กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
22 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ธรรมกับวินัยเสริมกัน


 
235 วินัยกันไว้ ไม่ให้เอาธรรมมาอ้างในทางที่ผิด
 

     วินัยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติตามธรรม  ถ้าไม่มีวินัยมาช่วยตรึงหรือกำกับ บางทีก็พาลจะเขวเข้าใจธรรมผิดไป  เช่น  บางคนบางท่านคิดว่า ธรรมสอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ  เราปฏิบัติธรรม ก็อยู่ง่ายๆ สบายๆ อย่างไรก็ได้
 
     แต่วินัยบอกว่า “อย่างไรก็ได้”  ไม่ได้  วินัยไม่ยอมเด็ดขาด  วินัยกำหนดแจกแจงออกไปเลยว่า พระภิกษุจะต้องปฏิบัติกิจอย่างนั้นๆ จะอยู่อย่างสบาย จะบอกฉันสบายแล้ว ปรับใจได้แล้ว วินัยไม่ยอม วินัยไม่เอาด้วย
 
     เพราะฉะนั้น วินัยที่เป็นรูปแบบจัดตั้งตามสมมตินี่แหละ เป็นตัวตรึง ที่ทำให้เรารู้ว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมอย่างแท้จริงเป็นอย่างไร  พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์อย่างไร อะไรเป็นมาตรฐาน ที่ทำให้บอกได้ว่า ชีวิตของพระอริยะคืออย่างไร
 
     พระอริยบุคคลที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในความหมายของธรรมนั้น  ไม่ใช่คนที่ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร เฉยๆ เฉื่อยๆ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น  แต่เป็นคนที่เอาเรื่องเอาราว  เอาจริงเอาจังอย่างยิ่งในความหมายของวินัย
 
     พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า  เธออยู่ง่ายๆ แต่อยู่ง่ายๆ ไม่ใช่มักง่ายนะ พระภิกษุนั้นมีไตรจีวร  คือจีวรแค่ ๓ ผืน นับว่าอยู่ง่ายแล้ว  เธอสามารถดำเนินชีวิตที่มีความสุขและบำเพ็ญกิจหน้าที่ ทั้งพัฒนาตนในไตรสิกขาและแผ่ธรรมแก่ประชาชนได้เต็มที่ โดยอาศัยเครื่องนุ่งห่มเพียงแค่จีวร ๓ ผืน
 
     คนมีไตรจีวรคือผ้าแค่ ๓ ผืนนั้น  มองดูว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น   ไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องวัตถุ ผ้านุ่งผ้าห่ม  นี่แหละตรงนี้ต้องจับเจตนารมณ์ของวินัยให้ได้
 
     พระภิกษุไม่ให้ความสำคัญแก่วัตถุ  มีผ้านุ่งห่มเป็นสมบัติแค่ ๓ ผืน ก็จริง  แต่เมื่อเธอรับเอาจีวร ๓ ผืนนี้ โดยสมมติคือตกลงยอมรับกันว่า เป็นของตนแล้ว ต้องรับผิดชอบ วินัยมากำกับทันที
 
     จีวร ๓ ผืนนี่ พระจะบอก โอ้ย ของสมมติเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วปล่อยปละละเลยไม่ได้  พระพุทธเจ้าบัญญัติว่า  ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้เพียงราตรีเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
 
     เมื่อตกลงกันแล้วว่า  เธอเป็นเจ้าของจีวรผืนนี้  เธอต้องรับผิดชอบแม้ราตรีเดียวก็ห่างจากความรับผิดชอบไม่ได้  (วินย.๒/๑๐)  จีวรที่กำหนดไว้ใช้ประจำแล้ว  ของใคร ผู้นั้นต้องใส่ใจรักษาให้ดี   ขาดเป็นช่องทะลุแม้เพียงเท่าหลังเล็บนิ้วก้อย  เรียกว่าขาดอธิษฐาน   ขืนปล่อยไว้ไม่ปะชุน   ไม่แก้ไข  เดี๋ยวก็มีความผิด  เป็นอาบัติ (วินย.อ.๒/๑๖๘) อย่างนี้เป็นต้น
 
     จะอ้างว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีทาง วินัยไม่ยอมให้
 
     วินัยเต็มไปด้วยเรื่องของความรับผิดชอบ  พระต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อชีวิตตนเอง  ต่อสังคม  ต่อชุมชนของตัวเอง  ภิกษุเอาของสงฆ์ไปใช้  ถ้าไม่เก็บไว้ที่ ต้องอาบัติ อะไรต่ออะไรดูหยุมหยิมไปหมด
 
     แต่มันส่งผลกลับมาเสริมธรรม   มันเป็นเครื่องแสดงในเชิงรูปแบบ  ให้เห็นชัดเจนว่า การปฏิบัติที่สอดคล้องถูกต้องตามธรรมอย่างแท้จริง   เป็นอย่างไร   ทำให้เห็นความสอดคล้องกลมกลืนว่า  พระภิกษุผู้เข้าถึงธรรม หรือฝึกฝนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรม  เป็นผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น   จึงไม่มีอะไรที่จะทำเพื่อตนเอง  จึงทำเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ หรือแก่มวลมนุษย์ได้เต็มที่ ท่านจึงทำจริงทำจังได้ตามวินัย เพราะไม่มีความยึดมั่นในประโยชน์ส่วนตัว   ก็จึงปฏิบัติตามวินัยที่วางไว้เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมได้ด้วยความเต็มใจ  นี่คือผลย้อนกลับที่มาเสริม
 
     ถ้าปฏิบัติธรรมถูกต้องแล้ว  จะกลายเป็นคนที่สามารถปฏิบัติตามวินัยได้จริงจังด้วย  ธรรม กับ วินัย นี้เป็นตัวดุลกันไว้และส่งเสริมกัน
 
     คนที่ถึงธรรมแล้ว จะปฏิบัติตามวินัยได้เต็มที่  และวินัยก็เป็นกรอบกันไว้  ไม่ให้ปฏิบัติธรรมเขว  มิฉะนั้น  เดี๋ยวจะกลายเป็นอย่างที่พูดเมื่อกี้ ว่า  เอ้อ  เราปฏิบัติธรรม เราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ปล่อยตามเรื่องตามราว  อะไรจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน นี่แหละ วินัยกันไว้เลย ไม่มีทางเป็นไปได้
 
     มีตัวอย่างหนึ่ง ในกรุงเทพฯ นี้เอง นานแล้ว มีโยมมาเล่าให้ฟังว่า ที่วัดหนึ่งมีพระอายุมากแล้ว คงสัก ๗๐ ได้ ท่านให้ผู้หญิงสาวๆ นวด  บอกว่าไม่มีกิเลสแล้ว  ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำอะไรก็ไม่เป็นไร  คงมีหลายคนเชื่อ (แม้แต่ตัวเองก็อาจจะเชื่ออย่างนั้นด้วยโมหะ)
 
     นี่วินัยไม่ยอมแล้ว  นี่ถ้าไม่มีวินัยไว้กัน  พวกที่จะอ้างแบบนี้มีเยอะเลย  ทำอย่างไรก็ได้ไม่ยึดมั่นอะไรทั้งนั้น  แต่วินัยเป็นตัวกันไว้เสร็จ ไม่มีทาง และคติพระอรหันต์ก็เสริมและสอดคล้องกับวินัย
 
 


Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2567 10:16:34 น. 0 comments
Counter : 145 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space