กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
4 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

นาลันทากับความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนา



235 นาลันทากับความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาจากอินเดีย


     เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  ได้เสื่อมไปจากอินเดีย ดังนั้น ในอินเดียยุคหลัง จึงมีแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานรุ่งเรืองอยู่  และก็มีการผสมผสานกับศาสนาฮินดู

     กล่าวคือ หลังพุทธกาลแล้ว ศาสนาพราหมณ์ได้ปรับปรุงตัวเป็นการใหญ่ เพราะการเจริญขึ้นของพระพุทธศาสนาได้มีผลกระทบกระเทือนต่อศาสนาพราหมณ์เก่ามาก จนกระทั่งเห็นว่าตัวเองจะอยู่ไม่ไหว จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง

     การปรับปรุงตัวของศาสนาพราหมณ์วิธีหนึ่ง คือมารับเอาหลักธรรมคําสอนจากพระพุทธศาสนาไปใช้  จะเห็นว่า ในบางคัมภีร์  แม้แต่คัมภีร์มหาภารตะ  ที่เป็นคัมภีร์สําคัญมากของฮินดู ได้เอาหลักธรรมคําสอนของพระพุทธศาสนา เช่น คาถาในพระธรรมบทไปใส่ไว้ด้วย ถ้าอ่านคัมภีร์ภควัทคีตาที่เป็นคัมภีร์สําคัญของศาสนาฮินดูยุคหลังนี้ จะพบคาถาที่เห็นได้ว่าเอาไปจากพระธรรมบท

     นอกจากเอาคําสอนไปแล้ว ก็ยังมีการตั้งวัดและคณะสงฆ์ขึ้นมา เลียนแบบพระพุทธศาสนาโดยศังกราจารย์

     ศังกราจารย์  นี้  มีผู้กล่วว่า เคยเรียนที่มหาวทยาลัยนาลันทาด้วย ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น ก็น่าสันนิษฐานว่าจะเป็นการเรียนโดยมีแผนการหรือไม่ คือเรียนเพื่อมาเอาหลักธรรมคําสอนและวิธีการของพระพุทธศาสนา ออกไปใช้ดังเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปของนักปราชญ์ที่ศึกษาเรื่องอินเดียว่า ศังกราจารย์  นี้ได้ตั้งวัดและคณะสงฆ์ตามอย่างพระพุทธศาสนา

     จะต้องเข้าใจว่า ศาสนาพราหมณ์เดิมนั้นไม่มีวัด ไม่มีพระสงฆ์ นักบวชคือพราหมณ์ของเขานั้นก็อยู่บ้านครองเรือน มีบุตรมีภรรยา หรือ แม้พราหมณ์บางพวกที่ไม่ได้ครองเรือน ก็ไม่มีวัด ไม่มีการตั้งเป็นคณะสงฆ์ 

     ต่อมา  ตั้งแต่ยุคศังกราจารย์แล้ว พราหมณ์จึงมีการตั้งวัดขึ้นมา และมีนักบวชอยู่ เป็นการฟื้นฟูศาสนาฮินดูและอาจจะเป็นการพยายามทำให้เกิดความกลมกลืนด้วย

     ยิ่งในสมัยหลังต่อมา อินเดียมีกษัตริย์ฮินดูปกครองมาก ชาวพุทธเป็นคนมีนิสัยใจคอชอบประสานเสรีอยู่แล้ว และชอบอยู่แบบกลมกลืนกัน  ก็เลยเข้ากันได้ แต่เป็นการเข้ากับเขาโดยเสียหลักของตัว นี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง

     กษัตริย์ฮินดูโดยทั่วไป  เมื่อขึ้นปกครอง  ก็ไม่หรือไม่กล้าเบียดเบียนพระพุทธศาสนา (ยกเว้นบางองค์ที่ทําลายอย่างรุนแรง) เพราะพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากแล้ว เป็นที่นับถือทั่วไป และกษัตริย์ฮินดูบางพระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ดีมีพระทัยกว้าง  จึงยังให้การอุปถัมภ์บํารุงมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ได้รับการบํารุงด้วย  แต่อาจจะเป็นการบำรุงในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาของประเทศ

     ทั้งนี้เพราะว่า นาลันทานั้นไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะ สําหรับเรียนเรื่องพระพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อเจริญก้าวหน้าขยายออก ไปนานๆเข้า มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ให้การศึกษาวิชาการทั่วไปด้วย เช่น ดาราศาสตร์การแพทย์กฎหมาย เป็นต้น และมีการรับคฤหัสถ์เข้ามาเรียนด้วย

     เมื่อการศึกษาขยายออกไป ก็ทําให้กลายเป็นเหมือนกิจการของรัฐ  รัฐจึงต้องให้การอุปถัมภ์ ฉะนั้น กษัตริย์ฮินดูจึงต้องให้การอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ

     การที่กษัตริย์ฮินดูเข้ามาอุปถัมภ์นี้  อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้พระของเรา โดยเฉพาะผู้บริหาร  มีความเกรงใจ  แล้วก็โอนอ่อนผ่อนตามบ้านเมืองในเรื่องต่างๆ  ดังที่ชาวพุทธมักจะเป็นคนที่ยืดหยุ่นเสรีอยู่แล้ว ไปๆ มาๆ ก็ทําให้คําสอนต่างๆชักจะกลมกลืนกันไปเรื่อยๆกับของฮินดู จนกระทั่งต่อมา  ปรากฏว่าหลักปรัชญาและข้อปฏิบัติต่างๆในฝ่ายมหายานเข้าไปประสานกลมกลืนกับฮินดูมากขึ้นๆ

     ในยุคก่อนศังกราจารย์ไม่นานนัก ประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นต้นมา ทางฝ่ายฮินดูได้สร้างหลักคําสอนใหม่ขึ้นมา บอกว่าพระนารายณ์ ซึ่งเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ จะอวตารลงมากู้และแก้ปัญหาของโลกเป็นระยะๆ แล้วครั้งหนึ่งก็ได้อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าของเราก็กลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์


     พราหมณ์บอกว่าบูชาพระพุทธเจ้าได้ ไม่เป็นไร เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นพระนารายณ์ที่อวตารลงมา ว่าแล้วเขาก็เอาพระพุทธรูปไปไว้ในเทวาลัยของฮินดูด้วย โดยเอาพระนารายณ์ตั้งตรงกลาง แล้วเอาพระพุทธรูปไปวางไว้ข้างๆ เป็นการค่อยประสานกลมกลืนกันไป

     แต่ที่เขาบูชาพระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตาร  ดูเหมือนเป็นการยกย่องนั้น  ถ้าศึกษาสักหน่อย  ก็จะรู้ว่าเป็นการมุ่งร้าย เพราะเขาบอกว่า พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อทําหน้าที่หลอกลวงคน

     ลัทธิฮินดูบูชาพระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารปางมายาโมหะ คือ ปางหลอกลวงคน  หลอกลวงอย่างไร คือเขาแต่งเป็นเรื่องว่า มีมนุษย์จํานวนมากที่เป็นพวกของอสูรร้าย เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเป็นเจ้าและต่อพระเวท   พระนารายณ์ก็เลยอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อหลอกลวงคนเหล่านี้เอามารวมเข้าด้วยกันไว้  เพื่อช่วยให้เทพเจ้าทําลายคนเหล่านี้ได้สะดวก ทีเดียวหมดเลย

     หมายความว่า  ฮินดูให้พระพุทธเจ้าเป็นพระเอกในบทบาทของผู้หลอกลวง และถือว่าชาวพุทธก็คือพวกลูกน้องของอสูร

     ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนามหายาน ก็ได้มีการปรับปรุงหลักปรัชญาและวิธีการสอน เพื่อที่จะสนองความต้องการของชาวบ้าน เป็นการแข่งขันกับศาสนาฮินดู

     มีการสร้างลัทธิพระโพธิสัตว์แบบใหม่
ขึ้นมา มีพระโพธิสัตว์ต่างๆ เช่น พระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี เป็นต้น เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านมีที่เคารพบูชาขอความช่วยเหลือได้ คล้ายกับเทพเจ้าของศาสนาฮินดู

     ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๑๒๐๐ ก็ถือว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลงมากแล้ว ต่อมาก็มีนิกายตันตระแบบที่เสื่อมลงไปอีก  เสื่อมจนกระทั่งถือว่าการเสพกามก็เป็นข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระนิพพานได้ 

     ลัทธินี้กลมกลืนกับลัทธิตันตระของฮินดูจนไม่จําเป็นจะต้องแยกจากกัน และได้เผยแพร่ไปในที่ต่างๆ นํามาซึ่งความเสื่อมโทรมแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และทําให้พระพุทธศาสนาในยุคหลังนี้กลมกลืนกับศาสนาฮินดูแทบจะโดยสมบูรณ์

     ทั้งนี้แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาต่างๆ ได้เป็นแหล่งพัฒนา และเผยแพร่ลัทธิเหล่านี้

     ดังนั้น นาลันทา ศูนย์กลางการศึกษาของพระพุทธศาสนา ที่เคยเป็นเแหล่งสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ในยุคแรก มีนักปราชญ์ที่เป็นกําลังของพระพุทธศาสนามากมาย ดังเช่น นาคารชุน อสังคะ ทินนาค อารยเทพ ศีลภัทร ธรรมปาละ กุมารชีวะ และพระถังซัมจั๋ง เป็นต้น  แต่เมื่อมาถึงยุคปลาย  ก็กลับกลายเป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมสลายของพระพุทธศาสนาเสียเอง 

     มีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า  การที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษา  มีพระมาอยู่ศึกษามากมายจำนวนเป็นหมื่นรูป  อีกทั้งพระอาจารย์ที่สําคัญๆ มีความรู้ดีก็มารวมกันอยู่ที่นี่  นานๆ เข้าก็ทําให้เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่ง

     ผลดีนั้นก็มีแน่นอน  อย่างที่ว่าเมื่อกี้  เป็นศูนย์กลางศึกษา  แม้แต่ระหว่างชาติ  ใครๆ ก็ปรารถนาจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา

     แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ความเสื่อมโทรมก็ได้เกิดขึ้น กล่าวคือ พระจะมุ่งเข้าสู่ตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทําให้วัดในชนบทอ่อนแอ ไม่ค่อยจะมีพระอยู่ ถึงจะมีอยู่บ้างก็เป็นพระที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ

     ยิ่งมาถึงยุคที่ฝ่ายฮินดูตั้งวัดขึ้นมาตามอย่างพระพุทธศาสนา โดยที่ศังกราจารย์เน้นที่ชนบทแล้ว เมื่อวัดพุทธกับวัดฮินดูอยู่ใกล้ๆ กัน มีอะไรๆ คล้ายๆ กัน ต่อมาวัดพุทธไม่ค่อยมีพระอยู่ วัดฮินดูก็เข้ามาช่วยวัดพุทธบ้าง มาทําอะไรต่ออะไรช่วยกัน  ไปกันได้  ต่อมาไม่มีพระอยู่ ฮินดูก็กลืนไปเลย

     เรื่องคงจะหรืออาจจะเป็นทํานองนี้ เพราะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่า วัดฮินดูเท่าที่มีอยู่ในยุคหลังต่อมา บางแห่งตั้งอยู่บนที่ ที่เคยเป็นวัดพุทธศาสนามาแต่เดิม เช่น วัดฮินดูนิกายไวษณพยิ่งใหญ่มากในปัจจุบัน ชื่อวัดชคันนาถ ที่เมืองปุรีในแคว้นโอริสสา ก็ตั้งซ้อนทับ วัดพุทธศาสนาที่เป็นของเดิม

     ที่ว่ามานี้  จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาในอินเดีย คือความอ่อนแอของพระพุทธศาสนาในชนบท เพราะพระสงฆ์มารวมกันอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองสําคัญ โดยเฉพาะที่สถาบันใหญ่ๆ อย่างที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้

     นอกจากนั้น สําหรับการศึกษาภายในสถาบันเอง เมื่อพระได้รับ การอุปถัมภ์บํารุงจากทางการบ้านเมืองแล้ว เป็นอยู่สบาย ไม่ค่อยต้อง อาศัยประชาชน ก็เลยทําให้ขาดความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ห่างเหินประชาชน ความสัมพันธ์กับชุมชนก็ลดน้อยลง

     พร้อมกันนั้น ตัวพระเองก็หันมาสนใจศึกษาในเรื่องจําพวกปรัชญา ถกเถียงกันอยู่ในเรื่องทฤษฎีเหตุผลต่างๆ ทําให้เหินห่างจากการปฏิบัติที่แท้จริง ทั้งจากการปฏิบัติในชีวิตประจําวันที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และจากการปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนในไตรสิกขาอย่างแท้จริง

     อันนี้ก็เป็นข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมอีกด้านหนึ่ง แต่ก็ไม่จําเป็นต้องเชื่อว่าจะต้องเสื่อมไปหมด  บางส่วนก็อาจจะยังคงดีอยู่ เอาเป็นว่าโดยความโน้มเอียงจะมีสภาพคล้ายๆ อย่างนี้

     เป็นอันว่า พระในพระพุทธศาสนาได้หันไปสนใจเรื่องปรัชญา ถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญากันมาก   ความห่างเหินจากประชาชนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุนํามาซึ่งความเสื่อมแก่พระพุทธศาสนาด้วย และพระพุทธศาสนาในยุคหลังๆ ของนาลันทานี้ ก็ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย

     จากที่เถรวาทเด่น ก็มาเป็นมหายานเด่น จากมหายานยุคต้นๆ ที่เฟื่องด้วยปรีชา ก็มาเป็นมหายานที่มีลัทธิตันตระ แล้วต่อมาก็เป็นตันตระแบบเสื่อมโทรมมาก
 


Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2567 17:44:32 น. 0 comments
Counter : 171 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space