กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ตุลาคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
29 ตุลาคม 2566
space
space
space

๘. สั ม ม า ส ม า ธิ




๘. สัมมาสมาธิ


     สัมมาสมาธิ เป็นองค์มรรคข้อสุดท้าย และเป็นข้อที่มีเนื้อหาสำหรับศึกษามาก เพราะเป็นเรื่องของการฝึกอบรมพัฒนาจิตในขั้นเต็มกระบวน เป็นเรื่องละเอียดประณีต ทั้งในแง่ที่เป็นเรื่องของจิตอันเป็นของละเอียด และในแง่การปฏิบัติที่มีรายละเอียดกว้างขวางซับซ้อน หรือเป็นสนามรวมของการปฏิบัติ


ความเข้าใจเบื้องต้น


ความหมายของสมาธิ

     สมาธิ แปลกันว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด คำจำกัดความของสมาธิ ที่พบเสมอ คือ "จิตตัสเสกัคคตา" หรือ เรียกสั้นๆว่า "เอกัคคตา" ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ส่าย ไม่วอกแวก

     คัมภีร์รุ่นอรรถกถาระบุว่า สมาธิ คือ ภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียวของกุศลจิต และไขความว่า หมายถึง การดำรงจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์หนึ่งเดียว อย่างเรียบสม่ำเสมอ และด้วยดี หรือแม้แต่แค่จิตตั้งมั่น*

     พร้อมนั้น ท่านแสดงสาระสำคัญไว้ ซึ่งขอพูดให้ง่ายว่า สมาธิมีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน มีหน้าที่ช่วยให้ประดาธรรมที่เกิดร่วมรวมตัวกันอยู่ได้ เหมือนน้ำผนึกผงแป้งไว้ไม่ฟุ้งกระจาย ปรากฏเป็นความสงบ โดยมีความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) อย่างพิเศษที่จะให้ถึงสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิ นั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มีลมกวน ไฟทำงานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่งแน่ว


     "สัมมาสมาธิ" ตามคำจำกัดความในพระสูตรทั่วไป เจาะจงว่า ได้แก่ สมาธิตามแนวฌาน ๔ ดังนี้

        "ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิเป็นไฉน ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

          ๑. สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวก อยู่

          ๒. เข้าถึงทุติยฌาน  อันมีความผ่องใสแห่งจิตภายใน มีภาวะใจเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่

          ๓.เพราะปีติจางไป เธอมีอุเบกขาอยู่ มีสติ สัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

          ๔.เพราะละสุขและทุกข์ และเพราะโสมนัสโทมนัสดับหายไปก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่"


     อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความนี้ น่าจะถือเป็นการแสดงความหมายแบบเต็มกระบวน ดังจะเห็นว่า บางแห่ง ท่านกล่าวถึงจิตตัสเสกัคคตา นั่นเอง ว่า เป็นสมาธินทรีย์ ดังบาลีว่า

        "ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ คือ สมาธิ เป็นไฉน ? คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กำหนดภาวะปล่อยวางเป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาแห่งจิต นี้ เรียกว่าอินทรีย์ คือสมาธิ" * (สํ.ม.19/874/264 ฯลฯ; อรรถกถาว่า ภาวะปล่อยวางเป็นอารมณ์ หมายถึงเอานิพพานเป็นอารมณ์ สํ.อ.3/333)


     ส่วนคำจำกัดความในอภิธรรมปิฎก ว่าดังนี้

        "สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความตั้งแน่ว ความมั่นลงไป ความไม่ส่ายไป ความไม่ฟุ้งซ่าน ภาวะที่มีใจไม่ซัดส่าย ความสงบ (สมถะ) สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี่เรียกว่า สัมมาสมาธิ" (อภิ.วิ.35/183/140)

     ว่าโดยสาระสำคัญ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่น จะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น นั่นเอง เป็นสัมมาสมาธิ * ดังหลักการที่ท่านแสดงไว้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ประกอบกับวิปัสสนา หรือเพื่อสร้างปัญญาที่รู้แจ้ง อันเป็นสมาธิในระดับระหว่างขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิเท่านั้น* (ปฏิสํ.อ.105)




* วิสุทธิ.๑/๑๐๕ ฯลฯ ในอกุศลจิต เอกัคคตา หรือ สมาธิ ก็เกิดได้ ดังที่ อภิ.สํ.๓๔/๒๗๕-๓๓๖/๑๐๑-๑๒๗  แสดงการที่เอกัคคตา  สมาธินทรีย์ และมิจฉาสมาธิ ประกอบร่วมอยู่ในจิตที่เป็นอกุศล และอรรถกถาได้ยกตัวอย่าง เช่น คนที่มีจิตแน่วแน่ในขณะเอามีดฟาดฟันลงที่ตัวของสัตว์ ไม่ให้ผิดพลาด ในเวลาตั้งใจลักของเขา และในเวลาประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลนี้ มีกำลังน้อย อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งทนทานเหมือนในฝ่ายกุศล เปรียบดังเอาน้ำราดในที่แห้งฝุ่นฟุ้ง ฝุ่นสงบลงชั่วเวลาสั้น ไม่นาน ก็จะแห้ง มีฝุ่นขึ้นตามเดิม (ดู สงฺคณี.อ.243,308,385)


* อรรถกถาแสดงไว้อีกแห่งหนึ่งว่า สัมมาสมาธิ ได้แก่ ยาถาวสมาธิ (สมาธิที่แท้ หรือสมาธิที่ตรงตามสภาวะ) นิยยานิกสมาธิ (สมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ คือ นำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ หรือสู่ความเป็นอิสระ) กุศลสมาธิ (สมาธิที่เป็นกุศล) เช่น สงฺคณี. อ. ๒๒๔

*อนึ่ง พึงสังเกตว่า คำว่า สมาธิ ที่ใช้หมายถึงวิปัสสนาก็มีบ้าง โดยเฉพาะที่ใช้ในสมาธิ ๓ คือ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ และอัปปณิหิตสมาธิ (ดู ที.ปา. 11/228/231 ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม พึงถือความหมายเช่นนี้ว่าเป็นกรณียกเว้น ซึ่งตามปกติไม่ต้องคำนึงถึงเลย

 




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2566
0 comments
Last Update : 7 ธันวาคม 2566 12:06:36 น.
Counter : 175 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space