กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
สิงหาคม 2565
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
24 สิงหาคม 2565
space
space
space

โลกุตรสัมมาทิฏฐิ

ต่อ

   ทีนี้ สัมมาทิฏฐิที่สูงขึ้นไปกว่านั้น   ก็หมายถึงว่า  เห็นในเรื่องความทุกข์  เข้าใจในเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ถูกต้อง เข้าใจว่า ทุกข์นี้ดับได้  แล้วก็รู้ด้วยว่าดับด้วยอะไร  อันนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิชั้นสูง พูดง่ายๆว่า เห็นอริยสัจ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ตามสภาพที่เป็นจริง คือรู้จักว่า
อะไรเป็นทุกข์
อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
อะไรเป็นความดับทุกข์  และอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความดับทุกข์ได้ มันเป็นมาโดยลำดับ  อันนี้ เรียกว่า เป็นตัวสัมมาทิฏฐิสูงขึ้นไป 

ทีนี้ เราลองมาฟังความคิดเห็นของพระสารีบุตร มีพระสูตรอยู่สูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก เรียกว่า สัมมาทิฏฐิสูตร  ชื่อตรงๆเลย เป็นสูตรที่กล่าวในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์


   พระสูตรนี้เล่าเรื่องไว้ว่า  พระผู้พระภาคเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตะวัน  เขตอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี   เศรษฐีในเมืองสาวัตถี  ภิกษุพวกหนึ่งได้เข้าไปหาพระสารีบุตร   พระสารีบุตรท่านก็ถามภิกษุเหล่านั้นว่า   พวกท่านที่มาสู่พระธรรมวินัยนี้  พวกท่านมีความเข้าใจอย่างไรในเรื่องสัมมาทิฏฐิ

พระเหล่านั้น   ก็บอกกับพระสารีบุตรว่า  พวกกระผมเดินทางมาจากที่ไกล ต้องการจะมาฟังพระอาจารย์พระสารีบุตรพูดธรรมะให้ฟัง   อย่าให้พวกผมพูดเลย  ให้พระสารีบุตรพูดให้ฟังดีกว่า  ตอนนี้ พระสารีบุตรบอกว่า เออ ถ้าอย่างนั้น จงฟังเถอะ เราจะกล่าวให้ฟัง แล้วท่านก็กล่าวไปโดยลำดับอย่างนี้ว่า

      ๑. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย   เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล และรากเหง้าของอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล   แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้  ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล อันนี้เป็นอันแรก  เรียกว่า รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล  รู้จักสิ่งที่เป็นอกุศล  รู้จักรากเหง้าของมันทั้ง ๒ อย่าง เป็นตัวสัมมาทิฏฐิอันหนึ่ง

    อกุศลนั้นหมายถึงอะไร ?   อกุศลก็หมายความว่า  การฆ่า  การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของผู้อื่น ปองร้ายเขา เห็นผิด อันนี้ เรียกว่าอกุศล

    คราวนี้ รากเหง้าของอกุศลนั้นได้แก่อะไร ?  ได้แก่  โลภะ ความโลภ โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลง อันนี้เรียกว่า เป็นรากเหง้าของอกุศล  ถ้าเรารู้จักว่าอะไรเป็นอกุศล เราก็ไม่ทำสิ่งนั้น อะไรเป็นรากเหง้าของอกุศล เราก็ไม่คิดสิ่งนั้น ก็เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างหนึ่ง

    คราวนี้ กุศลนั้นได้แก่อะไร ?  ได้แก่  เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการอยากได้ของผู้อื่น เว้นจากการปองร้ายใคร เว้นจากความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นชอบ อย่างนี้ เรียกว่า เป็นกุศล

   รากเหง้าของกุศล ก็คือ อโลภะ คือความไม่โลภ อโทสะ คือความไม่ประทุษร้าย อโมหะ คือความไม่หลง อันนี้ เรียกว่า รากเหง้าของกุศล

    ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล รากเหง้าของอกุศล อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล อย่างนี้ เมื่อนั้นละ ราคะ โทสะ ทิฏฐิ และมานะได้  มีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย  อีกประการหนึ่ง  นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ  ที่ท่านพระสารีบุตรท่านอธิบายอย่างหนึ่งว่า รู้จักเรื่อง กุศล อกุศล รากเหง้าของกุศล รากเหง้าของอกุศล จำย่อๆอย่างนั้น.  พวกภิกษุนั้นชื่นชมในคำสอนแล้ว ก็ถามต่อไปว่า มีอะไรอีก ?


      ๒. ท่านพระสารีบุตรท่านบอกว่า อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาหาร เหตุเกิดของอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ดับซึ่งอาหาร แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ  อาหารนั้น มีอะไรบ้าง ?  ท่านแบ่งอาหารนั้นออกเป็น ๔ ประเภท   

   
อาหารคือคำข้าว เรียกตามภาษาพระว่า กวฬิงการาหาร อาหารคือผัสสะ เรียกว่า ผัสสาหาร อาหารคือความคิดอ่านจงใจ เรียกว่า มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือวิญญาณ เรียกว่า วิญญาณาหาร.  อาหาร ๔ ประการนี้  อาหารที่เรียกว่าคำข้าวนั้น คือ น้ำ ขนม นม เนย ของที่รับประทานเข้าไปเลี้ยงร่างกาย  เรียกว่า  อาหารทั้งนั้น  อาหารคือคำข้าว เป็นสิ่งเลี้ยงกาย

อาหารคือผัสสะ  เป็นสิ่งเลี้ยงใจ

อาหารคือมโนสัญเจตนาหาร ก็คือความคิดนึกที่สร้างอะไรๆขึ้นในใจของเรา สร้างสุข สร้างทุกข์ สร้างดี สร้างชั่ว

อาหารคือวิญญาณ  นี่เป็นอาหารที่ให้เกิดผัสสะ

ผัสสะ  เป็นอาหารให้เกิดเวทนา

เวทนา  เป็นอาหารให้เกิดตัณหา

ตัณหา ก็เป็นอาหารให้เกิดอุปาทาน แล้วอุปาทาน  ก็เป็นอาหารของภพ ชาติ ทุกข์ เรื่อยไป

   นี่คืออาหาร ๔ เป็นเรื่องที่ควรรู้   ควรจะเข้าใจเหตุเกิดดับของอาหารซึ่งมีอยู่. อาหาร ๔ นี้มันเกิดเพราะอะไร ?   เกิดเพราะตัณหา   ความดับย่อมมีเพราะดับตัณหาได้  การดับตัณหาก็ต้องดับด้วยมรรคมีองค์ ๘ นี่ท่านเรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง  คือรู้จักเรื่องของอาหาร การเกิดขึ้นของอาหาร ความดับของอาหาร ทางให้ถึงความดับอาหาร.


      ๓. อันที่สามท่านว่าอย่างนี้   อริยสาวกรู้ชัดซึ่งทุกข์   ทุกขสมุทัย  ทุกขนิโรธ  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้  อริยสาวกชื่อว่า  เป็นสัมมาทิฏฐิ. 

คราวนี้  ในการรู้สิ่งนี้คือรู้อย่างไร ?   รู้ว่า  ทุกข์มันเป็นอย่างไร  ทุกข์คืออะไร ?   ทุกข์ก็ได้แก่  ความเกิด ความแก่ ความตาย ความแห้งใจ  ความคิดร่ำไรรำพัน   ความไม่สบายกาย  ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก  ปรารถนาสิ่งใดไม่สมหวัง  แต่ละอย่างๆล้วนเป็นทุกข์  ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ นั้นแหละเป็นตัวทุกข์   อันนี้เรียกว่า เป็นความทุกข์.

   ทุกขสมุทัยเป็นไฉน ?   ได้แก่    ตัณหา   ทำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยความสามารถแห่งความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือกามตัณหา อยากมี ภวตัณหา อยากเป็น วิภวตัณหา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นเพราะความเขลา เรียกว่า ทุกขสมุทัย.

   ทุกขนิโรธเป็นอย่างไร ?  ได้แก่   ความดับด้วยสามารถแห่งความสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น เรียกว่า ทุกขนิโรธ  คือดับตัณหาได้ เรียกทุกขนิโรธ.   ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ความรู้อย่างนี้   เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ

   ท่านพระสารีบุตรยังกล่าวต่อไปอีกว่า   อริยสาวกรู้ซึ่งชรามรณะ เหตุเกิดแห่งชรามรณะ ความดับแห่งชรามรณะ และทางที่ให้ถึงความดับแห่งชรามรณะ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วท่านอธิบายต่อไปว่า ก็ชรามรณะ เหตุเกิดแห่งชรามรณะ ความดับแห่งชรามรณะ ทางที่จะให้ดับแห่งชรามรณะ เป็นไฉน ?   ความแก่   ได้แก่   ความคร่ำคร่า ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่งอมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์นั่นๆ อันนี้ เรียกว่า ชรา. ความรู้ในเรื่องชรา มองเห็นชัดว่าร่างกายนี้มันชราลงไปทุกวินาที หนีจากความชราไม่พ้น อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ตัวหนึ่งเหมือนกัน


     ๔. ต่อไปท่านว่า  อริยสาวกรู้ซึ่งชาติ  เหตุเกิดแห่งชาติ  ความดับแห่งชาติ ทางให้ถึงความดับชาติ  ชาติก็คือความเกิด  ความเกิดแห่งความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายทั้งปวง ว่าเป็นตัวเป็นตน   เป็นเราเป็นเขา   มารู้ชัดอย่างนี้แล้วก็ถอนความยึดมั่นถือมันในสิ่งนั้นออกเสีย อันนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ. 
แล้วต่อไปท่านว่า ภพ คือรู้จักว่าภพ   เหตุเกิดแห่งภพ  ความดับแห่งภพ ปฏิปทาที่จะให้ถึงซึ่งความดับแห่งภพ  อันนี้  ทั้งหมดรวมอยู่ในคำว่า  รู้จักปฏิจจสมุปบาท  แต่ละปัจจัยโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ คือรู้ชัดว่าอะไรมันเกิดขึ้นอย่างไร มีตา มีหู มีรูป มีนาม มีอายตนะ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ มันเกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร รู้ขบวนการของมันทั้งหมด  เมื่อรู้ขบวนการของมันทั้งหมดแล้ว   เราก็ไม่ไปยินดีอะไร   ไม่พัวพันอยู่กับสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ย่อมหายไปโดยลำดับ ไม่เข้ามาทำให้เราเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนต่อไป อันนี้เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ คือรู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ปฏิจจสมุปบาท ก็เรียกว่า เป็นตัวสัมมาทิฏฐิ
   สัมมาทิฏฐิทั้งหมดนี้   ได้แก่   การรู้ชัดกุศล   อกุศล รากเหง้าของกุศล อกุศล อาหารสี่ ทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท แต่ละปัจจัยตั้งแต่ชาติถอยไปจนถึงอวิชชา อาสวะ ว่ามันเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ดับอย่างไร ทางให้ถึงความดับคืออะไร แต่ละอย่างๆ ล้วนเป็นตัวสัมมาทิฏฐิทั้งนั้น




    คำบรรยายของพระสารีบุตร ซึ่งเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เราก็จะเห็นว่าตัวสัมมาทิฏฐิ คือความรู้เห็นในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ได้อย่างไร และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันแสดงฤทธิ์เดชอย่างไร ทำให้เรามีความทุกข์ได้อย่างไร มีความร้อนใจอย่างไร เป็นเรื่องที่เราควรศึกษาเพื่อจำไว้ เข้าแบบที่เขาเรียกว่า ผิดเป็นครู นั่นเอง คือ จำไว้เพื่อเป็นครูต่อไป ไม่ให้มันมาซ้ำรอยในชีวิตของเรา  เช่น รู้ว่าความโลภเป็นเหตุให้เกิดทุกข์   โทสะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์   เป็นรากเหง้าของอกุศล ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นรากเหง้าของกุศล  เราก็จะได้รู้ไว้   อะไรเป็นอาหารของความทุกข์ ก็จะได้ตัดอาหาร ตัดอาหารแล้วมันตาย  ต้นไม้ไม่มีอาหารก็ตาย   คนไม่กินอาหารก็ตาย  กองทัพของข้าศึกไม่มีทางลำเลียงอาหารไปส่ง  มันรบไม่ได้ท้องแห้งตาย

   จิตใจของเรามันมีอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง รูปบ้าง อาหารคือคำข้าว อาหารคือผัสสะที่มากระทบแล้วอาหารก็เกิดขึ้นใจเอง อาหารคือวิญญาณ เรารู้ว่ามันเกิดมาทางไหน เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วเกิดขึ้นที่ใจ เราก็ระวังไม่ให้มันเกิด พอทำท่าว่าจะเกิดก็ไปทำแท้งเสียก่อน เรียกว่าทำแท้ง อย่าให้มันเกิดออกมา เกิดออกมาแล้วมันเป็นทุกข์ คือเป็นความร้อนใจ ไม่สบายใจ นี่มันเป็นทุกข์.  ทำแท้ง   หมายความว่า   เอาสติปัญญาเข้าไปสกัดไว้   ไม่ให้เกิดสืบเนื่องต่อกัน เหมือนเราเห็นไฟไหม้ฟาง เอาน้ำไปดับไว้เสีย ไม่ใช่เราไปดับไฟ แต่ว่าตัดไฟไม่ให้ลุกไปหาเชื้อ เมื่อไฟมันไม่ได้เชื้อ  ไฟก็ดับเท่านั้นเอง   เรารู้ว่าเชื้อของไฟคือไม้  คือขยะมูลฝอย น้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิง อะไรเป็นเชื้อเพลิงเราตัด ไม่ให้ไฟมันไป เอาน้ำมาตัดไฟ ไม่ใช่ไปดับไฟ ตัดไม่ให้ไฟไปลุกไหม้   เมื่อไฟไม่ลุกไหม้มันก็ดับของมันเอง   ไฟดับก็เพราะว่าไม่มีอาหารของไฟ อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน   มันต้องแก้ด้วยการตัด  ตัดอารมณ์เหล่านั้น ไม่ให้มันเกิดการกระทบกัน

   เพราะฉะนั้น  เขาจึงตัดที่ผัสสะ ตัดที่เวทนา   แล้วมันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่สร้างภพสร้างชาติ ไม่นั่งฝันนั่งเพ้ออยู่คนเดียว ด้วยเรื่องปัญหาร้อยแปด มันเกิดอย่างนี้ เราจึงรู้วิธีเหล่านี้ การเรียนรู้วิธีเหล่านี้ เรียกว่า วิธีเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวแรก

 


Create Date : 24 สิงหาคม 2565
Last Update : 27 มกราคม 2567 14:45:34 น. 0 comments
Counter : 250 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space