 |
|
|
|
 |
|
พุทธศาสนาประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ |
|
จากเทพสูงสุด สู่ธรรมสูงสุด มนุษย์พ้นอำนาจพรหม สู่ความเป็นพุทธ อย่างที่เคยพูดว่า อินเดียมีสภาพเป็นอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อาตมาพูดไว้ที่ลุมพินีว่า เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา มีสัญลักษณ์การประสูติของพระพุทธเจ้า คือ อาสภิวาจา ที่พระองค์ได้เปล่งขึ้นว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เป็นต้น แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก” พระวาจานี้ เมื่อเรารู้ภูมิหลังของสังคมอินเดีย เราก็บอกว่า เป็นวาจาประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมา หมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ ที่มองเห็นว่า แต่ก่อนนี้ คนมุ่งแต่จะรอความหวังจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เชื่อว่าพระพรหมผู้สร้างบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างมนุษย์มาในวรรณะ ๔ มนุษย์จะเป็นอะไรอย่างไร ก็อยู่ใต้อำนาจดลบันดาลนั้น ต้องอ้อนวอน เอาใจเทพเจ้า ด้วยการบูชายัญบวงสรวงต่างๆ ความเชื่อและการเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่วิถีทางที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความเกษมสวัสดี ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงดึงประชาชนให้หันกลับมา โดยตรัสว่า ให้มองดูความจริงของกฎธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่เป็นไปตามการดลบันดาลของสิ่งภายนอก เราจะต้องศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วทำเหตุปัจจัยด้วยความเพียรพยายามของเรา เมื่อเราต้องการผล ก็ต้องทำเหตุปัจจัยให้ตรง ให้พร้อม และให้พอ นี่คือการประกาศหลักธรรมและหลักกรรม ซึ่งก็คือการที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์
ในพระวาจาที่ใช้นั้น คำว่า เชฏโฐ เดิมเขาใช้สำหรับพระพรหม เป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระพรหมว่าเป็นเชฏโฐ คือ ผู้เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงเอามาใช้สำหรับพุทธ คำว่า “พุทธ” นี้ ไม่ใช่หมายถึงตัวบุคคล แต่เป็นคำแสดงภาวะอุดมคติของมนุษย์ มนุษย์ที่ได้พัฒนาตนสูงสุด มีปัญญารู้ธรรม บรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว เราเรียกว่าเป็น พุทธ พุทธนี้แหละเป็น เชฏโฐ เป็นผู้เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาคำเรียกแสดงสถานะของพระพรหม มาใช้สำหรับพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จึงหมายความว่า พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ ให้มนุษย์เลิกฝากความหวังและโชคชะตาทั้งของชีวิต และสังคมไว้กับพระพรหม เลิกขึ้นต่อเทพเจ้า และหันมากระทำการต่างๆ ด้วยการจัดการกับเหตุปัจจัย ด้วยโดยใช้ความเพียรพยายามของตน ด้วยปัญญาแห่งพุทธะที่หยั่งรู้ความจริงแห่งเหตุปัจจัย เป็นต้น นั้น
Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2567 8:11:24 น. |
|
0 comments
|
Counter : 179 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|