 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
|
อโศกมหาราช - อโศกธรรม
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก คือ นักปราชญ์เมืองฝรั่งและในอินเดียส่วนมาก อ่านหรือศึกษาศิลาจารึกนั้นแล้ว มักลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แม้จะทรงเป็นพุทธมามกะ ที่มีศรัทธาแรงกล้า และเอาพระทัยใส่ในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง แต่ในเวลาที่ทรงเผยแผ่สั่งสอนธรรมในศิลาจารึก ได้ทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลางๆ ไม่ตรัสถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเลย แต่ทรงสอนธรรมที่เป็นหลักความประพฤติทั่วไปอันมีหรือเป็นที่ยอมรับในทุกๆ ศาสนา
ยกตัวอย่าง T. W. Rhys Davids กล่าวว่า (ในศิลาจารึกนั้น) "ไม่มีสักคําที่พูดถึงพระพุทธเจ้าหรือพุทธศาสนา…อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน และหลักธรรมสำคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา ไม่ปรากฏในศิลาจารึกเลย"
แต่ถ้าพูดถึงจารึกที่กล่าวถึงพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น ศิลาจารึกแห่งไพรัต ว่า
"…โยมมีความเคารพ และเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์มากเพียงใด…สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิต"
ท่านผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็บอกว่า นั่นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับพุทธศาสนา
หนังสือ The Cambridge History of India (5 vols.,1922-37) เขียนว่า “เราไมได้ฟังพระเจ้าอโศกตรัสถึงธรรมที่ลึกซึ้ง หรือหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาเลย ไม่มีการกล่าวถึงอริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ปฏิจจสมปบาท พระอัจฉริยคุณของพระพุทธเจ้า (อีกทั้ง) ไม่มีคํากล่าวถึงหรือ แสดงหลักแห่งนิพพานเลย”
R.K. Mookerjee กล่าวไว้ในหนังสือ Asoka ว่า “ธรรมที่นําเสนออย่างนั้น ในธรรมโองการเหล่านี้ เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งสําหรับเรียกชีวิตที่ดีงามมีศีลธรรม และตั้งอยู่บนฐานร่วมของทุกศาสนา…สามารถนําไปใช้ได้ และยอมรับได้ทั่วกันว่าเป็นสาระของทุกศาสนา … ดังนั้น พระเจ้าอโศกจึงนับว่าได้ทรงวางฐานแห่งศาสนาสากล (universal religion) และน่าจะทรงเป็นบุคคลแรกที่ทําการนี้ในประวัติศาสตร์”
คําที่ปราชญ์ และท่านผู้รู้เหล่านี้ว่ามาก็น่าฟัง และดูคล้ายจะน่าเชื่อ แต่พอพิเคราะห์ให้ชัดลงไป กลายเป็นต้องแยกว่า
ในส่วนของข้อมูลด้านศิลาจารึกเอง ต้องชื่นชมท่าน และเราได้อาศัยท่านเหล่านี้มาก
แต่ในขั้นลงมติที่โยงมาสู่พระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้ จับจุดจับหลักไม่ถูก ได้แต่มองดูหลักธรรมสำคัญๆ ที่ได้ยินได้พูดกันมาก พอไม่พบ ก็สรุปลงไปอย่างนั้น แต่ถ้าจับจุดได้ ทัศนะของท่านเหล่านี้ ที่ว่าจะเป็นพุทธต้องพูดถึงอริยสัจ สมาธิ นิพพาน เป็นต้น นั้น กลายเป็นทัศนะที่น่าขําขันไป อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นว่าธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักพุทธศาสนาก็มีไม่น้อย เช่น ผู้เขียนหัวข้อ “Inscriptions as historical source material. Ancient India.” ใน Encyclopaedia Britannica ซึ่งได้กล่าวว่า “คำจารึกโองการของพระเจ้าอโศกเป็นประกาศและข้อกำหนดตามสารัตถะแห่งพุทธศาสนา” (ขณะที่อีกบางท่าน ซึ่งเขียนหัวข้ออื่นเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกใน Encycl. ชุดนั้น เห็นว่าจารึกอโศกเป็นคําสอนกลางๆ)
ท่านอื่นที่มั่นใจว่า ธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักในพระพุทธศาสนา ก็เช่น D.R. Bhandarkar และ H. C. Ray Chaudhuri โดยที่สองท่านนี้ถือว่าเป็นไปตามอุดมคติแห่งจักกวัตติธรรมราชา รวมทั้ง B. M. Barua ที่ เขียนไว้ในหนังสือ Asoka and His Inscriptions, Part I, p. 225 ว่า “ธรรมของพระเจ้าอโศกสอดคล้องกับหลักพุทธคิหิปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้น”
ทีนี้ก็มาดูว่า จุดและหลักที่ต้องจับ และแยกแยะให้ได้ เพื่อเข้าใจธรรมในศิลาจารึกนั้น คืออะไร
เริ่มแรก ควรมองภาพทั่วไปก่อนว่า
๑) พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพุทธศาสนิก แต่ทรงดํารงสถานะเป็นราชา คือเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง และเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่มากด้วย
๒) ทรงมีข้อพิเศษเฉพาะพระองค์ คือ ทรงหันมาทรงธรรมโดยมีความสลดพระทัยจากการทําสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนอย่างแรง
๓) การใช้ธรรมในระดับกว้างใหญ่นี้ จะต้องมองที่หลักการทั่วไป ซึ่งจะให้เห็นบรรยากาศทั้งหมด ไม่มัวมองหัวข้อย่อยหรือรายละเอียด
จากข้อ ๑) ในฐานะมหาราชผู้เป็นชาวพุทธ ผู้มีสถานะสูงสุดใน ฝ่ายบ้านเมือง หรือในสังคมของชาวโลก เมื่อปกครองมหาอาณาจักรจะใช้หลักการปกครองอย่างไรจึงจะสมกับความเป็นชาวพุทธ หรือพระพุทธศาสนาวางหลักการอะไรไว้ให้
โดยเฉพาะประสานกับข้อ ๒) ที่ทรงละเลิกสงครามแล้ว จะดํารงความเป็นมหาราชไว้ให้เหมาะสมและเป็นคุณแก่การปกครองนั้นได้อย่างไร
ถึงตอนนี้หลักคําสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคติใหญ่ ก็มาได้ทัน ที่เริ่มด้วยพุทธพจน์ว่า
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ นี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุข แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคล ๒ เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระราชาผู้จักรพรรดิ ๑ (องฺ.ทุก.๒๐/๒๙๗)
นี่คือได้บุคคลที่มีสถานะสูงสุดในโลก เทียบคู่กับองค์พระศาสดา โดยมาเป็นผู้สนองธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายบ้านเมือง เรียกง่ายๆ ว่าคติจักกวัตติราชา จักรวรรดิราชา หรือคติพระเจ้าจักรพรรดิราช
พอจับจุดได้แล้ว หลักคําสอนในคตินี้ก็ตามมา ซึ่งหาได้มากมาย เฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เป็นความหมาย หรือเป็นคําจํากัดความของการเป็นจักรวรรติราชานั้น ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่ง คือเป็นธรรมราชา ผู้มีชัยชนะด้วยธรรม (ธมฺเมน อภิวิชิย > ธรรมวิชัย) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ยกบาลีมาดูเป็นตัวอย่าง
มา ภิกฺขเว ปุญุญฺานํ ภายิตฺถ สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานิ …
ราชา อโหสึ จกฺกวตฺตี ธมฺมิโก ธมฺมราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ชนปทตฺถาวริยปฺปตฺโต สตฺตรตนสมนฺนาคโต ... โส อิมํ ปฐวึ สาครปริยนฺตํ อทณฺเฑน อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย อชฺฌาวสินฺติ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข …
เราได้เป็นจักรพรรดิราช ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ครองแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้มีชัยชํานะ มีถิ่นแคว้นถึงความมั่นคงสถาพร พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ … เรามีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม้ต้องใช้ศาสตรา ครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีสาครเป็นขอบเขต ฯ (องฺ.สตฺตก.๒๓/๕๙/๙๐)
พุทธพจน์ที่มีข้อความอย่างนี้ คือที่มาแห่งหลักการหรือนโยบายการปกครองอย่างใหม่ ที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” ของพระเจ้าอโศกมหาราช
ข้อความสําคัญที่ว่าเป็นดังคําจํากัดความของ “ธรรมวิชัย” คือ ตอนที่ว่า “มีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา”
อย่างที่กล่าวแล้ว พุทธพจน์ ส่วนนี้ตรัสในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ ตรัสโยงกับเรื่องบุญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในศิลาจารึกอโศกนั้นด้วย
Create Date : 30 มกราคม 2567 |
Last Update : 30 มกราคม 2567 12:35:26 น. |
|
0 comments
|
Counter : 204 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|