บันทึกที่ ๔: ความหมายตามแบบแผน ของไตรสิกขา
ไตรสิกขา ถ้าแปลตามรูปศัพท์ และตามแบบแผนแท้ๆ จะได้ความหมายดังนี้ ๑. อธิศีลสิกขา สิกขาคือศีลอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง ๒. อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตให้เกิดสมาธิอย่างสูง ๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง บาลีเดิมแสดงคำจำกัดความไตรสิกขาสำหรับพระภิกษุเท่านั้น คือ อธิศีลสิกขา = ปาติโมกขสังวรศีล, อธิจิตตสิกขา =ฌาน ๔, อธิปัญญาสิกขา = การรู้อริยสัจ บ้าง การประจักษ์แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ที่ไร้อาสวะ บ้าง (องฺ.ติก. ๒๐/๕๒๙-๕๓๐/๓๐๓) คัมภีร์นิทเทสขยายความเพิ่มออกเล็กน้อย (ขุ.ม. ๒๙/๒๔๒/๑๘๑;) คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ให้ความหมายกว้างๆ มุ่งเอา อธิศีล ที่ความสำรวม หรือสังวร อธิจิตต์ ที่ความไม่ฟุ้งซ่าน อธิปัญญา ที่การเห็น หรือเข้าใจถูกต้อง (ขุ.ปฏิ. ๓๑/๙๑/๖๙); วินย.อ.๑/๒๙๐ ว่า สิกขา ๓ นี้ มิใช่หมายเอาเพียงศีล ๕ ศีล ๑๐ สมาบัติ ๘ หรือความเข้าใจตามหลักกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เท่านั้น เพราะศีลสมาธิปัญญาขั้นนั้น พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ ก็ย่อมมีผู้สอนได้ แต่สิกขา ๓ หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ชนิดที่มีขึ้นต่อเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติเท่านั้น คือ อธิศีล = ศีล, อธิจิตต์ = จิตประกอบด้วยสมาบัติ ๘ ที่ เป็นบาทแห่งวิปัสสนา, อธิปัญญา = วิปัสสนาญาณที่กำหนดไตรลักษณ์ได้; ในความหมายสูงสุด ท่านถือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ขั้นโลกุตระ จึงจะเป็นอธิศีล อธิจิตต์ อธิปัญญา แต่ความหมายอย่างนี้คงใช้ในกรณีจำกัดมาก; บางครั้งท่านผ่อนลงมาว่า ศีลที่ผู้ประสงค์นิพพานสมาทาน จะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๑๐ ก็ตาม ก็เป็นอธิศีล สมาบัติ ๘ ก็เป็นอธิจิตต์ (เช่น ที.อ.๓/๒๕๑) โดยเฉพาะเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับอธิศีลสำหรับคฤหัสถ์ (เช่น องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๓๕/๒๙๒;) อรรถกถาจะอธิบายว่า หมายเพียง ศีล ๕ หรือไม่ก็ศีล ๑๐ (องฺ.อ.๒/๓๑๖; ๓/๑๐๑,๑๙๙); บางครั้ง คำว่า “อธิ” ก็หมายเพียงว่า ยิ่งกว่า หรือสูงกว่ากันโดยการเปรียบเทียบ เช่น ศีล ๑๐ เป็นอธิศีล เมื่อเทียบกับ ศีล ๕ รูปาวจรจิตเป็นอธิจิตต์ เมื่อเทียบกับกามาวจรจิต ฯลฯ (องฺ.อ.๒/๒๘๓); กล่าวโดยสาระก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนา เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าในการ ปฏิบัติธรรม; ส่วนการจัดองค์มรรคเข้าในไตรสิกขา ท่านแสดงไว้ใน วิภงฺค.อ.๑๕๘; ปฏิสํ.อ.๒๓๗ เหมือนกันกับที่จัดเข้าใน ธรรมขันธ์ ๓. ในสมัยอรรถกถา ท่านนิยมแสดง สิกขา ๓ ในแง่ที่เป็นระดับขั้นต่างๆ ของการละกิเลส คือ ๑. ศีล เป็นวีติกกมปหาน (เป็นเครื่องละวีติกกมกิเลส คือกิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกมาถึงกาย วาจา) ๒. สมาธิ เป็นปริยุฏฐานปหาน (เป็นเครื่องละปริยุฏฐานกิเลส คือกิเลสอย่างกลาง ที่เร้ารุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งบางท่าน ระบุว่าได้แก่ นิวรณ์ ๕) ๓. ปัญญา เป็นอนุสยปหาน (เป็นเครื่องละอนุสยกิเลส คือกิเลสอย่างละเอียด ที่แอบแนบนอนคอยอยู่ในสันดาน รอ แสดงตัวในเมื่อได้เหตุกระตุ้น ได้แก่อนุสัย ๗) นอกจากนี้ ท่านยังได้แสดงในแง่อื่นๆ อีก เช่น ศีลเป็นตทังคปหาน สมาธิเป็นวิกขัมภนปหาน ปัญญาเป็นสมุจเฉทปหาน ศีลเป็นเครื่องละทุจริต สมาธิเป็นเครื่องละตัณหา ปัญญาเป็นเครื่องละทิฏฐิ ดังนี้ เป็นต้น (ดู วินย.อ.๑/๒๒ ฯลฯ)
Create Date : 15 มิถุนายน 2566 |
|
0 comments |
Last Update : 15 มิถุนายน 2566 11:24:38 น. |
Counter : 165 Pageviews. |
|
 |
|