ตัดความข้อล่าง กล่าวคือ ภาพเหตุการณ์ในอดีตที่พุทธเริ่มเสื่อมจากอินเดียเทียบพุทธ (ปทท.) ปัจจุบนในชนบท ซึ่งหมุนวนไปทางเดียวกันเดะ
แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ความเสื่อมโทรมก็ได้เกิดขึ้น กล่าวคือ พระจะมุ่งเข้าสู่ตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทําให้วัดในชนบทอ่อนแอ ไม่ค่อยจะมีพระอยู่ ถึงจะมีอยู่บ้างก็เป็นพระที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ
ยิ่งมาถึงยุคที่ฝ่ายฮินดูตั้งวัดขึ้นมาตามอย่างพระพุทธศาสนา โดยที่ศังกราจารย์เน้นที่ชนบทแล้ว เมื่อวัดพุทธกับวัดฮินดูอยู่ใกล้ๆ กัน มีอะไรๆ คล้ายๆ กัน ต่อมาวัดพุทธไม่ค่อยมีพระอยู่ วัดฮินดูก็เข้ามาช่วยวัดพุทธบ้าง มาทําอะไรต่ออะไรช่วยกัน ไปกันได้ ต่อมาไม่มีพระอยู่ ฮินดูก็กลืนไปเลย
เรื่องคงจะหรืออาจจะเป็นทํานองนี้ เพราะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่า วัดฮินดูเท่าที่มีอยู่ในยุคหลังต่อมา บางแห่งตั้งอยู่บนที่ ที่เคยเป็นวัดพุทธศาสนามาแต่เดิม เช่น วัดฮินดูนิกายไวษณพยิ่งใหญ่มากในปัจจุบัน ชื่อวัดชคันนาถ ที่เมืองปุรีในแคว้นโอริสสา ก็ตั้งซ้อนทับ วัดพุทธศาสนาที่เป็นของเดิม
ที่ว่ามานี้ จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาในอินเดีย คือความอ่อนแอของพระพุทธศาสนาในชนบท เพราะพระสงฆ์มารวมกันอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองสําคัญ โดยเฉพาะที่สถาบันใหญ่ๆ อย่างที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้
นอกจากนั้น สําหรับการศึกษาภายในสถาบันเอง เมื่อพระได้รับการอุปถัมภ์บํารุงจากทางการบ้านเมืองแล้ว เป็นอยู่สบาย ไม่ค่อยต้องอาศัยประชาชน ก็เลยทําให้ขาดความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ห่างเหินประชาชน ความสัมพันธ์กับชุมชนก็ลดน้อยลง
พร้อมกันนั้น ตัวพระเองก็หันมาสนใจศึกษาในเรื่องจําพวกปรัชญา ถกเถียงกันอยู่ในเรื่องทฤษฎีเหตุผลต่างๆ ทําให้เหินห่างจากการปฏิบัติที่แท้จริง ทั้งจากการปฏิบัติในชีวิตประจําวันที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และจากการปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนในไตรสิกขาอย่างแท้จริง
Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2567 19:12:13 น. |
|
0 comments
|
Counter : 188 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|