กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
24 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ถ้ำกับชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา


 
 
ถ้าแยกเป็น  ก็มองเห็นพุทธศาสนา
 

235 ถ้ำกับชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
 
      สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นข้อสังเกต และมาเชื่อมโยงกับเรื่องบทเรียน คือ วัดถ้ำเหล่านี้แสดงถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาด้วยอย่างแน่นอน  แต่เรื่องความเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม ความเจริญนั้น  เรายังไม่อาจจะค้นคว้าให้ชัดเจน  อาจจะเป็นความมืดอยู่ตลอดไปก็ได้
 
     แต่อย่างน้อยเราก็พบความแตกต่าง อย่างที่บอกว่า เริ่มต้นเป็นเถรวาทมาก่อน แล้วก็มาสู่ยุคมหายาน  เถรวาทเริ่มเป็นส่วนแรกของอชันตา แล้วเถรวาทก็หยุดหายไปที่นั่น เว้นอีกหลายร้อยปีมหายานมาเริ่มที่อชันตาบ้าง และได้ไปเริ่มที่เอลโลราด้วย
 
     มหายานเริ่มต้นแล้ว ก็มีศาสนาฮินดู และก็มีศาสนาเชนมาต่อ เรื่องเหล่านี้เป็นข้อที่น่าสังเกต
 
     ข้อสังเกตในเรื่องระหว่างศาสนาก่อน การอยู่ถ้ำนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพระในพระพุทธศาสนา ดังมีพระวินัยเกี่ยวกับสถานที่  สำหรับพระอยู่อาศัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้
 
     เวลามีพระบวชใหม่พระอุปัชฌาย์จะ “บอกอนุศาสน์”  คือ แสดงคำสอนเบื้องต้นสำหรับพระใหม่ ซึ่งต้องบอกทันทีเมื่อบวชเสร็จ ว่าพระจะดำเนินชีวิตอย่างไร และมีข้อห้ามอะไรสำคัญที่ทำไม่ได้  ถ้าทำแล้วจะขาดจากความเป็นพระ
 
     ทีนี้  ในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของพระ ท่านก็จะบอกเรื่อง นิสัย ๔ คือปัจจัยเครื่องอาศัย หรือปัจจัย ๔ นั่นเอง ซึ่งสำหรับพระ เรียกว่า นิสัย
 
     ปัจจัย ๔ ที่พระอาศัยเรียกว่า นิสัย ๔  มี   ๑. บิณฑบาต  ๒. จีวร  ๓. เสนาสนะ  ๔.  เภสัช    เรียกเต็มว่า คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
 
     ข้อเสนาสนะคือที่อยู่อาศัยนั้น  พระอุปัชฌาย์จะบอกว่า สำหรับพระภิกษุนั้นสถานที่อยู่พื้นฐานที่สุดได้แก่ รุกฺขมูลเสนาสนํ  (รุกขะมูละ เสนาสะนัง) คือโคนไม้ พระจะจาริกไปเรื่อยและพักตามโคนไม้และต่อ มามีพุทธบัญญัติสำหรับฤดูฝน  ไม่ให้จำพรรษาตามโคนไม้ต้องพักอาศัย  ในที่คุ้มฝนได้
 
     พระพุทธเจ้าของเรา โดยเฉพาะในระยะแรกก็ทรงอยู่โคนไม้ เมื่อจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ค่ำที่ไหนก็พักที่นั่น บางทีก็ทรงพักในโรงช่างหม้อ เป็นต้น การถือข้อปฏิบัติในการอยู่โคนไม้เป็นประจำ (ยกเว้นฤดูฝน ซึ่งพระวินัยบัญญัติห้ามไว้) จัดเป็นธุดงค์อย่างหนึ่ง
 
     ธุดงค์  คือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกตนในการขัดเกลากิเลส มี ๑๓ ข้อ เช่น การถืออยู่โคนไม้คือรุกขมูลนี้   ก็เป็นธุดงค์หนึ่ง   ถือใช้จีวรเพียงสามผืนชุดเดียว ไม่ใช้ผ้าที่เรียกว่าอดิเรก  ก็เป็นธุดงค์หนึ่ง  ถือใช้จีวรที่ไปเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้งแล้วเอามาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อมใช้เอง เรียกว่าผ้าบังสุกุล ไม่รับจีวรที่ญาติโยมถวาย  ก็เป็นธุดงค์หนึ่ง  ฉันแต่อาหารบิณฑบาตอย่างเดียว ไม่รับนิมนต์  ก็เป็นธุดงค์หนึ่ง ฯลฯ
 
     ปัจจุบันเรามาใช้แบบเข้าใจผิดว่าธุดงค์เป็นการออกเดินทางจาริกไป ความเข้าใจผิดนี้อาจจะเกิดจากการถือธุดงค์ข้อรุกขมูลนี้ก็ได้   คือ  เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสมัยก่อนนิยมถือธุดงค์ข้อรุกขมูลนี้และท่านก็เดินทางจาริกไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็พักแรมตามโคนไม้
 
     พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การถือธุดงค์ข้อรุกขมูล (เรียกเต็มว่า รุกขมูลิกังคะ) ทําให้พระมีโอกาสเดินทางจาริกไปเรื่อยๆ ไปๆ มาๆ ชาวบ้านเข้าใจแคบๆ ว่า ธุดงค์คือเดินทางจาริกไป
 
     ดังได้กล่าวแล้ว่า  ได้มีบัญญัติห้ามไม่ให้จำพรรษาใต้ร่มไม้  การถือธุดงค์ข้อนี้จึงมีระยะเวลาจำกัดไม่ได้ถือตลอดปี  แต่รวมความว่า  รุกขมูลนี้เป็นที่อยู่พื้นฐานและดั้งเดิมของพระ เมื่ออยู่โคนไม้ตลอดเวลาไม่ได้ ก็ต้องมีกําหนดว่า พระภิกษุจะอยู่ในเสนาสนะคือที่อยู่ประเภทใดได้บ้าง
 
     พระอุปัชฌาย์ก็จะบอกต่อไปว่า มีเสนาสนะที่พระจะอยู่อาศัยได้ เป็นส่วนที่เรียกว่าอดิเรก คือส่วนที่พิเศษออกไป หรือส่วนที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ วิหาโร อฑฺฒโยโค ปาสาโท หมฺมิยํ  คุหา
 
     วิหาโร คือวิหาร แปลว่าที่อยู่ตรงตัวเลย ก็คือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย หรือที่พัก ตรงกับที่เราเรียกในปัจจุบันว่า กุฏินั่นเอง (เดิม กุฏิ แปลว่ากระท่อม) แต่ในภาษาไทยเรานํามาใช้ค่อยๆเพี้ยนไปๆจนเข้าใจว่าวิหารคืออาคารที่สร้างคู่กับโบสถ์
 
     ต่อมาเมื่ออยู่กันมากๆ วิหารก็เป็นกลุ่มขึ้น  แล้วพลอยเรียกทั้งกลุ่มนั้นเป็นวิหารด้วย คำว่า “วิหาร” ก็เลยหมายถึงวัด เช่น  เชตวันวิหาร เวฬุวันวิหาร เป็นต้น ซึ่งเริ่มนิยมใช้ในยุคท้ายๆ ของพระไตรปิฎก
 
     เป็นอันว่า วิหารนี้   ในความหมายกว้างก็หมายถึงวัดทั้งวัด คือกลุ่มที่อยู่ของพระ ถ้าเป็นวัดใหญ่ๆ ก็เรียกว่า มหาวิหาร เช่น เชตวันมหาวิหาร  เวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งหมายถึงความใหญ่ทั้งในแง่ของสถานที่และความสำคัญ
 
     แต่ที่น่าสังเกต  คือ ในเมืองไทยเรา  ทำไมวิหาร จึงมาเป็นชื่อของอาคารหลังที่คู่กับโบสถ์ เข้าใจว่าเป็นเพราะเราเคารพพระพุทธเจ้ามาก  แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว เราก็อยากสร้างที่อยู่ถวายพระองค์ ให้เหมือนกับว่าพระองค์ก็ประทับอยู่ด้วยกับพระสงฆ์ในวัดของเรา และ เราก็มีพระพุทธรูปมากมาย  ที่เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า เราก็เลยสร้างที่ประทับถวายพระองค์ไว้ในวัด และเพื่อให้เป็นที่สําคัญ ก็สร้างอย่างดีและให้คู่กับโบสถ์
 
     จะเห็นว่า เรานําเอาพระพุทธรูปที่เกินใช้เกินจําเป็น หรือสร้างพิเศษขึ้นมาเป็นที่บูชา ก็ไปเก็บไว้ในวิหาร  บางทีเราก็สร้างวิหารถวายพระพุทธรูปองค์สําคัญโดยเฉพาะเลยทีเดียว
 
     เป็นอันว่า  ในปัจจุบันสำหรับเมืองไทย “วิหาร” คือ อาคารที่สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระองค์ โดยมีพระพุทธรูปเป็นองค์แทน
 
     ต่อไป อฑฺฒโยโค คือเรือนมุงครึ่งเดียว คล้ายๆเพิงหมาแหงน คือ เรือนที่มุงข้างหน้าสูง ข้างหลังต่ำ ที่เป็นหลังคาเทลงไปข้างเดียว
 
     ต่อไป ปาสาโท  แปลทับศัพท์คือ ปราสาท  แต่คำว่า “ปราสาท” ในอินเดียหมายถึงเรือนชั้น ซึ่งอาจมีหลายชั้น
 
     สมัยก่อน พวกเศรษฐีมักอยู่ปราสาท  ดังมีเรื่องในคัมภีร์มากมาย ในชั้นอรรถกถา กล่าวถึงธิดาเศรษฐีอยู่ปราสาท ๗ ชั้น บางแห่งกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ว่าอยู่ในปราสาท ๙ ชั้น (ม.อ.๓/๑๕๙)
 
     พระก็อยู่ปราสาทได้ อย่างวัดบุพพารามของนางวิสาขา ก็มีปราสาทที่นางวิสาขาสร้างถวายพระพุทธเจ้า  เรียกว่า มิคารมาตุปราสาท
 
     หมฺมิยํ    แปลกันมาว่า   เรือนโล้น   อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง ปราสาทคือเรือนชั้นที่มีหลังคาโล้น ก็คงจะแบบตึกปัจจุบันที่ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า  (แต่อรรถกถาบางแห่งอธิบายว่า เป็นปราสาทที่มีเรือนยอด อยู่บนชั้นสูงสุดก็ได้)
 
     คุหา  คือถ้ำ เป็นเสนาสนะที่อยู่ของพระประเภทที่ ๕
 
     ถ้ำนี่แหละ เป็นที่มาของเรื่องอชันตา และเอลโลรา
 
     เป็นอันว่า พระตั้งแต่พุทธกาลเป็นต้นมา อาศัยพุทธบัญญัติในวินัยที่อนุญาตไว้ให้พระภิกษุอยู่อาศัยในเสนาสนะได้ ๕ ประเภท คือ วิหาร (กุฏิ)  อัฑฒโยค (เรือนมุงครึ่งเดียว) ปราสาท (เรือนชั้น) หัมมิยะ (เรือนโล้น) และคุหา (ถ้ำ) ดังที่อธิบายมานี้  (วินย.๗/๒๐๐)
 
     บางท่านต้องการวิเวก แสวงหาที่สงบเงียบห่างไกล ก็ไปอยู่ถ้ำ บางองค์ก็ไปอยู่ป่า
 
     จากพุทธบัญญัติในพระวินัยเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ และการที่พระจำนวนมากชอบหาที่อยู่ที่วิเวก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งอยู่ถ้ำมาตลอด
 
     อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อท่านอยู่ไปนานๆ ท่านที่อยู่ถ้ำนั้น บางท่านก็เป็นคนมีฝีมือ บางท่านอาจจะเป็นช่างเก่า บางท่านก็เป็นอำมาตย์ เป็นคนชั้นสูงมาบวช มีกำลังมีความสามารถ ก็ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ก็มีการแกะสลักอะไรต่างๆ ทำให้สวยงามขึ้นมา วิวัฒนาการอย่างนี้คงจะค่อยเป็นค่อยไป
 
     ทีนี้ก็อาจจะมีพระราชามหากษัตริย์ และมหาอำมาตย์หรือเศรษฐี เป็นต้น ที่มีความเลื่อมใสและมองเห็นว่า การทำอย่างนี้ดีก็มาสนับสนุน ต่อมาก็มีการอุปถัมภ์ พระราชาหรือพวกขุนนางใหญ่ตลอดจนเศรษฐี  ก็อาจจะออกทุนออกรอนในการที่จะแกะสลักถ้ำเหล่านี้  ให้เป็นที่งดงาม และเต็มไปด้วยศิลปกรรม
 
     การสร้างสรรค์อย่างนี้คงจะใช้เวลานาน อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้  พระอยู่กันเป็นเวลาร้อยๆ ปี วิวัฒนาการจะเป็นอย่างไรก็ไม่ชัดเจน ก็ได้แต่สันนิษฐานกันไป
 
 


Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2567 8:41:35 น. 0 comments
Counter : 310 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space