ครั้งหนึ่ง สังคารวพราหมณ์ กราบทูลถามพระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสตอบ ดังนี้
พราหมณ์: ท่านพระโคตมะผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาแล้วตลอดเวลายาวนาน ก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย และอะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้ ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย
พระพุทธเจ้า: ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใด บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งทางออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ในเวลานั้น เขาย่อมไม่รู้ชัด มองไม่เห็นตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาตลอดเวลายาวนาน ก็ย่อมไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย
(บุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ก็เช่นเดียวกัน และทรงเปรียบจิตที่ถูกนิวรณ์ข้อต่างๆ ครอบงำ ดังต่อไปนี้)
๑. (จิตที่ถูกกามราคะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งเอาสีครั่งบ้าง สีขมิ้นบ้าง สีเขียวบ้าง สีแดงอ่อนบ้าง ผสมปนกันบ้าง คนตาดีมองดูเงาหน้าของคนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
๒. (จิตที่ถูกพยาบาทครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ที่เอาไฟเผาลน เดือดพล่าน มีไอพลุ่ง คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
๓. (จิตที่ถูกถีนมิทธะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่ น้ำ ที่ถูกสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำน้ำ ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
๔. (จิตที่ถูกอุทธัจจะกุกกุจจะครอบงำ) เปรียบเหมือน ภาชนะใส่น้ำ ที่ถูกลมพัด ไหวกระเพื่อม เป็นคลื่น คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
๕. (จิตที่ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ที่ขุ่น มัว เป็นตม ซึ่งวางไว้ในที่มืด คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
ส่วนบุคคลที่ใจไม่มีนิวรณ์ ๕ ครอบงำ และรู้ทางออกของนิวรณ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่มิได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย และมีอุปมาต่างๆ ตรงข้ามกับที่ได้กล่าวมาแล้ว*
*สํ.ม.19/602-624/167-174 ฯลฯ (ไม่แจ่มแจ้ง หมายถึงนึกไม่ออก หรือคิดไม่ออก อีกแห่งหนึ่ง ตรัสถึงจิตที่ไม่ขุ่นมัว เหมือนห้วงน้ำใส มองเห็นก้อนหิน ก้นกรวด หอย และปลาทีแหวกว่ายในน้ำ ส่วนจิตที่ขุ่นมัว ก็เหมือนห้วงน้ำขุ่นที่ตรงกันข้าม (องฺ.เอก. ๒๐/๔๖-๔๗/๑๐)
Create Date : 04 กรกฎาคม 2565 |
|
0 comments |
Last Update : 4 กรกฎาคม 2565 19:33:05 น. |
Counter : 30 Pageviews. |
|
 |
|