กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
13 ตุลาคม 2566
space
space
space

ความสำคัญการมีกัลยาณมิตร




ความสำคัญของการมีกัลยาณมิตร


     "ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่  ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค" (สํ.ม.19/129/36)

     "ดูกรอานนท์  ความมีกัลยาณมิตร...เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตร...พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค

     "อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร  เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา  ก็พ้นจากชาติ  ผู้มีชราเป็นธรรม ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส"

     "ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงเงินแสงทอง เป็นบุพนิมิตมาก่อน ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดของโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์ ๗ "

     "เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย เมื่อบุคคลมีกัลยาณมิตร กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป"

     "เราไม่เล็งเห็น ธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่....ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย"

     "สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่าง อื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น"

     "ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ

        ๑) จักเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์  สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร ฯลฯ

        ๒) จักเป็นผู้ได้  (มีโอกาสสดับฟัง ได้ร่วมสนทนาอย่างสะดวกสบาย) ตามความปรารถนา ในเรื่องต่างๆ ที่ขัดเกลาอุปนิสัย ชำระจิตใจให้ปลอดโปร่ง คือ เรื่องความมักน้อย ฯลฯ เรื่องการบำเพ็ญเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ

        ๓) จักเป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เพื่อกำจัดอกุศลธรรม และเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้เพียบพร้อม จักเป็นผู้แข็งขัน บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรม

        ๔) จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นอริยะ หยั่งรู้ถึงความเกิดความดับ ชำแรกกิเลส นำไปสู่ความจบสิ้นแห่งทุกข์" (องฺ.นวก.23/205,207/365 ฯลฯ)


     บาลีที่ยกมาอ้างนี้  เน้นความสำคัญของความมีกัลยาณมิตรสำหรับภิกษุ เพราะเป็นพุทธพจน์ที่ตรัสกะพระภิกษุ

     ส่วนในด้านคำสอนสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะชาวบ้าน ยังมีหลักธรรม และพุทธภาษิต ที่ย้ำถึงความสำคัญของการคบหา และการเสวนาคนดี เพิ่มจากนี้อีกมากมาย ดังเช่นว่า (ที่นี่จะตัดชื่อคัมภีร์ที่มาออก)

     ความมีกัลยาณมิตร เป็นข้อธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นไปเพื่อบรรลุทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์โลกนี้) (องฺฺ.อฏฺฐก.23/144/289)

     การคบคนชั่ว เป็นอบายมุข

     การคบมิตร และปฏิบัติถูกต้องต่อมิตร เป็นหลักอย่างหนึ่งในคำสอนเรื่องทิศ ๖

     การรู้จักเลือกคบคนตามหลักมิตรแท้ มิตรเทียม เป็นหลักธรรมหมวดใหญ่ทีเดียว

     การเสวนาสัตบุรุษ เป็นข้อธรรมหนึ่ง ในจักร ๔ ในวุฒิธรรม ๔ และในโสตาปัตติยังคะ

     ความมีกัลยาณมิตร เป็นข้อธรรมหนึ่งในนาถกรณธรรม หรือธรรมที่ทำให้คนพึ่งตนได้ ๑๐ ประการ

     ในชาดก ซึ่งเป็นคำสอนสำหรับคนทุกชั้นทุกประเภท โดยเฉพาะชาวบ้าน ก็มีเรื่องราวและสุภาษิตแนะนำ เกี่ยวกับการคบหา หรือการเสวนา เป็นจำนวนมาก

     นอกจากนั้น ยังมีธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระจายอยู่ทั่วๆไปในพระสุตตันตปิฎก ขอยกมาดูเป็นตัวอย่าง

        "การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาคนควรบูชา นี่เป็นอุดมมงคล"

        "คบคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น"

        "ผู้ใด แม้มิได้ทำความชั่ว แต่เกลือกกลั้วกับผู้ทำบาป ผู้นั้น ย่อมพลอยถูกระแวงในกรรมชั่ว และเสื่อมเสียชื่อเสียงยิ่งๆ ขึ้น"

        "ผู้คบคนเลว ย่อมพลอยเลวลง"

        "ผู้ใดห่อปลาเน่าด้วยใบคา ใบคาย่อมเหม็นกลิ่นปลาคละคลุ้ง การเกลือกกลั้วคนพาล ย่อมมีผลอย่างนั้น

        "ผู้ใดห่อใบกฤษณาด้วยใบไม้ ใบไม้นั้น ย่อมพลอยมีกลิ่นหอมฟุ้ง การเสวนานักปราชญ์ ย่อมมีผลอย่างนั้น"

        "ปราชญ์ ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ไม่ชวนทำสิ่งไม่เป็นเรื่อง"

        "พึงมองเห็นคนมีปัญญา ที่ชอบชี้โทษ พูดจาข่มขี่ เหมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ คนเช่นนั้น เป็นบัณฑิต ควรคบได้ คบคนเช่นนั้น มีแต่ดีขึ้น ไม่เลวลง"

        "พึงแนะนำตักเตือนเถิด พึงร่ำสอนเถิด พึงห้ามปรามจากความชั่วเถิด คนที่ทำเช่นนั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษ ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษ"

        "ธีรชน อยู่ร่วมด้วยเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งญาติ"

        "เดินร่วมกัน ๗ ก้าว ก็นับว่าเป็นมิตร เดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว ก็นับว่าเป็นสหาย อยู่ร่วมกันสักเดือนหนึ่ง หรือครึ่งเดือน ก็นับว่าเป็นญาติ ถ้านานกว่านั้นไป ก็เหมือนเป็นตัวเอง"

        "มีญาติพวกพ้องมาก ย่อมเป็นการดี เหมือนหมู่ไม้มากหลายในกลางป่า ต้นไม้ที่ขึ้นอยูโดดเดี่ยว ถึงจะงอกงามใหญ่โตเท่าใด ลมก็พัดให้โค่นลงได้"

        "ถ้าได้สหายผู้มีปัญญาปกครองตน พึงพอใจมีสติเที่ยวไปกับเขา ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญาปกครองตน พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำความชั่ว"

        "ควรคบมิตรที่เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม ผู้โอฬารด้วยความดี มีปฏิภาณ ครั้นรู้จักประโยชน์ที่มุ่งหมาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว จึงควรเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด"

        "การฟังธรรมตามกาล ...การสนทนาธรรมตามกาล นี่เป็นอุดมมงคล"

        "คนขึ้นแพน้อยไปในมหาสมุทร พึงจมเสีย ฉันใด แม้แต่สาธุชน อาศัยคนเกียจคร้าน ก็ย่อมจมลงได้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ควรเว้นห่างคนเกียจคร้าน มีความเพียรทรามอย่างนั้นเสีย พึงอยู่ร่วมกับเหล่าบัณฑิต ผู้สงัด ผู้เป็นอารยะ ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งพินิจ ผู้เร่งระดมความเพียรเป็นนิตย์" (สํ.นิ.16/372/190 ฯลฯ)

     สุภาษิตทำนองนี้ แม้ไม่ต้องยกมาแสดงมาก ก็พอให้ข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบได้ว่า

        - พุทธพจน์เกี่ยวกับการเสวนาที่ตรัสแก่พระภิกษุ โดยมากมีจุดหมายมุ่งตรงต่อปรมัตถ์ และประสงค์จะเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิในแนวที่จะเป็นโลกุตระอย่างเด่นชัด

        - ส่วนที่แสดงสำหรับคนทั่วไป หรือ ชาวบ้าน เน้นประโยชน์ในขั้นทิฏฐธัมมิกัตถะ เชื่อมกับสัมปรายิกัตถะ มุ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชีวิตประจำวัน กลมกลืนไปกับการชักจูงสัมมาทิฏฐิในระดับโลกีย์ คือ ความเชื่อกรรม ความสำนึกรับผิดชอบเกี่ยวกับความดีความชั่ว ยังไม่เน้นสัมมาทิฏฐิแนวที่จะเป็นโลกุตระ คือ การมองโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นทำนองปล่อยให้แฝงอยู่ และสอนสอดแทรกไปตามโอกาส* อย่างที่เรียกว่า ค่อยๆปูพื้นฐานจิตใจให้พร้อมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคนทั่วไปมีหลายระดับ



*คำสอนสำหรับคนทั่วไปในแนวนี้ เช่น การให้รู้จักวางใจต่อความตาย โดยพิจารณาความจริงเกี่ยวกับชีวิตและสังขารทั้งปวงที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน และการไม่มัวเมาในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เป็นต้น


 




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2566
0 comments
Last Update : 13 ตุลาคม 2566 19:09:18 น.
Counter : 157 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space