กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มิถุนายน 2565
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
2 มิถุนายน 2565
space
space
space

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง จบ


   พระพุทธเจ้าท่านทำอย่างไร ? พระเจ้าสุทโธทนะป่วยนะ พระองค์ไปเลย ไปพยาบาล ไปป้อนยาให้ นวดให้ นั่งดู เฝ้าดูแลปรนนิบัติเลยทีเดียว แล้วยังสอนภิกษุทั้งหลายว่า ผู้ใดอยากจะบรรลุมรรคผล เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่ แต่พระองค์ไม่มีแม่แล้ว ตายเสียก่อน มีแต่พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ต้องปฏิบัติต่อพ่อ   เวลาพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นพระชนม์  พระองค์ต้องสรงน้ำพระศพด้วยพระองค์เองก่อนใครๆ สรงน้ำเอง จัดศพเรียบร้อยแล้วไปจุดไฟเอง ตามธรรมเนียมของฮินดูเขา ฮินดูนี่ลูกชายต้องจุดไฟ พระองค์ก็เป็นลูกชายพระเจ้าสุทโธทนะ แม้ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องทำตามเยี่ยงอย่าง ตามประเพณี จุดไฟก่อนใครๆ อันนี้แสดงว่าพระองค์ก็ประพฤติธรรมข้อนี้ คือ ความกตัญญูกตเวที ไม่ได้ละเลยเพิกเฉย

   แล้วก็ พระสาวกที่กตัญญู  ก็มีหลายองค์  แต่ว่าที่เด่นก็คือ  พระสารีบุตร พระสารีบุตรนี่ ยึดมั่นในความกตัญญู   ท่านได้เรียนธรรมะครั้งแรกจากท่านพระอัสสชิ   เพราะฉะนั้น เวลาท่านจะนอนนี่ ต้องหันศีรษะไปทางทิศที่พระอัสสชินอนเสมอ บางทีพระอัสสชิอยู่ทางโน้น ท่านหันหน้าไปทางที่ท่านอยู่ อยู่โน้น หันหัวไปโน้น

พระก็ซุบซิบกัน เอ๊ะ ท่านเสนาบดีสารีบุตรนี่ถ้าจะถือทิศ เห็นเที่ยวนอนหันหัวไปทางทิศโน้น เดี๋ยวหันไปทางทิศนี้ ซุบซิบนินทา

ความดังไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็เรียกประชุมพระทั้งหลาย แล้วก็ถามเรื่องนี้ขึ้นว่า สารีบุตร ได้ข่าวว่าเธอนอนหันหัวไปทางทิศโน้นบ้าง ทางทิศนี้บ้าง ไหว้ทิศบูชาทิศตามอย่างไสยศาสตร์หรือ

พระสารีบุตร กราบทูลว่า หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์นึกถึงพระอัสสชิ ซึ่งเป็นอาจารย์ เพราะได้รู้ธรรมะได้เข้ามาในพระศาสนา  ก็เพราะท่านพระอัสสชิ  ข้าพระองค์เคารพบูชาครูอาจารย์

พระองค์ก็เลยตรัสบอกว่า “ยมฺหา ธมฺมํ วิชาเนยฺย สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ สกฺกจฺจํ ตํ นมสฺเสยฺย อคฺคิหุตฺตํว พฺราหฺมโณ” ว่าเป็นคาถาบอกว่า   “เราได้รู้แจ้งธรรมะจากท่านผู้ใด พึงเคารพท่านผู้นั้น เหมือนพราหมณ์บูชาไฟ”

พราหมณ์น่ะเขาเคารพไฟ บูชาไฟ จุดไฟขึ้นแล้วเอาน้ำมันมาราด โอมอัคคี โอมอัคคี ว่าเรื่อยไป บูชาไป   พระองค์บอกว่าผู้มีความกตัญญูนั้น  พึงนึกถึงครูบาอาจารย์แล้วก็ทำการบูชา เหมือนกับพราหมณ์บูชาไฟ ถ้าอย่างนี้ พระสารีบุตรท่านเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้

แล้วก็มีเรื่องหนึ่ง ที่เคยเล่าให้ฟังวันก่อนว่า ราธพราหมณ์ จะบวช ไม่มีใครบวชให้ พระพุทธเจ้าเสด็จมาประชุม ถามว่าใครนึกถึงอุปการะคุณของ ราธพราหมณ์ได้บ้าง ?  พระสารีบุตรลุกขึ้นตอบทันที ข้าพระองค์นึกได้ พราหมณ์นี้เคยให้ข้าวแก่ข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง แล้วก็เลยบวชให้แก่ราธพราหมณ์

   คนเรานะ   ใครทำอะไรให้แก่เราแม้เล็กน้อย   ต้องจำไว้ เราทำอะไรให้ใครใหญ่โตเท่าภูเขา อย่าไปจำให้เสียเวลา ไม่ต้องจำก็ได้ เพราะไม่จำเป็นอะไร เพราะไม่จำเป็นอะไร แต่ถ้าคนอื่นทำอะไรให้แก่เรา ต้องจำไว้ จำไว้เพื่ออะไร? เพื่อจ่ายคืนให้เขา เพื่อตอบแทนเขา คนดีนั้น ต้องตอบแทนบุญคุณที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตน จึงจะชอบ

   ทีนี้ พระสารีบุตรมีอยู่อีกตอน คือ มารดาของท่านยังไม่ได้เป็นพุทธบริษัท ยังอยู่ในอัญญเดียรถีย์ คือ ลัทธิอื่นว่าอย่างนั้น ท่านจะปรินิพพานแล้ว ท่านรู้ว่าท่านจะนิพพาน ก็ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค  ทูลลานิพพาน
พระองค์ถามว่า   เธอจะไปนิพพานที่ไหน ?
บอกว่า   จะไปนิพพานในห้องที่ข้าพระองค์เกิด
ทำไมจึงไปนิพพานที่นั่น ?
ต้องการจะไปโปรดโยมแม่ให้บรรลุมรรคผลเสียก่อน   จึงจะนิพพาน  ก็เลยกลับไปบ้าน ไปนอนในห้องที่ท่านเกิดนั่นแหละ   แล้วก็ไปด้วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วย   แม่ก็สงสารลูกเป็นธรรมดา ลูกก็เลยพูดธรรมะให้แม่ฟัง   จิตของแม่มีความรักลูก   ผูกพันอยู่กับลูก เมื่อได้ฟังธรรมะจากลูกก็เลยปลงใจหันมานับถือพระพุทธศาสนา ได้บรรลุโสดาปัตติผล  แล้วก็นิพพาน ตายไป เรียกว่า นิพพาน (อนุปาทิเสสนิพพาน) อย่างนี้แหละ ก่อนจะนิพพานยังนึกถึงโยมแม่   ไปโปรดแม่ก่อนแล้วจึงนิพพาน  นี้เป็นตัวอย่างจากพระสารีบุตร.   เพราะฉะนั้น ความกตัญญูนี้ จึงกล่าวได้ว่า เป็นพื้นฐานแห่งการสร้างบ้าน สร้างชาติ สร้างเมือง กันเลยทีเดียว ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

  
  ที่นี้  ถ้าเราอ่านวรรณคดีต่างๆ  ในพระพุทธศาสนา   เช่น  วรรณคดีชาดก  มีทั้งหมด  ๕๕๐  เรื่องในบาลีแท้น่ะ  ๕๐๐  เรื่อง  เขียนเพิ่มขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีก  ๕๐  เรื่อง  เขาเรียกว่า  ปัญญาสชาดก.   ในชาดกเหล่านี้ผมสำรวจตรวจสอบดูแล้ว  มีเรื่องที่เกี่ยวกับความกตัญญูกตเวทีนี่มากมาย  สอนไว้มาก  สอนเรื่องกตัญญูในเรื่องนั้นๆ มาก  เรื่องนกกตัญญู  เรื่องช้างกตัญญู  เรื่องลิงกตัญญู  เรื่องคนกตัญญู  มีมากมายหลายเรื่อง  เขียนไว้ในเรื่องเหล่านั้น  ทำไมจึงมีมาก ?   เพราะในเอเซียเรานี้ส่งเสริมความกตัญญูกตเวที    วัฒนธรรมของอินเดียก็ตาม  ของจีนก็ตาม  ญี่ปุ่นก็ตาม  ส่งเสริมกตัญญูกตเวทีทั้งนั้น.  ชาวอินเดียนี่ก็ ลูกต้องเคารพพ่อแม่ที่สุด  คำสั่งของพ่อแม่เป็นประกาศิต  เป็นเทวะโองการที่ลูกต้องปฏิบัติตาม.  ชาวจีนก็เหมือนกัน  ถ้าลองอ่านพงศาวดารก็ตามใจเถอะ  ดูเถอะคนกตัญญูมีมากในเรื่องนั้น.



   เพราะฉะนั้น  จึงกล่าวได้ว่า  ความกตัญญู นี้  เป็นพื้นฐานแห่งความสร้างบ้าน  สร้างชาติ  สร้างเมือง  กันเลยทีเดียว  ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย. ผู้ใดไม่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ครูอาจารย์  ต่อสิ่งทั้งหลายที่ได้อาศัย เขาเรียกว่าเป็นคนไม่มีราคา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มนุสฺสเผคฺคุ คือ เป็นมนุษย์กระพี้ แล้วก็ตรัสบอกว่า ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู  เพราะอะไร ? ไม้ลอยน้ำยังใช้ได้ เอาขึ้นมาผึ่งแดด แล้วเอามาใช้รองเหยียบก็ได้ รองนั่งก็ได้ ทำหมอนหนุนหัวก็ได้ เอาไปนอนกอดแก้หนาวก็ยังได้ ใช้ได้ทั้งนั้น แต่คนอกตัญญูจะเอาไปไว้ที่ไหน เอาไปไว้ใกล้ถุงข้าวสาร เอ๊ะ ข้าวสารมันลดลงไปเรื่อยๆ เอาไปไว้ใกล้เงิน  เงินหาย  เอาไปไว้ใกล้อะไร เสียหายเรื่อย เพราะนิสัยมันไม่กตัญญูรู้คุณคน มันก็ลำบาก

   คนเรานี่ อย่าว่าแต่คนเลย แม้ต้นไม้เราเข้าไปนั่งร่มเงา ก็ไม่ควรหักกิ่งก้านต้นไม้ ไม่ควรกะเทาะเปลือกต้นไม้ให้เสียหาย วัตถุอื่นใดที่ให้ประโยชน์แก่ชีวิต เราต้องกตัญญูต่อวัตถุนั้น กตัญญูต่อโรงเรียนที่เรานั่ง ต่อกุฏิที่เราอาศัย ต่อถนนที่เราเดิน ต่อต้นไม้ที่เราเข้าไปนั่งร่มนั่งเงา กตัญญูต่อสิ่งเหล่านี้   เราจะไปตอบแทนต่อมันอย่างไร ? บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ดีงาม มันเป็นฐานของอะไรหลายอย่าง เช่น เรานึกถึงป่าไม้ว่าที่เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะป่า ป่าเป็นต้นน้ำลำธาร เป็นเหตุให้เกิดห้วย เกิดหนอง เกิดน้ำ ถ้าไม่มีป่า เขาหัวโล้น ฝนไม่ตก พอตกน้ำท่วมเสียหาย เราก็กตัญญูกับป่า เราก็ไม่ทำลายป่า กตัญญูต่อต้นไม้ก็ไม่ทำลายต้นไม้ กตัญญูต่อบ่อน้ำเราก็ไปตักกินทุกวัน เราก็บำรุงมันให้ดีเป็นประโยชน์แก่เราต่อไป   รวมความแล้ว คุณธรรมข้อนี้เป็นยอด จึงกล่าวได้ว่า เพียงประพฤติตนอยู่ด้วยความกตัญญูกตเวทีเท่านั้น โลกนี้ก็จะอยู่รอดได้ มันสำคัญถึงขนาดนี้ อย่านึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กะตัญญูกะตะเวทิตา - ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี”   เราจะดูคน ต้องดูว่า เขามีความกตัญญูขนาดไหน เช่น เราจะรักผู้หญิงสักคนหนึ่ง อย่ารักว่ารูปสวย คอกลม หรือว่าแขนเหมือนงวงช้าง แต่ดูว่าเขาปฏิบัติต่อพ่อแม่เขาอย่างไร แอบไปดูเขาปฏิบัติต่อพ่อแม่เขาอย่างไร มีความรักพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ขนาดไหน  ถ้าเป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่แล้ว เอามาทำพันธ์ได้ พันธ์ไม่เสีย ถ้าขาดคุณธรรม คือ กตัญญูกตเวทีแล้ว ทำพันธ์ไม่ได้ มันเสียหาย หลักมันอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น กตัญญู ก็คือรู้ในบุญคุณของผู้อื่นที่มีต่อเรา กตเวที ก็คิดอยู่ว่า ต้องตอบแทน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องตอบแทนให้ได้ นี่แหละเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง.



 


Create Date : 02 มิถุนายน 2565
Last Update : 18 มกราคม 2567 18:25:16 น. 0 comments
Counter : 324 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space