 |
|
|
|
 |
|
|
สาระของโอวาทปาติโมกข์
วันนี้เราเดินทางมาที่นี้ ก็พอดีประจวบมาประชุมกันที่พระเวฬุวันด้วย และวันพรุ่งนี้จะเป็นวันมาฆปูรณมีคือวันเพ็ญเดือน ๓ ซื่งถือเป็น วันมาฆบูชา ไหนๆ มาที่นี่ใกล้วันจริงแล้ว ก็ทําพิธีมาฆบูชากันเสียที่นี่เลย แล้วฟังธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา
อย่างที่กล่าวแล้ว ในวันมาฆบูชา หรือ วันมาฆปูรณมี พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ (โอวาทปาฏิโมกข์ก็เขียนบ้าง) คือคําสอนแม่บท หรือคําสอนสําคัญที่เป็นหลักเป็นประธาน เราจึงควรศึกษาเรื่อง โอวาทปาติโมกข์กันบ้าง ได้บอกเมื่อกี้นี้ว่า โอวาทปาติโมกข์ ประกอบด้วยคาถาสามคาถากึ่ง หรือ จะเรียกว่าเป็น ๓ ตอนก็ได้
เรื่องที่จะอธิบายนี้ อย่าเพิ่งถือเป็นเรื่องหนักสมอง เวลาพูดให้ฟังอย่างนี้ ก็รู้สึกว่ายากเหมือนกัน แต่ขอให้ฟังผ่านๆ ไว้ก่อน เดี๋ยวจึงค่อยจี้จุดที่ต้องการให้รู้อีกทีหนึ่ง
ลําดับความว่า ในคาถา ๓ ตอนนั้น
ก) คาถาที่ ๑ ซึ่งเป็นตอนแรกว่า
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
คาถาแรกนี้ แสดงอะไรบ้าง ตอบสั้นๆว่า แสดงลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่ต่างจากศาสนาพื้นเดิมที่มีอยู่
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นใหม่ เมื่อจะแสดงหลักการของพระพุทธศาสนา จุดแรกก็คือ การแยกออกจากศาสนาเดิม ซึ่งจะเป็นข้อสําคัญที่จะให้ชาวพุทธรู้จักตัวเอง คือ รู้จักหลักคําสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง มิฉะนั้น เดี๋ยวจะเอาคําสอนของพระพุทธเจ้าไปเที่ยวปะปนกับลัทธิอื่นๆ
คําสอนข้อแรก บอกว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
อธิบายว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมานั้น ข้อปฏิบัติสำคัญในศาสนาพื้นเดิมก็คือ เขาชอบบำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะนี้เป็นที่นิยมกันนักหนาว่า เป็นทางที่จะทำให้บรรลุความบริสุทธิ์หลุดพ้นถึงจุดหมายของศาสนา ศาสนาในยุคนั้นจึงมีการบําเพ็ญตบะกันมาก
พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานคําสอนใหม่ว่า การที่มาทรมานร่างกายของตนเองด้วยประการต่างๆ เช่น อดข้าว กลั้นลมหายใจ นอนบนหนาม ลงอาบแช่น้ำในฤดูหนาว ยืนตากอยู่กลางแดดในฤดูร้อน อะไรทํานองนี้ไม่ใช่หนทางที่จะทําให้ตรัสรู้ได้
ขอให้สังเกตว่า นักบวชเชน แม้แต่สมัยปัจจุบัน ก็ยังใช้วิธีบําเพ็ญตบะอยู่ เช่น จะโกนผม เขาก็ไม่ใช้มีดโกน แต่เขาถอนผมออกมาทีละเส้นๆ
อย่างที่เราพบ ที่เรียกว่า สาธวี ที่มานั่งอยู่ในพิธีเมื่อเช้านี้ที่นาลันทา ที่แต่งชุดขาว แล้วมีอะไรปิดที่จมูกหรือปาก นั่นน่ะ เป็นนักบวชหญิงของเชน นิกายเศวตัมพร หรือ เสตัมพร แปลว่า นุ่งขาว ห่มขาว ถ้าเป็นอีกนิกายหนึ่ง ก็เรียกว่า ทิคัมพร แปลว่า นุ่งทิศ คือนุ่งลมห่มฟ้า หมายความว่าไม่นุ่งผ้าเลย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบําเพ็ญตบะทรมานร่างกาย ไม่ใช่วิถีทางแห่งความหลุดพ้น ที่จะเข้าถึงจุดหมายของศาสนา การที่ตรัสคาถานี้ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะให้เกิดความรู้เข้าใจลักษณะที่แตกต่างของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ต้น เริ่มแต่ในด้านวิธีปฏิบัติ พระองค์จึงตรัสแทนใหม่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
“ขันติ” คือ การอดได้ ทนได้ นี่แหละ เป็นตบะอย่างยิ่ง ตบะไม่อยู่ที่การทรมานร่างกาย แต่อยู่ที่ขันติ คือความอดทน โดยใช้สติปัญญา ทําความเพียรด้วยความเข้มแข็งในจิตใจ โดยมุ่งมั่นที่จะทําการนั้นให้สําเร็จด้วยความอดทน อย่างนี้จึงจะเป็นตบะจริง ไม่ต้องไปเที่ยวทรมานร่างกายของตน เมื่อตรัสอย่างนี้ ก็เป็นการบอกให้รู้ไปด้วยว่า การบําเพ็ญตบะ อย่างที่เขานิยมทํากันนั้น ไม่มีในพระพุทธศาสนา
จากข้อปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ก้าวไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา โดยตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่านิพพานเป็นบรมธรรม คือนิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด หรือ เป็นธรรมอย่างยิ่ง ข้อนี้ คือ การแสดงจุดหมายของพระศาสนาว่า ได้แก่ พระนิพพาน ไม่ใช่ลัทธิไปสู่พระพรหมอะไร
สมัยนั้น ศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า จุดหมายของศาสนา คือ พรหมสหัพยตา ได้แก่ ภาวะที่รวมเข้ากับพรหม คำสอนอย่างนี้ท่านคัดค้านไว้ในพระสูตร เช่นอย่างเตวิชชสูตร ในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย เป็นต้น ซึ่งพูดถึงเรื่องพราหมณ์ที่พยายามจะเข้าถึงพรหม ไปอยู่ร่วมกับพระพรหม ด้วยวิธีต่างๆ แล้วพราหมณ์ก็เถียงกันเองว่าวิธีของใครถูกต้อง
การเข้ารวมกับพระพรหม หรือการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพรหม หรือการเข้าถึงพรหมนั่น เป็นจุดหมายของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้น
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เราจะเข้ารวมกับพรหมได้ ก็ด้วยการสร้างความเป็นพรหมให้มีในตัว หรือทําตัวให้เป็นพรหม หรือให้เหมือนกันกับพรหม ด้วยการเจริญพรหมวิหารธรรม
อย่างไรก็ตาม การเข้ารวมกับพรหมก็ยังไม่ใช่อิสรภาพแท้จริง เราสามารถกล่าวเลยกว่านั้นไปอีก และพระองค์ก็ได้ตรัสแสดงจุดหมายของพระพุทธศาสนาว่า ได้แก่ นิพพาน เป็นการบอกให้รู้ชัดไปเลย ไม่ใช่เพียงไปเข้ารวมกับพรหม
ต่อไป สิ่งที่ปรากฏของศาสนาข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ นักบวช ในข้อนี้เราต้องชัดว่า คนประเภทใด มีลักษณะอย่างไร จัดว่าเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหลักว่า คนที่จะเป็นบรรพชิตนั้น ไม่เป็นผู้ทําร้ายผู้อื่น ถ้าเป็นผู้ที่ทําร้ายเบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ หมายความว่า นักบวช หรือ สมณะ หรือ บรรพชิต มีลักษณะสําคัญอยู่ที่การไม่ทําร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียนใคร เป็นผู้ไม่มีภัยมีเวร เป็นแบบอย่าง ของการนําสังคมไปสู่สันติ
ลักษณะสําคัญของพระภิกษุ หรือความเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ที่การเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ ต่างจากในศาสนาพราหมณ์ที่นักบวชทําหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระพรหม กับ มนษย์ เป็นตัวแทนของเทพเจ้าหรือของสวรรค์ ในโลกมนุษย์ หรือเป็นผู้ผูกขาดพระเวท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เทพเจ้าสูงสุดเปิดเผยแก่พราหมณ์
ความเป็นนักบวช เป็นบรรพชิต เป็นสมณะ ไม่ได้อยู่ที่การเป็นตัวแทนสวรรค์ หรือเป็นเจ้าพิธี หรือการมีอํานาจศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือการปลีกตัวหลีกหนีสังคมไปเข้าฌานอยู่ในป่า เป็นต้น แต่อยู่ที่การทําสันติให้ปรากฏในชีวิตที่เป็นจริง
ข) คาถาที่ ๒ คือตอนกลาง
เมื่อทรงแสดงหลัก และลักษณะสําคัญที่เป็นจุดปรากฏของศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงหลักขั้นปฏิบัติการของพระพุทธศาสนา โดยตรัสต่อไปว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การทำความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อม ๑ การทําใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ๑ นี้เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าองค์นี้ แต่พระองค์ตรัสว่า พุทฺธานํ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็สอนอย่างนี้หมด
คาถานี้ เป็นคาถาที่ชาวพุทธรู้จักมากที่สุด และพระก็นิยมเอามาย้ำ เพราะเป็นหลักที่จะนําไปปฏิบัติ คาถาที่หนึ่งข้างต้นนั้น แสดงลักษณะสําคัญของพระพุทธศาสนา ส่วนคาถาที่สองนี้ เป็นคําสอนภาคปฏิบัติเลยว่า คนเราจะต้องทําอะไรบ้าง
๑. ไม่ทําชั่ว
๒. ทําความดี
๓. ทําใจให้ผ่องใส
สามอย่างนี้จํากันได้ดี เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องอธิบายมาก แต่อาจจะย้อนกลับมาพูดอีกทีหนึ่ง
ค) คาถาที่ ๓ (กับครึ่งคาถา) คือตอนท้าย
จากนั้นก็ถึงท่อนที่ ๓ อีกคาถากับครึ่งสุดท้าย เรียกว่าอีกคาถากึ่ง มีว่า
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.
คําสอนส่วนนี้เป็นท่อนที่ถือกันว่า เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้า สําหรับพระสงฆ์ที่ทําหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร คือ เมื่อได้คำสอนที่จะสอนเขาแล้ว ตัวผู้ที่จะสอนเขา หรือนำคำสอนไปเผยแผ่นี้ ควรจะดำเนินชีวิต และมีวัตรปฏิบัติอย่างไร ก็มีหลักว่า
อนูปวาโท การไม่กล่าวร้าย ๑
อนูปฆาโต การไม่ทําร้าย ๑
พระที่จะไปสอนเขานี่ ต้องเป็นตัวอย่าง ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทําร้ายใคร
ปาติโมกฺเข จ สํวโร แปลว่า สํารวมตนในปาติโมกข์
“ปาติโมกข์” คือ วินัยแม่บท ได้แก่ ประมวลข้อกำหนดความประพฤติ ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ในการดําเนินชีวิตของพระภิกษุ เพื่อรักษาแบบแผนหรือมาตรฐานแห่งความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และเอื้อต่อการเจริญในไตรสิกขาของพระภิกษุ
ในเรื่องนี้ พระภิกษุจะต้องมีความสํารวมระวัง ตั้งใจที่จะดํารงตนอยู่ในปาติโมกข์หรือในศีลแม่บท ที่ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่า ศีล ๒๒๗
มตฺตญฺฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร คือต้องรู้จักกินพอดี หมายความว่า บริโภคด้วยความรู้เข้าใจวัตถุประสงค์ โดยใช้ปัญญา กินเพื่อคุณค่าที่แท้แก่ชีวิต ไม่ใช่กินอาหารเพียงเพื่อจะเอร็ดอร่อย เพื่อตามใจอยาก ตามใจลิ้น
โดยเฉพาะพระสงฆ์ เป็นผู้ดําเนินชีวิตด้วยอาศัยญาติโยมเลี้ยง ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นจะต้องทําตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เป็นอยู่ง่ายๆ ไม่มัววุ่นวายครุ่นคิดและใช้แรงงานใช้เวลาให้หมดไปกับการแสวงหาสิ่งเสพบริโภค ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น ปัจจัย ๔ อื่นก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่มามุ่งหาความสุขสําราญจากเรื่องของวัตถุนั่นเอง
การกินอาหาร เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ฉะนั้นท่านจึงจับจุดแรก ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ให้กินด้วยปัญญาที่รู้คุณค่าที่แท้จริง ที่เป็นวัตถุประสงค์ของการกิน ว่าเรากินเพื่ออะไร คือกินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี จะได้ใช้ร่างกายนี้ดําเนินชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ท่านเรียกว่า เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือ เพื่อเกื้อหนุนการที่จะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ และจะได้ทําหน้าที่นําธรรมไปสั่งสอนประชาชนได้
นี้คือหลักการที่เรียกว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ รู้จักอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ไม่ใช่มัววุ่นวาย ออกไปคลุกคลีกับหมู่ชาวบ้าน จนไม่รู้จักหาความสงบ ไม่ปลีกตัวออกไป หาเวลาหาโอกาสพัฒนาจิตใจและปัญญา
พระสงฆ์จะต้องให้เวลาแก่การพัฒนาด้านจิตใจและปัญญาให้มาก เมื่อแสวงหาที่สงัดเป็นที่วิเวกได้แล้ว ก็มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการที่จะพัฒนาจิตใจ ด้วยการเจริญจิตภาวนา แล้วก็ก้าวไปสู่การทําปัญญาภาวนา
จุดสําคัญก็คือ จะต้องมีที่อยู่ที่เหมาะ รู้จักหลีกเร้น นับว่าเป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สําคัญ เมื่อจะไปทํางานสั่งสอนประชาชน เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชาวบ้าน จะต้องไม่ละทิ้งการอยู่ในที่สงัด เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงภายใน จะได้ไม่ถูกดูดถูกกลืนเข้าไปในสภาพที่ยุ่งเหยิงของสังคมภายนอก
พระพุทธเจ้าเองทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ พระองค์เสด็จไปสั่งสอนประชาชน ต้องไปยุ่งเกี่ยวเที่ยวเสด็จไปพบคนโน้นคนนี้ไปโปรดคนโน้นคนนี้ เป็นกษัตริย์ บ้าง เป็นพราหมณ์ บ้าง เป็นพ่อค้า เป็นชาวนา เป็นอะไรต่างๆ มากมาย แต่พระองค์ก็ไม่ละทิ้งความสงัด พอได้โอกาส พระองค์ก็เสด็จไปประทับในที่วิเวก หาความสงบเป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้ทิ้งข้อปฏิบัตินี้
อธิจิตฺเต จ อาโยโค พอได้ที่สงัดแล้วก็ประกอบในอธิจิต ใส่ใจในการฝึกฝนจิตใจยิ่งขึ้นไป พระสงฆ์ทําหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา เป็นผู้ที่นําประชาชนในการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา แต่แบบอย่างที่สําคัญของพระ ก็คือเรื่องทางด้านจิตใจ เรื่องคุณธรรม
ในด้านนี้ พระสงฆ์ควรจะให้เขาเห็นแบบอย่างว่า เมื่อพระท่านพัฒนามีจิตใจที่ประณีตงดงามแล้ว ดีอย่างไร ท่านมีความสุขทางจิตใจ โดยพึ่งพาอาศัยวัตถุน้อย ท่านอยู่ได้อย่างไร มีชีวิตที่เป็นสุขได้อย่างไร เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
ถ้าพระสงฆ์ไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ คําสอนก็อาจจะได้ผลน้อย แต่ถ้าพระสงฆ์ดําเนินชีวิตตามหลักที่ว่ามาในคาถากึ่งสุดท้ายนี้ ก็จะเป็นแนวทางและเป็นคติแก่ประชาชน พร้อมกันนั้นก็ทําให้ประชาชนมีความหวัง และมีความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทําให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีต่อไปด้วย
Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2568 8:59:09 น. |
|
0 comments
|
Counter : 260 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|