กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
มกราคม 2567
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
31 มกราคม 2567
space
space
space

อโศกธรรม หรือ คหัฐวินัย



235 อโศกธรรม หรือคหัฐวินัย


     หลักธรรมที่ตรัสสอน หรือ แสดงสําหรับสังคมคฤหัสถ์นี้  ไม่ว่าจะเป็นองค์จักรพรรดิราช หัวหน้าหมู่ชน หรือ หัวหน้าครอบครัวทั่วไป  รวมทั้งพระโพธิสัตว์มีระดับ และลักษณะที่พึงสังเกต ดังนี้

       ก) โดยทั่วไป  กล่าวถึงประเภทของบคคลที่พึงช่วยเหลือเกื้อกูลหรือปฏิบัติในการสัมพันธัต่อกันให้ถูกต้อง เช่น มารดาบิดา คนงาน  ฯลฯ  ไม่ค่อยกล่าวถึงหัวข้อธรรม หรือหลักที่เป็นนามธรรม

       ข) หลักการทางธรรม วิธีปฏิบัติ และจุดหมายของการปฏิบัติอยู่ในขอบเขตแห่งบุญ ทาน และการลุถึงสวรรค์  (รวมทั้งพรหมโลก)

     ขอยกคําสอนระดับนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่ง ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลเกี่ยวกับการเป็นอยู่ครอบครองทรัพย์สมบัติของคฤหบดีว่า

       ดูกรมหาบพิตร ในถิ่นของอมนุษย์ มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส  เย็น จืดสนิท สะอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์  (แต่) น้ำนั้นคนจะตักเอาไปก็ไม่ได้  จะดื่มก็ไม่ได้  จะอาบก็ไม่ได้ หรือจะทําการใดตามต้องการก็ไม่ได้  มหาบพิตร  เมื่อเป็นเช่นนี้  น้ำที่มิได้กินใช้โดยชอบนั้น พึงถึงความหมดสิ้นไปเปล่า  โดยไม่ถึงการบริโภคแม้ฉันใด

       ดูกรมหาบพิตร  อสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทําตนให้เป็นสุข ฯลฯ โภคะเหล่านั้นของเขา อันมิได้กิน ใช้โดยชอบ ย่อมถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค ฉันนั้นเหมือนกัน

       ดูกรมหาบพิตร  ส่วนสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว  ย่อมทําตนให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมทํามารดาบิดา… บุตรภรรยา…คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน…มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการให้เป็นสุขให้เอิบอิ่ม   ย่อมประดิษฐานไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งทักษิณาอันมีผลสูงขึ้นไป มีจุดที่คํานึงหมายอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์

       โภคะเหล่านั้นของเขา ที่บริโภคอยู่โดยชอบอย่างนี้ ราชาทั้งหลายก็มิได้ริบเอาไป โจรทั้งหลายก็มิได้ลักไป ไฟก็มิได้ไหม้หมดไป น้ำก็มิได้พัดพาไป อัปริยทายาททั้งหลายก็มิได้ขนเอาไป เมื่อเป็นเช่นนี้  โภคะเหล่านั้นของเขา ที่กินใช้อยู่โดยชอบ  ย่อมถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า

       ดูกรมหาบพิตร เหมือนดังว่า ในที่ไม่ไกลคามหรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สะอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์  น้ำนั้นคนจะตักเอาไปก็ได้  จะดื่มก็ได็ จะอาบก็ได้ หรือจะทําการใดตามต้องการก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้  น้ำที่กินใช้อยู่โดยชอบนั้น พึงถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า แม้ฉันใด สัตบุรุษได้ โภคะอันโอฬารแล่ว  ย่อมทําตนให้เป็นสุข ฯลฯ ฉันนั้น เหมือนกัน

     พระผู้มีพระภาคองค์พระสุคตศาสดา ครั้นตรัส ไวยากรณ์ภาษิตนี้จบแล้วได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

       น้ำมีในถิ่นที่ของอมนุษย์  คนย่อมอดน้ำนั้น  อันจะดื่มมิได้ คนทรามได้ทรัพย์แล้ว ตนเองก็ไม่บริโภค  ทั้งก็ไม่ให้ปันแก่ใคร ฉันใดก็ฉันนั้น  ส่วนวิญญูชน  มีปัญญา ได้โภคะแล้ว ย่อมบริโภค และใช้ทํากิจการ  เลี้ยงดูหมู่ญาติ เป็นคนอาจหาญ  ใครก็ไม่ติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ ฯ (สํ.ส.๑๕/๓๘๗)


     พระโพธิสัตว์ก็มีจริยาแห่งการประพฤติธรรมทํานองเดียวกันนี้ ดังมีพุทธดํารัสว่า

       ภิกษุทั้งหลาย  ตถาคต  ในปุริมชาติ  ในปุริมภพ  ในถิ่นกําเนิดก่อน   เมื่อเป็นมนุษย์ในบุพสมัย  เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย  ถือปฏิบัติไม่ถอยหลัง ในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการแจกจ่ายบําเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติชอบต่อมารดา ในการปฏิบัติชอบต่อบิดา ในการปฏิบัติชอบต่อสมณะ ในการปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมอันเป็นอธิกุศลอย่างอื่นๆ เพราะกรรมนั้น อันได้ทํา ได้สั่งสม ได้พอกพูน  เป็นกรรมอันไพบูลย์เบื้องหน้าแต่กายแตกทําลายตายไป ตถาคตก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ … (ที.ปา.๑๑/๑๓๑)


     ความเป็นคนดี ที่มีคําเรียกว่า “สัตบุรุษ” มีความหมายสัมพันธ์ กับความดีงามและประโยชน์สุขของตระกูลวงศ์และชุมชนหรือหมู่ชน ดังพุทธพจน์ว่า

       ภิกษุทั้งหลาย คนดี (สัตบุรุษ) เกิดมาในหมู่ชน*  ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจํานวนมาก (คือ) ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อความสุขแก่มารดาบิดา...แก่บุตรภรรยา...แก่คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน ... แก่มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการ ... แก่สมณพราหมณ์  เปรียบเหมือนมหาเมฆ  ช่วยให้ข้าวกล่าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจํานวนมาก... (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๔๒)


     อีกพระสูตรหนึ่ง (องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๒๘) เนื้อความเหมือนกับพระสูตรข้างบนนี้ แต่มีบุคคลที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มเข้ามา ๓ พวก คือ  “แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ...แก่พระราชา...แก่เทวดาทั้งหลาย...”

     พระสูตรที่แสดงธรรมสําหรับสังคมคฤหัสถ์อย่างนี้ มีมากพอสมควร แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านี้คิดว่าเพียงพอแล้ว เพราะสาระก็ทํานองเดียวกัน

    สาระนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดี ในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม โดยเอาใจใส่ดูแลคนอื่นที่ตนเกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติดีทําหน้าที่ต่อกัน ทําประโยชน์แก่กัน ไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติ แต่นําออกมาใช้ประโยชน์ด้วยทาน คือ เผื่อแผ่ให้ปัน ในการบํารุงเลี้ยงช่วยเหลือกัน ตามวิธีปฏิบัติข้างต้นนั้น นําชีวิตไปในทางแห่งสวรรค์

    รวมทั้งข้อเน้นที่จะให้ผลดีเกิดขึ้นเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ตามคติอิธโลก-ปรโลก ซึ่งพบได้ทั่วในพระไตรปิฎก

    หลักธรรมสําหรับสังคมคฤหัสถ์ตามคําสอนในพระไตรปิฎกที่ว่ามานี้เอง คือแหล่งแห่งธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสอนในศิลาจารึกของพระองค์ที่บางท่านเรียกว่าอโศกธรรม

     พระสูตรใหญ่ที่เหมือนกับประมวลธรรมสําหรับชีวิตและสังคมคฤหัสถ์ไว้ ก็คือสิงคาลกสูตร (บางทีเรียกว่า สิคาโลวาทสูตร, ที.ปา.๑๑/ ๑๗๒) ที่ท่านให้ถือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย)

     แม้จะตรัสธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติไว้หลายด้าน  แต่หลักใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของพระสูตรนั้น ก็คือหลักทิศ ๖ ที่รู้จักกันดีอันแสดงธรรม หรือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ระหว่างมารดาบิดา-บุตรธิดา อาจารย์-ศิษย์ สามี- ภรรยา มิตร-มิตร นายงาน-คนงาน สมณพราหมณ์-กุลบุตร (พระสงฆ์-ชาวบ้าน)

     ในสิงคาลกสูตร นี้ตลอดทั้งหมด ก็เช่นเดียวกับพระสูตรทั้งหลาย ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างบนนั้น  ไม่กล่าวถึงหลักธรรมสําคัญอย่างอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ฌาน นิพพาน ใดๆ ที่พวกนักปราชญ์ฝรั่งและอินเดีย หลายท่านนั้นคาดหวังเลย แม้แต่ศีล ๕ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อออกมาใน สิงคาลกสูตร  นี่คือเรื่องธรรมดาที่พึงเข้าใจ

     ชื่อเรียกนั้นเป็นสื่อสําหรับลัดความเข้าใจ คนที่รู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว พอออกชื่อมา เขาก็มองเห็นเนื้อหาทะลุตลอดหมด ไม่ต้องมาแจกแจงกันอีก ชื่อเรียกหลักธรรมต่างๆ จึงมีไว้ใช้ให้สะดวกสําหรับการสอน และการศึกษายิ่งขึ้นไป จุดสําคัญอยู่ที่เอ่ยชื่อให้ตรงกับสภาวะที่จะสื่อ ไม่ใช่เรื่องสําหรับมายึดว่าเป็นของใครๆ

     ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนคฤหัสถ์หรือคนนอก  ที่ชื่อเรียกจะไม่ช่วยในการสื่อแก่เขา  พระองค์ก็ตรัสเนื้อหาของธรรมนั้นๆไป แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อย การที่คนผู้มาอ่านทีหลังไม่พบชื่อของธรรมนั้นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ว่าแล้ว

     แม้แต่ในจักกวัตติสูตร ที่เป็นแหล่งหลักของธรรมวิชัย และคติจักกวัตติราชานี้เอง ในตอนเดินเรื่อง ถึงจะกล่าวเนื้อหาของศีล ๕ แต่ก็ไม่ออกชื่อ (ชื่อ กุสลกรรมบถ-อกุสลกรรมบถ ก็เอ่ยเฉพาะตอนที่ตรัสแบบสรุปความแก่พระสงฆ์)

    ในข้อปฏิบัติขององค์พระจักรพรรดิธรรมราชา ก็เน้นที่การคุ้มครองประชาราษฎร์คือเน้นที่คน โดยจําแนกเป็นหมู่เหล่าต่างๆ ๘ พวก

    ถึงตรงนี้ก็เลยขอแทรกข้อควรทราบจากจักกวัตติสูตร  ที่ว่าชื่อซ้ำกันอีกสูตรหนึ่ง (องฺ.ติก.๒๐/๔๕๓) ว่า พระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ มีคําเรียกพระนามที่ตรงกันว่าทรงเป็น “ธรรมราชา”  ซึ่งมีความหมายตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้  ๒ ชั้น คือ เป็น “ราชาผู้ทรงธรรม” และ  “ผู้มีธรรมเป็นราชา”

     สําหรับความหมายแรกนั้นชัดอยู่แล้ว แต่ความหมายที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า “ธรรม” เป็นราชาของพระองค์ และของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเคารพธรรม ยึดธรรมเป็นหลักนํา ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย

     แต่พร้อมนั้นก็ตรัสแสดง  แง่ที่ต่าง ระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าจักรพรรดิด้วย ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตที่สําคัญ  กล่าวคือ พระเจ้าจักรพรรดิจัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรม แก่ ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ  (ทรงจําแนกไว้ ๘ ประเภท  คือ  อันโตชน  ขัตติยะ  อนุยนต์ พลกาย พราหมณคหบดี  ชาวนิคมชนบท  สมณพราหมณ์  มิคปักษี) ยังจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งคนสัตว์ที่มุ่งร้ายใดๆ ไม่อาจทําให้หมุนกลับได้   แต่

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรม ให้แก่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยให้รู้ว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างไหนควรเสพ อย่างไหนไม่ควรเสพ ยังธรรมจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งสมณะ พราหมณ์  เทพ  มาร  พรหม หรือใครก็ตามในโลก ไม่อาจทําให้หมุนกลับได้ *


         
แม้ในการบรรยายความเสื่อมของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่ยืดยาวของจักกวัตติสูตรแรก  ท่านก็แสดงภาวะเสื่อมโทรมนั้นโดยชี้ถึงการที่มนุษย์ไม่ดูแลรับผิดชอบทําหน้าที่ต่อกัน ขอให้ดูตัวอย่างสักตอน

       ภิกษุทั้งหลาย  จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ  ๑๐ ปี  เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิง มีอายุ  ๕ ขวบ จักอาจมีสามี … 

       ภิกษุทั้งหลาย   เมื่อมนุษย์  มีอายุ  ๑๐ ปี คนทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อมารดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อบิดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณะ  ไม่ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล

       อีกทั้งเขาเหล่านั้นก็จักได้รับการยกย่องเชิดชูและได้รับการสรรเสริญ เหมือนดังที่คนผู้ปฏิบัติชอบต่อมารดา ปฏิบัติชอบต่อบิดา ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการยกย่องเชิดชูและได้รับการสรรเสริญ ในบัดนี้

       ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี  เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยําเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยาของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกัน เหมือนดังแพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย   เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี  สัตว์เหล่านั้น ต่างก็จักผูกความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย  ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน 

       มารดากับบุตรก็ดี   บุตรกับมารดาก็ดี  บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี  พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี  น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี   จักมีความแค้นเคืองพลุ่งขึ้นมา  มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า  เสมือนนายพรานเนื้อ เห็นเนื้อเข้าแล้ว เกิดความอาฆาตพลุ่งขึ้น มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้า ฉะนั้น (ที.ปา.๑๑/๔๖)
 


Create Date : 31 มกราคม 2567
Last Update : 31 มกราคม 2567 12:15:53 น. 0 comments
Counter : 282 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space