กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
20 ตุลาคม 2566
space
space
space

๘. วิธีคิดแบบเร้ากุศล


๘. วิธีคิดแบบเร้ากุศล


     วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม อาจเรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทา และขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม และสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ

     หลักการทั่วไปของวิธีคิดแบบนี้ มีอยู่ว่า ประสบการณ์ คือสิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างเดียวกัน บุคคลผู้ประสบหรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้างของจิต หรือแนวทาง ความเคยชินต่างๆ ที่เป็นเครื่องปรุงของจิต คือสังขารที่ผู้นั้นสั่งสมไว้ หรือสุดแต่การทำใจขณะนั้นๆ

     ของอย่างเดียวกัน หรืออาการกิริยาเดียวกัน คนหนึ่งมองเห็นแล้ว คิดปรุงแต่ไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นกุศล แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ เป็นอกุศล แม้แต่บุคคลคนเดียวกัน มองเห็นของอย่างเดียวกัน หรือประสบอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่ต่างขณะ ต่างเวลา ก็อาจคิดเห็น ปรุงแต่งต่างออกไปครั้งละอย่าง คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดี ทั้งนี้โดยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว

     การทำใจ ที่ช่วยตั้งต้น และชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม หรือโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลในที่นี้

     โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลนี้ มีความสำคัญ ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้น และในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม พร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ๆ ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกันด้วย

     ในทางตรงข้าม หากปราศจากอุบายแก้ไขเช่นนี้ ความคิดและการกระทำของบุคคล ก็จะถูกชักนำให้เดินไปตามแรงชักจูงของความเคยชินเก่าๆ ที่ได้สั่งสมไว้เดิมเพียงอย่างเดียว และช่วยเสริมความเคยชินอย่างนั้นให้มีกำลังแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยไป

     ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งที่มาในคัมภีร์ คือ การคิดถึงความตาย ถ้ามีอโยนิโสมนสิการ คือทำใจหรือคิดไม่ถูกวิธี อกุศลธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่น คิดถึงความตายแล้ว สลดหดหู่ เกิดความเหี่ยวแห้งใจบ้าง เกิดความหวั่นกลัวหวาดเสียวใจบ้าง ตลอดจนเกิดความดีใจ เมื่อนึกถึงความตายของคนที่เกลียดชังบ้าง เป็นต้น

     แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ ทำใจหรือคิดให้ถูกวิธี ก็จะเกิดกุศลธรรม คือ เกิดความรู้สึกตื่นตัวเร้าใจ ไม่ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร

     ท่านกล่าวว่า   การคิดถึงความตายอย่างถูกวิธี   จะประกอบด้วยสติ  (ความคุมคงใจไว้ หรือมีใจอยู่กับตัว ระลึกรู้สิ่งที่พึงเกี่ยวข้องจัดทำ) สังเวค  (ความรู้สึกเร้าใจ ได้คิด และสำนึกที่จะเร่งรีบทำการที่ควรทำ)  และญาณ   (ความรู้เท่าทันธรรมดา หรือรู้ตามเป็นจริง) นอกจากนั้น ท่านได้แนะนำอุบายแห่งโยนิโสมนสิการเกี่ยวกับความตายไว้หลายอย่าง* (ดู วิสุทธิ.2/2-14)


     แม้ในพระไตรปิฎก   ก็มีตัวอย่างง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงบ่อยๆ คือ เหตุปรารภ หรือเรื่องราวกรณีอย่างเดียวกัน คิดมองไปอย่างหนึ่ง ทำให้ขี้เกียจ  คิดมองไปอีกอย่างหนึ่ง  ทำให้เกิดความเพียรพยายาม ดังความในพระสูตรว่า

     “ภิกษุทั้งหลาย   เรื่องของผู้เกียจคร้าน (กุสีตวัตถุ) ๘ อย่างเหล่านี้ ๘ อย่างคืออะไร ?

        ๑. ภิกษุมีงานที่จะต้องทำ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เรามีงานที่จักต้องทำ เมื่อเราทำงานร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย เรานอนเอาแรง เสียก่อนเถิด คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย ไม่เริ่มระดมความเพียร เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง...

        ๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำงานเสร็จแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำงานเสร็จแล้ว และเมื่อเราทำงาน ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย เราจะนอนพักละ คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย...

        ๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุจะต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักต้องเดินทาง เมื่อเราเดินทาง ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย เรานอนเอาแรง เสียก่อนเถิด คิดดังนี้แล้วเธอก็นอนเสีย...

        ๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเดินทางเสร็จแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เดินทางเสร็จแล้ว และเมื่อเราเดินทาง ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อยแล้ว อย่ากระนั้นเลย เรานอนพักละ คิดดังนี้แล้วเธอก็นอนเสีย...

        ๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือตามชุมชน ไม่ได้โภชนะอย่างหมองหรือประณีตเต็มตามต้องการ เธอมีความคิดว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือตามชุมชน ไม่ได้โภชนะอย่างหมองหรือประณีตเต็มตามต้องการ ร่างกายของเราก็เหน็ดเหนื่อย ไม่เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เราจะนอนพักละ คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย...


        ๖. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือตามชุมชน ได้โภชนะอย่างหมองหรือประณีตเต็มตามต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือตามชุมชน ได้โภชนะอย่างหมองหรือประณีตเต็มตามต้องการแล้ว ร่างกายของเราก็หนักอึ้ง เป็นเหมือนดังถั่วหมัก ไม่เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เรานอนเสียเถิด คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย...

        ๗. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเกิดมีอาพาธเล็กๆน้อยๆ เธอมีความคิดดังนี้ว่า เราเกิดมีอาพาธเล็กน้อยขึ้นแล้ว มีเหตุผลสมควรที่จะนอนได้ อย่ากระนั้นเลย เรานอนพักเสียเถิด คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย...

        ๘. อีกประการหนึ่ง ภิกษุหายป่วย ฟื้นจากไข้ไม่นาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายป่วย ฟื้นจากไข้ไม่นาน ร่างกายของเรายังอ่อนแอ ไม่เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เรานอนเสียเถิด คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย...


     กรณีเดียวกันทั้งหมดนี้  คิดอีกอย่างหนึ่ง กลับทำให้เริ่มระดมความเพียร ท่านเรียกว่า เรื่องที่จะเริ่มระดมเพียร (อารัพภวัตถุ) แสดงไว้ ๘ ข้อเหมือนกัน ใจความดังนี้

        ๑.(กรณีที่จะต้องทำงาน) ... ภิกษุคิดว่า เรามีงานที่จะต้องทำ และขณะเมื่อเราทำงาน การมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง คิดดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น ก็จึงเริ่มระดมความเพียร...

        ๒.(กรณีที่ทำงานเสร็จแล้ว) ... ภิกษุคิดว่า เราได้ทำงานเสร็จแล้ว ก็แลขณะเมื่อทำงาน เรามิได้สามารถมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...

        ๓.(กรณีที่จะต้องเดินทาง) ... ภิกษุคิดว่า เราจักต้องเดินทาง และขณะเมื่อเราเดินทาง การมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด....

        ๔.(กรณีที่เดินทางแล้ว) ... ภิกษุคิดว่า เราได้เดินทางเสร็จแล้ว ก็แลขณะเมื่อเดินทางเรามิได้สามารถมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...

        ๕. (กรณีบิณฑบาตไม่ได้อาหารเต็มต้องการ) ... ภิกษุคิดว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือตามนิคม ไม่ได้โภชนะอย่างหมอง หรือประณีตเต็มตามต้องการ ร่างกายของเราก็คล่องเบา เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...


        ๖. (กรณีบิณฑบาตได้อาหารเต็มต้องการ) ... ภิกษุคิดว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามหมู่บ้าน หรือ ตามชุมชน ได้โภชนะอย่างหมอง หรือประณีตเต็มตามต้องการแล้ว ร่างกายของเราก็คล่องเบา เหมาะแก่งาน อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...

        ๗. (กรณีเกิดอาพาธเล็กน้อย) ... ภิกษุคิดว่า เราเกิดมีอาพาธเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นแล้ว เป็นไปได้ที่อาพาธของเราอาจหนักขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด...

        ๘. (กรณีหายอาพาธ) ... ภิกษุคิดว่า เราหายป่วยยังฟื้นไข้ไม่นาน เป็นไปได้ที่อาพาธอาจหวนกลับเป็นใหม่ อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด..


     ในกรณีที่ความคิดอกุศลเกิดขึ้นแล้ว   ท่านก็แนะนำวิธีแก้ไขไว้  และวิธีแก้ไขนั้น ส่วนมากก็ใช้วิธีโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลนั่นเอง ดังตัวอย่างในวิตักกสัณฐานสูตร* (ม.มู.12/256-262/241-7) พระพุทธเจ้าแนะนำหลักทั่วไป ในการแก้ความคิดอกุศลไว้ 5 ขั้น มีใจความว่า ถ้าความคิด ความดำริที่เป็นบาปเป็นอกุศล ประกอบด้วยฉันทะ   (ฉันทะในที่นี้ หมายถึง ตัณหาฉันทะ หรือ ราคะ หรือโลภะ) หรือ โทสะ หรือโมหะ ก็ตามเกิดมีขึ้น อาจแก้ไขได้ ดังนี้

        ๑. มนสิการ คือ คิดนึกใส่ใจถึงสิ่งอื่นที่ดีงามเป็นกุศล หรือ หาเอาสิ่งอื่นที่ดีงามมาคิด นึกใส่ใจ แทน (เช่น นึกถึงสิ่งที่ทำให้เกิดเมตตาแทนสิ่งที่ทำให้เกิดโทสะ เป็นต้น) ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ยังไม่หาย

        ๒. ถึงพิจารณาโทษของความคิดที่เป็นอกุศลเหล่านั้นว่า ไม่ดีไม่งาม ก่อผลร้าย นำความทุกข์มาให้อย่างไรๆ ถ้ายังไม่หาย

        ๓. พึงใช้วิธีต่อไปอีก ไม่คิดถึง ไม่ใส่ใจถึงความคิดชั่วร้ายที่เป็นอกุศลนั้นเลย เหมือนคนไม่อยากเห็นรูปอะไรที่อยู่ต่อตา ก็หลับตาเสีย หรือ หันไปมองทางอื่น ถ้ายังไม่หาย

        ๔. พึงพิจารณาสังขารสัณฐานของความคิดเหล่านั้น คือ จับเอาความคิดนั้นมาเป็นสิ่งสำหรับ ศึกษาค้นคว้าในแง่ที่เป็นความรู้ ไม่ใช่เรื่องของตัวตนว่า ความคิดนั้นเป็นอย่างไร เกิดจากมูลเหตุปัจจัยอะไร ถ้ายังไม่หาย

        ๕.พึงขบฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน อธิษฐานจิต คือ ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ข่มใจระงับความคิดนั้นเสีย


     บางแห่ง ท่านแนะนำวิธีปฏิบัติสำหรับแก้ไขความคิดอกุศลเฉพาะอย่างไว้ก็มี เช่น แห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำวิธีแก้ไขกำจัดความอาฆาตไว้ว่า อาฆาตเกิดขึ้นต่อบุคคลใด พึงเจริญเมตตา ที่บุคคลนั้น พึงเจริญกรุณา พึงเจริญอุเบกขาที่บุคคลนั้น หรือพึงไม่คิดถึง ไม่ใส่ใจถึงบุคคลนั้น หรือตั้งความคิดต่อบุคคลนั้น ตามหลักแห่งความที่แต่ละคนมีกรรมเป็นของตนว่า ท่านผู้นี้ มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นที่กำเนิด เป็นพวกพ้อง เป็นที่พึ่งพำนัก เขาทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ก็จักเป็นทายาทของกรรมนั้น

     อนึ่ง พระสารีบุตร ได้แนะนำวิธีแก้ไขกำจัดความอาฆาต คือ ความอึดอัดขัดใจ แค้นเคืองไว้อีก ๕ อย่าง โดยให้รู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลว่า

        - บางคน ความประพฤติทางกายไม่เรียบร้อยหมดจด แต่ความประพฤติทางวาจาเรียบร้อยหมดจดก็มี

        - บางคน ความประพฤติทางวาจาไม่เรียบร้อยหมดจด แต่ความประพฤติทางกายเรียบร้อยหมดจดก็มี

        - บางคน ความประพฤติทางกายไม่เรียบร้อยหมดจด ความประพฤติทางวาจาก็ไม่เรียบร้อยหมดจด แต่ทางใจปลอดโปร่งผ่องใสดีงามเป็นครั้งคราว

        - คนบางคน ความประพฤติทางกายก็ไม่เรียบร้อยหมดจด แต่ความประพฤติทางวาจาก็ไม่เรียบร้อยหมดจด ใจก็ไม่ได้ช่องโอกาสดีงามผ่องใสเป็นครั้งคราวเลย

        - บางคน ความประพฤติทางกายก็เรียบร้อยหมดจดดี แต่ความประพฤติทางวาจาก็เรียบร้อยหมดจดดี ใจก็ดีงามผ่องใสได้เรื่อยๆ

        ๑. สำหรับคนที่เสียด้านความประพฤติอาการกิริยาทางกาย แต่ความประพฤติการแสดงออกทางวาจาเรียบร้อยหมดจดดี ในเวลาที่จะแก้ไขกำจัดอาฆาตนั้น ไม่พึงมนสิการคือใส่ใจพิจารณาคิดถึงความประพฤติไม่ดีทางกายของเขา พึงมนสิการเฉพาะแต่ความประพฤติดีงามทางวาจาของเขา เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถือครองผ้า บังสุกุลเป็นวัตร เธอเดินไปพบเศษผ้าเก่าบนท้องถนน เธอเอาเท้าซ้ายกด แล้วเอาเท้าขวาคลี่ผ้านั้นออก ส่วนใดยังดีใช้ได้อยู่ ก็ฉีกเอาแต่ส่วนนั้นไป

        ๒. สำหรับคนที่เสียทางด้านความประพฤติหรือการแสดงออกทางวาจา แต่ความประพฤติทางกายเรียบร้อยหมดจดดี ในเวลานั้น ก็ไม่พึงมนสิการถึงการที่เขา มีความประพฤติเสียทางวาจา พึงมนสิการแต่การที่เขามีความประพฤติทางกายเรียบร้อยหมดจดดี เปรียบเหมือน สระโบกขรณีมีสาหร่ายจอกแหนคลุมเต็มไปหมด คนเดินทางร้อนแดด เหน็ดเหนื่อย หิวกระหายมาถึงเข้า พึงลงไปยังสระโบกขรณีนั้น เอามือทั้งสองแหวกสาหร่ายจอกแหนออกแล้ว กระพุ่มมือกอบแต่น้ำขึ้นมาดื่มแล้วเดินทางต่อไป

        ๓. สำหรับคนที่เสียทั้งความประพฤติทางกายและการแสดงออกทางวาจา แต่ใจรู้สึกปลอดโปร่งดีงามผ่องใสเป็นครั้งคราว ในเวลานั้น ไม่พึงมนสิการที่เขามีความประพฤติทางกาย และทางวาจาที่เสียหาย พึงมนสิการแต่การที่เขามีจิตใจเปิดช่องผ่องใสดีงามได้เป็นครั้งคราว เปรียบเหมือนมีน้ำขังอยู่เล็กน้อยในรอยเท้าโค คนผู้หนึ่งเดินทางร้อนแดด เหน็ดเหนื่อย หิวกระหายมาถึงเข้า เขาคิดว่า น้ำในรอยเท้าโคนี้ มีเพียงนิดหน่อย ถ้าเราเอามือวัก หรือ ใช้ภาชนะตักดื่ม น้ำก็จักกระเพื่อม และขุ่นคลักขึ้น ถึงกับทำให้ใช้ดื่มไม่ได้ ถ้ากระไร เราควรลงนั่งคุกเข่าเอามือยัน ก้มลงเอาปากดื่มอย่างวัวเถิด เขาคิดดังนั้นแล้ว ก็ลงนั่งคุกเข่า เอามือยันก้มลงทำอย่างโค เอาปากดื่มน้ำเสร็จแล้วก็หลีกไป

        ๔. สำหรับคนที่เสียทั้งความประพฤติทางกาย และการแสดงออกทางวาจา อีกทั้งจิตใจก็ไม่ปลอดโปร่งดีงามผ่องใสเป็นครั้งคราวได้เลย ในเวลานั้น ควรตั้งความเมตตาการุณย์ ความคิดอนุเคราะห์ ช่วยเหลือต่อเขา โดยคิดว่า โอ้หนอ ขอให้ท่านผู้นี้ละกายทุจริตบำเพ็ญ กายสุจริตได้เถิด ขอให้ละวจีทุจริตบำเพ็ญวจีสุจริตได้เถิด ขอให้ละมโนทุจริตบำเพ็ญมโนสุจริตได้เถิด ขอท่านผู้นี้อย่าได้ตายไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเลย เปรียบเหมือน คนเจ็บไข้ ได้ทุกข์ ป่วยหนัก กำลังเดินทางไกล หมู่บ้านข้างหน้าก็ยังไกล หมู่บ้านข้างหลังก็อยู่ไกล เขาไม่อาจได้อาหารที่เหมาะ ไม่อาจได้ยาที่เหมาะ ไม่อาจได้คนพยาบาลที่เหมาะ ไม่อาจได้คนพาไปสู่ ละแวกบ้าน มีคนผู้หนึ่ง เดินทางไกลมาเห็นเข้า เขาพึงเข้าไปตั้งความเมตตาการุณย์ ความอนุเคราะห์ ช่วยเหลือแก่คนที่เจ็บไข้นั้น ด้วยคิดว่า โอ้หนอ ขอให้คนผู้นี้พึงได้ อาหารที่เหมาะเถิด พึงได้ยาที่เหมาะเถิด พึงได้คนพยาบาลที่เหมาะเถิด พึงได้คนพาไปสู่ละแวกบ้านที่เหมาะเถิด ขออย่าให้คนผู้นี้ต้องถึงความพินาศเสีย ณ ที่นี้เลย

        ๕. สำหรับคนที่ดีทั้งความประพฤติทางกาย ทั้งความประพฤติทางวาจาเรียบร้อยหมดจดดี จิตใจก็ปลอดโปร่งดีงาม ผ่องใสอยู่เรื่อยๆตามกาลเวลา สำหรับคนเช่นนี้ ควรมนสิการทั้งการที่เขามีความประพฤติทางกายเรียบร้อยหมดจด ทั้งการที่เขามีความประพฤติทางวาจาเรียบร้อยหมดจด และทั้งการที่เขาได้มีจิตใจปลอดโปร่งดีงามผ่องใสอยู่เรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นคนน่าเลื่อมใสทั่วทุกอย่างรอบด้าน พาให้คนที่มนสิการมีจิตใจผ่องใสด้วย เปรียบเหมือนสระโบกขรณี มีน้ำใส เห็นแจ๋ว เย็นฉ่ำ น่าชื่นใจ ชายฝั่งบริเวณก็เรียบร้อยดีน่ารื่นรมย์ ปกคลุมด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ คราวนั้น บุรุษหนึ่งเดินทางร้อนแดด ถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย มาถึงเข้า เขาลงไปยังสระ โบกขรณีนั้น ทั้งอาบทั้งดื่มแล้วขึ้นมา จะนั่งก็ได้ นอนก็ได้ ภายใต้ร่มไม้ ที่ชายฝั่งสระนั้น  (องฺ.ปญฺจก.22/126/207-212  แปลเอาความ ตามสบาย)


     คัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงอุบายในการมนสิการ เพื่อแก้ไขความคิดแค้นเคืองขัดใจไว้อีกหลายอย่าง สรุปได้เป็นขั้นตอนต่างๆ ซึ่งพึงเลือกใช้ตามที่เหมาะกับอุปนิสัยของบุคคล ดังนี้* (วิสุทฺธิ.2/93-106)

        ๑. ระลึกถึงพุทธโอวาทที่สอนให้ระงับความโกรธ และให้มีเมตตา ตักเตือนตนเองว่า การยังมัวโกรธอยู่เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาของตน

     พุทธโอวาทเกี่ยวกับความโกรธมีมากมายเช่นตรัสสอนภิกษุว่า แม้ภิกษุถูกพวกโจรจับไปและเอาเลื่อยผ่ากาย ถ้าภิกษุมีใจขัดเคืองประทุษร้าย ก็ไม่ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์

     อีกแห่งหนึ่งว่า คนโกรธเท่ากับทำตัวให้ประสบผลร้ายต่างๆ สมใจปรารถนาของศัตรู เช่น มีผิวพรรณทราม หน้าตาหม่นหมอง นอนเป็นทุกข์เป็นต้น

     อนึ่ง ถ้าคนอื่นโกรธแล้ว เราโกรธตอบอีก ก็เท่ากับทำตัวให้เลวกว่าเขา ส่วนคนที่ไม่โกรธตอบคนที่โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก และชื่อว่าบำเพ็ญประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งแก่ตนและแก่คู่กรณี ฯลฯ ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๒. พึงนึกถึงความดีของเขา ยกเอาแต่แง่ดีของเขาขึ้นมาพิจารณา ถ้ามองไม่เห็นว่าเขามีความดีอะไรเลย พึงตั้งจิตการุณย์ ในการที่เขาจะต้องประสบผลร้ายจากความชั่วของเขาเอง ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๓. พึงสอนตนเองให้รู้ตัวว่า ถ้ามัวโกรธเขาอยู่ มีแต่จะทำให้ตัวเองนั่นแหละเดือดร้อนเป็นทุกข์ คนที่ถูกโกรธ เขาไม่รู้เรื่องด้วย เขาก็อยู่ของเขาเป็นปกติตามสบาย คนโกรธเขากลับทำร้ายตนเอง ทำลายคุณธรรมซึ่งเป็น พื้นฐานของศีลที่ตนเองรักษา และประกอบกรรมของอนารยชนเสียเอง ถ้าคนโกรธ คิดจะทำร้ายคนอื่น ไม่ว่าจะทำร้ายเขาได้แล้วหรือไม่ แต่ที่แน่นอนก็คือ ได้ทำร้ายตนเองเข้าก่อนแล้ว และตนเองต้องถูกกระทบทุกกรณี ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๔. พึงพิจารณาตามหลักกรรมว่า แต่ละบุคคลมีกรรมเป็นของตน ทั้งเขาทั้งเราต่างก็จะได้รับผลแห่งกรรมที่เป็นส่วนของตนๆ ตัวเราเองถ้ามัวโกรธ มีโทสะอยู่ ก็คือกำลังทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง และเราก็จะได้รับผลร้ายจากกรรมของเราเอง ถ้าเขาทำกรรมชั่ว เขาก็จะได้รับผลร้ายตามกรรมของเขา ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๕. พึงพิจารณาคุณความดี คือ การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ระลึกถึงตัวอย่างความเสียสละของพระองค์ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เช่น ในชาดกหลายเรื่อง พระองค์ได้ทรงสละชีวิตช่วยเหลือแม้แต่ศัตรู ถูกเขากลั่นแกล้งก็ไม่ผูกอาฆาต และชนะใจเขาด้วยความดี แม้ตัวอย่างผู้บำเพ็ญความเสียสละ และขันติบารมีอื่นๆ ก็พึงนำมาพิจารณาได้ เพื่อเป็นตัวอย่างเสริมกำลังใจให้สามารถดำรงตนอยู่ในความดี ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๖. พึงพิจารณาความยาวนานแห่งสังสารวัฏฏ์ ซึ่งท่านกล่าวว่า หาได้ยากที่ใครๆ จะไม่เคยเป็นบิดามารดา บุตรธิดา พี่น้อง ญาติเพื่อนพ้อง ที่เคยมี อุปการะแก่กัน พึงนึกว่า เขากับเราก็คงได้เคยเป็นพ่อแม่พี่น้อง มีอุปการะแก่กันมา (เหตุการณ์นี้เป็นเพียงเรื่องราวเล็กน้อยฉากหนึ่งเท่านั้น) ไม่ควรจะมาเกลียดโกรธคิดประทุษร้ายกัน ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ


        ๗. พึงพิจารณาอานิสงส์แห่งเมตตาว่า เมื่อตนปฏิบัติตามจะได้รับผลดีอย่างไรๆ บ้าง เช่นว่า หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย เป็นต้น ตนควรปฏิบัติตามเพื่อให้ได้รับผลดีเช่นนั้น ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๘. พึงพิจารณาแบบจำแนกแยกธาตุ ให้มองเห็นความจริงว่า ที่คิดโกรธวุ่นวายกันไป ความจริงก็มีแต่สิ่งสมมุติคิดว่าเป็นสัตว์บุคคล เป็นผู้นั้นผู้นี้ ที่จริงมีแต่ อาการ ๓๒ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีแต่ธาตุต่าง ๆ มีแต่ขันธ์ ๕ มีแต่อายตนะ ๑๒ มาประชุมกัน จะโกรธอะไร ส่วนไหน ความโกรธนั้น ไม่มีฐานะที่ตั้งอะไรเลย ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ยังไม่หายโกรธ

        ๙. พึงแสดงออกภายนอก ในทางปฏิบัติ ด้วยการให้สิ่งของ คือ หาสิ่งของมาให้แสดงไมตรีจิต และรับของให้ตอบแทนแก่กัน เพราะทานช่วยให้คนใจอ่อนโยนเข้าหากัน และพูดจากัน พ่วงเอาปิยวาจามาด้วย จึงเป็นเครื่องระงับอาฆาตที่ได้ผลยิ่ง


     เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างแสดงให้เห็นแนววิธีพิจารณาที่จัดอยู่ในพวกโยนิโสมนสิการ แบบเร้ากุศล เป็นตัวอย่างวิธีพิจารณาที่ใช้ได้ทั่วๆไปบ้าง ใช้ได้กับกุศลธรรมเฉพาะอย่าง บ้าง ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเข้าใจหลักการ และแนววิธีทั่วๆไปดีแล้ว ผู้ฉลาดในอุบายอาจคิดค้นปรุงแต่งรายละเอียดแบบต่างๆ ของวิธีคิดแบบนี้ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับการสร้างเสริมกุศล หรือ คุณธรรมเฉพาะแต่ละอย่าง และสอดคล้องทันกับกระบวนความคิดของมนุษย์ในกาลสมัยนั้นๆ อันจะทำให้ใช้ปฏิบัติได้ผลดียิ่งขึ้น


     กล่าวได้ว่า วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมนี้ เป็นวิธีที่เปิดกว้างที่สุดสำหรับการขยายดัดแปลง และสรรหาวิธีการปลีกย่อยต่างๆ มาใช้ได้อย่างมากมายกว้างขวาง สุดแต่จะให้ได้ผลดีแก่จริตอัธยาศัยของบุคคลที่แตกต่างกัน และเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแปลกกันไปตามถิ่นฐานกาลสมัย

     นอกจากหลักการทั่วไปที่กล่าวข้างต้นแล้ว ควรกล่าวย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญที่คอยพยุงความคิดให้อยู่ในโยนิโสมนสิการ อันได้แก่ สติ

     สติช่วยยั้งหยุดความคิด ที่หลงลอยไปเป็นอโยนิโสมนสิการ และช่วยเหนี่ยวรั้ง หรือดึงให้กลับมา ตั้งต้นในแนวทางของโยนิโสมนสิการได้ใหม่ จึงเป็นองค์ธรรมที่ผู้มีโยนิโสมนสิการจะต้องใช้อยู่เรื่อยไป


     อนึ่ง โยนิโสมนสิการแบบต่างๆ ซึ่งสรุปได้เป็น ๒ คือ โยนิโสมนสิการเพื่อความรู้ตามสภาวะ และโยนิโสมนสิการเพื่อเสริมสร้างกุศลธรรมนั้น มีจุดแยกอยู่ที่ขณะตั้งต้นความคิด และสติอาจมีบทบาทสำคัญในการเลือกทางแยกที่จุดตั้งต้นระหว่างโยนิโสมนสิการแบบต่างๆ นี้ เช่น เดียวกับที่สติสามารถเลือกระหว่างโยนิโสมนสิการ กับ อโยนิโสมนสิการ

     ดังเช่นว่า เมื่อรับรู้อารมณ์แล้ว มีสติกำหนดมุ่งเพื่อจะรู้ตามความเป็นจริง ก็เข้าแนวโยนิโสมนสิการเพื่อความรู้ตามสภาวะ แต่ถ้าสติกำหนดกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่หมาย หรือระลึกถึงภาพความคิดที่ดีงามบางอย่างไว้ในใจ ก็เดินเข้าสู่โยนิโสมนสิการเพื่อเสริมสร้างกุศลธรรม

     โยนิโสมนสิการเพื่อรู้ตามสภาวะนั้น   ขึ้นต่อความจริงที่เป็นไปอยู่ตามธรรมดา  จึงมีลักษณะแน่นอนเป็นอย่างเดียว   ส่วนโยนิโสมนสิการเพื่อเสริมสร้างกุศลธรรม  ยังเป็นเรื่องของการปรุงแต่งในใจตามวิสัยของสังขาร  จึงมีลักษณะแผกผันไปได้หลากหลาย



* สังเวช    ความสลดใจให้ได้คิด, ความรู้สึกเตือนสำนึกหรือทำให้ฉุกคิด, ความรู้สึกกระตุ้นใจให้คิดได้ ให้คิดถึงธรรม ให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต และเร้าเตือนให้ไม่ประมาท ความหมายที่แท้ของศัพท์ สังเวช คือ “สังเวค”  แปลว่า  แรงเร่ง  แรงกระตุ้น หรือพลังที่ปลุกเร้า หมายถึง แรงกระตุ้นเร้าเตือนใจ ให้ได้คิดหรือสำนึกขึ้นมาได้ ให้คิดถึงธรรม หรือ ตระหนักถึงความจริงความดีงามอันทำให้ตื่นหรือถอนตัวขึ้นมาจากความเพลิดเพลิน ความหลงระเริงปล่อยตัวมัวเมา หรือความประมาท แล้วหักหันไปเร่งเพียรทำการที่ตระหนักรู้ว่าจะพึงทำด้วยความไม่ประมาทต่อไป  แต่ในภาษาไทย สังเวช มีความหมายหดแคบลงและเพี้ยนไป กลายเป็นความรู้สึกสลดใจ หรือเศร้าสลด แล้วหงอยหรือหดหู่เสีย ซึ่งกลายเป็นตรงข้ามกับความสังเวชที่แท้


* คัมภีร์วิสุทธิมัคค์บรรยายเรื่องนี้ไว้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งแห่งการเจริญเมตตาพรหมวิหาร ซึ่งเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง แม้อุบายในการมนสิการเกี่ยวกับกรรมฐานอย่างอื่น เช่น อสุภะ และธาตุมนสิการ เป็นต้น ท่านก็แสดงไว้มากเช่นเดียวกัน อนึ่ง พึงสังเกตด้วยว่า วิธีมนสิการ ณ ที่นี้ ท่านแสดงสำหรับพระภิกษุ แต่คฤหัสถ์ก็อาจพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะกับตนได้


 


Create Date : 20 ตุลาคม 2566
Last Update : 20 ตุลาคม 2566 8:08:42 น. 0 comments
Counter : 78 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space