 |
|
|
|
 |
|
หลังพุทธกาล คามวาสี-อรัญญวาสี จึงมี |
|
หลังพุทธกาลนานนักหนา คามวาสี-อรัญญวาสี จึงมีขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าคิดอย่างหนึ่ง คือว่า เมื่อกาลผ่านมา พระที่แสวงวิเวก ชอบอยู่ในที่สงบหลีกเร้น อยู่ป่า อยู่ถ้ำนี่ ก็มีจำนวนมาก ในขณะที่พระอีกไม่น้อยก็อยู่แต่ในวัดที่อยู่ในเมืองหรือในชุมชนในหมู่บ้าน การหมุนเวียนถ่ายเทระหว่างความเป็นอยู่ ๒ แบบนี้ ที่เปลี่ยนสลับไปในวิถีแห่งการฝึกตนและการบำเพ็ญกิจ หรือตามสมัครใจ (เช่น ถือธุดงค์ข้ออารัญญิกังคะ คืออยู่ป่าในระยะสั้นหรือยาว หรือตลอดชีวิต ก็ได้) อย่างในสมัยพุทธกาล คงลดลงไปๆ สภาพนี้ดำเนินมาจนกระทั่งว่า พระในพระพุทธศาสนายุคหลัง พุทธกาลมาถึงลังกาค่อยๆ แบ่งเป็นสองฝ่ายชัดขึ้นๆ จนมีคำเรียกแยกกัน ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าพระคามวาสีอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าพระอรัญญวาสี ในพุทธกาล และในสมัยแห่งพระไตรปิฎก คำว่า คามวาสีและอรัญญวาสียังไม่มี แม้แต่ในยุคคัมภีร์มิลินทปัญหา ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ คำว่า คามวาสีและอรัญญวาสีก็ยังไม่ปรากฏ แม้กระทั่งในยุคอรรถกถา คือใกล้ พ.ศ. ๑๐๐๐ เมื่อคำทั้งสองนี้ เกิดขึ้นแล้ว คามวาสีและอรัญญวาสีก็ยังเป็นถ้อยคำที่ใช้ในความหมาย ค่อนข้างเป็นสามัญ คือ เพียงแต่บอกว่าเป็นผู้เกิดอยู่ อาศัยอยู่ มักจะอยู่ หรือเวลานั้นอยู่ ในบ้าน หรือในป่า และใช้กับใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือชาวบ้าน หรือแม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ยกตัวอย่าง เช่น คามวาสิกตฺเถร (วิสุทธิ. ๑/๑๒๐) คามวาสี ปุริโส (ม.อ. ๑/๘๑) คามวาสิกมนุสฺส (วินย.อ.๑/๒๕๘) คามวาสินี มิคโปติกา (ชา.อ.๑/๒๓๔) อรญฺญวาสิตฺเถร (สํ.อ.๒/๓๐๐) อรญฺญวาสิโน ภิกฺขู (วินย.๒/๑๖๖) อรญฺญวาสี (ตาปส - เถร.อ.๑/๘๗) อรญฺญวาสิโน ทุพฺพลมนุสฺสา (ม.อ.๒/๑๔๔) อรญฺญวาสึ ติรจฺฉานคตํ (ชา.อ.๗/๓๓๐) อรญฺญวาสี ปพพเตยฺยมิโค (ชา.อ.๑/๒๓๔) พูดง่ายๆ ว่า พระยังไม่แบ่งหรือแยกกันออกไป และมิได้เป็นศัพท์เฉพาะ พระคามวาสี คือ พระอยู่วัดใกล้บ้าน วัดกลางหมู่บ้าน และวัดกลางเมือง ส่วนพระอรัญญวาสีคือพระที่อยู่ป่า ทั้งถ้อยคำและคติการถือนี้ เกิดหลังพุทธกาลนานมาก ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงหลังพุทธกาล ประมาณ ๑ พันปียังไม่มีการแบ่ง ในสมัยพุทธกาลถือว่า พระบวชเข้ามาแล้วก็มีชีวีตแห่งการฝึกฝนพัฒนาตน ย่อมต้องการที่สงัด เพื่อจะได้ฝึกฝนตนเอง ด้วยการบำเพ็ญ จิตตภาวนา เป็นต้น ได้เต็มที่ จึงไปอยู่ป่าเป็นครั้งคราว หรืออยู่ประจำในระยะแรกแล้ว พอมีความสามารถก็ออกมา และเข้ามาอยู่ใกลๆ พระพุทธเจ้า และอยู่กับพระสาวกผู้ใหญ่ บำเพ็ญศาสนกิจเกี่ยวข้องกับประชาชน ชีวิตก็ปะปนกันไป เรื่องอยู่บ้านอยู่ป่าจึงไม่ได้แยกเด็ดขาด แม้แต่บางท่านที่ถือธุดงค์เคร่งครัด อย่างพระมหากัสสปะ ซึ่งถือธุดงค์ข้ออยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต ก็มีช่วงระยะที่อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ส่วนบางองค์ถืออยู่ป่าเป็นธุดงค์เหมือนกัน แต่ถืออยู่แค่สามเดือน เจ็ด เดือน ปีหนึ่ง สองปี ก็ได้ ท่านไม่ได้ห้าม เพราะพระพุทธศาสนามีลักษณะยืดหยุ่นมาก เป็นอันว่า ในยุคพุทธกาล การอยู่ป่าอยู่เขา มีความยืดหยุ่นและหลากหลายมาก ต่อมาหลังพุทธกาล การมีชีวิตแบบชำนาญพิเศษก็ค่อยๆ เกิดขึ้น อาจจะเกิดจากเรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระสงฆ์ก็มีภาระเพิ่มขึ้นในการรักษาพระศาสนา เพราะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าดำรงอยู่นั้น ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้แสดงธรรมวินัยเอง จึงทรงเป็นมาตรฐานที่ จะวัดความถูกต้องของธรรมวินัย ความเชื่อ คำสั่งสอน และการประพฤติปฏิบัติทั้งหมด แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์ก็มีหน้าที่สำคัญเพิ่ม เข้ามา คือการทรงจำพระธรรมวินัย รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อจะรักษาคำสอน ก็ต้องมีการเล่าเรียน การเล่าเรียนคำสอนสืบทอดกันมา กลายเป็นศาสนกิจใหญ่ที่สำคัญมาก และหลังพุทธกาลแล้ว ได้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ต่อมาก็จัดรวมเป็นพระไตรปิฎก มีพระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม อย่างที่นำมาพิมพ์ในเมืองไทยได้ตั้ง ๔๕ เล่ม มากมายเหลือเกิน นับแต่มีการสังคายนามา พระก็มีภาระในการทรงจำมากขึ้น เมื่อมีการทรงจำ ก็ต้องมีครูอาจารย์ที่เป็นหัวหน้า และมีการเล่าเรียน พระสงฆ์ก็แบ่งหน้าที่การงานกัน เช่น พระชุดนี้กลุ่มนี้ รักษาคำสอนส่วนนี้ เช่น ในพระสูตร พระกลุ่มนี้รักษาทีฆนิกาย พระกลุ่มนี้รักษา มัชฌิมนิกาย พระกลุ่มนี้รักษานิกายอื่นๆ ว่ากันมา ต่อมาก็เลยทำให้มีความชำนาญพิเศษ และแบ่งกันเป็นกลุ่ม มีหัวหน้าทรงจำและอธิบายคำสอน ทีนี้การเล่าเรียนปริยัติก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ พระจำนวนหนึ่งก็เลยกลายเป็นพระที่มีหน้าที่ในด้านการเล่าเรียนสั่งสอนคัมภีร์ เมื่อมีภาระหน้าที่ในการเล่าเรียน ก็จะต้องอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน รวมตัวกัน ก็เลยมีศัพท์ที่เรียกว่า คันถธุระขึ้นมา คันถธุระ ก็คือธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์ คันถ แปลว่า คัมภีร์ ธุระ แปลว่า ธุระ ในการเล่าเรียนพระคัมภีร์นั้น พระที่อยู่ในฝ่ายคันถธุระ มักจะเป็นพระคามวาสีอยู่วัดในบ้านในเมือง ส่วนพระอีกพวกหนึ่ง มุ่งในการปฏิบัติกรรมฐาน ก็ออกไปอยู่ป่า หาวิเวก เพราะว่าการปฏิบัติในเรื่องกรรมฐานนั้น เหมาะที่จะอยู่ในที่สงัด หลีกเร้น ค่อนข้างจะปลีกตัว ก็เลยเกิดมีธุระอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนาธุระ คือธุระในการเจริญวิปัสสนา (แต่ในที่นี้ก็รวมไปถึงการปฏิบัติในแนวทางนี้ทั้งหมด ตั้งแต่สมถะเป็นต้นไปด้วย เพราะวิปัสสนาถือเป็นจุดยอด) เมื่อขวนขวายในวิปัสสนาธุระ ไปอยู่ป่า ก็เลยเป็น อรัญญวาสี จึงกลายเป็นว่า ในเรื่องของภาระการงาน ก็แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ คันถธุระ ธุระในการเล่าเรียนพระคัมภีร์ และวิปัสสนาธุระ คือธุระในการบำเพ็ญกรรมฐาน โดยเฉพาะวิปัสสนา ส่วนในด้านตัวพระภิกษุ ก็แบ่งเป็น ๒ พวก คือ พระคามวาสีอยู่วัดในบ้านในเมือง และพระอรัญญวาสีอยู่ป่า พระที่อยู่ถ้ำก็เป็นประเภทเดียวกับพระอยู่ป่า ในแง่ที่ว่าเป็นผู้หลีกเร้นแสวงหาความสงบ อย่างที่ว่าแล้ว ในยุคอรรถกถา จวน พ.ศ. ๑๐๐๐ มีคามวาสี และอรัญญวาสี เพียงในความหมายที่เป็นถ้อยคำสามัญ ยังไม่มีการแบ่ง คลายเป็นฝ่าย แต่ในลังกาต่อนั้นมาไม่นาน ความเป็นอยู่ของพระ ทัศนคติของคน และความหมายของถ้อยคำ ก็ค่อยๆ จับตัวแน่นชัดขึ้นๆ จนกลายเป็นว่ามีพระ ๒ ฝ่ายในลังกาทวีป พระนักปราชญ์ของศรีลังกา นามว่าท่านราหุล (Walpola Rahula) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ History of Buddhism in Ceylon (1956) ว่ามีหลักฐานกล่าวถึงพระอรัญญวาสี ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๖ แห่ง คริสต์ศก (ราว พ.ศ. ๑๑๐๐) เป็นต้นมา แต่ที่นับว่ามีพระ ๒ ฝ่ายนี้ชัดแล้ว ก็คือในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (ค.ศ. 1153-1186/พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙) ผู้ทรงฟื้นฟูการพระศาสนาครั้งใหญ่ ได้รวมพระสงฆ์ลังกา ๓ นิกายเข้าเป็นอันเดียว แต่มีวิถีชีวิตที่ต่างกันเป็น ๒ แบบชัดขึ้นแล้ว ครั้งนั้น พระพุทธศาสนาใน ลังกาทวีปมีกิตติศัพท์ขจรขจายออกไปในต่างแดนกว้างไกล ดังทราบกันดีในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย ได้ทรงรับพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์ลังกาวงศ์ อันสืบเนื่องจากสมัยแห่งพระเจ้าปรักกมพาหุ นี้เข้ามา ดังที่เป็นพระพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบ คือ คามวาสี และอรัญญวาสี ก็เข้ามาจากศรีลังกาสู่ประเทศไทยด้วยพร้อมนั้น และสืบสายประเพณีต่อมาจนบัดนี้
Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2567 10:57:13 น. |
|
1 comments
|
Counter : 451 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: teawpretty วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา:13:20:48 น. |
|
|
|
|
|
 |
|
|
|