กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
เมษายน 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
29 เมษายน 2565
space
space
space

สามัญลักษณะ

170สามัญลักษณะ ๓ (ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง ๓ อย่าง)


   ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกว่า สามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ แจกเป็น ๓ อย่าง คือ

       ๑. อนิจจตา    ความเป็นของไม่เที่ยง

       ๒. ทุกขตา     ความเป็นทุกข์

       ๓. อนัตตตา     ความเป็นของไม่ใช่ตน

   สิ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ควรจะศึกษาทำความเข้าใจ เพราะว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ จริงเช่นนี้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่มีอยู่ ไม่มีใครบัญญัติแต่งตั้ง มีอยู่ตลอดไป เรียกว่า สามัญลักษณะ

   พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในสูตรหนึ่งว่า  ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมนิยาม ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบเอามาเปิดเผย ทำให้ตื้น แจกแจงแก่ชาวโลก  ซึ่งเป็นพุทธดำรัสที่ยืนยันว่า   สิ่งทั้ง ๓ ประการนี้   เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่ว่าใครจะบัญญัติแต่งตั้งขึ้น  เพราะมันเป็นตัวสัจธรรม.   ตัวสัจจธรรมนั้นไม่ต้องมีใครบัญญัติแต่งตั้งเหมือนศีลธรรม ซึ่งแต่งตั้งขึ้น  เพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม  แต่สัจธรรมนั้น ไม่มีใครบัญญัติแต่งตั้ง มันมีอยู่อย่างนั้นตลอดกาล   แต่เมื่อก่อนอย่างนี้ ไม่มีใครค้นพบ พระผู้มีพระภาคได้ไปค้นพบสิ่ง ๓ ประการนี้ ก็นำมาเปิดเผยแจกแจงแก่ชาวโลก

   สิ่งทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้  มีผู้เคยสอนมาก่อนที่พระพุทธเจ้าเกิด สอนให้พิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์   แต่ไม่ได้สอนเรื่องอนัตตา  พระพุทธเจ้าเพิ่งมาค้นพบอีกอันว่าเป็นอนัตตา จึงได้นำมาสอนเพิ่มในพระพุทธศาสนา   คือเรื่องการไม่มีตัวไม่มีตน  แต่ก่อนเขาก็สอนกันว่า มีตัวมีตน   แต่มันไม่เที่ยง   มันมีทุกข์   พระพุทธเจ้าท่านได้ค้นคว้าต่อไปว่าตัวตนนั้นมันไม่มี   ไม่มีตัวตนที่แท้   สอนหลักอนัตตาขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง   ฉะนั้นหลักทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นหลักคู่กับโลกมาตลอดเวลา    เราจะพบได้ทั่วไปทุกแห่ง   แต่ผู้ที่จะพบนั้นต้องเป็นผู้มีปัญญาคิดค้นจึงจะมองเห็น   ถ้าไม่คิดไม่ค้นก็มองไม่เห็นสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้  จึงยังมัวเมา มีทุกข์อยู่เรื่อยไป ไม่รู้จบสิ้น  เกิดกิเลส เกิดความทุกข์เมื่อใด ให้ใช้ปัญญาพิจารณา มองเห็นสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ ในสภาพที่เป็นจริงด้วยปัญญาอย่างเคร่งครัด ความกำหนัดขัดเคือง ความมัวเมา ความเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ นั้นก็จะหายแห้งไป เพราะมาเห็นแจ้งในสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะได้ศึกษา ทำความเข้าใจกัน และเมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเอามาเป็นหลักคิดพิจารณาในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร ไม่เที่ยงอย่างไร อนัตตาอย่างไร ใจจะได้ไม่ผูกพันมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้นๆ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์   

   ความทุกข์ในชีวิตเรานั้น  เกิดจากการไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งนั้นๆ ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เราก็หลงใหลในสิ่งนั้น เพราะเราคิดว่ามันเที่ยง มันมีความสุข มันมีตัวตน อย่างนี้เรียกว่า ความคิดวิปลาส คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ซึ่งความจริงมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่เรามองเห็นว่ามันเที่ยง มีสุข มีเนื้อมีตัว ก็เลยไปยึดไปถือ หลงใหลในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของตัว อยากมีอยากเป็นในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็มีความทุกข์ขึ้น สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นก็เพราะความไม่เข้าใจชัดในเรื่องนี้ตามสภาพที่เป็นจริง   ฉะนั้น   การศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องสามัญลักษณะ เป็นเรื่องจำเป็น  ที่จะช่วยให้เราเกิดปัญญา   มองเห็นอะไรชัดเจนตามเป็นจริง แล้วเราจะได้พ้นไปจากความทุกข์  ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน หรือไม่พ้นทุกข์เด็ดขาด  แต่ก็พอแบ่งเบาความทุกข์ ความเดือดร้อน   ที่เกิดขึ้นให้หายไปจากใจของเราได้ เรื่องนี้ จึงนับว่ามีประโยชน์ที่เราควรจะได้ทำความเข้าใจ


    คำว่า  “สามัญลักษณะ” ลักษณะ แปลว่า เครื่องหมาย สามัญ แปลว่า ทั่วไป  เครื่องหมายของสิ่งทั่วไปนั้นมันเป็นอย่างนี้ คือ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓  ลักษณะ ๓ นี้ มีเหมือนกัน ในคนในสัตว์ในต้นไม้ ในแผ่นหิน แผ่นดิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลก ในสากลจักรวาลนี้ ขึ้นอยู่กับกฎนี้ หนีจากกฎเกณฑ์นี้ไม่ได้ คือ ขึ้นอยู่กับกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หนีจากกฎนี้ไปไม่ได้เป็นอันขาด มันมีอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จึงเรียกว่า เป็นลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง


   คำว่า  “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง”  นั้น ก็หมายถึง สังขาร นั่นเอง  สังขาร  แปลว่า “สิ่ง”  คือ ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอย่างไร เลยแปลว่า  “สิ่ง”  สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง  สิ่งอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง  สิ่งนั้น เรียกว่า สังขาร สังขาร มี ๒ ประเภท คือ

     ๑. สังขาร   ที่มีความรู้สึกนึกคิด มีใจครอง

     ๒. สังขาร   ที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่มีใจครอง

   สังขารประเภทมีใจครอง เป็นมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เรียกว่า มีใจครอง  มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด มีปัญญา   มีกลไกสำหรับนึกคิดเป็นพิเศษ   สัตว์เดรัจฉานมันก็มีความรู้สึกนึกคิด  แต่ว่ามันไม่มีปัญญา   มันมีแต่ความจำ   เขาทำอะไรก็ทำตามนั้น  แต่ไม่มีการปรุงแต่งให้มีอะไรใหม่ๆขึ้น ในชีวิตสัตว์ทั้งหลายไม่มีวิวัฒนาการทางด้านสมองจิตใจ   แต่มนุษย์นั้นมีทั้งสมองและจิตใจ จึงมีการคิดสร้างอะไรขึ้นใหม่ๆ ตลอดเวลา สัตว์เดรัจฉานไม่เคยคิด มันอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แต่มันก็อยู่ในพวกมีชีวิตจิตใจเป็นสังขารประเภทนั้น  สังขารทีมีชีวิต ภาษาพระท่านเรียกว่า อุปาทินนะกะสังขาร แปลว่า สังขารที่มีใจครอง  ศัพท์เหล่านี้  ต้องจำไว้ด้วยเหมือนกัน  เพราะเวลาอ่านหนังสือธรรมะ จะมีศัพท์ การใช้ศัพท์นี่มันเป็นการประหยัดการเขียน ไม่อย่างนั้นแล้วต้องเขียนยาว

อนุปาทินนะกะสังขาร  แปลว่า สังขารไม่มีใจครอง ไม่มีความรู้สึกนึกคิด เช่นว่า เครื่องขยายเสียง เก้าอี้ เสื้อผ้า เรือน เป็นต้น มันไม่มีใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด จะมีอยู่ทั่วๆไป มันขึ้นอยู่กับกฎสามัญลักษณะ

  ทีนี้  คำว่า “สังขาร”  ยังมีในขันธ์ ๕ อีกตัวหนึ่ง ที่เราสวดว่า “สังขารา  อะนิจจา – สังขารไม่เที่ยง” สังขารตัวนั้น  ก็คือสิ่งที่ปรุงแต่งใจให้เป็นไปในรูปต่างๆ ให้เป็นความโลภ โกรธ หลง ริษยา เรียกว่าเป็นเรื่องของสังขาร   อะไรในโลกนี้ เรียกว่า สังขารธรรม ทั้งนั้น มีการปรุงแต่งทั้งนั้น  สิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่ง เรียกว่า  พระนิพพาน และพระนิพพานนั้น เรียกว่า วิสังขาร ที่เราสวดมนต์ว่า “วิขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา - จิตถึงวิสังขารหมดสิ้นไปแห่งตัณหา คือถึงพระนิพพาน”

พระนิพพานนั้น  ไม่ใช่สังขาร เพราะไม่มีสิ่งปรุงแต่ง มันเป็นธรรมชาติที่สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีอะไรไปปรุงแต่ง เป็นธรรมเย็นสนิท ไม่มีอะไรจะไปปรุงให้ร้อนให้วุ่นวาย หรือให้เป็นอะไรๆได้ จิตที่ถึงสภาพเช่นนั้นแล้ว เรียกว่า ถึงสภาพวิสังขาร หมายความว่า ไม่อาจปรุงแต่งให้เกิดกิเลสได้อีกต่อไป   แต่จิตเราธรรมดานั่น   ยังเป็นสังขาร   ยังถูกปรุงแต่งเป็นรักบ้าง ชังบ้าง อยากได้ ไม่อยากได้ เป็นไปต่างๆนานา จึงเรียกว่า สังขารปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา

สังขารทุกประเภท ไม่ว่าสังขารสอง หรือสังขารในขันธ์ ๕ มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ในตัวของมันเอง   รวมความว่า    สิ่งทั้งหลายในโลกนี้จะเป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม เรียกว่าสังขารได้ และสังขารทั้งหมดนั้นมีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ มีความเป็นอนัตตา

 


Create Date : 29 เมษายน 2565
Last Update : 31 มกราคม 2567 19:02:58 น. 0 comments
Counter : 212 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space