กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
28 ตุลาคม 2566
space
space
space

หลักธรรมเกี่ยวกับอาชีวะของคฤหัสถ์



     พระสูตรต่อไปนี้ แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับอาชีวะของคฤหัสถ์ ในด้านการแสวงหาทรัพย์บ้าง การใช้จ่ายทรัพย์บ้าง  ความสุขที่พึงได้รับจากอาชีวะอันชอบธรรมบ้าง นำมาลงไว้ประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ

ก. การแสวงหา และการรักษาทรัพย์

     ครั้งหนึ่ง อุชชัยพราหมณ์ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลว่า ตนจะไปอยู่ต่างถิ่น จะขอให้พระพุทธองค์แสดงธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขปัจจุบัน และธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขภายหน้า

     พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

     “ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา

        ๑) อุฏฐานสัมปทา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม ก็ดี พาณิชยกรรม ก็ดี โครักขกรรม ก็ดี ราชการทหาร ก็ดี ราชการพลเรือน ก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี เธอเป็นผู้ขยัน ชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้าน ในงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวนตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดการ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

        ๒) อารักขสัมปทา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอจัดการรักษาคุ้มครองทรัพย์เหล่านั้น โดยพิจารณาว่า ทำอย่างไร ราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบโภคะเหล่านี้ของเราเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้เสีย น้ำไม่พึงพาไปเสีย ทายาทอัปรีย์ก็จะไม่พึงเอาไปเสีย นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

        ๓) กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรเข้าอยู่อาศัยในคามหรือนิคมใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษา กับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศีล ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศีล ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยจาคะ ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยปัญญา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

        ๔) สมชีวิตา เป็นไฉน ? คือ กุลบุตรเลี้ยงชีวิตพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจทางเพิ่มพูนและทางลดถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้ รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตาชั่ง หรือลูกมือคนชั่งยกตาชั่งขึ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้

        “ถ้าหากกุลบุตรนี้ รายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ ...กินใช้ทรัพย์สมบัติเหมือนคนกินมะเดื่อ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวว่าเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ คงจะตายอย่างคนอนาถา แต่เพราะกุลบุตรนี้เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ...นี้เรียกว่า สมชีวิตา


        "ดูกรพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมี อบายมุข (ช่องทางเสื่อม) ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรชั่วสหายชั่ว ฝักใฝ่ในคนชั่ว เปรียบเหมือนอ่างเก็บน้ำแหล่งใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง หากคนปิดทางน้ำเข้าเสีย เปิดแต่ทางน้ำออก อีกทั้งฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ อ่างเก็บน้ำใหญ่นั้น เป็นอันหวังได้แต่ความลดน้อยลงอย่างเดียว ไม่มีความเพิ่มขึ้นได้เลย...

        “ดูกรพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมี อายมุข (ช่องทางเพิ่มขึ้น) ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน มีมิตรดี มีสหายดี ใฝ่ใจในกัลยาณชน เปรียบเหมือนอ่างเก็บน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง มีทางไหลออก ๔ ทาง หากคนเปิดทางน้ำเข้า ปิดทางน้ำออก และฝน ก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนี้ อ่างเก็บน้ำใหญ่นั้น เป็นอันหวังได้แต่ความเพิ่มพูนอย่างเดียว ไม่มีความลดน้อยลงเลย...

        “ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขปัจจุบัน แก่กุลบุตร”

     จากนั้น   ตรัสแสดงธรรม ๔ ประการ   ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขเบื้องหน้า หรือประโยชน์ล้ำเลยตาเห็น   (สัมปรายิกัตถะ)   คือ   สัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา (องฺ.อฏฺฐก.23/145/294)


ข. ความสุขอันชอบธรรมที่คฤหัสถ์ควรมี


     หลักการต่อไปนี้ เรียกกันง่ายๆว่า ความสุขของคฤหัสถ์ ๔ ประการ ดังที่พุทธพจน์ที่ตรัสแก่อนาถบิณฑิกคฤหบดี ว่า

     “ดูกรคหบดี ความสุข ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ควรได้ควรถึงอยู่เรื่อยๆ ตามสมัย ความสุข ๔ ประการนั้น คือ อัตถิสุข โภคสุข อนณสุข อนวัชชสุข

        ๑. อัตถิสุข   (สุขเกิดจากความมีทรัพย์) เป็นไฉน ? คือกุลบุตรมีโภคะอันหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เรามีโภคะที่หามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขนอย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม นี่เรียกว่า อัตถิสุข

        ๒. โภคสุข   (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค) เป็นไฉน ?   คือกุลบุตรกินใช้และทำสิ่งดีงามอันเป็นบุญทั้งหลาย ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรอัน เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรมเธอ ย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่าด้วยทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดย ธรรม เราก็ได้กิน ใช้ และได้ทำสิ่งดีงาม อันเป็นบุญทั้งหลาย นี้เรียกว่า โภคสุข

        ๓. อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้) เป็นไฉน ? คือกุลบุตรไม่ติดหนี้สินไรๆของใครๆ ไม่ว่าน้อยหรือมาก เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่าไม่ติดหนี้สินไรๆของใครๆ เลยไม่ว่าน้อยหรือมาก นี้เรียกว่า อนณสุข

        ๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากกรรมดีงามไร้โทษ) เป็นไฉน ? คืออริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยวจีกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยมโนกรรมดีงาม ไร้โทษ เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยวจีกรรมดีงาม ไร้โทษ ประกอบด้วยมโนกรรมดีงาม ไร้โทษ นี้เรียกว่า อนวัชชสุข

        “เมื่อตระหนักถึงความสุขจากความไม่เป็นหนี้แล้ว คนจะพึงระลึกถึงสุขที่เกิดจากความมีทรัพย์ เมื่อกินใช้ก็เห็นแจ้งชัดด้วยปัญญา ถึงโภคสุข เมื่อเห็นอย่างแจ้งชัด เขามีปัญญาดี ย่อมเข้าใจทั้งสองส่วนเทียบกันได้ แลเห็นว่า ความสุขทั้ง ๓ อย่างข้างต้นนั้น มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของความสุข ที่มีความประพฤติสุจริตไร้โทษ”  (องฺ.จตุกฺก.21/62/90)


ค. การใช้จ่ายทรัพย์

     ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดงเหตุผลในการที่จะมีทรัพย์ หรือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์สมบัติ แก่อนาถบิณฑิกคฤหบดี โดยตรัสให้เหมาะกับสภาพสังคมสมัยนั้น พึงพิจารณาจับเอาสารัตถะตามสมควร ดังต่อไปนี้

      "ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะทั้งหลาย มี ๕ ประการ ดังนี้ คือ

        ๑) ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลตนให้เป็นสุขโดยชอบ ย่อมเลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยา คนรับใช้กรรมกรคนงาน ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๑

        ๒) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมเลี้ยงมิตรสหาย และผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลาย ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๒

        ๓) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมป้องกันโภคะจากภยันตราย ที่จะเกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจรหรือทายาทอัปรีย์ ทำตนให้สวัสดี นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๓

        ๔) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมกระทำพลีกรรม ๕ อย่าง คือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศผู้ล่วงลับ) ราชพลี (บำรุงราชการ-เสียภาษี) เทวตาพลี (ถวายเทวดาหรือบำรุงศาสนา) นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๔

        ๕) อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร....ได้มาโดยธรรม อริยสาวก ย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง อันอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ซึ่งฝึกฝนตนเอง ทำตนเองให้สงบ ทำตนเองให้หายร้อนกิเลสได้ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๕

       "คหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะมี ๕ ประการเหล่านี้แล"

        "ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคะหมดสิ้นไป เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราก็ถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็หมดสิ้นไป โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ

        "และหากว่า เมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคะทรัพย์เพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ เป็นอันไม่มีความเดือดร้อนใจทั้งสองกรณี" (องฺ.ปญฺจก.22/41/48)


     ผู้ครองเรือน เมื่อมีกินมีใช้แล้ว ท่านถือเป็นหลักสำคัญที่จะต้องให้ปันเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น และถือว่า การปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการดำเนินตามมรรคาแห่งอารยชน ดังภาษิตว่า

        "มีน้อย ก็พึงให้ตามน้อย มีปานกลาง ก็พึงให้ปานกลาง มีมาก ก็พึงให้ตามมาก การไม่ให้เลย ย่อมไม่สมควร แน่ะท่านโกสิยเศรษฐี เราขอกล่าวกะท่านว่า จงให้ปัน และจงกินใช้ จงขึ้นสู่มรรคาแห่งอริยชนเถิด ผู้กินคนเดียว ไม่ได้ความสุขดอก" (ขุ.ชา.28/250/88)

     การฝึกตนในการให้ปันนี้ อาจทำได้โดยตั้งเป็ฯวัตร คือ ข้อปฏิบัติที่ถือพิเศษเป็นประจำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อมีรายได้เท่านั้น จะต้องบริจาคช่วยผู้อื่นในอัตราส่วนเท่านั้น หรือจะบริจาคช่วยกิจการกุศลเดือนละครั้งหรือปีละครั้ง จำนวนเท่านั้นๆ เป็นต้น

     บางท่านถึงกับถือวัตรว่า แม้แต่จะรับประทานแต่ละมื้อ ถ้ายังไม่ได้ให้อะไรใครเลย ก็จะยังไม่รับประทาน เช่น เศรษฐีผู้กลับใจแล้วท่านหนึ่ง ถือเป็นวัตรว่า

        "ข้าพเจ้า หากยังมิได้ให้ปัน ก็จะไม่ดื่มแม้แต่น้ำ" (ขุ.ชา.28/260/90;273/94)


ง. เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย

     นอกจากพึงรู้ว่า การมีทรัพย์มิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนการทำสิ่งดีงามเพื่อชีวิตตนและผู้อื่นแล้ว พึงทราบขอบเขตแห่งคุณค่าของทรัพย์สมบัติ และการที่จะต้องแสวงสิ่งอื่นที่มีคุณค่าสูงยิ่งขึ้นต่อไปด้วย เช่น

        "การงาน วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอุดม สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ หาใช่ด้วยโคตร หรือทรัพย์ไม่" (ม.อุ.14/738/471)

        "ข้าพเจ้า  มองเห็นคนทั้งหลายในโลก  ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์สินแล้ว ไม่ให้ปัน เพราะความลุ่มหลง โลภทรัพย์ เอาแต่สั่งสมไว้ และปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป

        “ราชารุกรานมีชัยทั้งแผ่นดิน ครอบครองปฐพีจรดสาคร ไม่อิ่มแค่ฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก ทั้งพระราชาและเหล่ามนุษย์ทั้งหลายอื่นเป็นอันมาก ยังมิทันสิ้นความทะเยอทะยาน ก็เข้าถึงความตาย ทั้งยังพร่องอยู่นั่นเอง ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีในโลกเลย

        “ญาติทั้งหลาย พากันสยายผมร่ำไห้ถึงผู้นั้น กล่าวรำพันว่า โอ้ ที่รักของพวกเรา มาจากลับไปเสียแล้วหนอ แล้วเอาผ้าห่อห่มเขา นำเอาไปขึ้นเชิงตะกอน จัดการเผา เขาถูกสัปเหร่อเอาหลาวทิ่มแทงไป ไหม้ไฟหมดไป มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัว ละทิ้งทรัพย์สมบัติไป

        “เมื่อจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายทั้งหลาย จะเป็นที่ต้านทานไว้ได้ ก็ไม่มี ทรัพย์ของเขา พวกที่รับมรดกก็ขนเอาไป ส่วนสัตว์ก็ไปตามกรรม เมื่อตาย ทรัพย์สักหน่อยก็ติดตามไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้น ก็เช่นกัน คนจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ ก็หาไม่ จะกำจัดชราด้วยทรัพย์ ก็หาไม่ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่า น้อยนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

        "ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวาหวาด ส่วนผู้เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบ ก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้" (ม.มู.13/451/411 ฯลฯ)


     อุปกรณ์สำคัญของการประกอบสัมมาอาชีวะ ก็คือศิลปวิทยา หรือสิปปะ (วิชาชีพ ฝีมือ ความจัดเจนงาน) ดังนั้น ท่านจึงเตือนให้ขวนขวายศึกษาศิลปวิทยา และให้บิดามารดาถือเป็นหน้าที่ ที่จะให้บุตรศึกษาเล่าเรียน

     แต่ความรู้วิชาชีพ หรือความชำนาญงานอย่างเดียว ก็แคบไป ท่านจึงให้มีพาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก หรือศึกษาเล่าเรียนกว้างขวางประกอบด้วย เพื่อช่วยให้เห็นช่องทางในการประกอบสิปปะกว้างขวางออกไป สามารถบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น และมีความคิดความเข้าใจมองเห็นอะไรๆกว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะความรู้ความสดับ ที่ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวแท้เริ่มแรกของการศึกษา

     พร้อมกันนั้น ก็ให้ฝึกอบรมระเบียบวินัย เพื่อพร้อมที่จะนำสิปปะไปใช้ในทางที่ถูกต้อง และมีความประพฤติทั่วไปที่ดีงาม เกื้อกูลแก่ความอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น หรือแก่สังคม กับทั้งฝึกฝนให้รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี เป็นการขยายช่องทางดำเนินชีวิต และบำเพ็ญประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น


     หลักการขั้นศีลที่กล่าวมานี้ ดำเนินตามพุทธพจน์ว่า

        "พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว หรือฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว ๑ วาจาที่กล่าวได้ดี ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงานไม่คั่งค้างอากูล นี่ก็เป็นอุดมมงคล...กิจกรรมที่ไร้โทษ นี่ก็เป็นอุดมมงคล" (ขุ.ขุ.25/5/3 ฯลฯ)


     นอกจากนี้ มีบาลีภาษิตเตือนให้ศึกษาศิลปวิทยาอีกมาก เช่น

        "คนไม่มีศิลปวิทยา เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ยาก" (ขุ.ชา. 27/1651/330)

        "จงให้บุตรเรียนรู้วิทยา" (ขุ.ชา. 27/2141/434)

        "อะไรควรศึกษา ก็พึงศึกษาเถิด"  (ขุ.ชา.27/108/35)

        "ขึ้นชื่อว่า ศิลปวิทยา ไม่ว่าอย่างไหนๆ ให้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น" (ขุ.ชา.27/107/35)

        "อันความรู้ ควรเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าต่ำ ว่าสูง หรือปานกลาง ควรรู้ความหมายเข้าใจทั้งหมด แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง วันหนึ่งจะถึงเวลา ที่ความรู้นั้นนำมาซึ่งประโยชน์" (ขุ.ชา.27/817/184)

        ฯลฯ

     มีข้อความแทรกเข้ามา เกี่ยวกับอุดมมงคลระดับนี้ว่า พาหุสัจจะ ความชำชองเชิงวิชาการ ควรมาพร้อมกับ สิปปะ ความชำนาญในเชิงปฏิบัติ คือ ดีทั้งวิชา และฝีมือ ถ้าทั้งสองอย่างนี้มาเข้าคู่กันครบ ก็หวังได้ ซึ่งความเป็นเลิศแห่งงาน

     ยิ่งเป็นคนมีวินัย ที่ได้ฝึกมาอย่างดี และเป็นคนที่พูดเป็น คือ รู้จักพูดจาให้ได้ผลดี สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจ หรือเห็นตามได้ ชวนให้เกิดความร่วมมือและสามัคคี ก็ยิ่งหวังได้ว่ากิจการจะประสบความสำเร็จ

     ครั้นสำทับเข้าด้วยการปฏิบัติงาน ที่เรียบร้อย ฉับไว ไม่คั่งค้างอากูล และเสริมด้วยการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นเครื่องประกันถึงความสำเร็จบริบูรณ์แห่งชีวิตด้านการงาน

     แต่เพื่อป้องกันมิให้มีช่องว่าง ที่บุคคลนั้นจะมัวหลงเพลิดเพลินแต่วิทยา และการงาน จนลืมหน้าที่ต่อบุคคลใกล้ชิดภายในความรับผิดชอบที่บ้าน ท่านจึงแทรกมงคลอีก ๒ อย่างเข้ามาในช่องว่างแรกที่เว้นไว้ คือ การบำรุงมารดาบิดา และการสงเคราะห์บุตรภรรยา

     ครั้นภาระด้านส่วนตัวครบครันแล้ว ท่านจะให้บุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น คำนึงถึงความรับผิดชอบที่ตนจะพึงเกื้อกูลแก่คนอื่นขยายกว้างออกไป ตลอดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ให้ชีวิตของตนก้าวหน้าไปในความดีงาม และได้ชื่อว่า มีส่วนร่วมในการผดุงธรรมของมนุษยชาติ ท่านจึงเสริมมงคลอีก ๓ อย่าง เข้ามาในช่องว่างหลัง คือ ญาติสังคหะ การสงเคราะห์ญาติ ทาน การให้ปันเกื้อกูลกว้างออกไป และธรรมจริยา การประพฤติธรรม

     เมื่อประพฤติตนได้เพียงนี้ ก็นับว่าเพียงพอ สำหรับจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองชีวิตที่ดีงามในโลก


     เรื่องอาชีวะนี้   เห็นควรพูดสรุปไว้อีก  ว่าพระพุทธศาสนายอมรับ และยืนยันความจำเป็นทางวัตถุ โดยเฉพาะปัจจัย ๔ ดังเช่น พุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยว่า

        "สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา"    สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร  (ที.ปา.11/226/226; 375/289)

     อย่างไรก็ดี ความจำเป็นแท้จริงนั้น อยู่ภายในขอบเขตเท่าที่พอดีจะช่วยให้ชีวิตด้านกายดำรงอยู่ในภาวะดีงามที่ควรเป็นปกติของมัน คือ ปลอดภัย ปราศจากโทษของความขาดและความเกิน ไร้โรค ไร้ภัยอันตราย และเป็นไปได้สบาย คือ เกื้อกูลแก่การทำกิจ และการบำเพ็ญความดีงามด้านจิตและปัญญาที่สูงขึ้นไป

     คุณค่าและความสำคัญของวัตถุนี้ ยังมีส่วนยึดหยุ่น โดยสมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม และองค์ประกอบภายในบุคคล คือปัญญาที่รู้เข้าใจเท่าทันคุณโทษ และขอบเขตความสำคัญของวัตถุ และความสามารถประสบปีติสุขที่ประณีตกว่าการเสพเสวยอามิสสุข

     ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงไม่สนใจที่จะกะเกณฑ์ว่า คนเราจะต้องมีวัตถุเท่ากัน เพราะเกณฑ์นั้นไม่ใช่เครื่องวัดว่าจะทำให้ทุกคนเป็นสุข และมีชีวิตที่ดีงามได้ แต่สนใจเกณฑ์อย่างต่ำที่ว่า ทุกคนควรมีปัจจัย ๔ เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดได้ด้วยดี

     พ้นจากนั้นแล้ว พุทธศาสนายอมให้มีวัตถุเสพเสวย ตามความพร้อมและพัฒนาการทางจิตปัญญาภายในขอบเขตเท่าที่จะไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

     ข้อนี้ หมายความว่า ในการที่จะมีชีวิตเป็นสุข บุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาต่ำ ย่อมต้องการวัตถุเสพ หรือมีชีวิตที่ขึ้นต่อความพรั่งพร้อมปรนเปรอทางวัตถุ มากกว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงกว่า

     ส่วนความตกต่ำแห่งจิตปัญญา ที่เลยขอบเขตที่ยอมรับได้ออกไป ก็คือ ความต้องการที่กลายเป็นความหลงใหลมัวเมา เอาแต่หาสิ่งปรนเปรอตน หมกมุ่นติดกาม จนลืมนึกถึงภาวะที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพื้นฐานเพื่อสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป และสามารถทำการบีบคั้นเบียดเบียนผู้อื่นได้ทันที เพื่อเห็นแก่ตน

     เลยจากนี้ออกไปอีกทางหนึ่ง ในทิศตรงข้าม ได้แก่ ความยึดติดถือมั่น ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ที่แสวงหามาไว้ เกิดความหวงแหนห่วงกังวลจนไม่ยอมใช้ ไม่จ่ายทำประโยชน์ เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นความชั่วร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง

     อีกด้านหนึ่ง เลยเถิดออกไปอีกเช่นเดียวกัน ก็คือ ความผิดหวังเบื่อหน่ายกามวัตถุ จนกลายเป็นเกลียดชัง ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับโลกามิสทั้งหลาย แล้วหันมาจงใจบีบคั้นชีวิตของตนเอง เป็นอยู่อย่างบีบรัดเข้มงวดวุ่นวาย หรือ หมกมุ่นอยู่กับวิธีการต่างๆ ที่จะจำขังพรากตัวบีบคั้นตน ให้พ้นจากอำนาจของวัตถุ ดูเผินๆ บางทีวิธีการนี้คล้ายกับความเป็นอยู่ง่าย อาศัยวัตถุแต่น้อย แต่ผิดพลาด ที่ถือเอาการปฏิบัติเช่นนี้เป็นตัววิธีที่จะให้หลุดพ้น หรือมุ่งบีบคั้นทรมานตัว โดยมิใช่ทำด้วยปัญญารู้เท่าทันที่มุ่งความเป็นอิสระ ซึ่งอาศัยวัตถุเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้โล่งกว้างสำหรับชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา และบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา


     การที่จะมีชีวิตเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อวัตถุเกินจำเป็น ก็คือ การไม่สยบ ไม่หมกมุ่น ไม่หลงใหลมัวเมา ซึ่งอาศัยความรู้เท่าทัน เห็นโทษ หรือข้อบกพร่องของวัตถุ ที่เรียกว่า อาทีนวทัสสาวี และมีปัญญาทำตัวให้เป็นอิสระได้ ที่เรียกว่า นิสสรณปัญญา

     ผู้มีปัญญา ย่อมรู้เท่าทันเห็นโทษของวัตถุ เช่น ทรัพย์สินเงินทองและสิ่งปรนเปรอทั้งหลาย ในลักษณะต่างๆ เช่นว่า มันอาจทำให้เราหลงติดเป็นทาสของมันได้ ทำให้สุขทุกข์ของเราต้องฝากกับมันทั้งหมด มันไม่อาจให้คุณค่าที่สูงขึ้นไปทางจิตปัญญา แม้แต่เพียงความสงบใจ และเมื่อหลงติดแล้ว มันกลับเป็นตัวขัดขวางการประสบคุณค่าเช่นนั้นด้วยซ้ำไป

     ที่สำคัญยิ่งก็คือ โดยธรรมชาติของมันเอง สิ่งเหล่านี้ ขาดความสมบูรณ์ในตัว ที่จะสนองความต้องการของเราได้อย่างเต็มอิ่ม บริบูรณ์แท้จริง เพราะมันมีสภาวะเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แปรปรวนไปได้ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของครอบครองได้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง จะต้องสูญสลายพรากกันไปในที่สุด

     การครอบครองสิ่งเหล่านี้อย่างโง่เขลา ย่อมเป็นการทำตนเองที่ไม่มีทุกข์ ให้ต้องทุกข์ต้องเศร้า เมื่อเราเกิด มันก็ไม่ได้เกิดมากับเรา เมื่อเราตาย มันก็ไม่ตามเราไป การที่ได้แสวงหาและมีมันไว้ ก็เพื่อใช้แก้ปัญหาบรรเทาความทุกข์ เป็นฐานให้ปัญญาใช้พัฒนาความสุข ไม่ใช่เอามาเพิ่มทุกข์แก่ตัว

     การมีทรัพย์สั่งสมไว้ ไม่ใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งหาสาระอันใดมิได้ ยิ่งยึดติดเป็นทาสของมัน มีทุกข์เพราะมัน ก็ยิ่งเป็นความชั่วร้ายซ้ำหนัก

     เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็กินใช้ โดยเอาประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้ของมันต่อชีวิต ใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และแก่เพื่อนมนุษย์ บำเพ็ญสังคหวัตถุทั้ง ๔ แบ่งปันกันไปบ้าง ช่วยสร้างเสริมสภาพสังคมชนิดที่ปิดกั้นการทำความชั่ว เอื้ออำนวยแก่การทำความดี เกื้อกูลแก่การพัฒนาคุณภาพจิตและปัญญาโดยวิธีต่างๆบ้าง ร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมที่ดีงาม และสนับสนุนคนที่ผดุงธรรมจรรโลงคุณภาพของมนุษย์บ้าง เป็นต้น ไม่ใช่การรวยเพื่อรวยยิ่งๆขึ้น หรือรวยยิ่งขึ้น เพื่อเสพเพื่อปรนเปรอตัวได้มากขึ้น

     คฤหัสถ์ที่ขยันทำการงานหาเลี้ยงชีวิต และได้ทรัพย์มาโดยสุจริต กินใช้ทรัพย์อย่างเพื่อแผ่ รับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น และใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องอย่างสูงในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผู้มีชัย ทั้งโลกนี้ และโลกหน้า* (เช่น ที.ปา.11/174/195)

     ยิ่งมีปัญญาพอที่จะทำตนให้รอดพ้นเป็นอิสระได้ ไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติ และโลกามิสอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของตน ไม่ทำให้การได้สิ่งเหล่านั้นมากลายเป็นเพียงการได้ทุกข์มาทับถมตัว สามารถเป็นอยู่ด้วยจิตใจเบิกบานผ่องใส โลกธรรมฉาบไม่ติด โลกามิสถูกไม่เปื้อน มีทุกข์เบาบาง และถอนตัวออกจากทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ละคราวได้ฉับไว ก็ยิ่งนับว่าเป็นบุคคลประเสริฐ เป็นอิสรชน เป็นเสรีบุคคลที่แท้จริง

     ท่านเหล่านี้ ถึงจะเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน หรือแม้อนาคามี ก็เป็นผู้ประกอบกิจการงานด้วยความเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ปรากฏว่า ท่านสนับสนุนให้คฤหัสถ์มีชีวิตไปวันๆ ไม่เอาใจใส่ความเป็นอยู่ ทอดทิ้งความรับผิดชอบต่างๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการดำเนินชีวิตด้วยความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น


จ. สังฆะ คือ ชุมชนของบุคคลที่เป็นอิสระ ทั้งโดยชีวิต และด้วยจิตปัญญา


     “สังฆะ” คือ สงฆ์ เป็นชุมชนตัวอย่างของชีวิตที่พึ่งพาอาศัยวัตถุน้อยที่สุด หรือเป็นอิสระจากวัตถุมากที่สุด ทั้งนี้เกี่ยวพันกับเงื่อนไขทางสังคม เพื่อฝึกพระภิกษุให้สามารถมีชีวิตเช่นนั้น อย่างหนึ่ง เพื่อให้พระภิกษุอุทิศเวลาและแรงงานไปในด้านกิจเกี่ยวกับธรรมได้เต็มที่ ไม่มัวห่วงกังวลกับการแสวงหาวัตถุ อย่างหนึ่ง เพื่อทำตัวให้ชาวบ้านเลี้ยงง่าย ในฐานะที่เป็นผู้อาศัยการบำรุงของชาวบ้าน ไม่ประกอบอาชีพด้วยตนเอง อย่างหนึ่ง และเพื่อดำรงภาวะความเป็นชุมชนอิสระ ที่พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งระบบทางสังคมได้มากที่สุด โดยที่การใช้แรงงานไม่เป็นไปเพื่อผลตอบแทนในทางอาชีวะ อย่างหนึ่ง

     พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือปุถุชน ก็ดำรงชีวิตตามหลักการอาศัยวัตถุให้น้อย อยู่เพื่อธรรมให้มาก อย่างเดียวกัน

     ไม่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้คฤหัสถ์เป็นอยู่อย่างพระ และก็ไม่ปรากฏว่าจะทรงมุ่งหวังให้คนมาบวชเป็นพระกันไปทั้งหมด หลักความจริงตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยก็บอกชัดอยู่แล้วว่า ในเวลาหนึ่งๆ คนย่อมอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกัน และจึงย่อมมีความต้องการที่ต่างๆกัน แม้แต่บุคคลโสดาบันส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยจำนวนมากมาย ก็ครองเรือนอยู่กับครอบครัวที่บ้าน

     สารัตถะของหลักการนี้ น่าจะได้แก่ การให้มีชุมชนอิสระ ซ้อนอยู่ในสังคมใหญ่ เพื่อเป็นแรงดุลทางธรรมหล่อเลี้ยงธรรมแก่สังคม และเป็นแหล่งอำนวยความหลุดพ้นจากปัจจัยครอบงำของสังคมในเวลานั้นๆ แก่ผู้ต้องการ และพร้อมที่จะพ้นออกไป


     ชุมชนนี้ มีทั้งชุมชนรูปแบบ และชุมชนนามธรรม

        - ชุมชนอิสระโดยรูปแบบ ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ หรือที่บางทีเรียกว่า สมมติสงฆ์ อันแทรกซ้อนและลอยตัวอยู่ ท่ามกลางสังคมใหญ่ของคฤหัสถ์

        - ชุมชนอิสระโดยนามธรรม ได้แก่ สาวกสงฆ์ หรือที่บางที เรียกว่า อริยสงฆ์ อันประกอบด้วยอริยชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ที่แทรกซ้อนและลอยตัวอยู่ ท่ามกลางสังคมใหญ่ของมวลปุถุชน

     สารัตถะนี้ เท่ากับบอกว่า สังคมอุดมคติ มิใช่สังคมที่มนุษย์ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน และสังคมเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่สังคมอุดมคติ เป็นสังคมที่มนุษย์ผู้มีพัฒนาการทางจิตปัญญา แม้จะแตกต่างกัน แต่ก็กำลังก้าวหน้าไปสู่จุดหมายเดียวกัน และแม้จะแตกต่างกัน แต่ก็อยู่อย่างกลมกลืนกัน กับทั้งเป็นสังคมที่มนุษย์มีทางเลือกออกไปอย่างดีงาม ในเมื่อไม่ต้องการอยู่ในสังคมใหญ่นั้น (แม้แต่ในยุคพระศรีอาริย์ ที่ว่าคนเหมือนกันทุกอย่าง ก็ยังมีภิกษุสงฆ์เป็นชุมชนอิสระโดยรูปแบบอย่างเดียวกัน)

     กล่าวเฉพาะสังฆะของภิกษุสงฆ์ ในแง่ของความเป็นอิสระทางวัตถุ การที่จะมีและดำรงรักษาความเป็นอิสระเช่นนั้นไว้ได้ โดยพื้นฐาน ก็อยู่ที่การมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาวัตถุน้อย ซึ่งต้องพ่วงมากับคุณธรรมในจิตใจ ที่จะให้อยู่ได้อย่างดีในวิถีชีวิตเช่นนั้น โดยเฉพาะข้อสำคัญที่แสดงออกมาในความเป็นอยู่ คือความสันโดษ ดังนั้น สันโดษ จึงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำสำหรับภิกษุ หรือบรรพชิตทั้งหมด

     พร้อมกับสันโดษด้านวัตถุ ที่ทำให้เป็นอยู่ง่าย มีความสุขได้ด้วยอาศัยวัตถุน้อยนั้น พระภิกษุเมื่อไม่ต้องใช้เวลา เรี่ยวแรง และความคิดไปกับเรื่องวัตถุ ก็นำเวลา เรี่ยวแรง และความคิดไปทุ่มเทให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติเพื่อความเป็นอิสระทางจิตปัญญาได้เต็มที่ ดังที่ได้เป็นหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อริยวงศ์ ๔ ประการ


     ขอกล่าวรวบรัดว่า พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาวัตถุน้อยนั้น ไม่ได้ประกอบศิลปวิทยาเลี้ยงชีพ และโดยอาศัยวิถีทางที่โบราณประเพณีเปิดไว้ ก็เป็นอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่ชาวบ้านแบ่งปันให้ แต่พร้อมกันนั้น ก็ถือว่า ไม่มีสิทธิเรียกร้องเลือกอาหารหรือปัจจัยยังชีพทั้งหลาย ควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย มักน้อย สันโดษ โดยดำเนินตามหลัก อริยวงศ์ ๔ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ คือ

        ๑. ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร ตามมีตามได้ เป็นผู้มีปกติสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่ประกอบอเนสนา (การแสวงหาในทางที่ผิด) เพราะเห็นแก่จีวร

     เมื่อไม่ได้จีวร ก็ไม่กระวนกระวาย เมื่อได้จีวร ก็ไม่ติด ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น ย่อมใช้สอยอย่างรู้ทันเห็นโทษ มีปัญญาสลัดตัวออกได้ และทั้งไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น

     ภิกษุใดชาญฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในจีวรสันโดษนั้น ภิกษุนี้ เรียกว่า เป็นผู้สถิตในอริยวงศ์ อันเป็นของเก่า มีมาแต่ดั้งเดิม

        ๒.อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาต ตามมีตามได้ ฯลฯ

        ๓.อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะ ตามมีตามได้ ฯลฯ

        ๔.อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีการเจริญกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ชื่นชมยินดีในการเจริญกุศลธรรม มีการละอกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ชื่นชมยินดีในการละอกุศลธรรม

     อีกทั้งเธอไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีการเจริญกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ด้วยความชื่นชมยินดีในการเจริญกุศลธรรม ด้วยความเป็นผู้มีการละอกุศลธรรมเป็นที่รื่นรมย์ ด้วยความชื่นชมยินดีในการละอกุศลธรรมนั้น

     ภิกษุใดชาญฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในภาวนา (การเจริญกุศลธรรม) และปหาน (การละอกุศลธรรม) นั้น ภิกษุนี้ เรียกว่า เป็นผู้สถิตในอริยวงศ์ อันเป็นของเก่า มีมาแต่ดั้งเดิม”  (องฺ.จตุกฺก.21/28/35 – ข้อความที่ละไว้ พึงเทียบตามข้อ ๑)

     คุณธรรมด้านความสันโดษนั้น ว่าโดยพื้นฐาน ก็สอดคล้องกับศีลสำหรับพระภิกษุนั้นเอง และศีลสำหรับพระภิกษุนั้น ก็จัดวางไว้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์มีวิถีชีวิตแห่งความสันโดษ และเพื่อเกื้อหนุนให้ภิกษุทั้งหลายอุทิศชีวิตให้แก่การบำเพ็ญเพียรในการพัฒนากุศล และ ลด ละอกุศลนั่นเอง


     เพื่อรวบรัดอีกเช่นกัน   ขอสรุปว่า   ศีลสำหรับพระภิกษุนั้น   พระอรรถกถาจารย์ประมวลเข้า และจัดเป็นประเภทได้ ๔ อย่าง เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ ประการ คือ

        ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล  ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยศรัทธา

        ๒. อินทรียสังวรศีล  ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรม เช่น ความชอบ ชัง ติดใจ หรือขัดใจครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสิ่งกระทบ และใจรู้คิดเรื่องราวต่างๆ ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยสติ

        ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล  ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ได้แก่ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบธรรมบริสุทธิ์ ไม่ประกอบการแสวงหาในทางที่ผิด เช่น ไม่พูดอวดอุตริมนุสสธรรม คือ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ที่ไม่มีจริงในตน และไม่ออกปากขออาหารเพื่อตนเองบริโภคโดยมิได้เจ็บไข้ เป็นต้น ไม่กระทำกุหนา คือ การหลอกลวง เช่น ปั้นแต่งท่าทางหน้าตาเคร่งครัดให้เขาเลื่อมใสถวายปัจจัยสี่ ไม่กระทำลปนา คือประจบเขากิน ไม่กระทำนิมิต คือเลศนัยเลียบเคียงต่างๆ ให้เขาถวายปัจจัย ไม่กระทำนิปเปสิกตา คือ ขู่เข็ญกลั่นแกล้งให้เขายอมถวายปัจจัย และไม่เอาลาภต่อลาภ เช่น ให้ของน้อยแก่เขาไป เพื่อว่าเขาจะได้ถวายมากตอบมา เป็นต้น ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยวิริยะ

        ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล  ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ ใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยพิจารณาให้เป็นไปตามความหมาย และประโยชน์ หรือคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหา เช่น ฉันอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้สุขภาพดี มีชีวิตผาสุก ทำกิจได้สบาย ช่วยให้มุ่งไปได้ในไตรสิกขา มิใช่เพื่อปรนเปรอหรือสนุกสนาน มัวเมา ท่านว่า ศีลข้อนี้ รักษาสำเร็จด้วยปัญญา



- พาหุสัจจะ   ความเป็นผู้ได้สดับมาก หรือเล่าเรียนกว้างขวางลึกซึ้ง

- สิปปะ   วิชาชีพหรือความจัดเจนงาน



* ปาริสุทธิศีล   ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล

 


Create Date : 28 ตุลาคม 2566
Last Update : 28 ตุลาคม 2566 7:52:17 น. 0 comments
Counter : 126 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space