กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
24 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

วัดกับถ้ำ

 
 
235 มองวัดถ้ำ เห็นความคลี่คลาย หรือความคลาดเคลื่อน เถรวาท-มหายาน-ฮินดู-เชน ทยอยมา เป็นปริศนายังค้าง

 
     เป็นที่น่าสังเกตว่า ต่อมา จากการที่มีการทำศิลปกรรมต่างๆ ในถ้ำนี้เป็นไปได้ไหมว่า วัดในถ้ำเหล่านี้ได้วิวัฒนาการมาอีก จนกระทั่งวัดในถ้ำก็ชักจะกลายเป็นอย่างวัดบ้าน
 
     ข้อสันนิษฐานอย่างนี้ เราก็ไม่รู้ชัดเจนว่ามีความเป็นไปอย่างไร เช่นว่า ต่อมาถิ่นใกล้ๆ ภูเขาเหล่านี้ก็อาจจะเจริญขึ้นมา ประจวบกับเกิดมีบ้านเมืองขึ้นมาไม่ไกล และประชาชนก็เป็นชุมชนใหญ่ จึงมีประชาชนจำนวนมากไปวัดที่ถ้ำเหล่านี้
 
     เมื่อพระสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนมากขึ้น งานเผยแผ่สั่งสอนก็เพิ่มขึ้น เรียกอย่างภาษาปัจจุบันว่าบริการประชาชนมากขึ้น เมื่อมีการแสดงธรรม  มีการสั่งสอนและกิจธุระที่เกี่ยวกับประชาชนมากขึ้น  ก็อาจมีการผลิตอะไรขึ้นมาเป็นสื่อ  เพื่อถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า
 
     อาจเป็นเพราะเหตุนี้ จึงมีการเขียนภาพพุทธประวัติ และแกะสลักเรื่องในพุทธประวัติตลอดจนภาพวาดเกี่ยวกับนิทานชาดกต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของคติธรรมสอนประชาชน พร้อมทั้งสนองความต้องการความสวยงามเชิงศิลปะ
 
     แสดงว่า วัดถ้ำเหล่านี้ได้กลายเป็นที่ๆ ประชาชนมาทำบุญทำกุศล หาธรรม  หาความสงบใจ เป็นที่บำรุงขวัญ บำรุงจิตใจของประชาชน ดังสภาพของสถานที่แสดงว่า ถ้ำเหล่านี้จะต้องเป็นที่ที่ประชาชนไปมาเสมอ และกลายเป็นว่าถ้ำเหล่านี้ไม่ใช่เป็นที่วิเวกต่อไปแล้ว  แต่กลายเป็นที่ที่คล้ายๆ วัดบ้านเหมือนกัน และอาจจะมีบ้านเมืองมาอยู่ใกล้ๆ แถวนั้นด้วย อันนี้เราไม่สามารถรู้ชัดเจนได้
 
     ข้อสันนิษฐานที่ว่ามาถ้าเป็นอย่างนี้จริง ก็แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีชีวิตของพระด้วย และมันจะเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่จะนำไปสู่ความเสื่อมด้วยหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกต อาจจะเป็นทั้งส่วนหนึ่งของความเสื่อม และเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญก็ได้ แต่นี่ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธศาสนา
 
     ได้บอกแล้วว่า วัดถ้ำรุ่นแรกเป็นของพระเถรวาทมาสร้างขึ้น คือ เป็นของพระแบบเก่า ได้แก่พระหินยานหรือเถรวาท
 
     ต่อมาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนี้ ได้เสื่อมไปจากอินเดียเสียก่อน แค่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐-๖๐๐ ปี   นี้ก็เสื่อมมากแล้ว แต่ไปตั้งหลักมั่นในลังกา
 
     พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทของเรา ที่มีมาถึงปัจจุบันนี้ ไทยเรารับมาจากสายลังกาอีกที
 
     เดิมนั้นรับสายพระเจ้าอโศกซึ่งเก่ามาก เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ที่พระเจ้าอโศกส่งศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา และตำนานว่าไปถึงสุวรรณภูมิ คือดินแดนแถบประเทศไทยของเราด้วย  แต่ยุคนั้นยังเป็นดินแดนทวาราวดี  นักประวัติศาสตร์ว่า คนไทยยังมาไม่ถึง
 
     พระพุทธศาสนายุคพระเจ้าอโศกที่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ ได้สืบต่อกันมานาน แต่ไม่ทราบเรื่องราวมากนัก
 
     จนกระทั่งมาถึงพุทธศาสนาของไทยแบบปัจจุบันนี้ ซึ่งเพิ่งเริ่มในสมัยสุโขทัย (ราว พ.ศ. ๑๘๐๐) ครั้งนั้นเรานำพระพุทธศาสนามาจากลังกา เพราะตอนนั้นลังกาเป็นที่มั่นของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท  ส่วนในอินเดียนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบของเราได้เสื่อมไปแล้ว
 
     ในอินเดียนั้น พอถึง พ.ศ. ๖๐๐ ก็เข้าสู่ยุคมหายานแล้ว พระพุทธศาสนาแบบมหายานเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ประมาณหลังจาก พ.ศ. ๕๐๐ เมื่อถึง พ.ศ. ๖๐๐ ก็ถือว่าเป็นมหายานชัดเจนแล้ว และเป็นยุคมหายานเรื่อยมา
 
     ดังได้เห็นแล้วว่า ถ้ำเหล่านี้มียุคเถรวาทอยู่แค่ถึงประมาณ พ.ศ. ๕๕๐ ต่อจากนั้นก็ขาดตอนไปเลย
 
     ทางฝ่ายมหายาน ตอนต้นไม่สนใจเรื่องถ้ำเหล่านี้หรืออย่างไรไม่ทราบ จึงได้ปล่อยไว้ตั้ง ๔๐๐ ปีแล้วต่อมาเกิดนึกอย่างไรไม่ทราบ ก็มาสร้างถ้ำเหล่านี้เพิ่มขึ้น
 
     ตอนที่เป็นถ้ำมหายานนี้  มีความวิจิตรพิสดารมากขึ้น เพราะตอนนี้ในด้านฝีมือและอุปกรณ์ต่างๆ ย่อมเก่งและพรั่งพร้อมมากขึ้นเป็นธรรมดา นอกจากนั้น อาจเป็นได้ว่าพระยุคแรกของเถรวาทยังโน้มน้อม ไปในทางความสงบ มีความวิเวก หลีกเร้นมากกว่า ต่อมา เมื่อถึงยุคมหายาน อาจจะมีการสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น มีการเกี่ยวข้องกับชาวบ้านมากขึ้น ตลอดจนมีความประสานกลมกลืนกับศาสนาฮินดูมากขึ้นๆ
 
     แม้ว่าที่อชันตา จะยังไม่มีถ้ำของฮินดู  แต่พอมาที่เอลโลรา  ก็มีถ้ำของฮินดูแล้วก็เชน
 
     ตอนนี้แหละ ที่อยากตั้งข้อสังเกตอีกหน่อยหนึ่ง ได้บอกแล้วว่า สำหรับพระในพระพุทธศาสนานั้น เรื่องการอยู่ถ้ำเป็นวิถีชีวิตของท่านเอง โดยเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในความเป็นอยู่ที่ว่า ถ้ำเป็นเสนาสนะ อย่างหนึ่งใน ๕ อย่างตามพระพุทธานุญาต
 
     แต่เป็นที่น่าประหลาดใจมากว่า ทำไมฮินดูจึงมาสร้างถ้ำเหล่านี้ขึ้น เพราะว่าฮินดูนั้นไม่มีเรื่องของการที่จะอยู่ถ้ำ  ไม่มีวิถีชีวิตแบบนี้ และไม่มีพระสงฆ์ที่จะมาอยู่ถ้ำ และเขาสร้างถ้ำขึ้นทำไม อันนี้เป็นปริศนาที่น่าพิจารณา
 
     พระนั้นสร้างวัดถ้ำเพราะตัวจะอยู่   แม้ญาติโยม  พระราชา  มหากษัตริย์  อำมาตย์มาสร้างก็เพื่อถวายให้พระอยู่   แต่ฮินดูมาสร้างทำไม   เมื่อมาสร้าง  มันก็กลายเป็นเทวาลัย  เป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นเทวสถาน  ไม่ใช่ที่อยู่ของคน ไม่เกี่ยวกับเรื่องของนักบวชหรือคนที่จะมาอยู่อาศัย นี่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าสร้างทำไม
 
     ในแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นได้ว่า เพื่อจะแข่งข่มพระพุทธศาสนา และแสดงความยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้  แต่ก็เป็นเพียงจุดสังเกตอย่างหนึ่ง
 
 
 
235 วัดถ้ำ พุทธก็มี ฮินดูก็ทำ เกิดจากเงื่อนงำ หรือสื่อความหมายอะไร
 

     แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ คติ ความแตกต่าง ที่ปรากฏอยู่ในถ้ำ เหล่านี้ระหว่างพระพุทธศาสนา กับศาสนาฮินดูและเชนด้วย ซึ่งแสดงไปถึงหลักการของตัวศาสนา อันนี้แหละเป็นข้อพิจารณา และมีอะไรแฝงอยู่ในนี้หลายอย่างทีเดียว
 
     เริ่มต้นก็คือ เราจะเห็นว่า ในการสร้างถ้ำเหล่านี้ศิลปกรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ เป็นเรื่องของคุณธรรม โดยเฉพาะประเภทที่เรียกกันว่า “มนุษยธรรม” เราสร้างถ้ำเหล่านี้และมีภาพพุทธประวัติ มีภาพนิทานชาดก เพื่อสั่งสอนคติธรรม
 
     คติธรรมเหล่านี้  มาจากนิทานชาดกเป็นต้น  เป็นเรื่องของการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอยู่กับป่ากับเขากับต้นไม้  อยู่กับสิงสาราสัตว์  นิทานชาดกเล่าเรื่องคติธรรม ที่แสดงถึงความอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลาย โดยเน้นในเรื่องให้มีเมตตากรุณาต่อกัน
 
     เช่นอย่างนิโครธมิคชาดก ที่เราพูดกันที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ก็ดูเหมือนจะมีในนี้ด้วย
 
     ชาดกนี้เล่าถึงความเสียสละของเนื้อโพธิสัตว์ที่ว่า ตอนนั้นพวกเนื้อในอุทยาน หาทางแก้ปัญหาไม่ให้เนื้อทั้งหลายต้องหวาดผวา  อยู่กันด้วยความเสียวสะดุ้งกลัวและการบาดเจ็บพิกลพิการ เพราะพระราชาเสด็จเข้ามาล่าเป็นประจำแทบทุกวัน  ก็เลยตกลงกันว่า จะยอมสละชีวิตให้แก่พระราชา โดยจัดวาระกันเข้ามา ยอมให้ถูกฆ่าวันละตัวๆ
 
     มาคราวหนึ่งก็ถึงวาระของแม่เนื้อลูกอ่อน หรือแม่กวางลูกอ่อน  กวางโพธิสัตว์ก็เลยสละชีวิต ขอเข้าไปแทนลำดับนั้น ให้แม่เนื้ออยู่เพื่อจะเลี้ยงลูกต่อไป
 
     เมื่อเรื่องไปถึงพระราชา ก็เป็นเหตุให้พระราชาแปลกใจ ก็เลยมีการสนทนากัน เนื้อโพธิสัตว์ก็ได้โอกาสแสดงธรรมแก่พระราชา ทำให้พระราชามีพระทัยเมตตากรุณา ก็เลยให้อภัยแก่เนื้อ ไม่ฆ่าอีกต่อไป
 
     เรื่องอย่างนี้แสดงถึงคติธรรมเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์   การมีคุณธรรมโดยเฉพาะเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย  และความเสียสละ ซึ่งเป็นคติของพระศาสนาที่ปรากฏอยู่มากมาย  ในคัมภีร์ชาดก เป็นต้น
 
     ทีนี้พอเรามาดูของฮินดูก็เห็นชัด ภาพของฮินดูก็คือเทพเจ้าต่างๆ ที่แผลงฤทธิ์ มีมือให้มากที่สุด  มีแขนให้มากที่สุด  มีฤทธิ์ให้มากที่สุด  มีอาวุธที่ร้ายแรงที่สุด  เอามาฆ่ากัน  เอามาปราบปรามสังหารศัตรู  ให้ความรู้สึกฮึกเหิมใจบ้าง  การปลอบใจอุ่นใจบ้าง และการที่จะสนองความต้องการของผู้เซ่นสรวงอ้อนวอน โดยมีลักษณะที่เด่น คือ
 
        ๑. เต็มไปด้วยเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์  เรื่องเหนือธรรมชาติ  ต่างจากพระพุทธศาสนา ที่อยู่กับความเป็นจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ เป็นเรื่องของมนุษย์และมนุษยธรรม
 
     ของฮินดูนั้น เป็นเรื่องอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า supernatural คือ เหนือธรรมชาติ เทวดานี่เก่ง ไม่อยู่ธรรมดา ไม่เป็นธรรมชาติ  มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย ให้มนุษย์ตื่นเต้นกับความพิลึกพิลั่นเหนือสภาพสามัญของชีวิตจริง  มองเลยข้ามเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไป  อยู่กับความฝัน และความหวังในอิทธิฤทธิ์และอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า  
 
        ๒. เนื่องกันกับข้อ ๑. ก็คือ ถ้ำพุทธโดยเฉพาะยุคเดิม แสดงวิถีชีวิตเรียบง่าย ที่อยู่ด้วยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ   แต่ถ้ำฮินดูเน้นทั้งความใหญ่โตโอ่อ่าของสถานที่และความยิ่งใหญ่ของเทวอำนาจ
 
        ๓. เต็มไปด้วยเรื่องของกิเลส  เทพเจ้าเหล่านั้น  มีโลภะมีโทสะมาก มาปราบกัน มาข่มกัน มาทำร้ายกัน แสดงความเก่งกล้าสามารถ ต่างจากพระพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องคุณธรรม ความดีงาม ความบริสุทธิ์ ความเมตตากรุณาที่จะช่วยเหลือกัน ความเสียสละ และการแก้ปัญหาด้วยปัญญา และความเพียรพยายามของมนุษย์
 
     โยมได้ดูได้เห็นมากับตาของตนเองแล้ว คิดว่าที่พูดนี้คงชัดเจนแก่ทุกท่าน อย่างชนิดที่ว่าเห็นเป็นภาพขึ้นมาเลย
 
     คติเหล่านี้แสดงความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนา กับ ศาสนาฮินดูว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ และเป็นเรื่องของการที่มนุษย์พยายามพัฒนาตนเองตามแนวทางของคุณธรรม พยายามฝึกฝนตนเอง  บำเพ็ญความเสียสละและช่วยเหลือกันเองในหมู่มนุษย์ด้วยคุณธรรม
 
     แต่ของฮินดูนั้นเป็นเรื่องของเทพเจ้า  การนับถือเทพเจ้าก็คือการหวังผลจากจากอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า  การหวังอำนาจดลบันดาลเทพเจ้าก็นำไปสู่ความเพ้อฝัน  ด้วยการรอคอยอำนาจดลบันดาลของท่าน  อะไรจะสำเร็จก็อยู่ที่เทพเจ้าบันดาลให้ตัวเองไม่ต้องคิดทำอะไร
 
     นอกจากจะรอเทพเจ้ามาบันดาลให้ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการฝันเพ้อไปแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยเทพนิยายน่าตื่นเต้น  เมื่อได้ฟังเรื่องราวของเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ว่า พระนารายณ์เก่งอย่างนั้น พระอิศวรเก่งอย่างนี้  ก็ทำให้ฮึกเหิม ครึ้มใจ หรือกรุ่มกริ่มอยู่ในใจ เป็นเครื่องปลอบใจ หรือกล่อมให้สบายใจอยู่กับความฝันหรือจินตนาการ
 
        ๑. ก็สบายใจ รู้สึกอุ่นใจ ว่าท่านจะมาช่วย ไม่ต้องรนขวนขวาย นอนรอความหวังไป
 
        ๒. ก็รู้สึกตื่นเต้นภูมิใจไปกับท่านว่า ท่านมีฤทธิ์ มีอำนาจ เก่ง ขนาดนี้ เราก็ครึ้มใจในความเก่งของท่าน  ช่วยให้มองข้ามหรือลืมปัญหา ที่บีบคั้นครอบงำอยู่เฉพาะหน้าไปได้ และหนุนให้อุ่นใจสบายใจ อยู่กับความฝันและความหวังได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือไม่ก็ฮึกเหิมไปเลย
 
     รวมแล้ว ในทางหนึ่งก็สบายใจ ไม่ต้องคิดขวนขวายอะไร ไม่ต้องดิ้นรน ก็ปลอบใจตัวเอง สบายไปทีหนึ่งๆ ดีเหมือนกัน หรือไม่อีกทางหนึ่งก็ฮึกเหิม  พร้อมที่จะทำอะไรๆ ตามความเชื่อถือและคำสั่งบัญชาหรือชี้นำ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสังเกต  แต่เป็นสภาพที่พระพุทธศาสนาพยายามแก้ไข
 






 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2567
0 comments
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2567 6:51:32 น.
Counter : 131 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space