กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
31 ตุลาคม 2566
space
space
space

เข้าประจำที่



ข้อ ๔.  เข้าประจำที่


   ก.  อยู่ในวัดที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ ความจริง ควรอยู่วัดเดียวกับพระอาจารย์  แต่ถ้าไม่ผาสุก   ก็พึงไปหาวัดที่เป็นสัปปายะ สาระ คือ หาสถานที่ที่เหมาะ  เกื้อกูลแก่การปฏิบัติ

     ท่านให้เว้นวัด คือ ที่อยู่ ซึ่งมีโทษ ๑๘ ประการ คือ

     วัดใหญ่  (มีพระมาก ต่างจิตต่างใจ เรื่องมาก และไม่ค่อยสงบ)

     วัดใหม่  (ต้องพลอยไปยุ่งงานก่อสร้างกับเข้าด้วย)

     วัดเก่าจัด  (มีเรื่องดูแลมาก)

     วัดติดทาง  (อาคันตุกะมาบ่อย)

     วัดมีสระหิน  (คนมาชุมนุมกันมาก)

     วัดมีผัก วัดมีดอกไม้ วัดมีผลไม้ (คนจะมากันเรื่อย มาเก็บดอกไม้ ขอผลไม้ ฯลฯ วุ่นวาย)

     วัดที่คนเชื่อถือมาก  (ว่ามีพระวิเศษ เป็นต้น คนจะมาออกันมาก)

     วัดติดเมือง วัดติดป่าไม้ใช้สอย วัดติดที่นา  (เป็นถิ่นที่ชาวบ้านทำกิจธุระ การงาน และหาเลี้ยงชีพ)

     วัดมีคนไม่ถูกกัน  (ยุ่งกับปัญหา)

     วัดติดท่าน้ำท่าบก  (คนมากับรถกับเรือ แวะเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ได้สงบ)

     วัดถิ่นห่างไกลชายแดน  (ที่คนไม่นับถือพระศาสนา)

     วัดติดพรหมแดน  (เขตแห่งอำนาจระหว่าง ๒ รัฐ อาจเป็นการเสี่ยงภัย แม้แต่ถูกหาว่าเป็นจารบุรุษ)

     วัดมีสภาพไม่เป็นสัปปายะ  (เป็นที่อารมณ์ต่างๆรบกวนมาก)

     วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้  (ข้อนี้ชัดอยู่แล้ว)


   ส่วนวิหาร หรือ วัดที่เหมาะสม คือ เสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันได้แก่

     ๑. ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไปมาสะดวก

     ๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน

     ๓. ปราศจากการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดด สัตว์เลื้อยคลาน

     ๔. เมื่อพักอยู่ที่นั้น ไม่ขัดสนปัจจัยสี่

     ๕. มีพระเถระพหูสูต  ซึ่งจะสามารถเข้าไปสอบถามอรรถธรรม ให้ท่านช่วยอธิบายแก้ความสงสัยได้ *


   ข. ตัดปลิโพธเล็กน้อยๆ  คือ ข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกาย เครื่องใช้ประจำตัว ไม่ต้องให้เป็นข้อกวนใจจุกจิกขึ้นอีก เช่น ตัดโกนผม ขน เล็บ เย็บย้อมจัดการเรื่องผ้าจีวรให้เรียบร้อย ชำระที่พักอาศัยให้สะอาด เป็นต้น


   ข้อ ๕.   เจริญสมาธิ:    หลักทั่วไป

     ในการปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ  พึงทราบว่า กัมมัฏฐานแต่ละประเภท มีรายละเอียดวิธีเจริญสมาธิแตกต่างกันไป   แต่กระนั้น   ก็พอจะสรุปเป็นหลักการทั่วไปอย่างกว้างๆ ดังที่บางคัมภีร์แสดงไว้ โดยจัดเป็นภาวนา คือ การเจริญ หรือ การฝึก ๓ ขั้น ได้แก่ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา


     แต่ก่อนจะกล่าวถึงภาวนา ๓ ขั้น มีคำที่ควรทำความเข้าใจคำหนึ่ง คือ นิมิต

     นิมิต หรือ นิมิตต์ คือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนด หรือ ภาพที่เห็นในใจ ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน แบ่งเป็น ๓ อย่าง ตามลำดับความเจริญ

        ๑. บริกรรมนิมิต   แปลว่า  นิมิตขั้นเตรียม หรือเริ่มต้น ได้แก่ สิ่งใดก็ตามที่นึกเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู ลมหายใจที่กำหนด หรือพุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจ

        ๒. อุคคหนิมิต   แปลว่า   นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั่นเอง ที่เพ่งหรือนึกจนเห็นแม่นยำ กลายเป็นภาพติดตาติดใจ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตามองเห็น เป็นต้น

        ๓. ปฏิภาคนิมิต   แปลว่า   นิมิตเสมือน นิมิตคู่เปรียบ หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั่นเอง แต่ติดลึกเข้าไปอีก จนเป็นภาพที่เกิดจากสัญญาของผู้ที่ได้สมาธิ จึงบริสุทธิ์จนปราศจากสี เป็นต้น และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยาย หรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา

     นิมิต ๒ อย่างแรก คือ บริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิต ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทุกอย่าง แต่ปฏิภาคนิมิต ได้เฉพาะในกรรมฐาน ๒๒ อย่าง ที่มีวัตถุสำหรับเพ่ง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ และอานาปานสติ


     ภาวนา คือ การเจริญ  หมายถึง การเจริญกรรมฐาน หรือฝึกสมาธิ ที่ก้าวหน้าในขั้นต่างๆ มี ๓ ขั้น ดังนี้


        ๑. บริกรรมภาวนา   การเจริญสมาธิขั้นเริ่มต้น ได้แก่ การกำหนดถือเอานิมิตในสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ กำหนดลมหายใจเข้าออกที่กระทบปลายจมูก หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ ว่าอยู่ในใจ เป็นต้น  พูดง่ายๆว่ากำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง

     เมื่อกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (คือบริกรรมนิมิต) นั้นไป  จนมองเห็นภาพสิ่งนั้นติดตาติดใจแม่นยำ ก็เกิดเป็นอุคคหนิมิต   จิตก็เป็นสมาธิขั้นต้น    ที่เรียกว่า บริกรรมสมาธิ (คือ ขณิกสมาธิ นั่นเอง)

        ๒. อุปจารภาวนา   การเจริญสมาธิขั้นอุปจาร ได้แก่ อาศัยบริกรรมสมาธิ เอาจิตกำหนดอุคคหนิมิตต่อไป จนกระทั่งแน่วแน่แนบสนิทในใจ เกิดเป็นปฏิภาคนิมิตขึ้น นิวรณ์ก็สงบระงับ (ในกรรมฐานที่ไม่มีวัตถุเพ่งเพียงแต่นึกถึงอารมณ์อยู่ในใจ ไม่มีปฏิภาคนิมิต กำหนดด้วยจิตแน่วแน่จนนิวรณ์ระงับไปอย่างเดียว)  จิตก็ตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ เป็นขั้นสูงสุดของกามาวจรสมาธิ

        ๓. อัปปนาภาวนา  การเจริญสมาธิขั้นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ พยายามรักษาไว้ ไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย โดยหลีกเว้นสถานที่ บุคคล อาหาร เป็นต้น  ที่เป็นอสัปปายะ  เสพแต่สิ่งที่เป็นสัปปายะ* และรู้จักปฏิบัติตามวิธีที่จะช่วยให้เกิดอัปปนา เช่น ประคับประคองจิตให้พอดี  เป็นต้น  จนในที่สุด  ก็เกิดเป็นอัปปนาสมาธิ บรรลุปฐมฌาน เป็นขั้นเริ่มแรกของรูปาวจรสมาธิ


     กัมมัฏฐานบางอย่าง  สุขุมละเอียด เป็นอารมณ์ลึกซึ้ง ไม่มีวัตถุสำหรับเพ่งหรือสัมผัสด้วยกายได้ จึงไม่ชัดพอ จิตไม่สามารถแอบแนบติดสนิทอยู่ได้นาน จึงไม่มีปฏิภาคนิมิต และให้ผลสำเร็จได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ

     ส่วนกัมมัฏฐาน ที่เป็นอารมณ์หยาบ เพ่งดู หรือสัมผัสด้วยกายได้ กำหนดได้ชัดเจน จิตแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน ก็ให้เกิดปฏิภาคนิมิตด้วย และสำเร็จผลถึงอัปปนาสมาธิได้

     ทั้งนี้ มีแปลกแต่อัปปมัญญา (พรหมวิหาร) ซึ่งแม้จะไม่มีปฏิภาคนิมิต เพราะไม่มีวัตถุธรรมเป็นอารมณ์ แต่ก็มีสัตว์เป็นอารมณ์ จึงมีความชัดเจนเพียงพอ และให้เกิดอัปปนาสมาธิได้ *

     เมื่อบรรลุปฐมฌานแล้ว   ต่อจากนั้นก็เป็นการบำเพ็ญความชำนาญ*  ให้เกิดขึ้นในปฐมฌานนั้น และทำความเพียรเพื่อบรรลุฌานขั้นต่อๆ ขึ้นไปตามลำดับ  ภายในขอบเขตความสามารถให้สำเร็จผลของกัมมัฏฐานชนิดนั้นๆ  เป็นอันได้บรรลุผลของสมถะตามสมควร


     ข้อ ๖. เจริญสมาธิ:   อานาปานสติภาวนา   เป็นตัวอย่าง


     เมื่อได้กล่าวถึงหลักทั่วไปของวิธีเจริญสมาธิแล้ว  ก็เห็นควรแสดงตัวอย่างวิธีเจริญสมาธิไว้สักอย่างหนึ่งด้วย และบรรดากัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างนั้น ในที่นี้ ขอเลือกอานาปานสติ


        ก) ข้อดีพิเศษของอานาปานสติ

         เหตุผลที่เลือกแสดงอานาปานสติภาวนา  เป็นตัวอย่าง   มีหลายประการ เช่น

     235 เป็นวิธีเจริญสมาธิที่ปฏิบัติได้สะดวกยิ่ง   เพราะใช้ลมหายใจ ซึ่งเนื่องอยู่กับตัวของทุกคน ใช้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ในทันทีที่ต้องการ ไม่ต้องตระเตรียมวัตถุอุปกรณ์อย่างพวกกสิณ เป็นต้น ในเวลาเดียวกันก็เป็นอารมณ์ประเภทรูปธรรม ซึ่งกำหนดได้ชัดเจนพอสมควร ไม่ละเอียดลึกซึ้งอย่างกรรมฐานประเภทนามธรรม ที่ต้องนึกขึ้นมาจากสัญญา และถ้าต้องการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดอะไร เพียงเอาสติคอยกำหนดลมหายใจที่ปรากฏอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดแยกแยะพิจารณาสภาวธรรมอย่างพวกธาตุมนสิการ เป็นต้น ผู้ที่ใช้สมองเหนื่อยมาแล้ว ก็ปฏิบัติได้สบาย


     235 พอเริ่มลงมือปฏิบัติ  ก็ได้รับผลเป็นประโยชน์ทันทีตั้งแต่ต้นเรื่อยไป ไม่ต้องรอจนเกิดสมาธิที่เป็นขั้นตอนชัดเจน กล่าวคือ กาย - ใจผ่อนคลายได้พัก  จิตสงบสบายลึกซึ้งลงไปเรื่อยๆ ทำให้อกุศลธรรมระงับ และส่งเสริมให้กุศลธรรมเกิดขึ้น

     235 ไม่กระทบกระเทือนต่อสุขภาพ  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงประสบการณ์ของพระองค์เองว่า เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้  (คืออานาปานสติสมาธิ) มาก กายก็ไม่เมื่อย ตาก็ไม่เหนื่อย (สํ.ม.19/1329/401) ไม่เหมือนอย่างกัมมัฏฐานบางอย่าง ที่อาศัยการยืน การเดิน หรือการเพ่งจ้อง แต่ตรงข้าม อานาปานสติกัมมัฏฐานนี้ กลับเกื้อกูลแก่สุขภาพ ทั้งช่วยให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างดี และระบบการหายใจที่ปรับให้เรียบเสมอประณีตด้วยการปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น

     ขอให้นึกอย่างง่ายๆ คนที่วิ่งมา หรือขึ้นลงที่สูง กำลังเหนื่อย หรือคนตื่นเต้นตกใจ เกรี้ยวกราดหวาดกลัว เป็นต้น ลมหายใจหยาบแรงกว่าคนปกติ บางทีจมูกไม่พอ ต้องหายใจทางปากด้วย ในทางตรงข้าม คนที่กายผ่อนคลาย ใจสงบสบาย ลมหายใจละเอียดประณีตกว่าคนปกติ

     การบำเพ็ญอาปานสติ ช่วยทำให้กายใจสุขสงบ จนลมหายใจละเอียดประณีตลงไปเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้นอีก จนถึงขั้นที่แทบจับไม่ได้เลยว่ามีลมหายใจ ในเวลานั้น ร่างกายดำรงอยู่ได้ดี โดยใช้พลังงานน้อยที่สุด ไม่เรียกร้องการเผาผลาญ เตรียมความสดชื่นไว้ให้แก่การทำกิจในเวลาถัดไป และช่วยให้แก่ช้าลง หรือช่วยให้ทำงานได้มากขึ้น พร้อมกับที่สามารถพักผ่อนน้อยลง

     235 เป็นกัมมัฏฐานข้อหนึ่งในจำนวนเพียง ๑๒ อย่าง ที่สามารถให้สำเร็จผลในด้านสมถะได้จนถึงขั้นสูงสุด คือ จตุตถฌานและส่งผลให้ถึงอรูปฌาน  กระทั่งนิโรธสมาบัติก็ได้ จึงจับเอาเป็นข้อปฏิบัติหลักได้  ตั้งแต่ต้นจนตลอด ไม่ต้องพะวงที่จะหากัมมัฏฐานอื่นมาสับเปลี่ยน หรือต่อเติมอีก มีพุทธพจน์เสริมว่า

        “เพราะฉะนั้นแล  หากภิกษุหวังว่าเราพึงบรรลุจตุตถฌาน...ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แลให้ดี...หากภิกษุหวังว่า  เราพึงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะเถิด ... เราพึงก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธเถิด ก็พึงมนสิการอานาปานสตินี้แลให้มาก” * (สํ.ม.19/1329-1354)


     235 ใช้ได้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา คือ จะปฏิบัติเพื่อมุ่งผลฝ่ายสมาธิแน่วไปอย่างเดียว ก็ได้ จะใช้เป็นฐานปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานจนครบทั้ง ๔ อย่างก็ได้ เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่เอื้ออำนวยให้สามารถใช้สมาธิจิต เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญาได้เต็มที่ *

     235 เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก  ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง ให้พระภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ ดังพุทธพจน์บางแห่งว่า

        “ภิกษุทั้งหลาย  อานาปานสติสมาธินี้แล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน เปรียบเหมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองให้ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานไปโดยพลัน ฉะนั้น” (วินย.1/178/131...)

       “ภิกษุทั้งหลาย...เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า เป็นอริยวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะ) ก็ได้ ว่าเป็นพรหมวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม) ก็ได้ ว่าเป็นตถาคตวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของตถาคต) ก็ได้
 
       “ภิกษุเหล่าใด เป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตผล ปรารถนาภาวะปลอดโปร่งโล่งใจ (โยคเกษม) อันยอดเยี่ยม อานาปานสติสมาธิ ที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย,

        “ภิกษุเหล่าใด  เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว...อานาปานสติสมาธิ ที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สุขสบายในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมสุขวิหาร) และเพื่อสติสัมปชัญญะ” *

        “ภิกษุทั้งหลาย  ดังที่เป็นมา เรานั้น ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็อยู่ด้วยวิหารธรรม (คืออานาปานสติสมาธิ) นี้ โดยมาก เมื่อเรานั้นเป็นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ โดยมาก กายก็ไม่เมื่อย ตาก็ไม่เหนื่อย และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ด้วยไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุหวังว่า กายของเราไม่พึงเมื่อย ตาก็ไม่พึงเหนื่อย และจิตของเราก็พึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ด้วยไม่ถือมั่น ก็พึงมนสิการอานาปาสติสมาธินี้แลให้มาก”* (สํ.ม.19/1329-1330/401)


       “สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว....

        “ครั้งนั้นแล  เมื่อล่วงเวลาสามเดือนแล้ว  พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย  หากว่า  อัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายจะพึงถามพวกเธอ อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมอยู่จำพรรษา ด้วยวิหารธรรมใด โดยมาก  เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น  อย่างนี้ว่า  ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคประทับจำพรรษา ด้วยอานาปานสติสมาธิ โดยมาก” (สํ.ม.19/1373-4/415)

        “ดูกรอานนท์  ธรรมเอก คือ อานาปานสติสมาธิ ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์” (สํ.ม.19/1381/417)

        “ดูกรราหุล   เมื่อเจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้  ทำให้มากแล้วอย่างนี้ แม้แต่ลมอัสสาสะปัสสาสะ ซึ่งมีในท้ายสุด ก็ดับไปโดยรู้ มิใช่ดับโดยไม่รู้”* (ม.ม.13/146/142)








* ดูความเต็มใน องฺ.ทสก. 24/11/17  ในบาลี  กล่าวถึงคุณสมบัติของตัวผู้ปฏิบัติ  ที่จะบรรลุวิมุตติได้ในเวลาไม่นานไว้ด้วยว่า  ประกอบด้วยองค์คุณ ๕ ประการ คือ

๑. มีศรัทธาในตถาคตโพธิ

๒. สุขภาพดี โรคน้อย ระบบการเผาผลาญ (ไฟธาตุ) พอดี

๓. เป็นคนเปิดเผยตัวตามเป็นจริง แด่พระศาสดา และเพื่อนพรหมจารี ไม่มีมายา

๔. มีความเพียรบากบั่นจริงจัง

๕. มีปัญญาที่จะชำแรกกิเลสได้



* แม้แต่การบรรลุปฐมฌานเมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นพระกุมาร  ประทับใต้ร่มต้นหว้า ในคราวที่พระพุทธบิดาประกอบพิธีแรกนา  ตามความใน ม.มู.12/425/457 ฯลฯ  ก็ว่า ทรงได้ปฐมฌานนั้นด้วยการกำหนดลมหายใจ


* วิสุทธิมัคค์อธิบายว่า  เมื่อจะสิ้นชีพ  สามารถรู้ลมหายใจเข้า-ออกสุดท้ายของตน  ตั้งแต่เริ่ม  จนดับไปพร้อมกับจุติจิต  และท่านอธิบายต่อไปด้วยว่า   ภิกษุที่บรรลุอรหัตด้วยเจริญกัมมัฏฐานอย่างอื่น  ย่อมกำหนดระยะกาลแห่งอายุของตนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ท่านที่เจริญอานาปานสติครบกระบวนแล้วบรรลุอรหัต  สามารถกำหนดระยะกาลแห่งอายุของตนได้  (ว่าจะอยู่ไปอีกนานเท่าใด  จะสิ้นชีพเมื่อใด) ดู วิสุทธิ. 2/85-86


 


Create Date : 31 ตุลาคม 2566
Last Update : 31 มกราคม 2567 12:06:19 น. 0 comments
Counter : 89 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space