กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
15 ตุลาคม 2566
space
space
space

พุทธพจน์แสดงหลักศรัทธา



พุทธพจน์แสดงหลักศรัทธา


     สำหรับทุกคน   ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือทฤษฎี ลัทธิ หรือคำสอนอันใดอันหนึ่งอยู่แล้ว หรือยังไม่นับถือก็ตาม  มีหลักการตั้งทัศนคติที่ประกอบด้วยเหตุผล  ตามแนวกาลามสูตร* ดังนี้

     ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จจาริก ถึงเกสปุตตนิคมของพวกกาลามะ ในแคว้นโกศล ชาวกาลามะ    ได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์   จึงพากันไปเฝ้า   แสดงอาการต่างๆกัน ในฐานะยังไม่เคยนับถือมาก่อน และได้ทูลถามว่า

     ชาวกาลามะ:  พระองค์ผู้เจริญ  มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  มาสู่เกสปุตตนิคม  ท่านเหล่านั้น แสดงเชิดชูแต่วาทะ (ลัทธิ) ของตนเท่านั้น  แต่ย่อมกระทบ กระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง  ก็มาสู่เกสปุตตนิคม  ท่านเหล่านั้น ก็แสดงเชิดชูแต่วาทะของตนเท่านั้น ย่อมกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกดวาทะฝ่ายอื่น ชักจูงไม่ให้เชื่อ พวกข้าพระองค์  มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า  บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

     พระพุทธเจ้า:   “กาลามชนทั้งหลาย เป็นการสมควรที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลง สมควรที่จะสงสัย ความเคลือบแคลงสงสัยของพวกท่านเกิดขึ้นในฐานะ กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย

        - อย่ายึดถือ* (ดูบันทึกพิเศษท้ายบท)  โดยการฟัง (เรียน)  ตามกันมา  (อนุสสวะ)

        - อย่ายึดถือ  โดยการถือสืบๆกันมา  (ปรัมปรา)

        - อย่ายึดถือ  โดยการเล่าลือ (อิติกิรา)

        - อย่ายึดถือ  โดยการอ้างตำรา (ปิฎกสัมปทาน)

        - อย่ายึดถือ  โดยตรรก (ตักกะ)

        - อย่ายึดถือ  โดยอนุมาน (นยะ)

        - อย่ายึดถือ  โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)

        - อย่ายึดถือ  เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)

        - อย่ายึดถือ  เพราะเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)

        - อย่ายึดถือ  เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณ โน ครูติ)


     เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้ มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนติเตียน  ธรรมเหล่านี้  ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้ว  จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์  เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายพึงละเสีย  ฯลฯ  เมื่อใด ท่านทั้งหลาย รู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้ว  จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล  เพื่อความสุข  เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติบำเพ็ญธรรมเหล่านั้น


     ในกรณีที่ผู้ฟังยังไม่รู้ไม่เข้าใจ   และยังไม่มีความเชื่อในเรื่องใดๆ   ก็ไม่ทรงชักจูงความเชื่อ เป็นแต่ทรงสอนให้พิจารณาตัดสินเอาตามเหตุผลที่เขาเห็นได้ด้วยตนเอง  เช่น  ในเรื่องความเชื่อทางจริยธรรมเกี่ยว กับ ชาตินี้ชาติหน้า ก็มีความในตอนท้ายของสูตรเดียวกันนั้นว่า

        “กาลามชนทั้งหลาย  อริยสาวกนั้น  ผู้มีจิตปราศจากเวรอย่างนี้  มีจิตปราศจากความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ ย่อมได้ประสบความอุ่นใจถึง ๔ ประการ ตั้งแต่ในปัจจุบันนี้แล้ว คือ

        “ถ้าปรโลกมีจริง  ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วมีจริง  การที่ว่าเมื่อเราแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”   นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๑ ที่เขาได้รับ

        “ถ้าปรโลกไม่มี   ผลวิบากของกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี   เราก็ครองตนอยู่โดยไม่มีทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขอยู่แต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว”  นี้  เป็นความอุ่นใจประการที่ ๒ ที่เขาได้รับ

        “ก็ถ้า  เมื่อคนทำความชั่ว  ก็เป็นอันทำไซร้ เรามิได้คิดการชั่วร้ายต่อใครๆ ที่ไหนทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปกรรมเล่า”   นี้เป็นความอุ่นใจประการที่ ๓ ที่เขาได้รับ

        “ก็ถ้า เมื่อคนทำความชั่ว ก็ไม่ชื่อว่าเป็นอันทำไซร้ ในกรณีนี้ เราก็มองเห็นตนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองด้าน”   นี้  เป็นความอุ่นใจประการที่ ๔ ที่เขาได้รับ


     สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้นับถือในลัทธิศาสนา หรือหลักคำสอนใดๆ พระองค์จะตรัสธรรมเป็นกลางๆ    เป็นการเสนอแนะความจริงให้เขาคิด   ด้วยความปรารถนาดี เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง โดยมิต้องคำนึง ว่าหลักธรรมนั้นเป็นของผู้ใด โดยให้เขาเป็นตัวของเขาเอง ไม่มีการชักจูงให้เขาเชื่อ ให้เขาเลื่อมใสต่อพระองค์ หรือเข้ามาสู่อะไรสักอย่างที่อาจจะเรียกว่าศาสนาของพระองค์


     พึงสังเกตด้วยว่า  จะไม่ทรงอ้างพระองค์ หรือ อำนาจเหนือธรรมชาติพิเศษอันใดเป็นเครื่องยืนยันคำสอนของพระองค์   นอกจากเหตุผล  และข้อเท็จจริงที่ให้เขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาของเขาเอง และพึงสังเกตด้วยว่า   ทรงสอนหลักการปฏิบัติพื้นๆ ที่เรียกว่าอปัณณกตา คือ ในเรื่องที่มนุษย์ทั่วไปไม่รู้  จะเป็นเรื่องที่เรียกว่าเหนือธรรมชาติก็ตาม  หรือ แม้แต่เรื่องสามัญที่ไม่รู้แน่ชัด  พึงเลือกเอาการปฏิบัติที่ไม่พลาดแน่ๆ  ไม่ต้องมัวคาดมัวเดา

     ตัวอย่าง ดังในเรื่องชาดกว่า   พวกกองเกวียนเดินทางผ่านทะเลทราย  ต้องบรรทุกน้ำไปหนักมาก ระหว่างทาง   พวกหนึ่งเจอคนปลอมจะหลอกเอาเป็นเหยื่อ   บอกว่า   ไปข้างหน้าอีกไม่ไกล จะมีชุมชนใหญ่   มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์  น้ำที่บรรทุกมานี้หนักเปล่าๆ ทิ้งไปเสียเถิด ค่อยไปเอาข้างหน้า แถมแสดงหลักฐานเท็จให้ดู พวกกองเกวียนดีใจ เอาตุ่มไหใส่น้ำทิ้งหมด แล้วเดินทาง ต่อไปอีกเท่าไรๆ ก็ไม่เจอน้ำ จนอดตายหมด เป็นเหยื่อเขาไป

     ส่วนกองเกวียนอีกพวกหนึ่ง  โดนหลอกด้วยหลักฐานเท็จเหมือนกัน  แต่ถือหลักอปัณณกตานี้ว่า    ถ้าไม่รู้จริงประจักษ์    ก็ไม่ยอมตามตรรกะหรือการคาดเดา   เมื่ออันที่แน่ๆ มีอยู่แล้ว คือน้ำที่บรรทุกมาในเกวียนนั่นแหละ   ก็บรรทุกไป   จนกว่าจะเจอแหล่งน้ำที่ว่านั้นจริง ก็เติมได้ พวกที่ใช้ปัญญา และอะไรที่ประจักษ์ได้   ก็ให้ประจักษ์   ถือหลักอปัณณกตานี้   ก็พากองเกวียนเดินทางไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ   (อปัณณกชาดก.ชา. 1/153)


     สำหรับเรื่องนามธรรมที่ลึกลงไปกว่านั้น   ก็ดังเช่น   เรื่องในอปัณณกสูตร (ม.ม.13/103-124/100-121) ซึ่งแสดงถึงการใช้หลักเลือกเอาที่ไม่พลาดไว้ก่อน หรือทำสิ่งที่ไม่พลาดเห็นชัดอยู่แน่ๆ แม้แต่ในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนี้

     พระพุทธเจ้า   เสด็จจาริกถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลา   พวกพราหมณ์คหบดีชาวหมู่บ้านนี้ ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระองค์ จึงพากันไปเฝ้า แสดงอาการต่างๆ ในฐานะ อาคันตุกะที่ยังไม่ได้นับถือกัน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

        พระพุทธเจ้า:   คหบดีทั้งหลาย พวกท่านมีศาสดาท่านใดท่านหนึ่งที่ถูกใจ ซึ่งท่านทั้งหลายมีศรัทธาอย่างมีเหตุผล (อาการวตีสัทธา) อยู่บ้างหรือไม่ ?

        พราหมณ์คหบดี:   ไม่มีเลย   ท่านผู้เจริญ

        พระพุทธเจ้า:   เมื่อท่านทั้งหลาย ยังไม่ได้ศาสดาที่ถูกใจ ก็ควรจะถือปฏิบัติหลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอน (อปัณณกธรรม) ดังต่อไปนี้ ด้วยว่า อปัณณกธรรมนี้ เมื่อถือปฏิบัติถูกถ้วน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน หลักการที่ไม่ผิดพลาดแน่นอนนี้เป็นไฉน ?”

        สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิว่า: ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีทำไว้ชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี ปรโลกไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี ฯลฯ ส่วนสมณพราหมณ์ อีกพวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิ ที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้นทีเดียวว่า: ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล ฯลฯ ท่านทั้งหลายเห็นเป็นไฉน สมณพราหมณ์เหล่านี้   มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันมิใช่หรือ “

        พราหมณ์คหบดี:   ใช่อย่างนั้น

        พระพุทธเจ้า:   สมณพราหมณ์ ๒ พวกนั้น พวกที่มีทิฐิว่า: ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบำเพ็ญทานไม่มีผล ฯลฯ สำหรับพวกนี้ เป็นอันหวังสิ่งต่อไปนี้ได้ คือ พวกเขาจะละทิ้ง กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อันเป็นกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่างเสีย แล้วจะยึดถือประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่าง ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุอะไร ? ก็เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มองเห็นโทษ ความทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม และอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายสะอาดผ่องแผ้วของกุศลธรรม...

     ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า “ถ้าปรโลกไม่มี ท่านผู้นี้ เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไป ก็ทำตนให้สวัสดี (ปลอดภัย) ได้ แต่ถ้าปรโลกมี ท่านผู้นี้ เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ก็จะเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เอาเถอะ ถึงว่าให้ปรโลกไม่มีจริงๆ ให้คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นความจริงก็เถิด ถึงกระนั้น บุคคลผู้นี้ ก็ถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันนี้เองว่า เป็นคนทุศีล มีมิจฉาทิฐิ เป็นนัตถิกวาท ก็ถ้าปรโลกมีจริง บุคคลผู้นี้ก็เป็นอันได้แต่ข้อเสียหายทั้งสองด้าน คือ ปัจจุบันก็ถูกวิญญูชนติเตียน แตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก อีกด้วย ฯลฯ

     สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะมีทิฐิว่า "ความดับภพหมดสิ้นไม่มี" ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง ซึ่งมีวาทะมีทิฐิ ที่เป็นข้าศึกโดยตรงกับสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวว่า "ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่" ฯลฯ

     ในเรื่องนั้น คนที่เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” นี้ เราก็ไม่ได้เห็น แม้ที่ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่จริง” นี้ เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็นอยู่ จะกล่าวยึดเด็ดขาดลงไปว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการสมควรแก่เรา

     ก็ถ้าคำของสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” เป็นความจริง การที่เราไปเกิดในหมู่เทพผู้ไม่มีรูปผู้เป็นสัญญามัย ได้แม่นมั่นไม่พลาด ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าคำของพวกสมณพราหมณ์ที่มีวาทะมีทิฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีอยู่” เป็นความจริง การที่เราจะปรินิพพานได้ในปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

     แลก็ ทิฐิของสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นไม่มี” นี้ อยู่ข้างของการมีความติดใคร่ อยู่ข้างของการผูกพันรัดตัว อยู่ข้างของการมัวเพลิน อยู่ข้างของการสยบหมกมุ่น อยู่ข้างของการถือค้างถือคา ส่วนทิฐิพวกสมณพราหมณ์ฝ่ายที่มีวาทะมีทิฐิว่า “ความดับภพหมดสิ้นมีจริง ” นั้น อยู่ข้างจะไม่ติดใคร่ อยู่ข้างจะไม่ผูกพัดรัดตัว อยู่ข้างจะไม่มัวเพลิน อยู่ข้างจะไม่สยบหมกมุ่น อยู่ข้างจะไม่ถือค้างถือคา เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธ แห่งภพทั้งหลายเป็นแท้


     พุทธพจน์ต่อไปนี้   แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความคิดเห็น ในระดับที่ยังเป็นความเชื่อ และเหตุผล ยังเป็นความรู้ความเห็นที่บกพร่อง มีทางผิดพลาด ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงความจริง

     “แน่ะท่านภารทวาชะ ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบาก ๒ ส่วนในปัจจุบันทีเดียว คือ

        ๑. ศรัทธา    ความเชื่อ

        ๒. รุจิ     ความถูกใจ

        ๓. อนุสสวะ    การฟัง (หรือเรียน) ตามกันมา

        ๔. อาการปริวิตักกะ    การคิดตรองตามแนวเหตุผล

        ๕. ทิฏฐินิชฌานักขันติ     ความเข้ากันได้กับ (การเพ่งนินิจด้วย) ทฤษฎีของตน


     ก็สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อเลยทีเดียว แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี

     สิ่งที่ถูกกับใจชอบทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เห็นชอบถูกใจเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี

     สิ่งที่เรียนต่อกันมาอย่างดีทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เรียนตามกันมาเลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี

     สิ่งที่คิดไตร่ตรองอย่างดีแล้วทีเดียว กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่มิได้เป็นอย่างที่คิดตรองเห็นไว้เลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นไปเลยก็มี

     สิ่งที่เพ่งพินิจไว้เป็นอย่างดี (ว่าถูกต้องตามทิฐิทฤษฎีหลักการของตน) กลับเป็นของเปล่า เป็นของเท็จไปเสียก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เป็นอย่างที่เพ่งพินิจไว้เลย แต่กลับเป็นของจริง แท้ ไม่เป็นอื่นเลยก็มี” (ม.ม.13/655/601)


     จากนั้น   ทรงแสดงวิธีวางตนต่อความคิดเห็น   และความเชื่อของตน   และการรับฟังความคิดเห็น และความเชื่อของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าเป็นทัศนคติแบบอนุรักษ์หรือคุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์ แปลเอาความว่า คนรักษ์ความจริง) ว่า

        “บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะอนุรักษ์สัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า ”อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหลทั้งนั้น”

        “ถ้าแม้นบุรุษมีความเชื่อ (ศรัทธา อยู่อย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ยังชื่อว่าเขาอนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหลทั้งนั้น” ไม่ได้ก่อน

        “ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการคุ้มครองสัจจะ และคนผู้นั้น ก็ชื่อว่าคุ้มครองสัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการคุ้มครองสัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ”

        “ถ้าแม้นบุรุษมีความเห็นที่ถูกใจ...มีการเรียนต่อกันมา...มีการคิดตรองตามเหตุผล...มีความเห็นที่ตรงกับทฤษฎีของตนอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้า มีความเห็นที่ถูกใจอย่างนี้...มีการเล่าเรียนอย่างนี้...มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้...มีความเห็นตามทฤษฎีของตนว่าอย่างนี้” ก็ชื่อว่าเขายังคุ้มครองสัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหลทั้งนั้น” ไม่ได้ก่อน

        “ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการคุ้มครองสัจจะ และคนผู้นั้น ก็ชื่อว่าคุ้มครองสัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการคุ้มครองสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ”

     ท่าทีปรากฏชัด    เมื่อตรัสเจาะจงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา   คือ   ในคราวที่มีคนภายนอกกำลังพูดสรรเสริญบ้าง ติเตียนบ้าง   ซึ่งพระพุทธศาสนา    พระภิกษุสงฆ์นำเรื่องนั้นมาสนทนากัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

        “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นมากล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ เธอทั้งหลาย ไม่ควรอาฆาต ไม่ควรเศร้าเสียใจ ไม่ควรแค้นเคือง เพราะคำติเตียนนั้น ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง หรือ เศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้น ก็จะกลายเป็นอันตรายแก่พวกเธอทั้งหลายเองนั่นแหละ คือ หากคนพวกอื่นติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง เศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้นแล้ว เธอทั้งหลาย จะรู้ชัดถ้อยคำนี้ของเขาว่าพูดถูก หรือ พูดผิด ได้ละหรือ ?

        ภิกษุทั้งหลาย ทูลตอบว่า “ไม่อาจรู้ชัดได้”

        “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นมากล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อไม่เป็นจริง พวกเธอก็พึงแก้ให้เห็นว่าไม่เป็นจริงว่า “ข้อนี้ ไม่เป็นจริงเพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างนี้ๆ สิ่งนี้ไม่มีในพวกเรา สิ่งนี้หาไม่ได้ในหมู่พวกเรา”

        “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรเริงใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระหยิ่มลำพองใจ ในคำชมนั้น ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ หากเธอทั้งหลาย เริงใจ ลำพองใจแล้วไซร้ ก็จะเป็นอันตรายแก่พวกเธอเองนั่นแหละ

        “ถ้ามีคนมากกล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อเป็นความจริง พวกเธอ ก็พึงรับรองว่าเป็นจริงว่า “ข้อนี้ เป็นจริงเพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ถูกต้อง เพราะอย่างนี้ ๆ สิ่งนี้มีในพวกเรา สิ่งนี้หาได้ในหมู่พวกเรา” (ที.สี.9/1/3)


     ต่อจากการอนุรักษ์หรือคุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์/สัจจานุรักขณ์) พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อให้หยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) และเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุบัติ) และในกระบวนการปฏิบัตินี้ จะมองเห็นการเกิดศรัทธา ความหมาย ความสำคัญ และขอบเขตความสำคัญของศรัทธาไปด้วย ดังนี้

        “ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงจะมีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลจึงจะชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ ? ”

        “เมื่อได้ยินข่าวว่า มีภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้าน หรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโทสะ ธรรมจำพวกโมหะว่า ท่านผู้นี้ มีธรรมจำพวกโลภะ ที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆ หรือไม่ ?”

        “เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ ไม่มีธรรมจำพวกโลภะ ที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล และก่อทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆได้เลย อนึ่ง ท่านผู้นี้ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร อย่างคนไม่โลภ ธรรมที่ท่านผู้นี้แสดงก็ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก หยั่งรู้ได้ยาก เป็นของสงบ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตรรกะ ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึงรู้ได้ ธรรมนั้น มิใช่สิ่งที่คนโลภจะแสดงได้ง่ายๆ

        “เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้น เขาย่อมพิจารณาตรวจดูเธอยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในธรรมจำพวกโทสะ...ในธรรมจำพวกโมหะ ฯลฯ”

        “เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ จากธรรมจำพวกโมหะแล้ว คราวนั้น เขาย่อมฝังศรัทธาลงในเธอ”

        “เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเข้าหา ก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อคอยนั่งอยู่ใกล้ ก็เงี่ยโสตลง (ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลง ก็ได้สดับธรรม

        “ครั้นสดับธรรมแล้ว ก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอรรถอยู่ ก็เห็นชอบด้วยกับข้อธรรมตามที่ (ทนต่อการ) คิดเพ่งพิสูจน์ เมื่อเห็นชอบด้วยกับข้อธรรมดังที่คิดเพ่งพิสูจน์ ฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะ ก็อุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ก็เอามาคิดทบทวนเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือทำความเพียร เมื่อลงมือทำทุ่มเทจิตใจให้แล้ว ก็ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งกับตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา

        “ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่ามีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ และเราย่อมบัญญัติการหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะก่อน

        “ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงมีการเข้าถึงสัจจะ และคนจึงจะเข้าถึงสัจจะ?

        “การอาเสวนะ การเจริญ การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุบัติ) ฯลฯ” (ม.ม.13/657-8/602-5)


     สำหรับคนสามัญทั่วไป ศรัทธาเป็นธรรมขั้นต้นที่สำคัญยิ่ง เป็นอุปกรณ์ชักนำให้เดินหน้าต่อไป เมื่อใช้ถูกต้อง จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้การก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้ผลรวดเร็วขึ้น

     ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า บางคราวผู้มีปัญญามากกว่า แต่ขาดความเชื่อมั่น กลับประสบความสำเร็จช้ากว่าผู้มีปัญญาด้อยกว่า แต่มีศรัทธาแรงกล้า ในกรณีที่ศรัทธานั้นไปตรงกับสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จึงเป็นการทุ่นแรงทุ่นเวลาไปในตัว ตรงกันข้าม ถ้าศรัทธาเกิดในสิ่งที่ผิด ก็เป็นการทำให้เขว ยิ่งหลงชักช้าหนักขึ้นไปอีก

     อย่างไรก็ดี   ศรัทธาในพุทธธรรม มีเหตุผลเป็นฐานรองรับ มีปัญญาคอยควบคุม จึงยากที่จะผิด นอกจากพ้นวิสัยจริงๆ และก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ไม่ดิ่งไปในทางที่ผิด เพราะคอยรับรู้เหตุผลค้นคว้าและทดลองอยู่ตลอดเวลา

     การขาดศรัทธาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่ต้องการ ดังพุทธพจน์ว่า

        “ภิกษุทั้งหลาย   ภิกษุรูปหนึ่งยังสลัดทิ้งตอในใจ ๕ อย่างไม่ได้ ยังถอนสิ่งผูกรัดใจ ๕ อย่างไม่ได้ ข้อที่ว่าภิกษุนั้น จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

        “ตอในใจที่ภิกษุนั้น   ยังสลัดทิ้งไม่ได้ คือ

          ๑. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...

          ๒. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในธรรม...

          ๓. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสงฆ์…

          ๔. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสิกขา...

          ๕. ภิกษุโกรธเคือง น้อยใจ มีจิตกระทบกระทั่ง เกิดความกระด้างเหมือนเป็นตอเกิดขึ้นในเพื่อนพรหมจรรย์...

        จิตของภิกษุผู้ยังสงสัย  เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...ในธรรม…ในสงฆ์...ในสิกขา...โกรธเคือง ฯลฯ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความหมั่นฝึกฝนอบรม เพื่อความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงมือทำความพยายาม ภิกษุมีจิตที่ยังไม่น้อมไปเพื่อความเพียร...ชื่อว่ามีตอในใจ ซึ่งยังสลัดทิ้งไม่ได้...” (ที.ปา.11/296/250 ฯลฯ)

     โดยนัยนี้    การขาดศรัทธา    มีความสงสัย แคลงใจ ไม่เชื่อมั่น จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาปัญญา และการก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย   สิ่งที่ต้องทำในกรณีนี้ก็คือ   ต้องปลูกศรัทธา และกำจัดความสงสัยแคลงใจ

     แต่การปลูกศรัทธาในที่นี้    มิได้หมายถึง    การยอมรับและมอบความไว้วางใจให้โดยไม่เคารพในคุณค่าแห่งปัญญาของตน   แต่หมายถึง  การคิดพิสูจน์ทดสอบด้วยปัญญาของตนให้เห็นเหตุผลชัดเจน จนมั่นใจ หมดความลังเลสงสัย




* พระสูตรนี้ ในพระไตรปิฎกต่างฉบับ เรียก เกสปุตตสูตร บ้าง เกสปุตติสูตร บ้าง เกสปุตติยสูตร บ้าง องฺ.ติก.20/505/241 ...

 


Create Date : 15 ตุลาคม 2566
Last Update : 16 ตุลาคม 2566 18:49:12 น. 0 comments
Counter : 218 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space