กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
17 ตุลาคม 2566
space
space
space

กระบวนการการพัฒนาปัญญา จบ



ต่อ จบ


   ค)  ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการศึกษา

     เมื่อได้ทำความเข้าใจคร่าวๆเกี่ยวกับกระบวนการของการศึกษา พอเห็นตำแหน่งแห่งที่ หรือฐานะของความคิดในกระบวนแห่งการศึกษานั้นแล้ว  ก็จะได้กล่าวถึงเรื่องความคิดโดยเฉพาะต่อไป

     อย่างไรก็ดี โดยที่ความคิดเป็นอย่างหนึ่งในบรรดาจุดเริ่ม หรือแห่งที่มา ๒ ประการของการศึกษา เมื่อจะพูดถึงความคิดที่เป็นจุดเริ่มอย่างหนึ่ง   ก็ควรรู้จุดเริ่มอื่นอีกอย่างหนึ่งนั้นด้วย เพื่อจะได้ขอบเขตความเข้าใจที่กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น

     ก่อนอื่น พึงพิจารณาพุทธพจน์ ดังนี้

        "ภิกษุทั้งหลาย  ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ ดังนี้ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ" (องฺ.ทุก.20/371/110  ปรโตโฆสะ ในที่นี้ หมายถึง ปรโตโฆสะผ่ายดี)


        "โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายนอก  เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย"

        "โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย" (องฺ.เอก.20/108,112/22)


     ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐินั้น ได้แสดงความหมายในที่นี้ว่า เป็นจุดเริ่ม หรือแหล่งที่มาของการศึกษา หรือ อาจจะเรียกว่า บุพภาคของการศึกษา เพราะเป็นบ่อเกิดของสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นแกนนำ เป็นต้นทาง และเป็นตัวยืนของกระบวนการแห่งการศึกษา ทั้งหมด ที่ตรัสว่า มี ๒ อย่าง คือ

        ๑.ปรโตโฆสะ   แปลว่า   เสียงจากผู้อื่น หรือการกระตุ้นชักจูงจากภายนอก ได้แก่ การสั่งสอน แนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา ข่าวสาร คำชี้แจงอธิบายจากผู้อื่น ตลอดจนการเรียนรู้ เลียนแบบ จากแหล่งต่างๆภายนอก หรือ อิทธิพลจากภายนอก

     แหล่งสำคัญของการเรียนรู้ประเภทนี้ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เพื่อน คนแวดล้อมใกล้ชิด ผู้ร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา บุคคลมีชื่อเสียง คนโด่งดัง คนผู้ได้รับความนิยมในด้านต่างๆ หนังสือ สื่อมวลชนทั้งหลาย สถาบันทางศาสนาและวัฒนธรรม เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงเฉพาะที่แนะนำในทางถูกต้องดีงาม ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะสามารถช่วยนำไปสู่ปัจจัยที่ ๒ ได้

     ปัจจัยข้อนี้ จัดเป็นองค์ประกอบภายนอก หรืออาจเรียกว่า ปัจจัยทางสังคม

     บุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม  สามารถทำหน้าที่ปรโตโฆสะที่ดี มีคุณภาพสูง มีคำเรียกเฉพาะว่า กัลยาณมิตร ตามปกติกัลยาณมิตร จะทำหน้าที่เป็นผลดี ประสบความสำเร็จแห่งปรโตโฆสะได้ ต้องสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เล่าเรียน หรือผู้รับการฝึกสอนอบรม จึงเรียกวิธีเรียนรู้ในข้อนี้ว่า วิธีการแห่งศรัทธา

     ถ้าผู้มีหน้าที่ให้ปรโตโฆสะ เช่น ครู อาจารย์ พ่อแม่ไม่สามารถทำให้เกิดศรัทธาได้ และผู้เล่าเรียน เช่น เด็กๆ เกิดมีศรัทธาต่อแหล่งความรู้ความคิดอื่นมากกว่า เช่น ดาราในสื่อมวลชน เป็นต้น และถ้าแหล่งเหล่านั้นให้ปรโตโฆสะที่ชั่วร้ายผิดพลาด อันตรายย่อมเกิดขึ้นในกระบวนการแห่งการศึกษา อาจเกิดการศึกษาที่ผิด หรือความไร้การศึกษา


        ๒.โยนิโสมนสิการ   แปลว่า   การทำในใจโดยแยบคาย หรือคิดถูกวิธี แปลง่ายๆว่า ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น หมายถึง การคิดอย่างมีระเบียบ หรือคิดตามแนวทางของปัญญา คือการรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ เช่น ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน โดยวิธีคิดหาเหตุปัจจัย สืบค้นถึงต้นเค้า สืบสาวให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ออกให้เห็นตามสภาวะ และความคิดสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหา อุปาทานของตนเข้าจับ หรือเคลือบคลุมทำให้เกิดความดีงามและแก้ปัญหาได้

     ข้อนี้เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายใน หรือ ปัจจัยภายในตัวบุคคล และอาจเรียกตามองค์ธรรมที่ใช้งานว่า วิธีการแห่งปัญญา

     บรรดาปัจจัย ๒ อย่างนี้ ปัจจัยข้อที่ ๒ คือโยนิโสมนสิการ เป็นแกนกลาง หรือ ส่วนที่ขาดไม่ได้ การศึกษาจะสำเร็จผลแท้จริงบรรลุจุดมุ่งหมายได้ ก็เพราะปัจจัยข้อที่ ๒ นี้ ปัจจัยข้อที่ ๒ อาจให้เกิดการศึกษาได้ โดยไม่มีข้อที่ ๑ แต่ปัจจัยข้อที่ ๑ จะต้องนำไปสู่ปัจจัยข้อที่ ๒ ด้วย จึงจะสัมฤทธิ์ผลของการศึกษาที่แท้ การค้นพบต่างๆความคิดริเริ่ม ความก้าวหน้าทางปัญญาที่สำคัญๆ และการตรัสรู้สัจธรรมก็สำเร็จด้วยโยนิโสมนสิการ


     อย่างไรก็ตาม  แม้ความจริงจะเป็นเช่นนี้ ก็ไม่พึงดูแคลนความสำเร็จของปัจจัยข้อแรก คือปรโตโฆสะ เพราะตามปกติคนที่จะไม่ต้องอาศัยปรโตโฆสะเลย  ใช้แต่โยนิโสมนสิการอย่างเดียว ก็มีแต่อัจฉริยบุคคลยอดเยี่ยม เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น ซึ่งมีน้อยท่านอย่างยิ่ง ส่วนคนทั่วไปที่เป็นส่วนใหญ่ หรือ คนแทบทั้งหมดในโลก ต้องอาศัยปรโตโฆสะเป็นที่ชักนำชี้ช่องทางให้

     กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดกันอยู่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการกันเป็นระบบ เป็นงานเป็นการ การถ่ายทอดความรู้และศิลปะวิทยาการต่างๆ ที่เป็นของสุตะ ก็ล้วนเป็นเรื่องของปรโตโฆสะทั้งสิ้น การสร้างปรโตโฆสะที่ดีงามโดยกัลยาณมิตร จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความเอาใจใส่ตั้งใจจัดเป็นอย่างยิ่ง

     จุดที่พึงย้ำเกี่ยวกับโยนิโสมนสิการ ก็คือ เมื่อดำเนินกิจการในทางการศึกษา อำนวยปรโตโฆสะที่ดีอยู่นั้น กัลยาณมิตรพึงระลึกอยู่เสมอว่า ปรโตโฆสะที่จัดสรรอำนวยให้นั้น จะต้องเป็นเครื่องปลุกเร้าโยนิโสมนสิการ ให้เกิดขึ้นแก่ผู้เล่าเรียนรับการศึกษา

     เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้แล้ว ก็หันมาพูดจำกัดเฉพาะเรื่องความคิดต่อไป


   ง) ความคิดที่ไม่เป็นการศึกษา และความคิดที่เป็นการศึกษา

     การคิดพ่วงต่อจากกระบวนการรับรู้ กระบวนการรับรู้นั้น เริ่มต้นด้วยการที่อายตนะประสบกับอารมณ์*  และเกิดวิญญาณ คือ ความรู้ต่ออารมณ์นั้น เช่น เห็น ได้ยิน ตลอดถึงรู้ต่อเรื่องในใจ เมื่อเกิดความเป็นไปอย่างนี้แล้ว   ก็เรียกว่า   มีการรับรู้หรือภาษาบาลี เรียกว่า ผัสสะ

     เมื่อมีการรับรู้ ก็จะมีความรู้สึกต่ออารมณ์นั้น เช่น สุข สบาย ทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ เรียก ว่า เวทนา พร้อมกันนั้น ก็จะมีการหมายรู้อารมณ์ว่าเป็นนั่นเป็นนี่  เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ชื่อนั้นชื่อนี้ เรียกว่า  สัญญา  จากนั้น  จึงเกิดความคิด  ความดำริตริตรึกต่างๆ  เรียกว่า วิตักกะ

     กระบวนการรับรู้เป็นไปอย่างนี้เหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นการประสบอารมณ์ โดยได้รับประสบการณ์ภายนอก หรือ การนึกถึงยกเอาเรื่องราวต่างๆขึ้นมาพิจารณาในใจ

     เขียนให้ดูง่ายๆ โดยยกความรู้ทางตาเป็นตัวอย่าง


        


     ขั้นตอนของการคิด (วิตักกะ)  มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดบุคลิกภาพ และวิถีชีวิตของบุคคล ตลอดจนถึงสังคม จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษา แต่ความคิดนั้นจะเป็นอย่างไร ย่อมต้องอาศัยปัจจัยที่กำหนด หรือปรุงแต่งความคิดนั้นอีกต่อหนึ่ง


     ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิด ได้แก่ ความรู้สึกสุขทุกข์  (เวทนา)

     ตามปกติสำหรับคนทั่วไป  เมื่อมีการรับรู้  และเกิดเวทนาแล้ว  ถ้าไม่มีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาแปร หรือตัดตอน  เวทนาก็จะเป็นตัวกำหนดวิถีของความคิด  คือ

        - ถ้ารู้สึกสบาย ก็ชอบใจ อยากได้ อยากเสพ อยากเอา  (ตัณหาฝ่ายบวก)

        - ถ้ารู้สึกไม่สบาย ก็บีบคั้น เป็นทุกข์ ก็ขัดใจ อยากเลี่ยงพ้น หรืออยากทำลาย  (ตัณหาฝ่ายลบ)

     ต่อจากนั้น  ความคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็จะกำหนดเน้น หรือเพ่งไปที่อารมณ์ คือ สิ่งที่เป็นที่มาของเวทนานั้น   เอาสิ่งนั้นเป็นที่จับของความคิด   พร้อมด้วยความจำได้หมายรู้  ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  (สัญญา) แล้วความคิดปรุงแต่งก็ดำเนินไปตามวิถีทางของความชอบใจ ไม่ชอบใจนั้น  เครื่องปรุงแต่งความคิด ก็คือ ความโน้มเอียง ความเคยชิน  กิเลส  จิตนิสัยต่างๆ ที่จิตได้สั่งสมไว้ (สังขาร) และคิดอยู่ในกรอบ ในขอบเขต ในแนวทางของสังขารนั้น จากความคิด ก็อาจ  แสดงออกมาเป็นการทำ  การพูด  การแสดงบทบาทต่างๆ

     ถ้าไม่ถึงขั้นแสดงออกภายนอก  อย่างน้อยก็มีผลกระทบต่างๆ อยู่ภายในจิตใจ เป็นผลในทางผูกมัดจำกัดตัว ทำให้จิตคับแคบบ้าง เกิดความกระทบกระทั่ง วุ่นวาย เร่าร้อน ขุ่นมัว เศร้าหมอง บีบคั้นใจบ้าง หรือถ้าเป็นการพิจารณาเรื่องราว คิดการต่างๆ ก็ทำให้เอนเอียง ไม่มองเห็นตามเป็นจริง อาจเคลือบแฝงด้วยความอยากได้ อยากเอา หรือความคิดมุ่งทำลาย

     แต่ในกรณีที่เกิดความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ถ้าไม่รู้จักคิด ปล่อยให้ความคิดอยู่ใต้อิทธิพลของเวทนานั้น ก็จะเกิดความคิดแบบเพ้อฝันเลื่อนลอยไร้จุดหมาย หรือไม่ก็กลายเป็นอัดอั้นตันอื้อไป ซึ่งรวมเรียกว่า เป็นสภาพที่ไม่เกื้อกูลต่อคุณภาพชีวิต (เป็นอกุศล) สร้างปัญหาและก่อให้เกิดทุกข์


     กระบวนการความคิดนี้   เขียนให้ดูง่าย   แสดงเฉพาะสภาพจิต หรือองค์ธรรมที่เป็นตัวแสดงบทบาทสำคัญๆ ดังนี้

        


     ในชีวิตของคนทั่วไป กระบวนธรรมแห่งปัญหา นี้ เป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ดำเนินไปเกือบตลอดเวลา ในวันหนึ่งๆ  อาจเกิดขึ้นแล้วๆเล่าๆ  นับครั้งไม่ถ้วน  ชีวิตที่ไม่มีการศึกษา  ย่อมถูกครอบงำ และกำหนดด้วยกระบวนการแห่งความคิดอย่างนี้  ความเป็นไปของกระบวนธรรมนี้ ดำเนินไปได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้สติปัญญา ไม่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ หรือความสามารถอะไรเลย จัดเป็นธรรมดาขั้นพื้นฐานที่สุด ยิ่งได้สั่งสมความเคยชินไว้มากๆ ก็ยิ่งเป็นไปเองอย่างคล่องแคล่ว อย่างที่เรียกว่าลงร่อง


     เพราะการที่เป็นไปอย่างปราศจากปัญญา ไม่ต้องมีสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง และสติปัญญาไม่ได้เป็นตัวควบคุม จึงเรียกว่าเกิดอวิชชา และจึงไม่เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหา แต่เป็นไปเพื่อก่อปัญหาทำให้เกิดทุกข์ เรียกว่าเป็น ปัจจยาการแห่งทุกข์


     ลักษณะทั่วไปของมัน คือ เป็นการคิดที่สนองตัณหา ผลของมัน คือ การก่อปัญหาทำให้เกิดทุกข์ จึงไม่เป็นการศึกษา สรุปสั้นๆ จะเรียกว่า กระบวนการคิดแบบสนองตัณหา หรือ การคิดแบบก่อปัญหา หรือวงจรแห่งความทุกข์ก็ได้

     เมื่อมนุษย์มีการศึกษาขึ้น ก็คือ มนุษย์เริ่มใช้ปัญญา ไม่ปล่อยให้กระบวนการคิด หรือวงจรปัจจยาการข้างต้น ดำเนินไปเรื่อยๆ คล่องๆ แต่มนุษย์เริ่มใช้สติสัมปชัญญะ และนำองค์ประกอบ อื่นๆ เข้ามาตัดตอน หรือ ลดทอนกระแสของกระบวนการคิดแบบนั้น ทำให้กระบวนการคิดแบบสนองตัณหา ขาดตอนไปเสียบ้าง แปรไปเสียบ้าง ดำเนินไปในทิศทางหรือรูปอื่นๆ บ้าง ทำให้มนุษย์เริ่มหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาส ไม่ถูกกระบวนความคิดแบบนั้นครอบงำกำหนดเอาเต็มที่โดยสิ้นเชิง

     ในเบื้องต้น   ตัวแปรนั้นอาจเป็นเพียงเสียงเหนี่ยวรั้ง หรือรูปสำเร็จแห่งความคิดที่ได้รับการถ่ายทอดโดยปรโตโฆสะ จากบุคคลหรือสถาบันต่างๆ และซึ่งตนยึดถือเอาไว้ด้วยศรัทธา แต่ถ้าตัวแปรจากปรโตโฆสะอย่างนั้น   มีผลเพียงแค่เป็นที่ยึดเหนี่ยวดึงตัวไว้ หรือขัดขวางไว้ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของกระบวนการคิดนั้น หรือ อย่างดีก็ได้แค่ให้รูปแบบความคิดที่ตายตัวไว้ยึดถือแทน ไม่เป็นทางแห่งการคิดคืบหน้าโดยอิสระของบุคคลนั้นเอง แต่ในขั้นสูงขึ้นไป ปรโตโฆสะที่ดี อาจชักนำศรัทธาประเภทที่นำต่อไปสู่ความคิดเองได้


     ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ

     ปรโตโฆสะที่ชักนำให้เกิดศรัทธา แบบรูปสำเร็จตายตัว ไม่เป็นสื่อนำการคิดพิจารณาต่อไป เช่น ให้เชื่อว่า สิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไร ย่อมสุดแต่เทพเจ้าบันดาล หรือ เป็นเรื่องของความบังเอิญ เมื่อเชื่ออย่างนี้แล้ว ก็ได้แต่คอยรอความหวังจากเทพเจ้า หรือ ปล่อยตามโชคชะตา ไม่ต้องคิดค้นอะไรต่อไป

     ส่วนปรโตโฆสะ ที่ชักนำศรัทธาแบบเป็นสื่อโยงให้เกิดความคิดพิจารณา เช่น ให้เชื่อว่า สิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไร ย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อเชื่ออย่างนี้แล้ว เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็ย่อมคิดค้นสืบสาวหาเหตุปัจจัย ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อๆไป

     ความคิดพิจารณาที่ศรัทธาต่อปรโตโฆสะช่วยสื่อนำนั้น เริ่มต้นด้วยองค์ธรรมที่ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ปรโตโฆสะที่ดี สร้างศรัทธาชนิดที่ชักนำให้เกิดโยนิโสมนสิการ

     เมื่อโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแล้ว   ก็หมายถึงว่า ได้มีจุดเริ่มของการศึกษา หรือ การพัฒนาปัญญาได้เริ่มขึ้นแล้ว   จากนั้น   ก็จะเกิดการคิดที่ใช้ปัญญา และทำให้ปัญญาเจริญงอกงามยิ่งขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหา   เป็นทางแห่งความดับทุกข์ และนี้ก็คือ การศึกษา


     พูดสั้นๆ ว่ากระบวนการคิดที่สนองปัญญา คือ การคิดที่แก้ปัญหา นำไปสู่ความดับทุกข์ และเป็นการศึกษา

     จุดสำคัญ ที่โยนิโสมนสิการเข้ามาเริ่มบทบาท ก็คือการตัดตอนไม่ให้เวทนามีอิทธิพลเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาต่อไป  คือ ให้มีแต่เพียงการเสวยเวทนา  แต่ไม่เกิดตัณหา  เมื่อไม่เกิดตัณหา ก็ไม่มีความคิดปรุงแต่งตามอำนาจของตัณหานั้น ต่อไป


     เมื่อตัดตอนกระบวนการคิดสนองตัณหาแล้ว โยนิโสมนสิการก็นำความคิดไปสู่แนวทางของการก่อปัญญา แก้ปัญหา ดับทุกข์ และทำให้เกิดการศึกษาต่อไป อาจเขียนให้กระบวนความคิดให้ดูง่ายๆ ดังนี้

        



     อย่างไรก็ดี สำหรับมนุษย์ปุถุชน แม้เริ่มมีการศึกษาบ้างแล้วแต่กระบวนความคิด ๒ อย่างนี้ ยังเกิดสลับกันไปมา และกระบวนหนึ่งอาจไปเกิดแทรกในระหว่างของอีกกระบวนหนึ่ง เช่น กระบวนแบบแรกอาจดำเนินไปจนถึงเกิดตัณหาแล้ว จึงเกิดโยนิโสมนสิการขึ้นมาตัด และหันเหไปใหม่ หรือกระบวนแบบหลังดำเนินไปถึงปัญญาแล้ว เกิดมีตัณหาขึ้นในรูปใหม่แทรกเข้ามา


     โดยนัยนี้ จึงเกิดมีกรณีที่นำเอาผลงานของปัญญาไปรับใช้ความต้องการของตัณหาได้ เป็นต้น

     บุคคลที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้ว เมื่อคิด ก็คิดอย่างมีโยนิโสมนสิการ เมื่อไม่คิด ก็มีสติครองใจอยู่กับปัจจุบัน คือ กำกับจิตอยู่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำ และพฤติกรรมที่กำลังดำเนินไปอยู่ของตน

     อนึ่ง ที่ว่าเมื่อคิด ก็คิดอย่างมีโยนิโสมนสิการนั้น ก็หมายถึงมีสติอยู่พร้อมด้วย เพราะโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสติ และทำให้ต้องใช้ปัญญา เมื่อความคิดเดินอยู่อย่างเป็นระเบียบมีจุดหมาย จิตก็ไม่ลอยเลื่อนเชือนแช ต้องกุมอยู่กับกิจที่กำลังกระทำนั้น เรียกว่า มีสติ

     ตามนัยที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า โยนิโสมนสิการ เป็นการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในกระบวนการของการศึกษา หรือ ในการพัฒนาตน อยู่ที่จุดแกนกลางคือการพัฒนาปัญญา เป็นองค์ธรรมที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ดีงาม ซึ่งแก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้

     เมื่อเทียบในกระบวนการพัฒนาปัญญา โยนิโสมนสิการอยู่ในระดับที่เหนือศรัทธา เพราะเป็นขั้นที่เริ่มใช้ความคิดของตนเองเป็นอิสระ

     เมื่อพิจารณาในแง่ของระบบการศึกษาอบรม โยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบฝ่ายภายใน เกี่ยวด้วยการฝึกการใช้ความคิด ให้รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้นๆ ผิวเผิน เป็นขั้นสำคัญในการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระ ทำให้ทุกคนพึ่งตนได้ ช่วยตนเองได้ และนำไปสู่ความเป็นอิสระ ไร้ทุกข์ พร้อมทั้งสันติสุขที่เป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธธรรม

     เป็นอันว่า ได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับบุพภาคของการศึกษา ๒ ประการ คือ ปรโตโฆสะ ที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอก และเป็นวิธีการแห่งศรัทธา กับโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายใน และเป็นวิธีการแห่งปัญญา พอมองเห็นภาพกว้างๆ ของระบบในกระบวนการของการศึกษาแล้ว

     ต่อแต่นี้   จะได้บรรยายเรื่องโยนิโสมนสิการ โดยเฉพาะอย่างเดียว  เพื่อให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม และเกิดความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีคิดตามหลักพุทธธรรมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น



* อารมณ์ในที่นี้ = cense-object ไม่ใช่ emotion สมัยปัจจุบัน  เรียกบางส่วนของอารมณ์ว่า สิ่งเร้า

 




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2566
0 comments
Last Update : 17 ตุลาคม 2566 21:18:16 น.
Counter : 111 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space