 |
|
|
|
 |
|
มองอินเดียกับฝรั่ง ให้เห็นความแตกต่างที่เป็นคติแก่ไทย |
|
มองอินเดียกับฝรั่ง ให้เห็นความแตกต่างที่เป็นคติแก่ไทย
ทวนย้ำกันอีกที: ความไม่ประมาทแท้ ที่เป็นอยู่ด้วยสติปัญญาเป็นอย่างไร ? ต่างจากความไม่ประมาทเทียมของฝรั่งอย่างไร ? ความไม่ประมาทที่แท้ นั้น ก็คือการอยู่ด้วยสติและปัญญา หมายความว่า ไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้น ไม่ต้องรอให้ภัยมาคุกคาม แล้วจึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่เอาสติมาบอก และเอาปัญญามาจัดการ สติมีหน้าที่คอยนึก คอยระลึก ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สติเป็นตัวตื่น ดังบาลีว่า สติ โลกสฺมิ ชาคโร แปลว่า สติเป็นธรรมเครื่องตื่นในโลก (สํ.ส. ๑๕/๒๑๘) ถ้าใครมีสติแล้วก็ไม่หลับใหล ไม่หลงใหล ทั้งไม่หลับใหลและไม่หลงใหล ตื่นตัวอยู่เสมอ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป ก็คอยนึก คอยระลึก คอยสำรวจ คอยจับตา คอยจับเอามาดูอย่างที่ว่าแล้ว เราอยู่ในสังคม ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับอะไร และอะไรที่กำลังเกิดขึ้นๆ จะมีผลกระทบต่อความดีงามความเจริญและความสุขของเรา ของครอบครัว ของชุมชน ของสังคมของเรา ก็ระลึกสำรวจตรวจดูอยู่เสมอ ตื่นตัวต่อสถานการณ์ พอนึกระลึกแล้วเจออันใดที่จะมีผลกระทบ อย่างที่ว่า ก็ส่งต่อให้ปัญญาพิจารณา สติ กับ ปัญญา ทำงานคู่กัน สติระลึกนึกเอามาแล้ว ก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา ปัญญาก็ดูว่าอันนี้จะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมหรือความเจริญ ถ้าจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม ก็รีบหาทางจัดการป้องกันแก้ไขทันที ไม่ปล่อยไว้ ส่วนอันไหนจะให้เกิดความเจริญ ก็รีบจัดทำ จัดสรร จัดการ ดำเนินการ หรือสร้างสรรค์ขึ้นมาเลย โดยไม่มีการผัดเพี้ยน ลองคิดดูเถอะ ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะไม่สามารถรักษาความเจริญไว้ได้หรือ มันก็ต้องสามารถป้องกันความเสื่อมและรักษาความเจริญไว้ได้แน่ นี้แหละคือความไม่ประมาทที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นตัวพิสูจน์ ว่า มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนได้สำเร็จหรือไม่ ความไม่ประมาทอย่างแท้นี้มนุษย์จะทำไหวไหม ทั้งในชีวิตส่วนตัวและสังคม สังคมมนุษย์นี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า สามารถที่จะไม่เสื่อม และมีแต่เจริญอย่างเดียว ถ้าไม่ประมาท แต่มนุษย์ทำได้ไหม ถ้าเป็นปุถุชนก็มีความโน้มเอียงที่จะตกไปในความประมาท พอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็สะดุ้งตื่นเสียทีหนึ่ง ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้นวิ่งเลยทีเดียว แต่พอภัยผ่านพ้น ทุกข์หายไป ก็เสวยสุขลุ่มหลงมัวเมาอีก ก็จึงเดินๆ ถอยๆ กันอยู่อย่างนี้ บ้านเมือง เวลามีสงคราม มีกองทัพศัตรูมารุกราน ผู้คนก็ลุกขึ้นมากุลีกุจอ มีความสามัคคีกันเสียทีหนึ่ง รวมกำลังกันต่อสู้ แต่พอภัยผ่านไปแล้ว สบาย ก็หันมาทะเลาะกันใหม่ เสวยสุขลุ่มหลงมัวเมาต่อไป สังคมมนุษย์ มักเป็นกันอย่างนี้ จึงเอาดีไม่ได้ วงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญนั้น ถ้าเราปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะพ้นไปได้และจะสามารถรักษาความเจริญไว้ เรื่องสังคมอินเดีย และสังคมฝรั่ง ที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่าง ก็เพื่อให้เห็นว่า สังคมอินเดียนี้คงจะเป็นสังคมที่ปรับใจได้เก่ง มีความสุขกับสิ่งง่ายๆ แต่ปล่อยปละละเลยเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย มีอะไรก็ผัดเพี้ยนไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ เรามาที่เมืองนี้ก็ได้ยินว่า ที่วัดไทยกุสินาราได้ลองมอบหมายงานชิ้นเดียวกันให้คนไทยกับคนอินเดียทำ คนอินเดีย ๔ คนทำงานเสร็จใช้ เวลา ๔ วัน ส่วนคนไทย ๒ คนทำไม่ถึง ๑ วันก็เสร็จ ความเฉื่อยชาอย่างนี้ คือความประมาท ความผัดเพี้ยนเวลา การปล่อยปละละเลย นี้คือลักษณะของสังคมที่ตกอยู่ในความประมาท น่าจะลองเอางานชิ้นเดียวกันอย่างเมื่อกี้นั้น มอบหมายให้คนไทย กับคนญี่ปุ่นและคนฝรั่งทำดูบ้าง เราคงจะได้เห็นอะไรแปลกๆ เป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ แม้แต่คนไทยนี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็จะกลายเป็นอย่างเดียวกับคนอินเดียที่เราหัวเราะนั้นก็ได้ ตรงข้ามกับอินเดีย สังคมฝรั่งเป็นสังคมที่ตกอยู่ในความไม่ประมาทเทียม เขาใช้ระบบแข่งขันเป็นทุกข์ภัยประดิษฐ์มาบีบคั้นคน ในระยะยาว อย่างนี้ก็เสื่อมไปไม่รอดเหมือนกัน ตอนนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๘) อเมริกันร้องโอดครวญนักหนาว่า คนอเมริกันรุ่นใหม่ ในยุคเสพสุขแห่งสังคมบริโภค กำลังเสื่อมถอย สำรวย เฉื่อยชาลงมาๆ ไม่มีนิสัยในการทำงาน ประเทศอเมริกากำลังหวั่นใจในการที่จะสูญเสียความยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่น่าจับตา
Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2567 12:48:12 น. |
|
0 comments
|
Counter : 240 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|