันออกไป เต็มไปด้วยความบีบคั้นกดดันขัดแย้งกัน อันทำให้ผันแปรสภาพไป ไม่คงตัว ต้องอาศัยความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย เป็นเครื่องควบคุมความเป็นไปให้คงรูปเป็นกระแส เป็นกระบวนธรรมอันหนึ่งอยู่ ไม่เป็นตัวใดๆ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร
Create Date : 23 มิถุนายน 2568 |
|
0 comments |
Last Update : 24 มิถุนายน 2568 7:44:03 น. |
Counter : 124 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|