กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
14 ตุลาคม 2566
space
space
space

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร จบ




ต่อ จบ

     พุทธพจน์ต่อไปนี้ แม้จะมิได้ระบุลงไปว่าเป็นข้อกำหนดคุณสมบัติของกัลยาณมิตรโดยตรง แต่ก็ควรถือว่า เป็นคุณสมบัติประกอบของกัลยาณมิตรได้

     "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น ธรรม ๖ ประการนั้นเป็นไฉน กล่าวคือ ภิกษุ

        ๑) เป็นผู้มีความเข้าใจรวดเร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย

        ๒) เป็นผู้ทรงจำธรรมที่สดับแล้วได้

        ๓) เป็นผู้พิจารณาความหมายใจความของธรรมที่ทรงจำไว้ได้

        ๔) เข้าใจความหมาย (อรรถ) เข้าใจหลัก (ธรรม) ดีแล้ว ปฏิบัติธรรมถูกหลัก*

        ๕) เป็นผู้มีวาจางาม กล่าวกัลยาณพจน์ ประกอบด้วยถ้อยคำอย่างชาวเมือง สละสลวยฉะฉาน ทำให้รู้เนื้อความจะแจ้ง

        ๖) เป็นผู้สามารถแสดงธรรมชนิดที่ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริงได้ แก่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย  (องฺ.อฏฺฐก. 23/152/305 ฯลฯ)


     "ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ พวกเหล่านี้ มีอยู่ในโลก กล่าวคือ บุคคลที่ไม่ควรเสวนา ไม่ควรคบ ไม่ควรหมั่นเข้าหา ก็มี บุคคลที่ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา ก็มี บุคคลที่ควรสักการะ เคารพแล้ว เสวนา คบ หมั่นเข้าหา ก็มี

        ๑) บุคคลที่ไม่ควรเสวนา ไม่ควรคบ ไม่ควรหมั่นเข้าหา เป็นไฉน ? ได้แก่ บุคคลบางคน เป็นผู้ทรามกว่า โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา บุคคลอย่างนี้ ไม่ควรเสวนา ไม่ควรคบ ไม่ควรหมั่นเข้าหา นอกจากจะเอื้อเอ็นดู นอกจากจะอนุเคราะห์

        ๒) บุคคลที่ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา เป็นไฉน ? ได้แก่ บุคคลบางคน เป็นผู้เช่นเดียวกัน โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา บุคคลอย่างนี้ ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะว่า เมื่อเราเป็นผู้เสมอกันโดยศีล...โดยสมาธิ...โดยปัญญาแล้ว การสนทนากันเรื่องศีล... การสนทนากันเรื่องสมาธิ...การสนทนากันเรื่องปัญญา จักมีได้ด้วย การสนทนากันจักดำเนินไปได้ด้วย และการสนทนานั้นก็จักเป็นความผาสุกของเราด้วย เพราะเหตุนั้น บุคคลอย่างนี้ ควรเสวนา ควรคบ ควรหมั่นเข้าหา

        ๓) บุคคลที่ควรสักการะ เคารพ แล้วเสวนา คบ หมั่นเข้าหา เป็นไฉน ? ได้แก่ บุคคลบางคน เป็นผู้ยิ่งกว่า โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา บุคคลอย่างนี้ ควรสักการะ เคารพ แล้วเสวนา คบ หมั่นเข้าหา ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? เพราะเราจักได้ทำกองศีล...กองสมาธิ...กองปัญญา ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ หรือจะได้ประคับประคองกองศีล...กองสมาธิ...กองปัญญา ที่บริบูรณ์อยู่แล้วไว้ได้ ด้วยปัญญาในกรณีนั้นๆ เพราะเหตุนั้น บุคคลอย่างนี้ จึงควรสักการะ เคารพ แล้วเสวนา คบ หมั่นเข้าหา" (องฺ.ติก.20/465/157)

     พึงสังเกต ในข้อความว่าด้วยบุคคลพวกที่ ๑ ซึ่งไม่ควรคบนั้น มีหลักการคบหาที่ควรย้ำไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ตามคำสอนทั่วไป ซึ่งได้พบกันอยู่เสมอนั้น ท่านไม่ให้คบคนเลวทราม แต่ท่านก็แสดงข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า ควรจะคบต่อเมื่อเป็นเรื่องของเมตตากรุณา ในเมื่อจะช่วยเหลือเขา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คิดจะไปช่วยเหลือเขาอย่างนี้ ก็ควรพิจารณาความพร้อมของตนให้ดีก่อนด้วย


     คำสอนเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของมิตรดีนี้ บางแห่งมุ่งเน้นประโยชน์ในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือทิฏฐธัมมิกัตถะ เชื่อมกับสัมปรายิกัตถะ เช่น เรื่องมิตรแท้ มิตรเทียม ในสิงคาลกสูตร (ที.ปา.11/186-197/199-202 แปลเอาความ) ดังความว่า

     "ดูกรคหบดีบุตร คน ๔ พวกเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นอมิตร เป็นมิตรเทียม คือ คนปอกลอก...คนดีแต่พูด...คนหัวประจบ...คนชวนฉิบหาย

        ๑) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดปอกลอก โดยฐานะ ๔ คือ เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว...ยอมเสียน้อย หวังจะเอาให้มาก...ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน...คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ ของตัว

        ๒) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดดีแต่พูด โดย ฐานะ ๔ คือ ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย...ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย...สงเคราะห์ ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้...เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

        ๓) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดหัวประจบ โดยฐานะ ๔ คือ เพื่อนจะทำชั่วก็เออออ...เพื่อนจะทำดีเออออ...ต่อหน้าสรรเสริญ...ลับหลังนินทา

        ๔) พึงทราบอมิตร ผู้เป็นมิตรเทียม ชนิดชวนฉิบหาย โดยฐานะ ๔ คือ คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา...คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน...คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น...คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

     "ดูกรคหบดีบุตร คน ๔ พวกเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นมิตร มีใจงาม คือ มิตรอุปการะ...มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์...มิตรแนะนำประโยชน์...มิตรมีใจรัก

        ๑) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดอุปการะ โดยฐานะ ๔ คือ เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน...เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน...เพื่อนมีภัย เป็นที่พึงพำนักได้...เมื่อมีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

        ๒) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดร่วมสุขร่วมทุกข์ โดยฐานะ ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน...รักษาความลับของเพื่อน...มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง...แม้ชีวิตก็สละได้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อน

        ๓) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดแนะนำประโยชน์ โดยฐานะ ๔ คือ ห้ามปรามจากความชั่ว...ให้ตั้งอยู่ในความดี...ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง...บอกทางสวรรค์ให้

        ๔) พึงทราบมิตร ผู้มีใจงาม ชนิดมีใจรัก โดยฐานะ ๔ คือ เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ...เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี...เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้...เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน"


   อีกแห่งหนึ่ง ว่า

     "ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ควรคบ ๗ ประการเป็นไฉน ? กล่าวคือ ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ทนสิ่งที่ทนได้ยาก เปิดเผยความลับแก่เพื่อน รักษาความลับของเพื่อน เมื่อมีภัยพิบัติ ไม่ทอดทิ้ง เมื่อเพื่อนสิ้นไร้ ไม่ดูหมิ่น"

     หลักที่นับว่าเป็นข้อปฏิบัติทั่วไปสำหรับมิตร ก็คือ คำสอนในเรื่องทิศ ๖ ที่ว่า (ที.ปา.11/202/204)

     "ดูกรคหบดีบุตร มิตรและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นเหมือนทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรพึงบำรุงโดยฐานะ ๕ คือ

        ๑) ทาน   ให้ปัน

        ๒) ปิยวาจา   พูดอย่างรักกัน

        ๓) อัตถจริยา   ทำประโยชน์แก่เขา

        ๔) สมานัตตตา   เอาตัวเข้าสมาน

        ๕) อวิสังวาทนตา   พูดขานไม่คลาดความจริง

     พึงสังเกตว่า ข้อปฏิบัติ ๔ ข้อแรก ก็คือหลักที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการนั่นเอง สังคหวัตถุนั้นเป็นหลักการสงเคราะห์ หรือหลักการยึดเหนี่ยวน้ำใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ซึ่งเป็นหลักธรรมสำหรับแสดงน้ำใจต่อกันระหว่างคนทั่วไป เมื่อหลักทั้งสองนี้ตรงกัน จึงเหมือนกับพูดว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนทั้งหลายเป็นมิตรต่อกัน หรือปฏิบัติต่อกันอย่างมิตร

     นอกจากนี้ พึงสังเกตด้วยว่า บรรดาข้อปฏิบัติเหล่านี้ การเอาตัวเข้าสมาน คือ ทำตัวให้เข้ากับเขาได้ ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน นับว่าเป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นการเข้าถึงตัวอย่างแท้จริง ซึ่งมีผลทางจิตใจ และชักจูงความรู้สึกนึกคิดได้มาก ดังจะเห็นว่า ท่านจัดมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ไว้เป็นมิตรแท้ประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ (สังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งหมวดหนึ่ง)


     พระภิกษุสงฆ์ หรือสมณะชีพราหมณ์ ก็พึงทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของชาวบ้าน ดังจะเห็นว่า หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ต่อกุลบุตร ตามหลักทิศเบื้องบน ตรงกันทุกข้อกับลักษณะมิตรแท้ ประเภทมิตรแนะนำประโยชน์จะว่า พระสงฆ์เป็นมิตรแท้ ประเภทมิตรแนะนำประโยชน์ ก็ได้ แต่หน้าที่ของพระสงฆ์นั้น มีเพิ่มมาอีก ๒ ข้อ รวมเป็น ๖ ข้อ คือ (ที.ปา.11/204/206)

        ๑. ห้ามปราม (สอนให้เว้น) จากความชั่ว

        ๒. (แนะนำสั่งสอน) ให้ตั้งอยู่ในความดี

        ๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี (เพิ่ม)

        ๔. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง

        ๕. (ชี้แจงอธิบาย) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้ว ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง (เพิ่ม)

        ๖. บอกทางสวรรค์ (สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุข)


     หน้าที่ของพระสงฆ์นี้ เป็นไปตามความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพระสงฆ์ กับ ชาวบ้าน ดังพุทธพจน์ว่า

        "ภิกษุทั้งหลาย   พราหมณ์คหบดี (ชาวบ้าน) ทั้งหลาย   เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย เป็นผู้บำรุงเธอทั้งหลายด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

        "แม้พวกเธอก็จงเป็น ผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์คหบดีทั้งหลาย โดยแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์คหบดีเหล่านั้น

        "ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ และบรรพชิต อาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อมุ่งหมายจะสลัดเสียซึ่งโอฆะ เพื่อทำความจบสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการฉะนี้

        "ผู้ครองเรือน และผู้ไร้เรือน ทั้งสองฝ่าย อาศัยซึ่งกันและกัน ย่อมบำเพ็ญให้สัมฤทธิ์ซึ่งสัทธรรม ที่เป็นโยคเกษมอันยอดเยี่ยม ฯลฯ" (ขุ.อิติ.25/287/314)

     และมีพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง ยืนยันการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ชาวบ้าน (โดยทางที่ชอบธรรม) ว่า

        "ถูกอย่างนั้น นายบ้าน ตถาคตสรรเสริญการเอื้อเอ็นดู สรรเสริญการช่วยรักษา สรรเสริญการอนุเคราะห์แก่สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย" (สํ.สฬ.18/621/399)

     อย่างไรก็ตาม ความเป็นกัลยาณมิตรของพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆทางธรรม ด้วยเมตตากรุณาแก่ชาวบ้านดังกล่าวมานี้ ก็จะต้องคงรักษาลักษณะพิเศษแห่งความมีชีวิตที่เป็นอิสระ และความเป็นสมณะไว้ด้วย มีให้กลายเป็นการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียแก่ทั้งสองฝ่าย คือ กลายเป็นเครื่องขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของตนเอง และทำให้ชาวบ้านขาดที่พึ่ง เพราะมีแต่คนที่ยังวุ่นวายตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับพวกเขา ไม่มีหลักที่จะช่วยเหนี่ยวออกไปให้พ้นจากความสับสนวุ่นวายได้


     ลักษณะความสัมพันธ์ผิดพลาด ที่พระสงฆ์กลายเป็นผู้ตกลงมาอยู่ในสภาพวุ่นวายติดแหติดอวนอย่างเดียวกับชาวบ้าน หมดความสามารถที่จะช่วยดึงชาวบ้านออกไปสู่ความเป็นอิสระ เช่นนี้ ท่านเรียกว่าเป็นอาการที่ถูกมนุษย์จับไว้ ดังพุทธพจน์ว่า

        "ดูกรภิกษุ การถูกมนุษย์จับไว้เป็นไฉน ? กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์ทั้งหลาย รื่นเริงด้วยกัน โศกเศร้าด้วยกัน เมื่อเขาสุข ก็พลอยสุขไปกับเขา เมื่อเขาทุกข์ก็พลอยทุกข์ไปกับเขา เมื่อเขาเกิดกิจธุระขึ้น ก็เข้าจัดแจง (เจ้ากี้เจ้าการ) ด้วยตนเอง นี้เรียกว่า ถูกมนุษย์จับไว้" (สํ.สฬ.18/323/225)

     เมื่อปฏิบัติหน้าที่ในด้านการสั่งสอนโดยตรง กัลยาณมิตรควรดำรงอยู่ในหลักปฏิบัติที่เน้นความบริสุทธิ์ ความมีเมตตา และความจริงใจต่อไปนี้ด้วย


     หลักปฏิบัติหมวดแรก เรียกชื่อว่า ธรรมเทศกธรรม แปลว่า ธรรมของผู้แสดงธรรม มี ๕ ประการ จับความได้ ดังนี้

        ๑. อนุปุพพิกถา   สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหา ตามลำดับความยากง่ายลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ

        ๒. ปริยายทัสสาวี   จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชีแจงให้เข้าใจชัด ในแต่ละแง่แต่ละประเด็น อธิบายยักเยื้องไปต่างๆ ให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล

        ๓. อนุทยตา   ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน

        ๔. อนามิสันดร   ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่งเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่ตนจะได้ลาภ สินจ้าง หรือผลประโยชน์ตอบแทน

        ๕. อนุปหัจจ์   วางจิตตรง ไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถแสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

   มีพุทธพจน์เกี่ยวกับการสอนที่บริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ ดังนี้

        "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แสดงธรรมแก่ผู้อื่น โดยมีจิตคิดอย่างนี้ว่า ขอให้คนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา แลครั้นฟังธรรมแล้ว พึงเลื่อมใส ขอให้ผู้ที่เลื่อมใสแล้ว พึงกระทำอาการแห่งผู้เลื่อมใส แก่เราด้วยเถิด ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ ไม่บริสุทธิ์

        "ภิกษุทั้งหลาย   ภิกษุใดแล  ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้อื่น โดยมีจิตคิดอย่างนี้ว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติบรรลุเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล ควรเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ อันวิญญูชนพึงรู้ได้จำเพาะตน ขอให้คนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงเข้าใจธรรมทั่วชัด และครั้นเข้าใจทั่วชัดแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อเป็นเช่นนั้นเถิด ดังนี้

        "เธอย่อมแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ เพราะอาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมดี...เพราะอาศัยความการุณย์...เพราะอาศัยความเอื้อเอ็นดู...เพราะอาศัยความปรารถนาดี ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้บริสุทธิ์" (สํ.นิ.16/472/234)


     แม้แต่หน้าที่ต่อศิษย์ ที่ครูอาจารย์ทั่วไปพึงปฏิบัติตามหลักทิศ ๖ ซึ่งมิได้เน้นในแง่ความบริสุทธิ์มากนัก ก็มีลักษณะทั่วไปในแนวเดียวกัน คือ ย้ำความมีเมตตา และการกระทำด้วยความตั้งใจจริง ดังข้อปฏิบัติต่อไปนี้ (ที.ปา.11/200/203)

        ๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี

        ๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

        ๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

        ๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ

        ๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (คือสอนให้ใช้ความรู้ทำงานได้จริง สามารถใช้หาเลี้ยงชีพเป็นอยู่ได้)


     คุณสมบัติของกัลยาณมิตรที่ควรย้ำไว้ในตอนท้ายมี ๒ ประการ ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นคุณสมบัติของกัลยาณมิตรอย่างเลิศ คือ ความเป็นอยู่กระทำได้จริงในสิ่งที่สอนแก่ผู้อื่น หรือได้บรรลุผลสำเร็จนั้นๆ ด้วยตนเองแล้ว จึงสอนเรื่องนั้นแก่ผู้อื่น อย่างหนึ่ง และความอิสระ เมื่อจะช่วยผู้อื่น ตนเองไม่ติดนุงนังอยู่ในเครื่องผูกพันเดียวกันกับที่เขากำลังติดอยู่ อีกอย่างหนึ่ง อย่างแรกมีพุทธภาษิตตรัสไว้หลายแห่ง ยกตัวอย่าง เช่น

        "ทำตนนี่แหละ   ให้ตั้งอยู่ในคุณความดีอันสมควรก่อน จากนั้นจึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่น บัณฑิตไม่ควรมีข้อมัวหมอง

        "ถ้าพร่ำสอนผู้อื่น ฉันใด ก็ควรทำตน ฉันนั้น" (ขุ.ธ.25/22/36)


     คำเตือนอย่างนี้ โดยมากเพ่งไปในด้านความประพฤติ คือ เรื่องความดีความชั่ว แต่ในด้านการบรรลุผลสำเร็จทางจิต และปัญญา ถ้าได้ผู้บรรลุแล้วมาเป็นกัลยาณมิตร ก็ย่อมเป็นการดีเลิศ ถ้าไม่ได้ ก็พึงหาผู้ก้าวไปไกลกว่า หรืออย่างน้อยเสมอกัน ดังพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว เพราะบุคคลผู้เป็นพหูสูตทรงความรู้ตามตำรา หรือตามที่เล่าเรียนมา บางท่านชี้แจงสั่งสอน ทำให้ผู้อื่นปฏิบัติบรรลุธรรมได้โดยที่ตัวผู้สอนเองหาบรรลุไม่* หรือ บางคราวผู้มีภูมิธรรมเสมอกันมาสนทนาสอบค้นธรรมด้วยกัน แล้วเลยพลอยบรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน

     คุณค่า หรือประโยชน์ที่สำคัญด้านหนึ่งของความมีกัลยาณมิตร ก็คือ การมีตัวอย่างที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่กำลังปฏิบัติและมุ่งหมายนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้จริง บรรลุได้จริง และถ้าทำได้สำเร็จแล้ว จะได้รับผลดีจริง อีกประการหนึ่ง กัลยาณมิตรมีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์ในสิ่งที่ปฏิบัตินั้นดีกว่า จึงสามารถช่วยชี้แนะบอกแนวหรือวิธีการที่จะทำให้การปฏิบัติง่ายขึ้น หรือมีทางลัดมากขึ้น

     กัลยาณมิตรที่ได้บรรลุผลการปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้ว ย่อมอำนวยคุณค่าหรือประโยชน์ที่กล่าวมานี้ได้เต็มที่ ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดศรัทธา มีกำลังใจแรงกล้า จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ควรจะเพ่งหวังกัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เช่นนี้ก่อน


     ส่วนความเป็นอิสระ มองได้ ๒ ด้าน คือ ด้านความเป็นอยู่ หรือระบบการดำเนินชีวิต และความเป็นอิสระในจิตใจ

     ความเป็นอิสระนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วเกี่ยวกับภิกษุผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์ข้างต้น ผู้ที่ติดอยู่ในเครื่องผูกมัดจองจำอย่างเดียวกับเขา หรือว่ายวนอยู่ในกระแสน้ำเชียว ในเกลียวคลื่นเดียวกับคนอื่น แม้แต่ตนเองก็ยังช่วยไม่ได้ จะช่วยปลอดเปลื้อง หรือรื้อถอนผู้อื่นมาได้อย่างไร

     คนที่ติดอยู่ในระบบที่ผูกรัดกดดันทางด้านความเป็นอยู่ การอาชีพของตน และครอบครัว ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตน และจำเพาะครอบครัวของตน เหมือนกันกับคนอื่นๆ เมื่อสังคมเกิดปัญหา ย่อมยากที่จะมีเวลามีความคิดมาอุทิศให้แก่การไถ่ตอนคนอื่นๆ หรือที่จะนำผู้คนออกไปสู่แนวทางใหม่ๆได้ เมื่อพยายามทำ ก็มักเข้าแนวที่ว่ากันว่า พายเรือเวียนวนอยู่ในอ่าง ยิ่งเมื่อทั้งระบบความเป็นอยู่ ทั้งจิตใจ ล้วนไม่เป็นอิสระทั้งสองอย่าง ก็ยิ่งประสบความสำเร็จได้ยาก

     ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระบบสงฆ์ให้เป็นชุมชนอิสระ มีความเป็นอยู่หรือระบบการดำเนินชีวิตเป็นอิสระจากระบบของสังคมใหญ่ ดังจะเห็นได้จากวินัย ที่เป็นเครื่องจัดระบบแบบแผนของสงฆ์


     เมื่อมีระบบชีวิตความเป็นอยู่เป็นอิสระด้วย และมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระเป็นพื้นฐานด้วย ก็จะทำให้สงฆ์เป็นชุมชนอิสระ ที่ช่วยชักนำสิ่งที่ดีงามถูกต้องเข้ามาให้แก่สังคมส่วนใหญ่อย่างได้ผล และสามารถเป็นแหล่งที่พึ่งอาศัย ช่วยให้ความเป็นอิสระระดับต่างๆ แก่คนในสังคมใหญ่นั้นด้วย มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสไว้ ดังนี้

        "ดูกรจุนทะ ผู้ที่ตนเองก็จมอยู่ในโคลนเลนอันลึก จะช่วยฉุดยกคนอื่นที่จมอยู่ในโคลนเลนอันลึกขึ้นมาได้นั้น ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

        "ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในโคลนเลนอันลึก จะช่วยฉุดยกคนอื่นที่จมอยู่ในโคลนเลนอันลึกขึ้นมา ข้อนี้ จึงเป็นฐานะที่เป็นไปได้

        "ผู้ที่ตนเองมิได้ฝึก มิได้อบรม ยังไม่หายร้อนกิเลส จักฝึก จักอบรม จักทำคนอื่นให้หายร้อนกิเลส ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

        "ผู้ที่ตนเองฝึกแล้ว อบรมแล้ว ดับร้อนกิเลสแล้ว จักฝึก จักอบรม จักทำคนอื่นให้หายร้อนกิเลส ข้อนี้ จึงจะเป็นฐานะที่เป็นไปได้" (ม.มู.12/108/81 ฯลฯ)


     เพื่อรักษาระบบชีวิตของพระสงฆ์ให้คงสภาพเป็นอิสระไว้ให้ได้มากที่สุด มีพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นหลักแสดงจรรยาบรรณของนักบวช ความว่า

        "บรรพชิต ไม่พึงเที่ยววุ่นทำไปทุกอย่างไม่เลือก ไม่พึงเป็นคนของคนอื่น ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ และไม่พึงเอาธรรมมาค้าขาย" (ขุ.อุ.35/134/179)


     เรื่องนี้ สรุปได้ด้วยพระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นกัลยาณมิตรสูงสุด ซึ่งทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของกัลยาณมิตรอย่างเลิศ ครบทั้ง ๒ ข้อ คือ ทรงทำได้จริง บรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่นำมาสอนแล้วด้วย และทรงมีความเป็นอิสระ หลุดพ้นทั้งจากระบบของสังคมที่แวดล้อมอยู่ และทั้งจากกิเลสที่ผูกมัดสุมรุมอยู่ในจิตใจ

        "ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ตั้งอยู่ลอยพ้นเหนือน้ำ ไม่ถูกน้ำฉาบติด ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลก เติบโตในโลก แต่เป็นอยู่ลอยเหนือโลก ไม่ติดกลั้วด้วยโลก" (สํ.ข.17/241/171)

        "ดูกรวาหนะ ตถาคตสลัดออกได้แล้ว ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นแล้ว จากธรรม ๑๐ ประการ จึงเป็นอยู่ด้วยใจไร้เขตแดน ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง ? คือ ตถาคตสลัดออกได้แล้ว ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นแล้ว จากรูป...จากเวทนา...จากสัญญา...จากสังขาร...จากวิญญาณ...จากความเกิด...จากความแก่...จากความตาย...จากทุกข์ทั้งหลาย...จากกิเลสทั้งหลาย จึงเป็นอยู่ด้วยจิตใจที่ไร้เขตแดน เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ตั้งอยู่ลอยพ้นเหนือน้ำ ไม่ถูกน้ำฉาบติด ฉะนั้น"

        "พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงตื่นเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อปลุกให้ตื่น ทรงฝึกพระองค์เองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก ทรงสงบเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ ทรงข้ามพ้นเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการข้ามพ้น ทรงหายร้อนสนิทเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความดับร้อน"    (ที.ปา.11/60/57 ฯลฯ หายร้อนและดับร้อน แปลตามศัพท์ว่า ปรินิพพานเองแล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน)


     ท้ายสุด  ลักษณะการสอนของพระพุทธเจ้า  ที่เรียกว่า "อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน" ๓ อย่าง น่าจะใช้เป็นหลักตรวจสอบตนเองอย่างกว้าง ๆ  สำหรับกัลยาณมิตรผู้จะทำหน้าที่ในการสอนให้ได้ผลจริง คือ

        ๑. ทรงแสดงธรรมด้วยความรู้ยิ่ง คือ ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงเองแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่น เพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงตาม ในธรรมที่ควรรู้ยิ่งเห็นจริง

     ข้อนี้ มองในแง่ตัวผู้สอน ว่ามีความรู้จริงในเรื่องที่สอน หรือได้บรรลุผลประจักษ์ในเรื่องที่สอนนั้นมาด้วยตนเองก่อนแล้ว

        ๒. ทรงแสดงธรรมมีเหตุผล คือ ทรงสั่งสอนชี้แจงให้เห็นเหตุผล ซึ่งผู้ฟังสามารถพิจารณาให้เข้าใจ โดยใช้ปัญญาของเขาเอง

     ข้อนี้ มองในแง่ของผู้เรียน หรือ ผู้ฟัง ซึ่งผู้สอนแสดงคำสอนชนิดที่ให้อิสรภาพ หรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ผู้ฟังคิดพิจารณา ใช้ปัญญาของเขา พัฒนาปัญญาของตนเอง และเข้าใจหรือเข้าถึงความจริงด้วยตัวของเขาเอง ผู้สอนเพียงนำข้อมูลข้อเท็จจริงเหตุผล หรือข้อเสนอมาตีแผ่แจกแจงให้ดู และกระตุ้นให้คิดให้พิจารณา

        ๓. ทรงแสดงธรรมมีเหตุผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ คือ ทรงสอนสิ่งที่เป็นจริง ซึ่งคนมีปัญญารักความจริง พิจารณาแล้วจะต้องยอมรับ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ให้เกิดผลจริง ซึ่งผู้ปฏิบัติย่อมจะได้รับผล สอดคล้องสมควรแก่การปฏิบัติ

     ข้อนี้  มองในแง่สิ่งที่สอน ซึ่งสมความจริง หรือ เป็นอย่างนั้นจริง  ยืนยันได้ มีแก่นสาร ไม่เหลวไหล นำไปปฏิบัติได้ผล ไม่เป็นหมัน ไม่เป็นโมฆะ ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติได้จริง ทำแค่ไหนอย่างไร ก็ได้ผลสมกันกับการกระทำ และองค์ประกอบที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นๆ

     อย่างไรก็ดี  ถ้าไม่อาจหากัลยาณมิตรผู้ได้รู้เห็นผลประจักษ์เองแล้ว ผู้ทำได้จริง และเป็นอิสระจริง บุคคลพหูสูต ที่สอนเขาทั้งที่ตัวเองไม่ได้เข้าถึงจริงนั่นแหละ ก็เป็นประโยชน์ได้ โดยที่บุคคลพหูสูตนั้น  เป็นเหมือนนายโคบาลเลี้ยงโคให้คนอื่น หรือ เหมือนคนตาบอดถือตะเกียง  คนอื่นที่ตาดี ลืมตาขึ้นแล้ว ก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายได้ คนตาดีที่ว่านั้น ก็คือคนมีโยนิโสมนสิการ

     ในกรณีเช่นนั้น ไม่ต้องพูดถึงบุคคลพหูสูตที่รู้กว้างขวาง และชำนาญการสอน แม้แต่คนโง่เขลา หรือคนบ้า จำถ้อยคำมีสาระจากคนอื่นมาท่องหรือบ่นว่าอะไร มีแง่ให้คิด คนมีโยนิโสมนสิการได้ฟัง ก็เกิดความแจ่มแจ้งหยั่งรู้สัจธรรมได้เหมือนกัน (เช่นเรื่องใน สํ.อ.1/320 สุตฺต.อ.2/252)

     แต่เมื่อถึงขั้นนี้   ความสำคัญอยู่ที่ฝ่ายผู้ฟัง คือ องค์ประกอบฝ่ายภายใน  ที่เป็นปัจจัยอย่างที่ ๒ ที่จะกล่าวเป็นข้อถัดไป



* ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน = ปฏิบัติธรรมข้อย่อยคล้อยแก่ธรรมหลักใหญ่ คือปฏิบัติธรรมถูกตามหลักการ และความมุ่งหมายของธรรมนั้นๆ


 ไม่พึงเที่ยววุ่นทำไปทุกอย่างไม่เลือก   แปลจาก   น  วายเมยฺย  สพฺพตฺถ    แปลตามรูปศัพท์ว่า ไม่พึงพยายามในที่ทั้งปวง หรือในเรื่องทุกอย่าง อรรถกถาว่า (อุ.อ.422) ไขความว่า ไม่พึงพยายามในความชั่วทุกอย่าง เช่น ทำงานเดินข่าวเป็นคนสอดแนม เป็นต้น เหมือนอย่างพวกราชบุรุษ ไม่พึงเป็นคนของคนอื่น คือ ไม่ควรเป็นคนรับใช้หรือเป็นลูกน้องของใคร


* พหูสูตเช่นนี้ ท่านเปรียบเหมือนนายโคบาลผู้เลี้ยงโคของคนอื่น ได้แต่นับจำนวนโค แต่ไม่มีส่วนได้ลิ้มเบญจโครส   (ขุ.ธ.25/11/17 ฯลฯ)

 




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2566
0 comments
Last Update : 14 ตุลาคม 2566 8:39:11 น.
Counter : 157 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space