ปุษยมิตร - มิหิรกุละ- ศาศางกะ โค่นในระหว่าง
G.C. Pande เขียนไว้ว่า “การโจมตีพุทธศาสนาในด้านหลักคำสอน ไม่สามารถอธิบายความเสื่อมของพระพุทธศาสนา (หมายความว่า ถึงจะมีการโจมตีหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปได้) ความเป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนาของพวกพราหมณ์นั้น ไม่ได้จํากัดอยู่เพียงแค่การโจมตีหลักธรรม” (Joshi, 313) พระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้เผชิญกับการทำลายล้างด้วยการใช้กำลังรุนแรงหลายยุคหลายสมัย ขอยกเหตุการณ์ที่สำคัญมาให้ดูให้ฟัง เฉพาะการทำลายฆ่าฟันโดยกษัตริย์ หรือราชานอกพุทธศาสนา เช่น กษัตริย์ปุษยมิตร (ประมาณ พ.ศ. ๓๕๖-๓๙๒ นับคร่าวๆ ว่าราว พ.ศ. ๔๐๐; ร่วมสมัยหรือใกล้กับพระเจ้าเมนานเดอร์ หรือมิลินทะ กษัตริย์พุทธแห่งแคว้นโยนก หรือ Bactria ซึ่งครองราชย์ที่เมืองสาคละหรือสากละ ในปัญจาบปัจจุบัน) เป็นพราหมณ์ รับราชการเป็นเสนาบดี อยู่กับราชาองค์สุดท้ายของราชวงศ์โมริยะ หรือเมารยะ ที่สืบต่อจากพระเจ้าอโศกมหาราช ปุษยมิตร ได้สังหารราชาแห่งโมริยวงศ์นั้น แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ขึ้นครองราชย์ ตั้งราชวงศ์ใหม่ ชื่อราชวงศ์ ศุงคะ มีเรื่องบันทึกไว้ว่า ปุษยมิตร ได้รื้อฟื้นประกอบพิธีอัศวเมธ ฆ่าม้า บูชายัญ ที่พระพุทธศาสนาติเตียน และซบเซาเงียบหายไปนาน นอกจากนั้น ได้ทำลายพระพุทธศาสนา เผาวัด กำจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยถึงกับให้ค่าศีรษะ แก่ผู้ฆ่าพระภิกษุได้ รูปละ ๑๐๐ ทินาร์ (Dutt,164) แต่เรื่องของปุษยมิตร อยู่ในยุคที่มีเอกสารน้อย จึงไม่มีรายละเอียด กษัตริย์มิหิรกุละ (หรือ มหิรคุละ) เป็นชนเผ่าฮั่นขาว หรือหูณะ ที่บุกเข้าอินเดียมาทางอิหร่าน และอัฟกานิสถาน ครองราชย์ พ.ศ. ๑๐๕๐ เศษ ที่เมีองสาคละ หรือสากละในปัญจาบปัจจุบัน มีเรี่องเล่าว่า มิหิรกุละ ซึ่งเป็นฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระศิวะ คืออิศวร) พิโรธ ที่ทางพระสงฆ์ส่งพระผู้น้อยมาอธิบายคำสอนในพุทธศาสนา หลวงจีนเหี้ยนจัง คือ พระถังซัมจั๋ง เขียนเล่าไว้ว่า มิหิรกุละ ได้สั่งให้กำจัดพุทธศาสนาให้หมดสิ้นจากดินแดนของพระองค์ทุกแห่ง เป็นเหตุให้มิหิรกุละถูกตอบโต้โดยพระเจ้าพาลาทิตย์ กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะแห่งมคธ และได้ทำสงครามกัน มิหิรกุละถูกจับได้และจำขังไว้ ต่อมา มิหิรกุละหนีได้ และไปหลี้ภัยอยู่ในแคว้นกัษมีระ (แคชเมยรี ) แล้วสังหารกษัตริย์กัษมีระเสีย ขึ้นเป็นกษัตริย์เอง แล้วรื้อฟื้นแผนการกำจัดพระพุทธศาสนา โดยล้มล้างพระสถูปทั้งหลาย ทำลายวัด ๑,๖๐๐ วัด สังหารพุทธศาสนิกชน ๙๐๐ โกฏิ แต่ในที่สุด ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม โดยโจนเข้ากองไฟ (เรื่องหาอ่านได้เช่น Joshi, 321; Smith, 177; Encycl. Britannica, 1988, vol. 20, p. 592) ศาศางกะ เป็นกษัตริย์ฮินดูนิกายไศวะเช่นเดียวกัน ครองราชย์ในแคว้นเคาฑะ ในเบงกอลปัจจุบันภาคกลาง ประมาณ พ.ศ. ๑๑๕๐ ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์พุทธพระนามว่าราชยวรรธนะ หลวงจีนเหี้ยนจังบันทึกไว้ว่า ศาศางกะได้สังหารพระภิกษุในแถบกุสินารา (กุศีนคร) หมดสิ้น ทำให้สงฆ์พินาศไป และเป็นราชาที่ไปโค่นต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยาลง และขุดรากขึ้นมาเผา กับทั้งนำเอาพระพุทธรูปออกไปจากพระวิหารทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น นำเอาศิวลึงค์ไปไว้แทน ศาศางกะได้ทำลายพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย แม้แต่เหรียญเงินตราของกษัตริย์นี้ ก็เขียนกำกับชื่อราชาไว้ว่า “ผู้ปราบพุทธศาสนา” (เรื่องของศาศางกะก็หาอ่านได้มากเช่นเดียวกัน) นักบวชไศวะที่สำคัญคือ กุมาริละ และศังกราจารย์ ก็ไม่ใช่เที่ยวสั่งสอนโจมตีพระพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อเดินทางไปไหนก็พยายามชักจูงชวนกษัตริย์และคนชั้นสูงที่มีอำนาจ ให้เลิกอุปถัมภ์บำรุงวัดและพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาที่กำลังเสื่อมอยู่แล้วอ่อนแอยิ่งขึ้น จนช่วงท้าย พระพุทธศาสนาก็เหลืออยู่เพียงในแคว้นพิหารและเบงกอลปัจจุบัน โดยมีกษัตริย์ปาละอุปถัมภ์อยู่
Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2567 10:40:08 น. |
|
0 comments
|
Counter : 259 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|