กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
14 ตุลาคม 2566
space
space
space

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร



คุณสมบัติของกัลยาณมิตร


     คนดี ว่าโดยลักษณะเฉพาะตัวของเขา   ที่เรียกว่าเป็นสัตบุรุษ หรือบัณฑิต มีคุณสมบัติบางอย่างที่ควรรู้ ดังนี้

     สัตบุรุษ คือคนดี หรือคนที่แท้ มีธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ดังนี้* (ที.ปา.11/331/264; 439/312 ฯลฯ)

        ๑. ธัมมัญญุตา    รู้หลักและรู้จักเหตุ  คือ รู้หลักความจริงของธรรมชาติ รู้หลักการ กฎเกณฑ์แบบแผนหน้าที่ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำการได้สำเร็จผลตามความมุ่งหมาย เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมที่ตนจะต้องศึกษาและปฏิบัติคืออะไร มีอะไรบ้าง ผู้ปกครองรู้ธรรมของผู้ปกครอง คือรู้หลักการปกครอง

        ๒. อัตถัญญุตา   รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล คือ รู้ความหมายและความมุ่งหมายของหลักธรรม หรือหลักการ กฎเกณฑ์ หน้าที่ รู้ผลที่ประสงค์ของกิจที่จะกระทำ เช่น ภิกษุรู้ว่าธรรมที่ตนศึกษาและปฏิบัตินั้นๆ มีความหมาย และความมุ่งหมายอย่างไร ตลอดจนรู้จักประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรือสาระของชีวิต

        ๓. อัตตัญญุตา  รู้จักตน คือ รู้ฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความถนัด ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ของตน ตามเป็นจริง เพื่อประพฤติปฏิบัติได้เหมาะสม และให้เกิดผลดี เช่น ภิกษุรู้ว่า ตนมีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณแค่ไหน

        ๔. มัตตัญญุตา  รู้จักประมาณ คือ รู้ความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ในการใช้จ่ายทรัพย์ ภิกษุรู้จักประมาณในการรับปัจจัย ๔ เป็นต้น

        ๕. กาลัญญุตา   รู้จักกาล เช่น รู้ว่าเวลาไหน ควรทำอะไร รู้จักเวลาเรียน เวลาทำงาน เวลาพักผ่อน เป็นต้น

        ๖. ปริสัญญุตา   รู้จักชุมชน คือ รู้จักถิ่น รู้จักที่ชุมนุม และชุมชน รู้จักมารยาท ระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณี และข้อควรรู้ควรปฏิบัติ ต่อชุมชนนั้นๆ

        ๗. ปุคคลัญญุตา   รู้จักบุคคล คือ รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น เพื่อปฏิบัติต่อผู้นั้นโดยถูกต้อง เช่นว่า ควรจะคบหรือไม่ จะเกี่ยวข้อง จะใช้ จะยกย่อง จะตำหนิ หรือจะแนะนำสั่งสอนอย่างไร จึงจะได้ผลดี เป็นต้น


     บัณฑิต คือ คนฉลาด หรือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีคุณสมบัติที่ท่านแสดงไว้หลายแบบหลายอย่าง เช่น ในพุทธพจน์ต่อไปนี้

        "ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีกรรมเป็นเครื่องกำหนด บัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องกำหนด ต่างก็ปรากฏแจ่มฉายด้วยความประพฤติของตน ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงรู้ว่า เป็นพาล คือ ด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต...ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต คือ ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต..."

        "ภิกษุทั้งหลาย  ลักษณะของบัณฑิต เครื่องหมายของบัณฑิต  แนวความประพฤติของบัณฑิตมี ๒ ประการ ดังนี้ กล่าวคือ บัณฑิตเป็นผู้มีปกติคิดความคิดดี  มีปกติพูดถ้อยคำดี มีปกติทำการดี"

        "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต กล่าวคือ ตั้งปัญหาโดยแยบคาย และเมื่อคนอื่นแก้ปัญหาได้แยบคาย ด้วยถ้อยคำกลมกล่อม สละสลวย ได้เหตุได้ผล ก็อนุโมทนา"

        "ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมี ๒ ดังนี้ คือ ผู้แบกภาระที่ไม่มาถึง ๑ ผู้ไม่แบกภาระที่มาถึง ๑....

        "บัณฑิต ๒ ดังนี้ คือ ผู้แบกภาระที่มาถึง ๑ ผู้ไม่แบกภาระที่ไม่มาถึง ๑..."

        "ภิกษุพาล ปรารถนาคำสรรเสริญที่ไม่เป็นจริง ความเด่น ออกหน้าในหมู่ภิกษุ ความเป็นใหญ่ในอาวาสทั้งหลาย และการบูชาในตระกูลคนอื่น เขาคิดว่า ขอให้คนทั้งหลาย ทั้งพวกคฤหัสถ์ และบรรพชิต จงสำคัญว่า สิ่งที่ทำสำเร็จแล้ว ก็เพราะอาศัยเราคนเดียว ขอให้ทั้งสองพวกนั้นจงอยู่ในอำนาจของเราเท่านั้น ในกิจน้อยใหญ่ ไม่ว่าอย่างใดๆ คนพาลมีความดำริดังนี้ ความริษยา และมานะ จึงมีแต่พอกพูน"

        "สัตบุรุษทั้งหลายไปไม่ติดทุกสถาน สัตบุรุษไม่ปราศรัยเพราะอยากได้กาม บัณฑิตถูกสุขหรือทุกข์ก็ตามกระทบเข้า ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นๆลงๆ

        "บัณฑิต ไม่ทำชั่วเพราะเหตุแห่งตน หรือเพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น ไม่พึงปรารถนา บุตร ทรัพย์ รัฐ ความสำเร็จแก่ตน โดยไม่ชอบธรรม บัณฑิตนั้น พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญาประกอบด้วยธรรม"

        "ผู้ใด เขาสักการะก็ตาม ไม่สักการะก็ตาม ย่อมมีสมาธิไม่หวั่นไหว เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ผู้นั้น ซึ่งมีปกติเพ่งพินิจ ทำความเพียรตลอดเวลา เห็นแจ้งด้วยความเข้าใจอันสุขุม ยินดีในความสิ้นอุปาทาน ท่านเรียกว่าสัตบุรุษ"

        "คนไขน้ำย่อมไขน้ำไป ช่างศรย่อมดัดลูกศร ช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน"

        "หงส์ ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี เนื้อฟานทั้งหลายก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น จะวัดที่ร่างกายไม่ได้ ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ถึงแม้เป็นเด็ก ถ้ามีปัญญา ก็นับว่าผู้ใหญ่ แต่ถ้าโง่ ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็หาเป็นผู้ใหญ่ไม่"

        "คนมีสุตะน้อยนี้ ย่อมแก่ไปเหมือนโคถึก เนื้อของเขาย่อมเจริญ แต่ปัญญาหาเจริญไม่"

        "คนจะชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ เพียงเพราะมีผมหงอกก็หาไม่ ถึงวัยของเขาจะหง่อม ก็เรียกว่าแก่เปล่า ส่วนผู้ใด มีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีความบังคับควบคุมตน มีความฝึกตน ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์ สลัดมลทินได้แล้ว เรียกได้ว่า เป็นผู้ใหญ่"

        "ห้วงน้ำน้อย ไหลดังสนั่น ห้วงน้ำใหญ่ ไหลนิ่งสงบ สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ คนพาล เหมือนหม้อมีน้ำครึ่งเดียว บัณฑิต เหมือนห้วงน้ำที่เต็ม"

        "ผู้ใดเป็นพาล รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังนับว่าเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาล สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรียกว่าเป็นพาลแท้ๆ"

        "สัตบุรุษไม่มีในชุมนุมใด ชุมนุมนั้น ไม่ชื่อว่าสภา ผู้ใดไม่พูดเป็นธรรม ผู้นั้นไม่ใช่สัตบุรุษ ละราคะ โทสะ โมหะแล้ว พูดเป็นธรรม จึงจะเป็นสัตบุรุษ"

        "ผู้ใดเป็นธีรชน  เป็นคนกตัญญูกตเวที  คบหากัลยาณมิตร มีความภักดีมั่น กระทำกิจเพื่อผู้ตกทุกข์ด้วยตั้งใจจริง คนอย่างนั้น ท่านเรียกว่าสัตบุรุษ" (ขุ.ชา.27/2466/541)


     "ภิกษุทั้งหลาย มีฐานะอยู่ ๔ ประการ ดังนี้ กล่าวคือ

        ๑) ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ก็มี

        ๒) ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็มี

        ๓) ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ก็มี

        ๔) ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็มี

     บรรดาฐานะเหล่านั้น  ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฐานะนี้เห็นได้ว่า ไม่พึงกระทำโดยสถาน ๒ คือ ไม่พึงกระทำด้วยเป็นฐานะ ซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ และไม่พึงกระทำด้วยเมื่อทำเข้าก็จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์

     ฐานะซึ่งไม่น่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ในฐานะนี้พึงทราบ คนพาล และบัณฑิตได้ ที่เรี่ยวแรงความเพียร ความบากบั่นของคน กล่าวคือ คนพาลย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า ฐานะนี้ไม่น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่กระนั้นเมื่อทำ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ ดังนั้น เขาก็ไม่กระทำฐานะนั้น เมื่อเขาไม่กระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ส่วนบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฐานะนี้ไม่น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่กระนั้น เมื่อทำเข้า ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เขาจึงกระทำฐานะนั้น เมื่อเขากระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์

     ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ แต่เมื่อทำเข้า ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ แม้ในฐานะนี้ ก็พึงทราบคนพาล และบัณฑิตได้ ที่เรียวแรงความเพียร ความบากบั่นของตน กล่าวคือ คนพาลย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า ฐานะนี้น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่เมื่อทำเข้า จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ดังนั้น เขาก็กระทำฐานะนั้น เมื่อเขากระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ส่วนบัณฑิต ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฐานะนี้น่าชอบใจที่จะทำก็จริง แต่กระนั้นเมื่อทำเข้า ก็จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เขาจึงไม่กระทำฐานะนั้น เมื่อเขาไม่กระทำฐานะนั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์

     ฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ ทั้งเมื่อทำเข้า ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ ฐานะนี้เห็นได้ว่า ควรกระทำทั้งสองสถาน คือ ควรกระทำ ด้วยเป็นฐานะซึ่งน่าชอบใจที่จะทำ และควรกระทำ ด้วยเมื่อทำเข้า ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์..." (องฺ.จตุกฺก.21/115/159)


        "คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุประโยชน์ที่มุ่งหมาย  (ทั้งสองประการ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ)

        "ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ผู้เช่นนั้น เป็นสัตบุรุษ มีวิจารณญาณ ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้"

        "ภิกษุทั้งหลาย อาศัยสัตบุรุษแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๔ ประการได้ กล่าวคือ จะเจริญด้วยศีลอย่างอริยะ จะเจริญด้วยสมาธิอย่างอริยะ จะเจริญด้วยปัญญาอย่างอริยะ จะเจริญด้วยวิมุตติอย่างอริยะ"

        "ดูกรภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ในโลกนี้ ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อจะคิด ย่อมคิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน คิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น คิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย คิดแต่การอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว อย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก"

        "ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเกิดในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก คือ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา...แก่บุตรภรรยา...แก่คนรับใช้กรรมกรและคนงาน ...แก่หมู่มิตรและเพื่อนร่วมงาน...แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ...แก่พระราชา..แก่เหล่าเทวดา...แก่สมณะชีพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆ ช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก" (องฺ.อฏฺฐก.23/123/249 ฯลฯ)


     คนดี มีปัญญา ที่เรียกว่าบัณฑิต หรือสัตบุรุษนี้ เมื่อใครไปเสวนาคบหา หรือเมื่อเขาเองทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ หรือความดีงามแก่ผู้อื่น ชักจูงให้ผู้อื่นมีความรู้ความเห็นถูกต้อง หรือให้มีศรัทธาที่จะถือตามอย่างตน อย่างใดอย่างหนึ่ง จะโดยการสั่งสอน การแนะนำ หรือกระจายความรู้ความเข้าใจนั้นออกไปทางหนึ่งทางใดก็ตาม ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความเมตตากรุณา ก่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และการประพฤติดีปฏิบัติชอบขึ้น ก็เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร

     กัลยาณมิตร ในแง่ที่เป็นผู้ซึ่งคนอื่นควรเข้าไปคบหาเสวนา นอกจากจะกำหนดด้วยคุณสมบัติต่างๆ เท่าที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจพิจารณาจากคุณธรรมหลักเพียง ๔ หรือ ๕ ประการ ที่ท่านกล่าวไว้ในความหมายของกัลยาณมิตตตา

     กัลยาณมิตตตา คือ ความมีกัลยาณมิตรนั้น ท่านแสดงความหมายว่า ได้แก่ การเสวนา สังเสวนา คบหา ภักดี มีจิตฝักใฝ่โน้มไปหาบุคคลที่มีศรัทธา มีศีล มีสุตะ คือเป็นพหูสูต มีจาคะ และมีปัญญา

     ในบรรดาคุณธรรม ๕ อย่างนี้ บางแห่งท่านแสดงไว้เพียง ๔ เว้นสุตะ แสดงว่า สุตะมีความจำเป็นน้อยกว่าข้ออื่นอีก ๔ ข้อ และท่านขยายความเชิงแนะนำว่า เมื่อไปอยู่ในถิ่นใดก็ตาม ก็เข้าสนิทสนม สนทนา ปราศรัย ถกถ้อยปรึกษากับผู้ประกอบด้วยศรัทธา ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้ประกอบด้วยจาคะ ผู้ประกอบด้วยปัญญา ศึกษาเยี่ยงอย่างศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ของคนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นๆ (ดู องฺ.อฏฺฐก.23/144/290)


     ส่วนกัลยาณมิตร ในแง่ทำหน้าที่ต่อผู้อื่น สมควรมีคุณสมบัติพิเศษจำเพาะสำหรับการทำหน้าที่นั้นอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะคุณสมบัติพื้นฐาน ที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้ (องฺ.สตฺตก.23/34/33 ฯลฯ)

        ๑. ปิโย  น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา

        ๒. ครุ   น่าเคารพ   ด้วยความประพฤติหนักแน่นเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

        ๓. ภาวนีโย   น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

        ๔. วัตตา   รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี

        ๕. วจนักขโม*   อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์

        ๖. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา   แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

        ๗. โน จัฏฺฐาเน นิโยชะเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร




* คุณสมบัติข้อ  วจนักขโม นี้ ในบาลีท่านหมายถึง คนที่อดทนต่อคำพูดของผู้อื่น คือรับฟังคำตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ได้ และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตน ในบาลี ยกย่องพระสารีบุตรเป็นตัวอย่างของผู้มีคุณสมบัติข้อนี้ ่ และพระอรรถกถาจารย์ยกเรื่องมาเล่าไว้ ว่าบางคนให้โอวาทแก่คนอื่นได้ แต่พอถูกเขาว่ากล่าวเอาบ้าง ก็โกรธ แต่พระสารีบุตร ท่านทั้งให้โอวาทแก่ผู้อื่น และเมื่อตนเองถูกว่ากล่าว ก็รับด้วยเศียรเกล้า มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง สามเณรอายุ ๗ ขวบ บอกกะพระสารีบุตรว่า ท่านนุ่งสบงปล่อยชายหย่อนยานไป ท่านก็รับฟังด้วยดี และไปนุ่งใหม่ให้เรียบร้อย


Create Date : 14 ตุลาคม 2566
Last Update : 14 ตุลาคม 2566 8:05:56 น. 0 comments
Counter : 178 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space