 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
|
วัชชีสูญอํานาจ - มคธขึ้นเป็นศูนย์อํานาจ
เท่าที่พูดมานี้เป็นการเล่าอย่างคร่าวๆ แต่อยากจะให้ข้อสังเกตอีกนิดหน่อย คือ เรื่องความเจริญของแคว้นมคธที่เกี่ยวข้อง กับ แคว้นวัชชีเพราะมความสัมพันธ์กับเรื่องของเมืองที่เราเดินทางมาถึงขณะนี้คือเมืองปัตนะ
เมือง ปัตนะ นี้ชื่อเดิมคือเมืองปาฏลีบุตร ซึ่งได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นที่ตั้งของวัดอโศการามที่เรานั่งอยู่ ซึ่งเป็นที่ทําสังคายนาครั้งที่ ๓ ดังได้กล่าวแล้ว
เมือง ปาตลีบุตร (บางทีเขียนปาฏลีบุตร) มีเรื่องที่น่าสนใจเชื่อมโยงกับพุทธกาลนิดหน่อย คือในสมัยพุทธกาลนั้น เมืองปาฏลีบุตรเพิ่งจะเริ่มก่อสร้างในตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน
อาณาจักรมคธในสมัยพุทธกาลมีเมืองหลวงชื่อว่าเมืองราชคฤห์ ซึ่งเราจะไปในวันสองวันนี้ ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงเดิมของแคว้นมคธในสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ และพระพุทธเจ้าก็ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เมืองราชคฤห์ก็ได้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่ทําสังคายนาครั้งที่ ๑
สังคายนาครั้งที่ ๑ ทําที่ราชคฤห์ เมืองหลวงเก่า ต่อมาสังคายนาครั้งที่ ๓ ทําที่เมืองปาฏลีบุตร เมืองหลวงใหม่แห่งนี้จึงขอให้ลองเชื่อมโยงเรื่องราวดู
เมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ซึ่งเริ่มในสมัยของพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร คือ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์ที่เมืองราชคฤห์นั่นแหละจนถึงปลายพุทธกาลจึงมีเรื่องราวของเมืองปาฏลีบุตรนี้เกิดขึ้น ดังที่ท่านเล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตร
ตอนนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินในหนทางที่จะไปสู่เมืองที่จะปรินิพพาน คือ เมืองกุสินารา และตอนที่เสด็จผ่านมาที่นี่ เมืองปาตลีบุตรมีชื่อว่าปาตลิคาม คือยังเป็นหมู่บ้านปาตลิยังไม่ได้เป็นเมือง
เวลานั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังต้องการจะรุกรานแคว้นวัชชีเนื่องจากพระองค์มีปัญหากับแคว้นวัชชี ก็ต้องสร้างความเข็มแข็งในชายแดน พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้ทรงดําเนินการสร้างปาตลิคาม คือหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้น ให้เป็นเมืองป้อม หรือเมืองหน้าด่าน เพื่อจะสู้รบกับแคว้นวัชชีนี่คือ กําเนิดของเมืองปาฏลีบุตร
พระเจ้าอชาตศัตรูได้มอบหมายให้มหาอำมาตย์ ๒ ท่าน ชื่อ สุนีธะ กับ วัสสการะ มาดำเนินการสร้างเมืองนี้
ในช่วงระยะที่กำลังสร้างเมืองนี้อยู่ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมา และพระองค์ได้เสด็จผ่านไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพระองค์เสด็จผ่านประตูเมือง เขาก็เรียกประตูเมืองนั้นว่า โคตมทวาร พระองค์เสด็จลงแม่น้ำที่ท่าน้ำใด เขาก็เรียกท่าน้ำนั้นว่า โคตมติตถะ
พระพุทธเจาได้ทรงทำนายไว้ว่า ปาฏลีบุตรที่สร้างขึ้นใหม่เป็นเมืองหน้าด่านนี้ ต่อไปจะเจริญรุ่งเรือง แต่ก็จะมีความพินาศด้วยภัย ๓ ประการ คือ ภัยจากไฟ จากน้ำ และจากความแตกสามัคคี
นี้เป็นเหตุการณ์ในพุทธกาลที่ต่อเนื่องมา ซึ่งทําให้เราได้เห็นกําเนิดของเมืองปาฏลีบุตร การที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธมาสร้างเมืองหน้าด่านนี้ขึ้นเพื่อสู้กับวัชชีก็เพราะถิ่นนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สําคัญ และพวกวัชชี หรือกษัตรย์ลิจฉวีกีมีปัญหากับแคว้นมคธ โดยเฉพาะพระเจ้าอชาตศัตรูมาตลอด
มีเรื่องเล่ามาว่า บนฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งยาวออกไปไกล มีดินแดนอยู่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างฝ่ายมคธกับฝ่ายวัชชี ที่ภูเขาหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำนี้ มีพืชอะไรชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่า มีกลิ่นหอมมาก และเมื่อถึงวาระที่น้ำฝนชะลงมา ก็พาเอากลิ่นหอมนี้ลงมาในแมน้ำ จึงเป็นที่ๆมีชีอเสียงอย่างมาก
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมยกพลมา เพื่อจะเอาพืชที่มีกลิ่นหอมนี้ แต่พวกวัชชีก็มาชิงตัดหน้าเอาไปก่อน พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาอีกทีไร พวกวัชชีก็มาตัดหน้าเอาไปทุกทีจึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทําให้พระเจ้าอชาตศัตรูพิโรธโกรธแค้นมาก
ความคิดที่อยากจะห้ำหั่นพวกวัชชีนั้นมีอยู่เรื่อยมา เป็นเรื่องของการแย่งชิงอํานาจ และความหวาดกลัว เพราะพวกวัชชีนั้นเป็นระบบอํานาจแบบเก่า มีการปกครองแบบเดิม เมื่อมีความเข้มแข็ง ก็จะเป็นภัยคุกคามต่อมคธ
เป็นธรรมดาที่ว่าคนที่หวังอํานาจก็จะต้องพยายามรุกราน หรือ ปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งลงไปให้ได้ เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน และบั่นทอนกำลังของฝ้ายตรงข้ามจึงเกิดเป็นสภาพเหตุ การณ์ในสมัยก่อนจะสิ้นพุทธกาลและต่อจากสิ้นพุทธกาลใหม่ๆ
เรื่องการพิพาทกันระหว่างแคว้นวัชชี กับ มคธปรากฏอยู่ในพุทธประวัติดังจะเห็นได้จากเรื่อง อปริหานิยธรรม
พระเจ้าอชาตศัตรูเคยส่งวัสสการพราหมณ์ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้ลองไปหยั่งดูว่า ถ้าพระองค์จะยกทัพไปปราบวัชชีพระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร วัสสการพราหมณ์ได้เข้าไปทูลทํานองว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพระดําริจะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไรโดยตรง แต่ตรัสให้รู้เป็นนัย โดยทรงหันไปถามพระอานนท์ว่า
"อานนท์ สมัยหนึ่ง เราได้ทรงแสดงหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ไว้แก่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เวลานี้ พวกกษัตริย์ลิจฉวียังรักษาอปริหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ" (ที.ม.๑๐/๖๘)
พระอานนททูลรับ พระพทธเจ้าก็ตรัสว่า ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี ยังประพฤติ ปฏิบิตัมั่นอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ จะไม่มีใครเอาชนะได้ คล้ายกับจะทรงห้ามทัพไว้ก่อนเพราะถ้าขืนรบก็จะสูญเสียมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูไม่กล้ายกทัพไป
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงพระดําริอีก ว่าทําอย่างไรจะเอาชนะวัชชีได้ แล้วก็ปรากฏว่า วัสสการพราหมณ์ได้ถวายแผนการจะไปทําลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีเสีย และอาสาดำเนินการนี้ โดยทำอุบายเป็นว่าถูกลงโทษ และถูกขับถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธไป
วัสสการพราหมณ์ทำเป็นว่าหนีภัยหนีอันตรายไป และด้วยความโกรธแค้นต่อกษัตริย์อชาตศัตรู ก็เลยไปอาสารับราชการแผ่นดินในวัชชี กษัตริย์วัชชีหลงกลก็วางใจ
ต่อมาวัสสการพราหมณ์ก็ใช้กลอุบายเกลี้ยกล่อมยุแหย่ จนกระทั่งกษัตริย์ลิจฉวีแตกแยกกันหมด นํามาซึ่งความอ่อนแอของวัชชี แล้วในที่สุด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกทัพมาตี ทำให้ว้ชชี แตกพินาศไป มคธก็หมดคู่แข่ง
ถ้าไม่ประมาท ก็ไม่เสื่อม
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ การที่ทรงแสดงอปริหานิยธรรมก็เป็นการเตือนชาววัชชีว่า เธอทั้งหลายจะต้องประพฤติปฏิบัติมั่นในธรรมเหล่านี้ ๗ ข้อ ซึ่งญาติโยมอาจรู้บ้าง ไม่รู้ บ้าง ขอพูดไว้เป็นตัวอย่าง
อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เช่น หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมใจกันเลิก เมื่อมีกิจใดที่เป็นของส่วนรวมเกิดขึ้น ก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดช่วยกันทํา ตลอดจนให้มีความเคารพนับถือสักการะ อนุสาวรีย์ปูชนียสถาน ซึ่งเป็นหลักใจของบ้านเมือง หรือของสังคม
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงหลักการเหล่านี้ไว้ และทรงสรุปว่า “ถ้าชาววัชชีคือกษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนยึดมั่นในหลักธรรมเหล่านี้ไว้ก็จะไม่มีความเสื่อม จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว” (ที.ม.๑๐/๖๘)
นี่คือการที่พระองค์ตรัสเตือนอยู่เสมอว่า ให้พยายามตั้งตนอยู่ในธรรมเหล่านี้ แต่ในที่สุดความเสื่อมก็เข้ามา เพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ พระองค์ยังไดัตรัสในโอกาสอื่นอีกให็เห็นว่า เท่าที่เป็นมา กษัตริย์ลิจฉวีนั้น เป็นผู้ที่แข็งแกร่ง มีความหมั่นขยันในการฝึกฝนตนเอง เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เห็นแก่ความสุขสําราญ จะนอนหมอนไม้และหมั่นฝึกการรบตลอดเวลา
แต่พวกกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น เมื่ออาณาจักรของตนมั่นคงเข้มแข็งรุ่งเรืองขึ้น ก็จะเพลิดเพลินหลงมัวเมาในความสุขต่างๆ หาความสุข จากการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ความเสื่อมก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา จนพ่ายแพ้แก่มคธถึงความพินาศในที่สุด
ในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นพระดำรัส เตือนพระภิกษุทั้งหลายให้ไม่ประมาท
ครั้งนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชีพระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ยังนอนหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความเพียรในการฝึกซ้อมศิลปะ พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ราชาแห่งมคธ ย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้โอกาส
"แต่ในกาลข้างหน้า พวกกษัตริย์ลิจฉวีจะกลายเป็นผู้สํารวย อ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุนหมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้น แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรราชาแห่งมคธก็จะได้ช่องได้โอกาส ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เหล่าภิกษุยังนอนหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นในการบําเพ็ญเพียร มารร้ายย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้โอกาส แต่ในกาลนานไกลข้างหน้า เหล่าภิกษุจะเป็นผู้สํารวย อ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟูหนุนหมอนใหญ่หนานุ่ม จนตะวันขึ้น มารร้ายก็จะได้ช่องได้โอกาส
"เพราะเหตุดังนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้หนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้น ในการบําเพ็ญเพียร ภิกษุทั้งหลายเธอพึงศึกษาอย่างนี้" (สํ.นิ. ๑๖/๖๗๔-๖)
นี้คือเรื่องราวต่างๆ ที่น่าศึกษา ให้เข้าใจถึงความเสื่อมและความเจริญของบ้านเมือง ตลอดจนสังคมต่างๆ เป็นคติสอนใจพุทธศาสนิกชน จากเรื่องราวที่เป็นมาในประวัติศาสตร์
ว่าจะไม่พูดยาว แต่ที่พูดมาก็มากแล้ว ทั้งนี้ต้องการให้เห็นภาพ กว้างๆ ของความเป็นมาในอดีต ว่าดินแดนนี้มีความสําคัญอย่างไร
เป็นอันว่า ปาตลิคาม ที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้เริ่มให้มหาอํามาตย์ มาสร้างขึ้นในตอนท้ายพุทธกาลนั้น ได้เป็นเมืองหน้าด่าน และมีชื่อว่าเมิองปาฏลีบุตร
ต่อมาหลังพุทธกาล เมื่อสิ้นวงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรูแล้วก็มีการย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์มาอยู่ที่ปาฏลีบุตร ซึ่งตอนนั้นเป็นเวลาที่แคว้นวัชชีได้สิ้นอํานาจไปแล้ว แคว้นมคธก็เจริญสืบมา จนกระทั่งปาฏลีบุตรได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศก

Create Date : 28 มกราคม 2567 |
|
0 comments |
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2567 17:51:38 น. |
Counter : 316 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|