กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
พฤศจิกายน 2567
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
2 พฤศจิกายน 2567
space
space
space

๑) นรก - สวรรค์ หลังตาย



๑. นรก-สวรรค์  มีจริงหรือไม่ ?


     แง่ที่หนึ่งคือ มีจริงไหมในแง่ของพระพุทธศาสนา และก็จะพูดจํากัดตามที่อาจารย์ได้กำหนดไว้ว่าเฉพาะในพระไตรปิฎก
 
     ขอแบ่งว่า พระพุทธศาสนาพูดเรื่องนี้ไว้เป็น ๓ ระดับ
 
๑) นรก - สวรรค์ หลังตาย
 
     ระดับที่หนึ่ง คือเรื่องนรก - สวรรค์ที่เราพูดกันทั่วๆ ไปว่าหลังจากชาตินี้  ตายแล้วไปรับผลกรรมในทางที่ดีและไม่ดี  ถ้ารับผลกรรมดี  ก็ถือว่าไปสวรรค์  ถ้ารับผลกรรมชั่ว  ก็ไปเกิดในนรก  เรื่องนรก-สวรรค์แบบนี้   เรียกว่าระดับที่หนึ่ง  พระพุทธศาสนาว่าอย่างไร
 
     สำหรับระดับนี้  ถ้าถือตามตัวอักษร  พระไตรปิฎกกล่าวไว้มากมาย  เมื่อพูดกันตามตัวอักษรก็ต้องบอกว่ามี  มีอย่างไร  นรก-สวรรค์หลังจากตายนี้  มักจะมีในขั้นเอ่ยถึงเท่านั้น ไม่ค่อยมีคำบรรยาย
 
     ในพระไตรปิฎก เรื่องนี้หาได้ทั่วไป ในคำสรุปท้ายที่แสดงผลของการประพฤติดีประพฤติชั่ว คือ
 
     ในแง่สวรรค์บอกว่า เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ล่วงลับดับชีพไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้ฝ่ายดี
 
     ส่วนในฝ่ายร้ายก็กล่าวว่า  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
 
     สำนวนในบาลี  มีอย่างนี้มากมายเหลือเกิน
 
     สำนวนความนี้  ไม่ได้บรรยายว่าสวรรค์เป็นอย่างไร นรกเป็นอย่างไร  ได้แต่สรุป และโดยมากมาห้อยท้ายกับคำแสดงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ซึ่งจะเริ่มด้วยผลที่จะได้รับในชาตินี้ก่อนว่า ผู้มีศีลประพฤติดีแล้ว จะได้ผลอย่างนั้นๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แล้วสุดท้าย หลังจากแตกกายทำลายขันธ์แล้ว จะไปสุคติ
 
     ดังเช่นว่า เจริญเมตตา  มีอานิสงส์อย่างนี้  คือ หลับเป็นสุขฝันดี … บอกผลดีในปัจจุบันเสร็จแล้ว จึงห้อยท้ายว่า ตายแล้วไปสวรรค์ ไปพรหมโลก นี้เป็นเพียงการเอ่ยถึงผลของการทำดี ทำชั่ว
 
     นอกจากนั้น เราต้องสังเกตด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องนรก-สวรรค์นั้น พระองค์ตรัสในข้อความแวดล้อมอย่างไร มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร เราจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลในปัจจุบันมากมายก่อน แล้วอันนี้ไปห้อยท้ายไว้
 
     เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว จะได้จัดฐานะของนรก-สวรรค์ได้ถูกต้อง นี้บอกไว้ให้เป็นข้อสังเกต
 
     เป็นอันว่า เราจะพบคำบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่บ่อยๆ ว่า เมื่อตายแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ หลังจากได้รับผลกรรมดีกรรมชั่วในปัจจุบันนี้แล้ว ตรัสบ่อยๆ โดยไม่มีคำบรรยาย
 
     ข้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่มีคำบรรยายว่านรก-สวรรค์เป็นอย่างไร มีน้อยแห่งเหลือเกิน
 
     แห่งที่นับว่ามีคำบรรยายมากหน่อย กล่าวถึงการลงโทษในนรก เริ่มจากว่าตายไปแล้วเจอยมบาล
 
     พญายมถามว่า ตอนมีชีวิตอยู่เคยเห็นเทวทูตไหม ? เทวทูตที่หนึ่งเป็นอย่างไร? … เขาตอบไม่ได้
 
     ยมบาลต้องชี้แจงว่า  เทวทูตที่หนึ่ง คือเด็กเกิดใหม่  ที่สอง คือคนแก่  ที่สาม คือคนเจ็บ ที่สี่ คือคนถูกลงโทษทัณฑ์อาญา ที่ห้า คือคนตาย
 
     ยมบาลอธิบายให้ฟังแล้วก็ซักต่อว่า ท่านเคยเห็นไหม เคยเห็นแล้ว เคยได้ความคิดอะไรบ้างไหม มีความสลดใจบ้างไหม ในการที่จะต้องคิดเร่งทำความดี ท่านเคยรู้สึกบ้างไหม ไม่เคยเลย ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของตัวเองทำกรรมไม่ดี ก็ต้องได้รับโทษ มีการลงอาญา เรียกว่ากรรมกรณ์ ซึ่งเป็นวิธีลงโทษประการต่างๆ ในนรก
 
     เรื่องนี้มีมาใน พาลบัณฑิตสูตร และเทวทูตสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ถ้าต้องการค้น ก็บอกข้อบอกหน้าไปด้วย คือ เล่ม ๑๔ ข้อ ๔๖๗ หน้า ๓๑๑ และเล่ม ๑๔ ข้อ ๕๐๔ หน้า ๓๓๔ (สำหรับพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ก็ไปค้นดูตามข้อ หน้าไม่ตรงกัน เพราะนี้เป็นหน้าบาลี) โดยมากพูดถึงนรก ไม่ค่อยพูดถึงสวรรค์
 
     นอกจากนี้ก็ยังมีบางแห่งพูดถึงอายุเทวดาในชั้นต่างๆ เช่น ชั้นจาตุมหาราช หรือชั้นโลกบาล ๔ ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิตชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี แต่ละชั้นมีอายุอยู่นานเท่าไร อย่างนี้มีในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๐ หน้า ๒๗๓ และไปมีซ้ำในเล่ม ๒๓ ข้อ ๑๓๑–๑๓๕ หน้า ๒๕๓–๒๖๙ และยังมีอายุมนุษย์ ถึงรูปพรหม แสดงไว้ในฝ่ายอภิธรรม พระไตรปิฎกเล่ม ๓๕ ข้อ ๑๑๐๖–๑๑๐๗ หน้า ๕๖๘–๕๗๒
 
     บางแห่งแสดงเรื่องราวว่า ในวัน ๘ ค่ำ ท้าวมหาราช ๔ คือ ท้าวจตุโลกบาล ส่งอำมาตย์มาตรวจดูโลก ว่ามนุษย์ประพฤติดีปฏิบัติชอบหรือเปล่า ถ้าเป็นวัน ๑๔ ค่ำโอรสมาเที่ยวดู
 
     ถึงวัน ๑๕ ค่ำก็เสด็จมาเที่ยวตรวจดูเอง แล้วกลับไปแจ้งต่อที่ประชุมเทวดาในสุธรรมสภา สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธานว่า เดี๋ยวนี้มนุษย์โดยมากประพฤติดี หรือประพฤติชั่ว
 
     ถ้ามนุษย์ประพฤติดี เทวดาก็จะดีใจ ว่าต่อไปสวรรค์จะมีคนมาเกิดเยอะ ถ้าหากมนุษย์ประพฤติชั่วมาก เทวดาก็จะเสียใจ ว่าต่อไปฝ่ายเทวโลกจะมีแต่เสื่อมลง อะไรทำนองนี้
 
     เรื่องอย่างนี้ก็มีในเล่ม ๒๐ เหมือนกัน ข้อ ๔๗๖ หน้า ๑๘๐ เป็นการกล่าวแทรกอยู่บางแห่ง มีไม่สู้มาก
 
     นอกจากนี้  ก็มีกระเส็นกระสาย เล็กๆ น้อยๆ ชื่อนรก ๑๐ ขุม ก็มีในพระไตรปิฎกด้วย คือในเล่ม ๒๔ อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ข้อ ๘๙ หน้า ๑๘๕ และนรก ๘ มีในคาถาชาดก เล่ม ๒๘ ข้อ ๙๒ หน้า ๓๙
 
     อันนี้  ก็เป็นฐานให้อรรถกถานำมาชี้แจงอธิบายเรื่องนรกต่างๆ แจกแจงให้เห็นเรื่องราวพิสดารยิ่งขึ้น แต่ในที่นี้จะไม่พูดถึง
 
     คัมภีร์กลุ่มชาดก ในขุททกนิกาย เป็นแหล่งที่จะหาเรื่องราวคำบรรยายเกี่ยวกับสภาพในนรกและสวรรค์ได้มากกว่าที่อื่น เนมิราชชาดก ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๕๒๕–๕๙๙ หน้า ๑๙๘– ๒๒๓ เป็นเรื่องการไปทัศนาจรนรก และสวรรค์โดยตรงทีเดียว
 
     (ในมฆเทวสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๔๕๘–๔๖๐ หน้า ๔๒๑–๔๒๔ ก็มีเรื่องที่พระเจ้านิมิ หรือนิมิราช กษัตริย์ทรงธรรม เป็นธรรมราชา แห่งมิถิลานคร ได้รับเชิญจากพระอินทร์ไปพบกับเหล่าเทวดาที่สุธรรมเทวสภา ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์)
 
     คัมภีร์เปตวัตถุ ที่ว่าด้วยเรื่องของเปรต แม้จะต่างภพกับนรก แต่ก็อยู่ในประเภทอบายเหมือนกัน
 
     ถ้ารับเข้ามาพิจารณาด้วย ก็จะได้คัมภีร์เปตวัตถุ และวิมานวัตถุ เข้ามาร่วมในกลุ่มนี้ด้วย และจะพบเรื่องราวมากมายทีเดียว ได้แก่ พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ ข้อ ๑–๑๓๖ หน้า ๑–๒๕๙
 
     แม้ในพระไตรปิฎกจะได้พูดถึงนรก-สวรรค์แบบนี้เราก็อย่าเอาไปวุ่นกับการเขียนภาพและคำบรรยายในวรรณคดีให้มากนัก เพราะวรรณคดีบวกจินตนาการเข้าไป  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของกวีแม้จะบรรยายอารมณ์มนุษย์  ก็ต้องบรรยายให้เห็นภาพ เมื่อจะบรรยายนรก-สวรรค์ ก็ต้องพูดให้เห็นจริงเห็นจัง หรือจะมาเขียนเป็นภาพประกอบ  จะให้คนธรรมดาเกิดความสนใจ  ก็ต้องนำเสนอในรูปแบบที่ทำให้เกิดความเข้าใจง่าย เทียบเคียงหรือประยุกต์เข้ากับสิ่งที่คนรู้เห็นกันในยุคนั้นถิ่นนั้น
 
     เพราะฉะนั้น เราจะเอาวรรณคดีรุ่นหลังๆ หรือภาพตามฝาผนังเป็นมาตรฐานไม่ได้ เพราะนี้เป็นรูปของการทำให้ง่ายแล้ว จะว่าตามนั้นทีเดียวไม่ได้
 
     ก็เป็นอันว่า  ในแง่ที่หนึ่ง  สำหรับคำถามว่า นรก-สวรรค์หลังจากตายในพระไตรปิฎกมีไหม ? เมื่อถือตามตัวอักษร  ก็เป็นอันว่ามีดังที่กล่าวมาแล้ว
 
     ส่วนที่ว่าอาจมีบางท่านแสดงความเห็นว่า  เรื่องนี้สัมพันธ์กับความเชื่อที่มีดั้งเดิม เช่นว่าพระพุทธเจ้าอาจจะตรัสไปตามที่คนเชื่อกันอยู่  นั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป นอกจากนี้ใครจะตีความอย่างไรต่อไป อาตมาไม่เกี่ยว
 
 


Create Date : 02 พฤศจิกายน 2567
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2567 8:14:48 น. 0 comments
Counter : 97 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space