กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
28 ตุลาคม 2566
space
space
space

หมวดสมาธิ ๖. สัมมาวายามะ



ตอน ๕:   ชีวิต    ควรเป็นอยู่อย่างไร ?

องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา


หมวดสมาธิ   


   ๖. สัมมาวายามะ


     องค์มรรคข้อนี้   เป็นข้อแรกในหมวดสมาธิ จัดเข้าในอธิจิตตสิกขา มีคำจำกัดความแบบพระสูตร ดังนี้

     “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ เป็นไฉน ? นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

        ๑) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่ยังไม่เกิด

        ๒) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อละเสีย ซึ่งอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว

        ๓) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความเกิดขึ้น แห่งกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดขึ้น

        ๔) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว”  (ที.ม.10/299/348 ฯลฯ)


     ส่วนในอภิธรรม มีคำจำกัดความเพิ่มอีกแบบหนึ่ง ดังนี้

        “สัมมาวายามะ เป็นไฉน ?  การระดมความเพียร (วิริยารัมภะ) ทางใจ ความก้าวหน้า ความบากบั่น ความขะมักเขม้น ความพยายาม ความอุตสาหะ ความอึดสู้ ความเข้มแข็ง ความมั่นคง ความก้าวหน้าไม่ลดละ  ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ  ความไม่ทอดทิ้งธุระ  การแบกทูนเอาธุระไป วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ วิริยสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียก ว่า สัมมาวายามะ” (อภิ.วิ. 35/181/140 ฯลฯ)


     ในคำจำกัดความและความหมายทั้งหมดนี้   พึงสังเกตความสำคัญของฉันทะ ที่เป็นตัวนำของสัมมาวายามะ และเป็นสาระหลักของความเพียรทั้งหมด


     สัมมาวายามะ อย่างที่แยกเป็น ๔ ข้อ ตามคำจำกัดความแบบพระสูตรนั้น เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า สัมมัปปธาน หรือปธาน ๔ และมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับความเพียร แต่ละข้อนั้นว่า

        ๑. สังวรปธาน   เพียรป้องกัน หรือเพียรระวัง   (อกุศล ที่ยังไม่เกิด)

        ๒. ปหานปธาน   เพียรละ หรือเพียรกำจัด   (อกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว)

        ๓. ภาวนาปธาน   เพียรเจริญ หรือ เพียรสร้าง   (กุศล ที่ยังไม่เกิด)

        ๔. อนุรักขนาปธาน   เพียรอนุรักษ์ หรือเพียรรักษาและส่งเสริม   (กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว)

     บางแห่งมีคำอธิบายแบบยกตัวอย่างความเพียร ๔ ข้อนี้ เช่น

        ๑. สังวรปธาน   ได้แก่   ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม ซึ่งอินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะพึงเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ (ก็เช่นเดียวกัน)

        ๒. ปหานปธาน   ได้แก่   ภิกษุไม่ยอมให้กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้วตั้งตัวอยู่ได้ ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย กระทำให้หมดสิ้นไปเสีย ทำให้ไม่มีเหลืออยู่เลย

        ๓.  ภาวนาปธาน   ได้แก่   ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ซึ่งอิงวิเวก อิงวิราคะ อิงนิโรธ โน้มไปเพื่อการสลัดพ้น

        ๔. อนุรักขนาปธาน   ได้แก่   ภิกษุอนุรักษ์ (คอยถนอมรักษา) สมาธินิมิตอันดี คือ สัญญา ๖ ประการที่เกิดขึ้นแล้ว


     ความเพียรเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่สัมมาวายามะ เป็นองค์มรรคประจำข้อ ๑ ใน ๓ ข้อ  (สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ) ซึ่งต้องคอยช่อยหนุนองค์ มรรคข้ออื่นๆ ทุกข้อเสมอไป และในหมวดธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกหมวด จะพบความเพียรแทรกอยู่ด้วย ในชื่อใดชื่อหนึ่ง การเน้นความสำคัญของธรรมข้อนี้ อาจพิจารณา ได้จากพุทธพจน์ เช่น

        “ธรรมนี้   เป็นของสำหรับผู้ปรารภความเพียร   มิใช่สำหรับคนเกียจคร้าน”

        “ภิกษุทั้งหลาย   เรารู้ชัดถึงคุณของธรรม ๒ ประการ คือ

        ๑) ความเป็นผู้ไม่สันโดษ  ในกุศลธรรมทั้งหลาย

        ๒) ความเป็นผู้ไม่ยอมถอยหลัง ในการบำเพ็ญเพียร

       ... เพราะฉะนั้นแล   เธอทั้งหลาย   พึงศึกษาดังนี้ว่า   เราจักตั้งความเพียร อันไม่ถอยหลัง ถึงจะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูก เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งเหือดไปก็ตามที ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงลุถึงได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว ที่จะหยุดยั้งความเพียรเสีย เป็นอันไม่มี เธอทั้งหลาย พึงศึกษาฉะนี้แล”  (องฺ.ทุก.20/251/64)


     การที่ต้องเน้นความสำคัญของความเพียรนั้น   นอกจากเหตุผลอย่างอื่นแล้ว  ย่อมสืบเนื่องมาจากหลักพื้นฐานของพระพุทธศาสนาที่ว่า สัจธรรมเป็นกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา พระพุทธเจ้า หรือ ศาสดามีฐานะเป็นผู้พบหลักความจริงนั้น แล้วนำมาเปิดเผยแก่ผู้อื่น การได้รับผลจากการปฏิบัติ เป็นเรื่องของความเป็นไปอันเที่ยงธรรมตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ศาสดามิใช่ผู้บันดาล เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนจึงจำเป็นต้องเพียรพยายามสร้างผลสำเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตน ไม่ควรคิดหวัง และอ้อนวอนขอผลที่ต้องการโดยไม่ทำ หลักพุทธศาสนาในเรื่องนี้ จึงมีว่า

          “ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา"

        "ความเพียร   ท่านทั้งหลายต้องทำเอง   ตถาคตทั้งหลาย   เป็นแต่ผู้บอก (ทาง) ให้” (ขุ.ธ.25/30/51)

     อย่างไรก็ตาม   การทำความเพียร   ก็เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ จะต้องเริ่มก่อตัวขึ้นในใจให้พร้อมและถูกต้องก่อน   แล้วจึงขยายออกไปเป็นการกระทำในภายนอกให้ประสานกลมกลืนกัน มิใช่คิดอยากทำความเพียร ก็สักแต่ว่าระดมใช้กำลังกาย เอาแรงเข้าทุ่ม ซึ่งอาจกลายเป็นการทรมานตนเองทำให้เกิดผลเสียได้มาก


     โดยนัยนี้  การทำความเพียรจึงต้องสอดคล้องกลมกลืนกันไปกับธรรมข้ออื่นๆด้วย โดยเฉพาะสติสัมปชัญญะ มีความรู้เข้าใจ   ใช้ปัญญาดำเนินความเพียรให้พอเหมาะ  อย่างที่เรียกว่าไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป  ดังเรื่องต่อไปนี้

     ครั้งนั้น ท่านพระโสณะพำนักอยู่ในป่าสีตะวัน ใกล้เมืองราชคฤห์ ท่านได้ทำความเพียรอย่างแรงกล้า เดินจงกรมจนเท้าแตกทั้งสองข้าง แต่ไม่สำเร็จผล  คราวหนึ่ง ขณะที่อยู่ในที่สงัด จึงเกิดความคิดขึ้น ว่า  “บรรดาสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่เป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เราก็เป็นผู้หนึ่ง ถึงกระนั้น จิตของเรา ก็หาหลุดพ้นจากอาสวะหมดอุปาทานไม่ ก็แหละ ตระกูลของเราก็มีโภคะ เราจะใช้จ่ายโภคสมบัติ และทำความดีต่างๆไปด้วยก็ได้ อย่ากระนั้นเลย เราลาสิกขา ไปใช้จ่ายโภคสมบัติ และบำเพ็ญความดีต่างๆเสียเถิด”

     พระพุทธเจ้า   ทรงทราบความคิดของท่านโสณะ และได้เสด็จมาสนทนาด้วย

     พระพุทธเจ้า: โสณะ เธอเกิดความคิด (ดังกล่าวข้างต้น) มิใช่หรือ

     โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า

     พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร ? ครั้งก่อน เมื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอเป็นผู้ชำนาญในการดีดพิณมิใช่หรือ

     โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า

     พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร ? คราวใด สายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้น พิณของเธอมีเสียง เพราะหรือเหมาะที่จะใช้การ กระนั้นหรือ

     โสณะ: หามิได้ พระเจ้าข้า

     พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร ? คราวใด สายพิณของเธอหย่อนเกินไป คราวนั้น พิณของเธอ มีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ กระนั้นหรือ

     โสณะ: หามิได้ พระเจ้าข้า

     พระพุทธเจ้า: คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้น พิณของเธอ จึงจะมีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ ใช่ไหม

     โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า

     พระพุทธเจ้า:   ฉันนั้น   เหมือนกัน โสณะ ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน   ความเพียรที่หย่อนเกินไป   ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน  เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ   จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย* และจงถือนิมิตในความเสมอพอดีกันนั้น”  (วินย.5/2/5)


     ตัวสัมมาวายามะเองแท้ๆ ที่เป็นองค์มรรคนั้น เป็นคุณธรรมอยู่ภายในจิตใจของบุคคลก็จริง   แต่กระนั้นก็ตาม   สัมมาวายามะจะทำหน้าที่ของมันได้ และจะเจริญงอกงามขึ้นได้ ย่อมต้องอาศัยความสัมพันธ์ กับ โลกภายนอก กล่าวคือ การวางท่าที ตอบสนอง และจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ที่รับรู้เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บ้าง การแผ่ขยายความเพียรนั้นจากภายในจิตใจออกไปเป็นการกระทำ ความประพฤติ การดำเนินชีวิต และ การประกอบกิจการต่างๆ บ้าง สภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้อ หรือ ไม่เอื้อมีอิทธิพลต่อการประกอบความเพียร และความเจริญงอกงามของคุณธรรมภายใน ทั้งในทางเกื้อกูล และในทางขัดขวางบั่นรอน บ้าง

     เฉพาะอย่างยิ่ง ความเพียรพยายามในการประพฤติปฏิบัติธรรม ชนิดที่ขยายออกเป็นการกระทำภายนอก และซึ่งกระทำกันอย่างเป็นงานเป็นการ ที่เรียกว่า “ปธาน” นั้น ต้องเกี่ยวข้องและอิงอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกเป็นอันมาก ทั้งปัจจัยแวดล้อมทางร่างกาย ทางธรรมชาติ และทางสังคม

     ณ จุด หรือขั้นตอนนี้แหละ ที่พุทธธรรมกล่าวถึงบทบาท และความสำคัญของปัจจัยแวดล้อมภายนอกเหล่านั้น ต่อการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม และการเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

     เพื่อให้เห็นตัวอย่าง ที่แสดงความคิดดังกล่าวแล้วนั้น ขอนำเอาพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับเรื่องเช่นนี้มาประกอบการพิจารณาสักเล็กน้อย


     เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่แสดงความคิดดังกล่าวแล้วนั้น ขอนำเอาพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับเรื่องเช่นนี้มาประกอบการพิจารณาสักเล็กน้อย

        “ภิกษุทั้งหลาย คุณสมบัติของผู้บำเพ็ญเพียร (ปธานิยังคะ/องค์ของผู้มีประธาน) มี ๕ อย่างเหล่านี้ ๕ อย่างคืออะไร ? กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

        ๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อตถาคตโพธิ ว่าแม้เพราะเหตุผลดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นอรหันต์ เป็นสัมมาสัมพุทธะ ฯลฯ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม

        ๒.เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย ประกอบด้วยไฟเผาผลาญ ที่สำหรับย่อยอาหารอันสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก พอปานกลาง เหมาะแก่ การบำเพ็ญเพียร

        ๓.เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นผู้เปิดเผยตัวตามเป็นจริง ทั้งในพระศาสดา ทั้งในเพื่อนพรหมจารี ผู้เป็นวิญญู

        ๔.เป็นผู้ระดมความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีความเข้มแข็ง บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

        ๕.เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอย่างอริยะ ที่หยั่งถึงความเกิดขึ้น และความดับสลาย ชำแรกกิเลสได้ อันให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ” (ที.ปา.11/411/295)


        “ภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่างเหล่านี้ มิใช่สมัยที่เหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียร ๕ อย่าง คืออะไร ? กล่าวคือ

        ๑. ภิกษุเป็นผู้แก่เฒ่า  ถูกชราครอบงำ

        ๒. ภิกษุเป็นผู้เจ็บไข้ ถูกพยาธิครอบงำ

        ๓. สมัยทุพภิกขา ข้าวไม่ดี หาอาหารยาก ไม่สะดวกที่จะยังชีพด้วยบิณฑบาต

        ๔. สมัยที่มีภัย เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายโจรผู้ร้ายจากป่ามาปล้นตี ชาวชนบทพากันขึ้นยานพาหนะผันผายย้ายหนี

        ๕.สมัยที่สงฆ์แตกแยกกัน เมื่อสงฆ์แตกแยกแล้ว ย่อมมีการด่าว่ากัน บริภาษกัน มีการใส่ร้าย และละทิ้งกันและกัน คนที่ยังไม่เลื่อมใส ก็ไม่เลื่อมใส คนบางคนที่เลื่อมใสแล้ว ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นอย่างอื่น

     “ภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่างเหล่านี้ เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ อย่าง คืออะไร ? กล่าวคือ

        ๑. ภิกษุยังหนุ่ม ยังเยาว์ มีผมดำสนิท ประกอบด้วยวัยหนุ่มอันเจริญ เป็นปฐมวัย

        ๒. ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย ฯลฯ

        ๓. สมัยสุภิกขา ข้าวดี หาอาหารได้ง่าย สะดวกที่จะยังชีพด้วยบิณฑบาต

        ๔. สมัยที่มนุษย์ (ประชาชน) ทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยสายตาประกอบด้วยความรัก

        ๕. สมัยที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมเป็นอันเดียวกัน เป็นอยู่ผาสุก เมื่อสงฆ์ พร้อมเพรียงกัน ก็ไม่มีการด่าว่ากัน ไม่บริภาษกัน ไม่ใส่ร้ายกัน ไม่ทอดทิ้งกัน คนที่ยังไม่เลื่อมใส ก็เลื่อมใส และคนที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้นไป” (องฺ.ปญฺจก. 22/54/75)




* อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ และปัญญา

- ไม่ถือนิมิต    ไม่คิดเคลิ้มหลงติดในรูปลักษณะทั่วไป

- ไม่ถืออนุพยัญชนะ    ไม่คิดเคลิ้มหลงติดในลักษณะปลีกย่อย

- อภิชฌาและโทมนัส    ความยินดียินร้าย หรือชอบใจ ไม่ชอบใจ

- สัมมัปปธาน    ความเพียรถูกต้อง   หรือสมบูรณ์แบบ

 




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2566
0 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2566 20:28:35 น.
Counter : 160 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space