 |
|
|
|
 |
|
ผู้ไม่ประมาทใช้ประโยชน์จากอนิจจัง |
|
ความไม่ประมาท คือความสามารถที่จะไม่เสื่อม ความไม่ประมาท คือความสามารถจัดการกับอนิจจัง
ถามว่า มนุษย์จะต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมนี้เรื่อยไปหรือ มนุษย์จะแก้ไขให้ตนเองพ้นวงจรนี้ไปไม่ได้หรือ มนุษย์จะเจริญโดยไม่เสื่อมไม่ได้หรือ ถ้ามองดูตามหลักการของพระพุทธศาสนา จะต้องตอบว่า มนุษย์ ไม่จำเป็นต้องตกอยู่ใต้วงจรนี้เรื่อยไป มนุษย์มีความสามารถที่จะพ้นจากวงจรนี้ได้ มนุษย์สามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม เช่น ในพระสูตรหลายแห่ง พระพุทธเจ้าตรัสแสดงข้อปฏิบัติที่จะทำให้เจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ดูคำสรุปว่า: วุฑฺฒิ เยว ปาฏิกงฺขา โน ปริหานิ แปลว่า ความเจริญอย่างเดียวเป็นอันหวังได้ ไม่มีความเสื่อม (เช่น ที.ม. ๑๐/๖๘-๗๕ ฯลฯ) หลักการในเรื่องนี้ก็คือจะต้องไม่ประมาท ซึ่งเป็นเรื่องของความพอดีอย่างหนึ่ง การเพียรขวนขวายเมื่อมีทุกข์ภัย และมัวเมาประมาทเมื่อสุขสบายนี้แหละ คือปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในวงจรของความเจริญ และความเสื่อม แต่นี้เป็นปัจจัยแห่งความเสื่อม และความเจริญที่เป็นไปตามกิเลสของมนุษย์ปุถุชน เพราะมนุษย์ปุถุชนเป็นอย่างที่ว่ามานี้ จึงต้องตกอยู่ภายใต้วงจรของความเสื่อมและความเจริญ ในทางธรรม ท่านจึงสอนให้เราแก้ไขกิเลสนี้เสีย ถ้ามนุษย์ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส ก็จะตระหนักรู้ในสิ่งที่ควรทำ โดยใช้สติปัญญาอยู่เสมอ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม เราก็แก้ไขป้องกัน อะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้เจริญ เราก็ทำ โดยไม่มัวผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ปล่อยปละละเลย เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ เราก็จะรักษาความเจริญไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป นี้แหละคือความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเหมือนกับจะให้เป็นหลักประกันว่า ถ้าเราไม่ประมาทแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเสื่อม อันนี้เป็นหลักสำคัญ หลักธรรมหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ หลักอปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ซึ่งดูแล้วเหมือนว่าจะค้านหลักอนิจจัง ขอให้พิจารณาดู พระพุทธเจ้าตรัสธรรมไว้ให้มองได้สองแง่ ในแง่หนึ่ง พระองค์ตรัสแสดงหลักอนิจจังว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและแตกสลายไปเป็นธรรมดา ในแง่นี้ คือมองในแง่อนิจจังตามกฎธรรมชาติ ก็เป็นความจริงอย่างนั้น ซึ่งเราอาจจะพูดทำนองว่า สิ่งทั้งหลายมันเจริญแล้วก็ย่อมต้องเสื่อมเป็นธรรมดา ดังที่เรามักจะพูดกันอยู่ แต่อย่าลืมธรรมอีกหลักหนึ่ง อีกแง่หนึ่ง พระองค์ตรัสแสดงหลักความไม่ประมาท ซึ่งทำให้เข้าใจว่า ถ้าเราไม่ประมาทเสียแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเสื่อม แต่เราจะเจริญได้เรื่อยไป สองหลักนี้เป็นปริศนาให้ชาวพุทธพิจารณาว่า มันจะไม่ขัดกันได้อย่างไร เดี๋ยวจะว่าพระพุทธเจ้าทำไมตรัสอย่างนี้ ที่ว่าทำให้ดีแล้วไม่มีเสื่อมเลยนั้น จะไม่ขัดกันหรือกับที่พระองค์ตรัสไว้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไปเป็นธรรมดา ขอบอกเลยว่า สองหลักนี้ไม่ขัดกันเลย และยังแถมสนับสนุนกันอีกด้วย หลักหนึ่งเป็นกฎธรรมชาติ แสดงถึงคติธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป เป็นอนิจจัง แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็ตรัสหลักปฏิบัติไว้ว่า ถ้าเราไม่ประมาทเสียแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเสื่อม อันนี้จะขออธิบายสั้นๆ ว่า ความไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปนี้ เป็นกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลักนี้เราไม่ได้เถียง มันก็เป็นของมันอย่างนั้น แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นมาสัมพันธ์กับมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีความหมายเป็นความเสื่อมและความเจริญ ซึ่งไม่ว่าจะเสื่อมหรือเจริญ มันก็เป็นอนิจจังทั้งนั้น มันจะเสื่อมหรือเจริญ ก็คือไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงไป อนิจจัง ที่ว่าไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปนั้น มันเป็นกลางๆ เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ทีนี้ สำหรับมนุษย์นั้น ความเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่งเราพอใจ เราเห็นว่ามันเป็นคุณประโยชน์แก่เราๆ ก็เรียกว่า ความเจริญ ส่วนความเปลี่ยนแปลงอีกแบบหนึ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา เป็นโทษแก่เราๆ เรียกว่า ความเสื่อม แต่ที่จริง เราจะเรียกว่าเจริญก็ตาม เสื่อมก็ตาม ก็คืออนิจจังทั้งนั้น ยิ่งกว่านั้น คำว่า “เสื่อม” และคำว่า “เจริญ” มีความหมายที่บอกอยู่ในตัวว่าไม่นิ่ง คือ ที่ว่าเสื่อม ก็คือกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ (ในแนวทางหนึ่งหรือแบบหนึ่ง) และที่ว่าเจริญ ก็คือกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ (ในอีกแนวทางหนึ่งหรืออีกแบบหนึ่ง) หมายความว่า ที่ว่าเสื่อมก็คือเปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปก็คือเปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเจริญก็คือเปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญต่อไป ก็คือเปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเสื่อมก็คือเปลี่ยนแปลง ต้องระวังจะเอาถ้อยคำมาหลอกตัวเอง เป็นอันว่า คำว่าเสื่อมและเจริญนี้เป็นเรื่องของสมมติในสังคมมนุษย์ แต่สมมุตินี่แหละสำคัญนักสำหรับมนุษย์ เมื่อเราชอบสมมติในด้านที่เรียกว่าเจริญ เราก็ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญ อย่างที่ว่าแล้ว มันเจริญแล้วเสื่อม ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง มันเสื่อมแล้วเจริญ ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง มันเจริญแล้วเจริญต่อไปอีก หรือยิ่งขึ้นไปอีก ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง มันเสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปอีก หรือยิ่งขึ้นไปอีก ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง รวมแล้ว มันก็คือความเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ และไม่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือ จะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่มีอย่างไหนขัดหลักอนิจจังเลย ฉะนั้น เราก็เปลี่ยนแปลงให้มันเป็นไปในทางที่เราพอใจ โดยทำเหตุปัจจัยให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เรียกว่า เจริญ และเราก็ป้องกันความเปลี่ยนแปลงในทางที่เราเรียกว่า เสื่อม แค่นี้เราก็สามารถป้องกันความเสื่อม และรักษาความเจริญไว้ได้ หลักธรรมทั้งสองหลักนี้จึงไม่ค้านกันเลย แต่สนับสนุนกันและกัน ถ้าเรามีความไม่ประมาทเสียอย่าง เราก็สามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้ นี้คือความสามารถของมนุษย์ ความไม่ประมาท คือ หลักที่ทำให้เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้ อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติ บอกเราว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความเปลี่ยนแปลงไป แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เราก็ใช้ประโยชน์มันเสียเลย โดยการทำเหตุปัจจัยที่จะให้เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญ มันก็จะเจริญอยู่เรื่อยไป ทั้งนี้ก็อยู่ที่มนุษย์จะต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วจัดการกับเหตุปัจจัยนั้นๆ ด้วยความไม่ประมาท สองหลักนี้ ใครจับสาระได้ ก็สามารถทำให้ไม่มีความเสื่อม มีแต่ความเจริญ เรียกว่าใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้
Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2567 10:42:37 น. |
|
0 comments
|
Counter : 212 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|