กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
15 ตุลาคม 2566
space
space
space

หลักศรัทธาโดยสรุป



หลักศรัทธาโดยสรุป


     โดยสรุป   ลักษณะที่ควรกล่าวถึง   เพื่อความเข้าใจความหมาย บทบาท และความสำคัญของศรัทธาในระบบของพุทธธรรม ดังนี้

        ๑. ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าวได้ว่าเป็นขั้นต้นที่สุด

        ๒. ศรัทธาที่ประสงค์ ต้องเป็นความเชื่อความซาบซึ้งที่เนื่องด้วยเหตุผล คือมีปัญญารองรับ และเป็นทางสืบทอดส่งต่อแก่ปัญญาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัวมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง โดยไม่ต้องถามหาเหตุผล อันเป็นลักษณะทางฝ่ายอาเวค (emotion) ด้านเดียว

        ๓. ศรัทธาที่เป็นความรู้สึกฝ่ายอาเวคด้านเดียว ถือว่าเป็นความเชื่อที่งมงาย เป็นสิ่งที่จะต้องละเสีย หรือแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนความรู้สึกฝ่ายอาเวคที่เนื่องอยู่กับศรัทธาแบบที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการปฏิบัติธรรมให้เป็นประโยชน์ได้มากพอสมควรในระยะต้นๆ แต่จะถูกปัญญาเข้าแทนที่โดยสิ้นเชิงในที่สุด

        ๔. ศรัทธาที่มุ่งหมายในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น อาจให้ความหมายสั้นๆว่า เป็นความซาบซึ้งด้วยมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็น คือมั่นใจตนเอง โดยเหตุผลว่า จุดหมายที่อยู่เบื้องหน้านั้นเป็นไปได้จริงแท้ และมีค่าควรแก่การที่ตนจะดำเนินไปให้ถึง เป็นศรัทธาที่เร้าใจให้อยากพิสูจน์ความจริงของเหตุผลที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้านั้นต่อๆยิ่งๆขึ้นไป เป็นบันไดขั้นต้นสู่ความรู้ ตรงข้ามกับความรู้สึกมอบใจให้แบบอาเวค ซึ่งทำให้หยุดคิดหาเหตุผลต่อไป

        ๕. เพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง ธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาที่เป็นส่วนประกอบข้อหนึ่งแล้ว จะต้องมีปัญญาเป็นอีกข้อหนึ่งด้วยเสมอไป* และตามปกติ  ศรัทธาย่อมมาเป็นข้อที่หนึ่ง พร้อมกับที่มีปัญญาคุมเป็นข้อสุดท้าย   แต่ในกรณีที่มีปัญญา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศรัทธาเลย*

     ดังนั้นปัญญาจึงสำคัญกว่าศรัทธา   ทั้งในฐานะเป็นตัวคุม และในฐานะเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น แม้ในแง่คุณสมบัติของบุคคล ผู้ที่ได้รับยกย่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็คือผู้มีปัญญาสูงสุด เช่น พระสารีบุตรอัครสาวก เป็นต้น ไม่ได้ถือเอาศรัทธาในศาสนาเป็นเกณฑ์


        ๖ คุณประโยชน์ของศรัทธา เป็นไปใน ๒ ลักษณะ คือ

           - ในแนวหนึ่ง ศรัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ  ซึ่งตามมาด้วยปัสสัทธิที่นำไปสู่ความสุข อันช่วยให้เกิดสมาธิ เพื่อต่อไปสู่ปัญญาในที่สุด

           - อีกแนวหนึ่ง  ศรัทธาทำให้เกิดวิริยะ คือ ความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติ ทดลองสิ่งที่เชื่อด้วยศรัทธานั้น ให้เห็นผลประจักษ์จริงจังแก่ตน ซึ่งนำไปสู่ปัญญาในที่สุด*

           คุณประโยชน์ทั้งสองนี้   จะเห็นว่า แม้จะได้แรงส่งจากความรู้สึกในฝ่ายอาเวค  แต่ต้องมีความใฝ่ประสงค์ปัญญาแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา

        ๗. ศรัทธาเป็นเพื่อปัญญา ดังนั้น ศรัทธาจึงต้องส่งเสริมความคิดวิเคราะห์วิจัย จึงจะเกิดความก้าวหน้าแก่ปัญญาตามจุดหมาย นอกจากนี้ แม้ตัวศรัทธานั่นเอง จะมั่นคงแน่นแฟ้นได้ ก็เพราะได้คิดสืบสาวสอบค้นมองเห็นเหตุผล และเข้าใจความจริงจนมั่นใจ หมดความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ โดยนัยนี้ ศรัทธาในพุทธธรรมจึงส่งเสริมการค้นคิดหาเหตุผล การขอร้องให้เชื่อก็ดี การบังคับให้ยอมรับความจริงตามที่กำหนดก็ดี การขู่ด้วยภัยแก่ผู้ไม่เชื่อก็ดี เป็นวิธีการที่เข้ากันไม่ได้เลยกับหลักศรัทธานี้

        ๘. ความเลื่อมใสศรัทธาติดในบุคคล ถูกถือว่ามีข้อเสียข้อบกพร่อง แม้แต่ความเลื่อมใสติดในองค์พระศาสดาเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ละเสีย เพราะเป็นศรัทธาที่แรงด้วยการรู้สึกทางอาเวค กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ในขั้นสุดท้าย

        ๙. ศรัทธาไม่ถูกจัดเป็นองค์มรรค เพราะตัวการที่จำเป็นสำหรับการดำเนินก้าวหน้าต่อไปในมรรคนี้ คือ ปัญญา ที่พ่วงกำกับศรัทธานั้นต่างหาก และศรัทธาที่จะถือว่าใช้ได้ ก็ต้องมีปัญญารองรับอยู่ด้วย นอกจากนี้ ท่านที่มีปัญญาสูง เช่น องค์พระพุทธเจ้าเอง และพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเริ่มมรรคาที่ตัวปัญญาทีเดียว ไม่ผ่านศรัทธา เพราะการสร้างปัญญาไม่จำต้องเริ่มที่ศรัทธาเสมอไป (คือเริ่มที่โยนิโสมนสิการ) ด้วยเหตุนี้ เรื่องศรัทธา ท่านจึงกล่าวซ้อนแฝงไว้ในตอนว่าด้วยการสร้างสัมมาทิฏฐิ ไม่จัดแยกไว้เป็นเรื่องต่างหาก


        ๑๐. แม้ศรัทธาที่พ้นจากภาวะเป็นความเชื่องมงายนั่นเอง ถ้าไม่ดำเนินต่อไปถึงขั้นทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความจริงประจักษ์แก่ตน ก็ไม่นับว่าเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามความหมายแท้จริง เพราะเป็นศรัทธาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความหมายของมัน จัดเป็นการปฏิบัติธรรมผิดพลาด เพราะปฏิบัติอย่างขาดวัตถุประสงค์

        ๑๑. แม้ศรัทธาจะมีคุณประโยชน์สำคัญ แต่ในขั้นสูงสุด ศรัทธาจะต้องหมดไป ถ้ายังมีศรัทธาอยู่  ก็แสดงว่า ยังไม่บรรลุจุดหมาย  เพราะตราบใดที่ยังเชื่อต่อจุดหมายนั้น ก็ย่อมแสดงว่ายังไม่ได้เข้าถึงจุดหมายนั้น  โดยรู้ประจักษ์เห็นจริงด้วยตนเอง และตราบใดที่ยังมีศรัทธา ก็แสดงว่ายังต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น ยังต้องฝากปัญญาไว้กับสิ่งอื่น ยังไม่หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์


     โดยเหตุนี้  ศรัทธาจึงไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์   แต่ตรงข้าม  พระอรหันต์กลับมีคุณลักษณะว่า ผู้ไม่มีศรัทธา (อัสสัทธะ)  ซึ่งหมายความว่า  ได้รู้เห็นประจักษ์  จึงไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ หรือต่อเหตุผลใดๆ อีก

        ๑๒. โดยสรุป ความก้าวหน้าในมรรคานี้ ดำเนินมาโดยลำดับ จากความเชื่อ (ศรัทธา) มาเป็นความเห็นหรือเข้าใจโดยเหตุผล (ทิฏฐิ) จนเป็นการรู้การเห็น (ญาณทัสสนะ) ในที่สุด ซึ่งในขั้นสุดท้าย เป็นอันหมดภาระของศรัทธาโดยสิ้นเชิง

        ๑๓. ศรัทธามีขอบเขตความสำคัญ และประโยชน์แค่ไหนเพียงใด เป็นสิ่งที่จะต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง ไม่ควรตีค่าสูงเกินไป แต่ก็ไม่ควรดูแคลนโดยเด็ดขาด เพราะในกรณีที่ดูแคลนศรัทธา อาจกลายเป็นการเข้าใจความหมายของศรัทธาผิด เช่น ผู้ที่คิดว่าตนเชื่อมั่นในตนเอง แต่กลายเป็นเชื่อต่อกิเลสของตน ในรูปอหังการมมังการไป ซึ่งกลับเป็นผลร้ายไปอีกด้านหนึ่ง

        ๑๔. ในระดับศีล หรือที่เรียกว่าศีลธรรม ศรัทธาเป็นองค์ธรรมสำคัญ ซึ่งเกื้อกูลมาก ทำให้คนมีหลักตั้งตัว เป็นกำลังเหนี่ยวรั้งและต้านปะทะ ไม่ให้ยอมตามสิ่งชักจูงล่อเร้าเย้ายวนให้ทำความชั่ว


     อีกประการหนึ่ง การมีศรัทธาเป็นเหมือนมีร่องไหลประจำของกระแสความคิด เมื่อได้รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เกินกำลังของศรัทธาที่มีอยู่ กระแสความคิดก็จะวิ่งแล่นไปตามร่อง หรือแนวทางที่ศรัทธาเตรียมไว้ ทำให้ไม่คิดไปในทางอื่น หรือทางที่ผิดศีลธรรม ดังนั้น สำหรับผู้ยังไม่หมดกิเลส ศีลจึงดำรงอยู่ได้ดีด้วยศรัทธา (ศีล อาศัย ศรัทธา ดู วิสุทธิ.3/100 )

     ศรัทธาแบบนี้ มีคุณมากในระดับหนึ่ง แต่พร้อมกันนั้น ถ้าเป็นศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็อาจมีโทษมาก โดยกลายเป็นตัวการขัดขวางการสร้างปัญญาเสียเอง

         ๑๕. ในกระบวนการแห่งความเจริญของปัญญา (หรือการพัฒนาปัญญา) อาจกำหนดขั้นตอนที่จัดว่าเป็นระยะของศรัทธา (ก่อนก้าวสู่ปัญญา) ได้คร่าวๆ คือ

           ๑) สร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่เชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงเพราะฟังตามๆกันมา เป็นต้น (ตามแนวกาลามสูตร)

           ๒) เป็นผู้คุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์) คือ ยินดีรับฟังหลักการ ทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายทุกด้าน ด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เห็นว่าเป็นเท็จ ไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่ตนรู้ หรือ คิดเห็นเท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง

           ๓) เมื่อรับฟังทฤษฎี คำสอน ความเห็นต่างๆ ของผู้อื่นแล้ว พิจารณาเท่าที่เห็นด้วยปัญญาตนว่าเป็นสิ่งมีเหตุผล และเมื่อเห็นว่า ผู้แสดงทฤษฎี คำสอน หรือความเห็นนั้นๆ เป็นผู้มีความจริงใจ ไม่ลำเอียง มีปัญญา จึงเลื่อมใสรับเอามา เพื่อคิดหาเหตุผลทดสอบความจริงต่อไป

           ๔) นำสิ่งที่ใจรับมานั้น มาขบคิดทดสอบด้วยเหตุผล จนแน่แก่ใจตนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแท้จริงอย่างแน่นอน จนซาบซึ้งด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนมองเห็นแล้ว พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติ พิสูจน์ ทดลอง ให้รู้เห็นความจริงประจักษ์ต่อไป

           ๕) ถ้ามีความเคลือบแคลงสงสัย รีบสอบถามด้วยใจบริสุทธิ์ มุ่งปัญญา มิใช่ด้วยอหังการมมังการ พิสูจน์เหตุผลให้ชัดเจน เพื่อให้ศรัทธานั้นมั่นคงแน่นแฟ้น เกิดประโยชน์สมบูรณ์ตามความหมายของมัน




สัมปรายิกัตถะ.   สัทธาสัมปทา  สีลสัมปทา  จาคสัมปทา  ปัญญาสัมปทา

วุฒิธรรม.   สัทธา  ศีล  สุตะ  จาคะ  ปัญญา

พละ อินทรีย์.   สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา

เวสารัชชกรณธรรม.   สัทธา  ศีล  พาหุสัจจะ  วิริยารัมภะ  ปัญญา

อริยทรัพย์ สัทธา  ศีล  หิริ  โอตตัปปะ  พาหุสัจจะ  จาคะ  ปัญญา ฯลฯ


* เช่น  อธิษฐานธรรม  โพชฌงค์ และ นาถกรณธรรม เป็นต้น

- ปัสสัทธิ   ความสงบเย็นผ่อนคลาย


* ศรัทธานำไปสู่ปีติ ดูพุทธพจน์ที่ สํ.นิ.16/69/37 ศรัทธานำไปสู่วิริยะ ดู สํ.ม.19/1011/297 อนึ่ง ศรัทธาย่อมช่วยให้เกิดกำลังใจ มีความเข้มแข็ง หายกลัวได้ ซึ่งจัดเข้าในวิริยะเหมือนกัน เช่น  เรื่องในธชัคคสูตร  สํ.ส. 15/863-6/320-3  พึงสังเกตด้วยว่า  ศรัทธาที่ไม่มีปัญญารองรับ ก็เป็นแรงส่งถึงสมาธิเหมือนกัน (อาจเป็นสมาธิขั้นสูงมาก ถึงเจโตวิมุตติชนิดที่ยังกำเริบกลับกลายได้)    แต่ติดจมอยู่แค่นั้น   ไม่ส่งผลต่อถึงปัญญา  และอาจขัดขวางปัญญาด้วย ส่วนศรัทธาที่มีปัญญากำกับ  หนุนสมาธิให้เกิดขึ้น เพียงเพื่อเป็นพลังช่วยส่งเสริมความเจริญปัญญายิ่งๆขึ้นไป (อย่างสูงสุด คือ ให้เกิดปัญญาวิมุตติ ที่ทำให้เจโตวิมุตติไม่กำเริบ)
 


พุทธธรรมดีเลิศประเสริฐศรีเกินไป

 



Create Date : 15 ตุลาคม 2566
Last Update : 15 ตุลาคม 2566 16:30:07 น. 0 comments
Counter : 98 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space