กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
มกราคม 2567
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
30 มกราคม 2567
space
space
space

ธรรมวิชัย:หลักการใหญ่ที่นําเข้าสู่พุทธธรรม



235 ธรรมวิชัย:  หลักการใหญ่ที่นําเข้าสู่พุทธธรรม


     ทีนี้ก็มาดูข้อความแสดงนโยบายธรรมวิชัย ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงนําออกมาสู่ปฏิบัติการจริง ดังที่พระองค์ประกาศไว้ใน จารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งคัดตัดมาพอเป็นตัวอย่าง

       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ   เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้   จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจํานวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย   จํานวนประมาณหนึ่งแสน  คนถูกฆ่าและอีกหลายเท่าของจํานวนนั้นได้ล้มตายไป

       นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้   อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการทรงอบรมสั่งสอนธรรม  ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ

      การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะลงได้นั้น  ทําให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสํานึกสลดพระทัย … ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้   จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลง และถูกจับเป็นเชลยเป็นจํานวนเท่าใดก็ตาม   แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจํานวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ  ย่อมทรงสํานึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง …

      สําหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น  พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทําสําเร็จแล้ว ทั้ง ณ ที่นี้   (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์ (= ๙๖๐๐ กม.)...*

      ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติ ตามคําสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ …

      ด้วยเหตุเพียงนี้   ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทําสําเร็จแล้วในที่ทุกสถาน เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจเป็นปกติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย …

      ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกบัดนี้ และโลกเบื้องหน้า

      ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลายจงเป็นความยินดี ในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอํานวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า.

     แม้ว่าธรรมวิชัยอย่างนี้จะเป็นหลักการและนโยบายใหม่ แต่คําว่า “ธรรมวิชัย” มิใช่เป็นคําใหม่ และมิใช่มีในพระไตรปิฎกเท่านั้น   แต่มีในหลักรัฐศาสตร์โบราณของชมพูทวีปด้วย จึงควรเข้าใจความต่างให้ชัด

     ในตำราอรรถศาสตร์ของพราหมณ์จาณักยะ  (เรียกว่า เกาฏิลยะ บ้าง  วิษณุคุปตะบ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษา และมหาเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์  (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกเอง, พ.ศ.๑๖๑) จัดแบ่งผู้ชนะสงคราม คือ ผู้พิชิต หรือผู้มีชัย เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

       ๑. ธรรมวิชยี   ผู้มีธรรมวิชัย คือ ผู้ชนะที่พอใจเพียงให้ผู้แพ้ยอมจงรักภักดีโดยไม่ข่มเหงทําร้ายราชวงศ์และราษฎรของฝ่ายที่แพ้

       ๒. โลภวิชยี   ผู้มีโลภวิชัย คือ ผู้ชนะที่มุ่งแย่งชิงเอาดินแดน และทรัพย์สินของผู้แพ้

       ๓. อสุรวิชยี   ผู้มีอสูรวิชัย คือ ผู้ชนะที่โหดร้าย ยึดเอาทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สิน ดินแดน บุตรภรรยา และแม้แต่ชีวิตของผู้แพ้

     จะเห็นชัดว่า  ธรรมวิชัยของพราหมณ์จาณักยะ ก็คือการชนะด้วยสงครามนั่นเอง เพียงแต่ปฏิบัติต่อผู้แพ้อย่างไม่โหดร้าย  ดังนั้น  ชัยชนะ ทั้ง ๓ อย่างนี้ยังไม่เป็นธรรมวิชัยในพระพุทธศาสนาเลย

     พระเจ้าอโศกได้ละเลิกชัยชนะที่สอนกันมาแต่เดิมในประเพณีการปกครองของสังคมพราหมณ์  โดยหันมารับหลักการธรรมวิชัย   อันเป็นชัยในทางสันติ ที่ชนะใจด้วยความดี ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราตามคติจักกวัตติราชาของพระพุทธศาสนา 

     คติจักกวัตติราชานี้แม้จะมาหลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง คือจักกวัตติสูตร ซึ่งมีชื่อซ้ำกัน ๓ สูตร เฉพาะอย่างยิ่งที่ยาวที่สุด รู้จักกันมากที่สุด และใช้เป็นหลัก คือ สูตรที่มาในทีฆนิกาย  (ที.ปา.๑๑/๓๓–๕๐)  อันเป็นที่มาของหลักจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ

     ณ ที่นี้จะไม่เข้าไปในเนื้อหาของพระสูตรนั้นโดยตรง แต่จะพูดให้โยมได้ข้อสังเกตทั่วๆ ไป อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด

     หลักธรรมวิชัยตามคติจักกวัตติราชานี้   เป็นตัวอย่างคําสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนําไว้สําหรับผู้นําของสังคมคฤหัสถ์ ที่พระองค์ไม่ได้ทรงจัดดําเนินการ ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบกันเอง  อันต่างจากสังฆะที่พระองค์จัดตั้งบริหารตามหลักการแห่งธรรมวินัย


* ดินแดนทางตะวันตกที่ระบุ ในศิลาจารึกนี้ คือ แว้นแคว้นของกษัตริย์ Ionian Greek พระนามว่าอันติโยคะ (Antiochus II Theos of Syria) พระเจ้าตุลมยะ (Ptolemy II Philadelphus of Egypt) พระเจ้าอันเตกินะ (Antigonus II Gonatas of Macedonia) พระเจ้ามคะ (Magas of Cyrene) และพระเจ้าอลิกสุนทระ  (Alexander of Epirus or Alexander of Corinth)

   ปราชญ์ตะวันตกได้อาศัยศิลาจารึกนี้ช่วยอย่างมาก  ในการเทียบกาลเวลาในประวัติศาสตร์ แห่งอารยธรรมตะวันตก-ตะวันออก

 


Create Date : 30 มกราคม 2567
Last Update : 30 มกราคม 2567 19:17:47 น. 0 comments
Counter : 184 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space