กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
23 ตุลาคม 2566
space
space
space

สัมมาทิฏฐิ กับ การศึกษา



สัมมาทิฏฐิ กับ การศึกษา


     ในแง่ของการศึกษา กล่าวได้ว่า คนเริ่มมีการศึกษา เมื่อเขามีสัมมาทิฐิ บางท่านอาจมองในแง่จากภายนอกเข้าไปตามนัยแห่งไตรสิกขา โดยถือเอาศีลเป็นที่เริ่มต้น แล้วกล่าวว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนประพฤติสุจริต* แต่คำกล่าวเช่นนี้ ยังนับว่าไม่เข้าถึงตัวการศึกษา หรือแก่นแท้ของการศึกษา เพราะการฝึกปรือในขั้นศีลให้มีสุจริต ก็ด้วยมุ่งสร้างสมนิสัย หรือความเคยชินในทางที่ดีงาม เป็นทางนำคนระดับเวไนยไปสู่การมองเห็นคุณค่าของความประพฤติสุจริตเช่นนั้น  (นี้คือแง่ที่พฤติกรรมกลับเป็นฝ่ายปรุงแต่งค่านิยมได้ เช่นเดียวกับปัจจัยทางสังคมอย่างอื่น ๆ)

     เมื่อใดคนมองเห็นคุณค่า เกิดความเข้าใจซาบซึ้ง และใฝ่นิยมความสุจริต เป็นสัมมาทิฐิแล้ว เมื่อนั้นศีลหรือความประพฤติสุจริต จึงจะแน่นแฟ้นมั่นคงได้   (ตอนนี้ค่านิยมจะเป็นฝ่ายกำหนดพฤติกรรม) และเมื่อนั้นแหละจึงเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้มีการศึกษา

     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า  การที่ฝึกปรือในไตรสิกขาเริ่มต้นแต่ศีลไป ก็เพื่อเป็นการเพาะบ่มให้องค์มรรคทั้งหลาย เริ่มแต่สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น เมื่อใด องค์มรรคซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ บังเกิดขึ้นในบุคคล จึงจะนับได้ว่าเขามีการศึกษา เพราะนับแต่บัดนี้ไป องค์ธรรมทั้งหลายในตัวบุคคลนั้น จะเริ่มเข้าประจำทำหน้าที่สอดประสานส่งทอดต่อกัน

     สัมมาทิฏฐินอกจากจะทำให้ศีล หรือความประพฤติสุจริตนั้นมั่นคงจริงจังแล้ว ยังช่วยให้การประพฤติศีล เป็นไปด้วยความจริงใจไม่เสแสร้ง และเป็นหลักประกันให้ประพฤติได้ถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายของศีล ไม่ผิดพลาดกลายเป็นสีลัพพตปรามาส หรือถือปฏิบัติโดยงมงายเป็นต้น อีกด้วย

     เมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิ  เมื่อนั้นจึงวางใจในการปฏิบัติศีล หรือไว้ใจในความสุจริตนั้นได้  แต่ถ้ายังไม่มีสัมมาทิฏฐิตราบใด  ก็ยังไม่อาจวางใจในศีลตราบนั้น

     ถ้าแสดงความหมายผ่อนลงมา โดยถือเอาปัจจัยของสัมมาทิฏฐิเป็นหลัก ก็อาจกล่าวว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนรู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ) ความหมายอย่างนี้ ก็นับได้ว่าถูกต้อง ด้วยเป็นการกล่าวแบบเล็งความถึงกัน เพราะเมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็หวังได้ว่าสัมมาทิฏฐิจะเกิดตามมา

     ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่การปฏิบัติระดับศีล เมื่อได้โยนิโสมนสิการ ช่วยนำพฤติกรรม จึงจะทำให้การปฏิบัติ ดำเนินไปอย่างถูกต้องพอดี และเป็นการกระทำอย่างมีเป้าหมายที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ ทั้งตนเองก็ได้ความความเข้าใจ มีความมั่นใจ จิตเป็นกุศลโปร่งผ่องใส

     ยกตัวอย่าง เช่น ในการแต่งตัวให้สะอาดเรียบร้อย นอกจากคำนึงถึงคุณค่าเพื่อชีวิตคือปกปิดและปกป้องร่างกายจากหนาวร้อน และความละอายเป็นต้นแล้ว โยนิโสมนสิการ ยังช่วยให้คำนึงในทางเกื้อกูลแก่ผู้อื่น และแก่สังคมอีกด้วย เช่น ทำใจว่า เราจะแต่งตัวอย่างนี้ให้สะอาดเรียบร้อยอย่างนี้ เพื่อความเป็นระเบียบดีงามของหมู่ของชุมชน หรือของสังคม เรานุ่งห่มไม่ให้น่าเกลียดหรือน่ารังเกียจ ให้เรียบร้อยงดงามอย่างนี้ เพื่อรักษาจิตใจของคนอื่นที่เขาพบเห็นให้เป็นกุศล ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว เพื่อช่วยเสริมบรรยากาศให้คนอื่นๆ มีจิตใจผ่องใส โน้มน้อมไปในทางดีงาม

     แต่ถ้าคิดขึ้นมาว่า จะอวดโก้ อวดฐานะ เอาเด่น จะข่มคนโน้นคนนี้ หรือจะล่อใจคนให้หลงใหลติดพัน หรือมีจิตคิดแง่งอน ว่าจะทำตามใจฉัน ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ดังนี้ เป็นต้น ก็กลายเป็นอโยนิโสมนสิการ อกุศลธรรมก็เข้าครอบงำใจ จิตก็ปิดล้อมตัวเองให้คับแคบ ไม่โปร่งโล่ง ไม่ผ่องใส และพฤติกรรมในการแต่งกาย ก็พร้อมที่จะวิปริตออกไปจากความถูกต้องพอดี ได้ทันที

     เมื่อพูดถึงการศึกษา คนทั่วไปมักนึกถึงการเล่าเรียนความรู้สำหรับทำมาหาเลี้ยงชีพ อันเป็นเรื่องของอาชีวะ และเป็นเรื่องระดับศีล

     การศึกษาที่มุ่งสร้างแต่อาชีวะ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นสัมมาอาชีวะ หรือมิจฉาชีวะ ย่อมไม่มีสาธุชนใดเห็นชอบด้วย แต่การศึกษา ที่มุ่งสร้างสัมมาอาชีวะเพียงอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจสร้างสัมมาทิฏฐิ ก็ยังหาชื่อว่าเป็นการศึกษาที่ถูกต้องไม่ และน่าจะไม่สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย แม้แต่ที่จะให้เกิดสัมมาอาชีวะนั้นด้วย เพราะยังไม่เข้าถึงตัวการศึกษา อาจจะเป็นสัมมาอาชีวะแต่เพียงชื่อ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่แท้ เพราะเป็นการฝึกหัดศีล โดยไม่ทำองค์มรรคให้เกิดขึ้น จึงยังผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่หยั่งรากลง

     ทางที่ถูก จะต้องปลูกฝังสัมมาทิฏฐิไว้เป็นรากฐานของสัมมาอาชีวะด้วย พูดง่ายๆว่า จะให้ถือศีลโดยไม่มีความใฝ่นิยมศีล หรือให้ประพฤติสุจริตโดยไม่มีค่านิยมแห่งความสุจริต ย่อมไม่เพียงพอ

     ดังจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่มีอยู่ในสังคมบางถิ่นบางสมัย ความใฝ่นิยมทุจริตเป็นไปอย่างแพร่หลาย ถึงกับคนจำนวนมากเห็นไปว่า การทำอะไรได้สำเร็จ หรือหาทรัพย์สินได้ด้วยวิธีหลอกลวงคดโกง ฉลาดในการทุจริต หรือทำร้ายผู้อื่น เป็นความเก่งกล้าสามารถ สังคมนั้น แม้จะมีสภาพทั่วไปอุดมสมบูรณ์ แต่เต็มไปด้วยการทุจริตและอาชญากรรม พร้อมกันนั้น ในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งสภาพทั่วไปมีความอดอยากยากแค้นกว่าเป็นอันมาก กลับมีอาชญากรรมต่างๆน้อย แม้แต่คนจนไร้ ก็ยอมเป็นขอทาน ยิ่งกว่าจะลักขโมยทำการทุจริต (แต่ในสังคมที่ขาดความใฝ่สุจริต แม้แต่การขอทาน คนก็ทำอย่างเป็นการทุจริต)

     ความที่กล่าวในตอนนี้ มีความสำคัญถึงขั้นหลักการ ซึ่งควรจะเน้นไว้ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมรรค กับ ไตรสิกขา ซึ่งมองดูได้ที่สัมมาทิฏฐิ กับ การฝึกอบรมศีล อันเป็นข้อแรกของหมวดธรรมแต่ละฝ่าย

     ในตอนต้น ได้เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างเป็นปัจจัยกัน ระหว่างศีล กับ สัมมาทิฏฐิว่า เมื่ออยู่ร่วมกันด้วยดีโดยสงบเรียบร้อย ใจก็ไม่ต้องคอยสะดุ้งหวาดระแวง เมื่อประพฤติดีมีศีล ก็ไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายใจ ทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้ เมื่อใจสงบแน่วแน่ผ่องใส ก็ช่วยให้คิดคล่อง มองเห็นอะไรๆชัดเจน ไม่เอนเอียง มีความเข้าใจดี เกิดปัญญา ถ้าปัญญานั้นรู้ตระหนักมองเห็นคุณค่าของความประพฤติดีมีศีล ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ คือเห็นถูก เข้าใจถูกต้อง ก็คิด แล้วพูด ทำ ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เป็นศีลอีก

     อีกตอนหนึ่ง ก็ได้กล่าวว่า การฝึกหัดศีล หรือฝึกอบรมความประพฤติ จะชื่อว่าเป็นการศึกษา ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ อย่างน้อยตั้งแต่ขั้นซาบซึ้ง ในคุณค่าของศีล หรือ มีค่านิยมแห่งความสุจริตขึ้นไป


     การฝึกอบรมความประพฤติที่จะให้มีผลเช่นนี้ ได้กล่าวมา ณ ที่นี้ ๒ อย่าง คือ

        ๑) การฝึกศีลที่อาศัยความเคยชินและศรัทธา เป็นวิธีที่เน้นหนักในด้านระเบียบวินัย ได้แก่การจัดสรรสภาพแวดล้อมให้เป็นกรอบกำกับความประพฤติ และจัดระเบียบความเป็นอยู่ เช่น กิจวัตร เป็นต้น ให้กระชับ ฝึกคนปฏิบัติให้เกิดความคุ้น และเคยชินเป็นนิสัย พร้อมนั้นก็สร้างเสริมศรัทธา โดยให้กัลยาณมิตรเช่นครูแนะนำชักจูงให้เห็นว่าการประพฤติดี มีระเบียบวินัยเช่นนั้น มีประโยชน์ คุณค่าหรืออานิสงส์อย่างไร และอาจให้ได้ยิน ได้เห็นบุคคลผู้มีความประพฤติดีงามน่าเลื่อมใสศรัทธา ที่มีความสุข ความสำเร็จเป็นแบบอย่าง (เช่น ครูนั่นเอง) ประกอบไปด้วย

     โดยวิธีนี้ ความซาบซึ้งในคุณค่าของความประพฤติดีงาม ความรักวินัย ความใฝ่นิยมศีล ก็เกิดขึ้นได้ แม้ไม่มีกัลยาณมิตรคอยชี้แจงประโยชน์ หรือได้เห็นแบบอย่างอะไรมากนัก แต่ถ้าระเบียบวินัย หรือ กรอบความประพฤตินั้น เป็นสิ่งที่เขาปรับตัวเข้าได้ เกิดความเคยชินเป็นนิสัยขึ้นมา ก็ดี เขาได้รับผลดี มองเห็นประโยชน์แก่ตนบ้าง ก็ดี เขาก็จะเกิดความใฝ่นิยมและคิดหาเหตุผลเข้ากับความประพฤติดีมีระเบียบวินัยนั้นเอง

     เมื่อพ้นจากขั้นประพฤติไปตามกรอบหรือตามบังคับ มาถึงขั้นเห็นคุณค่าใฝ่นิยมที่จะทำอย่างนั้นแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ นับได้ว่าเริ่มมีการศึกษา แม้ว่าจะเป็นสัมมาทิฏฐิชนิดโลกีย์อย่างอ่อนเหลือเกิน และไม่สู้มั่นคงปลอดภัยนัก เพราะอาจกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความยึดมั่นงมงายเป็นสีลัพพตปรามาสได้ก็ตาม


        ๒) การฝึกศีลที่ใช้โยนิโสมนสิการกำกับ เป็นวิธีที่เน้นความเข้าใจในความหมายของการกระทำ หรือ การปฏิบัติทุกอย่าง คือปฏิบัติการ ด้วยโยนิโสมนสิการ หรือใช้โยนิโสมนสิการนำ และคุมพฤติกรรม ดังตัวอย่างเรื่องการแต่งกายที่ได้กล่าวมาแล้ว

     ตามวิธีนี้ กัลยาณมิตร เช่น ครู จะช่วยได้โดยแนะแนวความคิดให้เห็นช่องทางพิจารณา และเข้าใจความหมาย ของพฤติกรรมนั้นๆไว้ก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติ นักเรียนหรือผู้ปฏิบัตินั้น จะต้องทำใจพิจารณาเอาเองทุกคราวทุกกรณีไป

     ตัวอย่างอื่นอีก เช่น ในการไหว้กราบแสดงความเคารพ ผู้กราบไหว้พระสงฆ์หรือแสดงความเคารพผู้ใหญ่กว่า อาจทำใจให้เข้ากับความหมายที่ถูกต้องดีงามเป็นกุศลของการกระทำในกรณีนั้นๆ และเวลานั้นๆ

     ดังเช่นว่า เราขอกราบไหว้ เพื่อเป็นการฝึกตนให้เป็นคนอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง หรือเรากราบไหว้เพื่อเชิดชูระเบียบเพื่อความดีงามของสังคม หรือเรากราบไหว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเทิดทูนธรรมที่ท่านผู้นั้นเป็นตัวแทนอยู่ หรือเรากราบไหว้ด้วยเมตตาหวังดีหวังประโยชน์แก่ท่านผู้นั้น เพื่อเป็นเครื่องช่วยระวังรักษาท่านให้ดำรงอยู่ในภาวะและฐานะที่ดีงามเหมาะสม หรืออย่างน้อยที่สุดว่า เรากราบไหว้นี้ เป็นการจะประพฤติธรรมในส่วนของตัวเรา ให้ถูกต้อง ให้ดีงามที่สุดของเราก็แล้วกัน ดังนี้ เป็นต้น

     ทางฝ่ายพระสงฆ์ ผู้ใหญ่หรือครู ที่เป็นผู้จะได้รับความเคารพกราบไหว้ ก็อาจทำใจเมื่อเขากราบไหว้เคารพตน เช่น นึกเป็นโอกาสที่ได้สำรวจตนว่า เรายังเป็นผู้มีคุณธรรม ความประพฤติสมควรแก่การได้รับความเคารพกราบไหว้ อยู่หรือไม่ หรือนึกว่า ท่านผู้นี้อยู่ในฐานะที่เราพึงแนะนำได้ เขาไหว้กราบถูกต้องหรือไม่อย่างไร เป็นโอกาสที่เราจะรู้ไว้ และค่อยนำมาแนะนำด้วยความหวังดีต่อไป หรือมีใจอนุโมทนาว่า ท่านผู้นี้ คนผู้นี้ ช่างเป็นผู้มีคุณธรรมสูง รู้จักรักระเบียบของสังคม รู้จักให้เกียรติเทิดทูนธรรม หรือทำใจว่า เอาเถิด ว่ากันไปตามสมมุติของโลก แล้วแต่จะทำอย่างไรให้โลกมันดี ก็เอา ดังนี้ เป็นต้น

     เมื่อทำใจด้วยโยนิโสมนสิการอย่างนี้ ก็จะมีความมั่นใจในการกระทำของตน และจะไม่เกิดอกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตด้วย เช่น ทางฝ่ายผู้กราบไหว้ก็จะไม่ต้องมาถือเทียบเขาเทียบเราด้วยกิเลสแห่งความยึดติดถือมั่นในตัวตนว่า เขามีดีอะไรเราจะต้องไหว้ เราดีกว่าเขาเสียอีก จะไหว้ทำไม ดังนี้ เป็นต้น ทางฝ่ายผู้จะได้รับความเคารพก็จะไม่ต้องเกิดกิเลสคอยระแวง หรือโทมนัส น้อยใจแค้นเคือง เช่นว่า ทำไมคนนี้ไม่ไหว้เรา ทำไมคนนั้นไหว้ด้วยอาการไม่ถูกใจเรา หรือลุ่มหลงลืมตัวว่า เรานี้เป็นผู้เลิศประเสริฐสูง ผู้คนทั้งหลายพากันนอบนบกราบไว้ ดังนี้ เป็นต้น

     ตัวอย่างที่ยกมานี้ ล้วนเป็นโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลธรรม และให้เกิดสัมมาทิฏฐิแบบโลกีย์เท่านั้น แต่ก็จะเห็นได้ว่า วิธีฝึกข้อ ๒ นี้ประณีตลึกซึ้งกว่าวิธีที่ ๑ สามารถป้องกันผลเสีย คือการเกิดขึ้นของอกุศลธรรมที่จะเข้าแฝงซ้อนการปฏิบัติ ซึ่งวิธีที่ ๑ ป้องกันไม่ได้ เป็นการปฏิบัติอย่างมั่นใจด้วยปัญญา ทำให้เกิดความเข้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยไป พร้อมกันกับการฝึกศีล และปิดช่องที่จะกลายเป็นการประพฤติปฏิบัติศีลด้วยความงมงาย ที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาส

     วิธีฝึกที่ถูกต้องตามแนวของมรรคอย่างแท้จริง คือวิธีที่ ๒ หากจะใช้วิธีที่ ๑ ควบไปด้วยก็น่าจะได้ผลดียิ่งขึ้น แต่จะใช้วิธีที่ ๑ อย่างเดียว นับว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการศึกษาที่แท้ เพราะในการศึกษาที่ถูกต้อง ภายนอกเริ่มต้นด้วยการฝึกขั้นศีล แต่ภายในต้องใช้โยนิโสมนสิการสร้างปัญญาให้เกิดสัมมาทิฏฐิพร้อมกันแต่แรกเรื่อยไป และเมื่อทำอย่างนี้ ก็เป็นการใช้โยนิโสมนสิการในทางปฏิบัติ ซึ่งใช้ได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่รอเอาไว้พิจารณาความคิดอย่างเดียว

     ที่ว่านั้น ไม่ใช่แต่ในขั้นศีลนี้เท่านั้น แม้ในขั้นสมาธิและขั้นปัญญาแท้ๆ ก็จะต้องใช้โยนิโสมนสิการอย่างนี้เรื่อยไป สัมมาทิฏฐิและองค์มรรคทั้งหลายภายในจึงจะเจริญแก่กล้าพรั่งพร้อมยิ่งขึ้นได้

     โดยนัยนี้ ก็จะมองเห็นความเจริญขององค์มรรคที่ควบไปกับการฝึกไตรสิกขา กล่าวคือ เมื่อมองจากข้างนอก หรือมองตามขั้นตอนใหญ่ ก็จะเห็นการฝึกอบรมตามลำดับขั้นของไตรสิกขา เป็นศีล สมาธิ และปัญญา แต่เมื่อมองเข้าไปข้างในที่รายละเอียดของการทำงาน ก็จะเห็นองค์มรรคทั้งหลายเดินไขว่ ทำหน้าที่กันอยู่ หรือว่าบุคคลนั้น กำลังเดินตามมรรคอยู่ตลอดเวลา

     พูดสรุปได้ว่า วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ ภายนอกฝึกตามไตรสิกขาไป ภายในก็เดินตามมรรคด้วย นี้คือความหมายของความที่ว่า เป็นการประสานขานรับกันทั้งระบบฝึกคนจากข้างนอก และระบบก้าวหน้าขององค์ธรรมที่อยู่ข้างใน

     มองลึกลงไปอีกถึงพัฒนาการของบุคคล เมื่อพิจารณาตามหลักเท่าที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้มนุษย์เจริญเติบโตอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่อาศัยปัจจัยทางสังคมเข้าช่วยเสียเลย ก็จะมีเพียงอัจฉริยมนุษย์ไม่กี่คนที่จะสามารถใช้โยนิโสมนสิการโดยลำพังตัว นำตนเข้าถึงชีวิตที่ดีงามสูงสุด

     ในทางตรงข้าม การปล่อยให้มนุษย์เจริญเติบโตขึ้น ด้วยการหล่อหลอมของปัจจัยต่างๆ ทางสังคมอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเข้าถึงความดีสูงสุด ที่เขาเองสามารถเข้าถึงได้


     โดยนัยนี้ อาจกล่าวว่า แนวทางพัฒนาบุคคลสองแบบต่อไปนี้ เป็นวิธีการสุดโต่ง ที่ผิดพลาด คือ

         ๑) การพัฒนา โดยปล่อยให้เป็นไปเองอย่างเสรีตามธรรมชาติ

         ๒) การพัฒนา ตามความปรุงแต่งต้องการของสังคม

     การพัฒนาตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนาด้วยความเข้าใจสภาวะของธรรมชาติที่จะทำให้วางใจ วางท่าทีสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างถูกต้องได้ผลดีด้วย

     ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาตามความต้องการของสังคม ก็ไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนาด้วยความรู้เท่าทัน ที่จะทำให้สามารถหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้ด้วย

     การพัฒนาที่สมบูรณ์ จะต้องเกี่ยวข้องทั้งกับธรรมชาติและกับสังคม ทั้งนี้ เพราะมนุษย์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยธรรมชาติ และมนุษย์อื่น เมื่อเป็นอยู่ ก็ต้องเกี่ยวข้องทั้งกับธรรมชาติ และกับมนุษย์อื่น

     จึงอาจกล่าวถึงการพัฒนาบุคคลที่ถูกต้องสมบูรณ์ว่า เป็นพัฒนาการด้วยความรู้ความเข้าใจ ที่ทำให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างเกื้อกูลแก่สังคม และอย่างเป็นกันเอง กับ ธรรมชาติ พร้อมกับได้ทั้งสังคม และธรรมชาติเป็นที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิตงอกงามเอิบอิ่ม เบิกบาน มีความดีงามและความเกษมศานติ์

     เมื่อคน จะอยู่ร่วมกันด้วยดี แม้เพียงสองคน ก็ต้องมีขีดขั้น และความรู้จักควบคุมยับยั้งในทางพฤติกรรม เมื่ออยู่กันหลายคน ก็ถึงกับต้องมีข้อกำหนด หรือข้อตกลงทางความประพฤติว่า อะไรพึงเว้น อะไรพึงทำ ที่ไหนเมื่อใด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสอดคล้อง ทุกคนได้รับประโยชน์ด้วยกัน (แม้แต่ตัวบุคคลผู้เดียว ก็ยังมีความต้องการต่างๆของตนเองที่ขัดกัน ซึ่งทำให้ต้องมีการวางระเบียบวินัยสำหรับตนเองเพื่อฝึกการดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี)

     คนหลายคน จากทุกทิศ ขับรถมาเผชิญกันที่สี่แยก แต่ละคนเร่งรีบจะไปก่อน จึงติดอยู่ด้วยกันไปไม่ได้สักคน ทั้งยุ่งทั้งเสียเวลา ทั้งจะวิวาทกัน แต่เมื่อยอมกันจัดระเบียบ ด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ไปได้โดยสวัสดีทุกคน ด้วยเหตุนี้ หมู่ชน คือ สังคมจึงต้องมีระเบียบ นอกเหนือจากสิ่งที่เรียกว่าระเบียบแท้ๆแล้ว ก็ยังมีระบบ แบบแผน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และสถาบันทั้งหลายในทางสังคม รวมถึงศิลปวิทยาการต่างๆที่ถ่ายทอดสืบกันมา ซึ่งมีผลรวมที่ทำให้สังคมหนึ่งๆ เกิดมีรูปร่างของตนขึ้น

     ปัจจัยต่างๆ ในทางสังคม ปรุงแต่งสังคมแล้ว ก็ปรุงแต่งบุคคล ให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกลมกลืนกับสังคมนั้นด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน บุคคลทั้งหลายนั่นเองก็เป็นตัวปรุงแต่งปัจจัยต่างๆในทางสังคม สังคมกับบุคคลจึงปรุงแต่งซึ่งกันและกัน

     แต่เมื่อสังคมมีรูปร่างชัดเจนแล้วก็มีลักษณะแน่นอนตายตัว ทำให้บุคคลมักกลายเป็นฝ่ายถูกสังคมปรุงแต่งเอาไว้สนองความต้องการของสังคมฝ่ายเดียว

     แต่ความจริงนั้น บุคคลมิใช่เพื่อสังคมฝ่ายเดียว สังคมก็เพื่อบุคคลด้วย และว่ากันในขั้นพื้นฐาน สังคมมีขึ้นเพื่อช่วยให้ชีวิตอยู่กันอย่างดีงาม และสามารถบรรลุความดีงามที่สูงขึ้นไปด้วยซ้ำ

     เมื่อมองในแง่นี้ สังคมเป็นปัจจัยอุดหนุนเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอที่จะให้มนุษย์บรรลุชีวิตที่ดีงาม เพราะสังคมเริ่มตั้งต้น หรือถือกำเนิดขึ้นจากการมีระเบียบที่จะให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี แต่เมื่อเขาอยู่ร่วมกันด้วยดีแล้ว ชีวิตของเขายังมีสิ่งดีงามที่จะพึงเข้าถึง นอกเหนือจากนั้นอีก

     กว้างออกไป สังคมก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือภาคหนึ่งของสิ่งที่ชีวิตจะต้องเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากสังคมแล้ว ก็ยังมีธรรมชาติอีก และสิ่งดีงามสูงสุดนั้น ชีวิตจะได้ต่อเมื่อเข้าถึงธรรมชาติ เพราะว่าโดยสภาวะของชีวิตเองแล้ว ธรรมชาติเป็นพื้นเดิม สังคมเป็นเพียงสวนอุ้มชู ซึ่งอาจช่วยให้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดเป็นกันเองกับธรรมชาติก็ได้ หรืออาจบิดเบนปิดบังให้เหินห่างจากธรรมชาติก็ได้

     อย่างไรก็ตาม สังคมแม้ที่มีรูปร่างชัดเจนตายตัวแล้ว ก็มิใช่จะเป็นฝ่ายปรุงแต่งหล่อหลอมบุคคลได้ฝ่ายเดียวเสมอไป ถ้าบุคคลใช้โยนิโสมนสิการ ก็สามารถหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้

     โยนิโสมนสิการนั้น ทำให้บุคคลก้าวข้าม หรือมองทะลุ เลยสังคมไปถึงความจริง อันไม่จำกัดกาลของธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังสังคมอีกชั้นหนึ่ง

     เมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว บุคคลก็สามารถหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมด้วย สามารถบรรลุความดีงามที่สูงขึ้นไปอีกด้วย และสามารถหวนกลับไปทำหน้าที่ปรุงแต่งสังคมอย่างมีสติได้อีกด้วย

     หลักการในเรื่องที่ว่ามานี้ ก็คือ มนุษย์จำต้องมีระเบียบ เพื่อความอยู่ร่วมกันด้วยดี สังคมจึงมีวินัย และให้บุคคลมีศีล ที่จะประพฤติตามวินัยของสังคม

     อย่างไรก็ตาม ระเบียบวินัยอาจกลายเป็นเพียงเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของคน หรือถึงกับถูกเรียกได้ว่า เป็นเครื่องมือทำคนให้เป็นทาสของระบบก็ได้ ถ้าระเบียบวินัยนั้นเป็นสักว่าข้อห้าม ข้อบังคับ ที่ถือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างมืดบอด หรืออาจเกิดผลร้ายอย่างอื่นอีก หากให้ปฏิบัติด้วยการบีบบังคับ หรือด้วยคำหลอกลวง

     แต่ในเวลาเดียวกัน การแสดงออกที่เรียกว่ากระทำด้วยเสรีภาพ ก็อาจเป็นเพียงปฏิกิริยาที่ระบายออกในภายนอก ของความมีจิตใจที่ตกเป็นทาสของกิเลส และความทุกข์ภายในตนเอง อาจพูดซ้อนว่า เป็นเสรีภาพในการแสดงความเป็นทาส เสรีภาพในการที่จะเป็นทาส หรือการยอมให้คนเป็นทาสกันได้อย่างเสรี ซึ่งเสรีภาพเช่นนี้ มักหมายถึงเสรีภาพในการที่จะทำผู้อื่นให้เป็นทาสด้วยในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

     ในเวลาเดียวกันนั่นเอง สำหรับคนที่มีจิตใจเป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส และความทุกข์ ถ้าถูกปล่อยให้มีโอกาสและเสรีภาพ ที่จะใช้ปัญญาอย่างบริสุทธิ์ปราศจากการเคลือบแฝงใดๆ อย่างที่เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา ย่อมไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใดๆเกี่ยวกับระเบียบวินัย เพราะความมีระเบียบวินัยมีพร้อมอยู่ในตัวของผู้นั้นแล้ว และยิ่งกว่านั้นไปอีก ก็คือ เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยอะไรก็ได้ ที่มองเห็นว่าเป็นไปเพื่อความดีงาม เพื่อประโยชน์ของมนุษย์


     จุดบรรจบของเรื่องนี้คงมีว่า ระเบียบวินัยเป็นสิ่งดีงาม ในเมื่อกำหนดวาง และปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจความหมาย และความมุ่งหมายอย่างถูกต้อง กล่าวคือ ศีล จะต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ

     ดังนั้น การฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย จะต้องให้เป็นไปพร้อมด้วยการสร้างความเข้าใจให้เห็นคุณค่าของวินัย และความจำเป็นที่จะต้องมีระเบียบ

     เมื่อจะวางระเบียบ ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้น ก็พึงให้สมาชิกรู้เข้าใจประโยชน์ และเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ไม่รู้สึกว่าถูกห้าม ถูกสั่ง ถูกบังคับ* เป็นอยู่อย่างมืดบอด แม้ระบบ แบบแผน วัฒนธรรมประเพณี และสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่แล้วของสังคม ก็พึงให้สมาชิกรุ่นใหม่ แต่ละรุ่นได้เรียนรู้ เข้าใจคุณค่าโดยถูกต้อง

     พร้อมนั้น ก็ฝึกให้เรียนรู้เข้าใจสภาวธรรม ให้รู้จักมองโลก และชีวิตตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติ ที่จะให้หลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งหล่อหลอมของสังคม และเข้าถึงความดีงามสูงขึ้นไปที่สังคมไม่อาจอำนวยให้ได้

     ข้อที่สำคัญยิ่ง ก็คือ สังคมนั้นพึงเป็นสังคมที่เป็นกัลยาณมิตร หรือ อย่างน้อยเป็นที่มีกัลยาณมิตรอันพอจะหาได้ สำหรับจะมาช่วยฝึกช่วยแนะโยนิโสมนสิการในเรื่องที่ได้กล่าวมานี้

     มีความจริงที่แตกต่างกันอันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ระหว่างสังคม กับ ธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ควรจะเข้าใจ โดยฝึกอบรมให้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก กล่าวคือ ธรรมชาติเป็นไปตามธรรมนิยาม แต่สังคมมนุษย์เป็นไปตามกรรมนิยามด้วย*

     แง่ที่เด็กควรเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือเด็กควรได้รับการปฏิบัติด้วยเมตตา แต่การแสดงเมตตานั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความรักความปรารถนาดีเพื่อประโยชน์ทางจิตใจของเด็กโดยตรง เช่น ความอบอุ่นเฉพาะหน้า และ ความมีสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาวแล้ว ควรมีเป้าหมายทางปัญญาด้วย คือ ให้นำไปสู่ความเข้าใจซาบซึ้ง ในความมีเจตนาดีงาม ความมีน้ำใจ หรือความตั้งใจดีต่อกันระหว่างมนุษย์

     ความเข้าใจซาบซึ้งเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ กับ ธรรมชาติ ถ้าหากผู้ใหญ่รู้จักปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างฉลาด เด็กจะเกิดความรู้ความเข้าใจว่า มนุษย์นี้แตกต่างจากธรรมชาติ มนุษย์มีจิตใจ มนุษย์มีเจตนา มีความจงใจ ตั้งใจ ที่จะจัดการหันเหการกระทำของตนได้ จะจงใจทำต่อกันในทางร้าย ก็ได้ ในทางดี ก็ได้ แม่เลี้ยงลูก มิใช่ทำตามสัญชาตญาณของธรรมชาติเท่านั้น แต่แม่มีความรัก ความหวังดี มีการเลือกตัดสินใจด้วยเมตตา ที่เป็นคุณธรรมของมนุษย์ด้วย

     ถ้ามนุษย์มีเจตนาดี ทำดีต่อกันด้วยความปรารถนาดี ก็จะทำให้เกิดความสุข และเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่างจากธรรมชาติที่เป็นกลางๆ ไม่มีจิตใจ ไม่มีความคิดร้าย หรือคิดดี

     ความเป็นไปของธรรมชาตินั้น บางคราวก็อ่อนโยนละมุนละไมอำนวยประโยชน์ทำให้มนุษย์พอใจและมีความสุข บางคราวก็ร้ายรุนแรงเป็นโทษก่อความทุกข์แก่มนุษย์ แต่จะเป็นไปทางใดก็ตามธรรมชาติก็ไม่มีเจตนา ธรรมชาติไม่ได้คิดกลั่นแกล้งมนุษย์ แต่ธรรมชาติเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน แต่ถึงอย่างไรธรรมชาติก็เป็นที่พึ่งพาอาศัยของมนุษย์ เราจึงควรรักธรรมชาติ และปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความรู้เข้าใจตามเหตุตามปัจจัย


     อนึ่ง ชีวิตมนุษย์นั้น ตามสภาวะของธรรมดา ก็มีทุกข์ซึ่งถูกธรรมชาติ ที่ไม่มีเจตนาคอยบีบคั้นมากอยู่แล้ว มนุษย์เราซึ่งมีเจตนาหันเหการกระทำของตนได้ จึงไม่ควรมาเบียดเบียนเพิ่มทุกข์แก่กันและกันอีก เราควรใช้เจตนานั้นในทางที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผ่อนเบาบรรเทาทุกข์กัน มีเมตตากรุณา กระทำต่อกันด้วยความรักความปรารถนาดี มีความตั้งใจดีต่อกัน

     อย่างไรก็ตาม การแสดงความรักความปรารถนาดีต่อเด็กนั้น จะต้องระวังไม่ให้ก้าวเลยจากเมตตากลายเป็นการพะนอตัณหาของเด็ก เพราะถ้ากลายเป็นการพะนอตัณหาเสียแล้ว เด็กก็จะไม่เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าแห่งเจตนาที่ดีของมนุษย์ คือ ไม่เกิดความตระหนักว่า การกระทำนั้นเป็นไปด้วยเมตตา ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน โดยมนุษย์จงใจทำ และก็จะไม่เกิดความเข้าใจถึงความเป็นกลางของธรรมชาติ

     ถ้าเป็นเช่นนี้ นอกจากจะเสียผลในด้านการปลูกฝังเมตตาธรรม และความรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองแล้ว ยังทำให้เด็กเสื่อมเสียคุณภาพจิต เพาะเลี้ยงอกุศลธรรมต่างๆ เช่น ความเห็นแก่ตัว ความเอาแต่ใจตัว ความอ่อนแอ ความโลภ และความอิจฉาริษยา เป็นต้นให้เพิ่มขึ้นด้วย

     วิธีที่จะป้องกันไม่ให้เลยไปเป็นการพะนอตัณหา ก็คือ การให้เด็กรู้ขอบเขตระหว่างการที่มนุษย์จะกระทำต่อกันด้วยความรัก ความปรารถนาดีได้ กับการที่จะต้องเป็นไปตามเหตุผลของธรรมชาติ

     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พึงระวังไม่ให้มีการแสดงเมตตาอย่างผิดๆ ที่กลายเป็นการขัดขวางหรือทำลายความรู้เท่าทันความเป็นจริงแห่งธรรมดา


     ในทางปฏิบัติ คือ จะต้อง ใช้พรหมวิหารให้ครบทั้ง ๔ ข้อ คือ นอกจากมีความรักความปรารถนาดีด้วยเมตตา เป็นหลักยืนพื้นอยู่แล้ว ก็มีกรุณาสงสารช่วยเหลือเมื่อเด็กได้รับทุกข์ แสดงความยอมรับ หรือชื่นชมยินดีเมื่อเด็กได้ความสุข หรือทำการสำเร็จโดยชอบธรรม หรือโดยเหตุโดยผล (มุทิตา) และรู้จักวางทีเฉยเฝ้าดู หรือวางใจเป็นกลาง เมื่อเด็กทำการตามแนวเหตุผลกำลังรับผิดชอบตนเองได้อยู่ หรือเมื่อมีเหตุที่เด็กควรได้รับผิดชอบต่อผลแห่งการกระทำของตน (อุเบกขา)

     โดยเฉพาะข้อสุดท้าย คือ อุเบกขานี่แหละ คือองค์ธรรมจำเพาะสำหรับป้องกันไม่ให้เมตตา กลายเป็นเครื่องปิดกั้นบดบังปัญญา

     ท่ามกลางธรรมชาติ ที่เกื้อกูลบ้าง ไม่เกื้อกูลบ้างนั้น ชีวิตมนุษย์ ไม่มีความมั่นคง มนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด แสวงหาเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต หลีกหนี และกำจัดสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์

     เมื่อไม่รู้สภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ ก็ยึดมั่นต่อสิ่งที่ตนใฝ่เพื่อสนองความอยาก ทุ่มเทคุณค่าให้แก่สิ่งเหล่านั้น มองเห็นโลกเป็นแดนที่จะทะยานแสวงหาสิ่งเสพเสวย เป็นที่ให้ความสุขและทุกสิ่งที่ปรารถนา มองเห็นตนในฐานเป็นผู้ครอบครองเสพเสวยโลก มองเห็นผู้อื่นเป็นตัวขัดขวางหรือผู้แย่งชิง ทำให้เกิดความหวงแหน ความชิงชัง ความเกลียดกลัว การเหยียดหยามดูถูก การแข่งขันแย่งชิง การเบียดเบียน และการครอบงำกันระหว่างมนุษย์

     ยิ่งกว่านั้น เมื่อการไม่เป็นไปสมปรารถนา หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายหลัง ก็เกิดความทุกข์อย่างรุนแรง

     ครั้นมีกัลยาณมิตรช่วยชักจูง ฝึกให้เห็นคุณค่าของเมตตาธรรม ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อธรรมชาติก็ดีขึ้น แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงสัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์

     ถ้าจะให้ลึกซึ้ง และมั่นคงแน่นแฟ้นแท้จริง ก็ต้องฝึกให้เกิดสัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระด้วย โดยให้เข้าใจสภาวะที่แท้จริงของโลก และชีวิตว่าล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย โลกธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีแก่นสารที่เป็นของมันเอง และที่จะให้ดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ไม่อาจจะเข้าไปครอบครองอะไรเอาไว้ได้จริง และไม่สามารถให้ความหมายแท้จริงแก่ชีวิต

     แม้ถึงชีวิตของเราเอง ก็ไม่ใช่มีตัวตนที่จะเข้าไปครอบครองอะไรเอาไว้ได้จริงจัง ชีวิตเขา ชีวิตเรา ก็เป็นไปตามกฎธรรมดาอย่างเดียวกัน มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น ต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน และชีวิตทั้งหลายที่เป็นอยู่ได้ ก็ต้องสัมพันธ์พึ่งอาศัยกันด้วย

     ความรู้ความเข้าใจถึงสภาวะเช่นนี้ จะต้องมีเป็นพื้นฐานไว้บ้าง แม้แต่ในเด็กๆ เพื่อให้รู้จักวางใจ วางท่าทีต่อโลก ต่อชีวิตและต่อเพื่อนมนุษย์ได้ถูกต้อง ทำให้จัดระบบการตีค่าในทางความคิดใหม่ โดยเปลี่ยนจากใช้ตัณหา หันมาใช้ปัญญาเป็นเครื่องวัดค่า รู้ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้จริงสำหรับชีวิตที่ควรแก่ฉันทะ รู้จักทำจิตใจให้เป็นอิสระเบิกบาน ผ่อนคลายหายทุกข์ได้แยบคายขึ้น และเป็นวิธีบรรเทาความโลภ โกรธ หลง ลดการแย่งชิงเบียดเบียนและลดปัญหาทางศีลธรรม ชนิดที่มีฐานมั่นคงอยู่ภายใน


     เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญเข้าสู่จุดหมาย ด้วยการอุดหนุนขององค์ประกอบต่างๆ ดังที่ตรัสว่า

        “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิ อันองค์ประกอบ ๕ อย่างคอยหนุน (อนุเคราะห์) ย่อมมีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผลานิสงส์ องค์ประกอบ ๕ อย่างนั้น คือ

        ๑.ศีล   (ความประพฤติดีงาม)

        ๒.สุตะ   (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)

        ๓.สากัจฉา   (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)

        ๔.สมถะ   (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ)

        ๕.วิปัสสนา   (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามเป็นจริง)*


     โดยสรุป สัมมาทิฐิ  ก็คือ  ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฐิจะเจริญขึ้น  ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆอย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ แต่ช่วยให้มองแบบสืบค้นแยกแยะ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า และในแง่การสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ทำให้ไม่ถูกลวง ไม่กลายเป็นหุ่นที่ถูกยั่วยุ ปลุกปั่น และเชิด ด้วยปรากฏการณ์ทาง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และคตินิยมต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ทำให้มีสติ สัมปชัญญะ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสิน และกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา




* คำว่า สุจริต ในที่นี้ หมายถึง สุจริตอย่างที่ใช้ในภาษาไทย คือมุ่งกาย วาจา และอาชีวะสุจริต ไม่รวมถึงมโนสุจริต (มโนสุจริต คลุมสัมมาทิฏฐิได้ด้วย)


* พึงสังเกต วิธีบัญญัติวินัยสงฆ์ ของพระพุทธเจ้าว่า  นอกจากทรงประชุมสงฆ์ ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ และทรงบัญญัติขึ้นโดยความรับรู้ และเห็นชอบร่วมกันแล้ว ถ้อยคำที่ใช้ ก็ไม่มีคำว่า สั่ง ห้าม บังคับ อย่า หรือจง เป็นต้น สำหรับลักษณะความที่เรียกกันว่าห้าม ทรงใช้ข้อความว่า ภิกษุใดกระทำการอย่างนั้นๆ ก็เป็นอันถึงการละเมิดระดับนั้นๆ สำหรับความผิดทั่วๆไปนอกปาฏิโมกข์ อย่างมากก็ใช้ว่า ไม่พึงทำอย่างนั้นๆ ส่วนลักษณะความที่เรียกกันว่าสั่งหรือบังคับ ทรงใช้คำว่า "อนุญาต" หรืออย่างมากก็ใช้ว่า พึงทำอย่างนั้นๆ.


* นี้เป็นการพูดอย่างกว้างๆ โดยว่าตามหลักใหญ่ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ ความจริงมี อุตุนิยาม พืชนิยาม และจิตตนิยามด้วย แต่ไม่เกี่ยวข้องในกรณีที่กำลังจะพูดถึง


* แปลรวบความจาก องฺ.ปญฺจก.22/25/22 พึงเสริมด้วยพุทธพจน์ว่า "การฟังด้วยดี การสอบถามค้นคว้า เป็นอาหารของปัญญา" (องฺ.ทสก.24/73/146)

 


Create Date : 23 ตุลาคม 2566
Last Update : 23 ตุลาคม 2566 17:38:51 น. 0 comments
Counter : 141 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space