 |
|
|
|
 |
|
เรียบง่าย แต่ระวัง อย่าให้กลายเป็นมักง่าย |
|
เรียบง่าย แต่ระวัง อย่าให้กลายเป็นมักง่าย จะขอโยงเข้ามาหาเรื่องที่ตั้งเป็นคำถามไว้ดังที่ได้ยกตัวอย่างเรื่อง อินเดีย กับ ฝรั่ง คนอินเดีย อยู่อย่างไรก็ได้ ง่ายๆ แม้จะสกปรก รกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ยากจนเข็ญใจ ขาดแคลนยากไร้ ก็สบายใจและมีความสุขดีพอสมควร อย่างน้อยก็ไม่ค่อยเป็นโรคเส้นประสาท ส่วนฝรั่ง กระตือรือร้นขวนขวายเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา อยู่ไม่ได้กับความยากจน อยู่ไม่ได้กับสิ่งของน้อยๆ ต้องสร้างต้องทำขึ้นมาให้พรั่งพร้อม แต่ชีวิตกลับมีความเครียด มีความกระวนกระวาย เป็นโรคเส้นประสาทกันมาก ก็เลยมีคำถามว่าอันนี้เป็นทางเลือก ๒ ทางที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่จริงมันเป็นเพียงสุดโต่ง ๒ ทางที่เราจะต้องแก้ไขทั้งนั้น ไม่ใช่เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าตอบตามหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นสุดโต่ง ไม่ถูกทั้งสอง จะต้องแก้ไขให้พอดี สังคมอินเดียนี้ ถ้าพิจารณาในแง่หนึ่ง เพราะการที่อยู่ง่าย อย่างไรก็ได้ ก็เลยกลายเป็นมักง่ายไป มันเป็นความโน้มเอียงของจิตใจแบบปุถุชนอยู่แล้วว่า พอใจสบายเสียแล้ว ก็มักปล่อยเรื่อยเฉื่อย นั่นแหละคือความประมาท อะไรที่ควรทำ ก็ไม่ทำ หรือผัดเพี้ยนไปก่อน ฉะนั้น จึงได้บอกว่า ความง่าย แม้แต่ความเป็นอยู่เรียบง่ายอะไรนี้ มันไม่เป็นตัวตัดสินในตัวเอง ต้องระวังมาก มันต้องมาควบกับองค์ธรรมข้ออื่นด้วย มันต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะทำอะไรต่อไป ถ้ามันมาเฉพาะตัวมันแล้ว มันมาทำให้เราเกิดความพอใจสบายใจ ตัวความพอใจสบายใจนี่แหละจะนำมนุษย์ปุถุชนไปสู่ความหยุด ความเฉื่อยชา และความประมาท และจะนำไปสู่ความเสื่อม อย่างนี้ก็เรียกว่าปรับใจได้ หมายความว่า เขาพอใจในสิ่งง่ายๆ แม้แต่จะไม่มีอะไรก็อยู่กันได้ ปรับใจได้ พอใจสบายก็มีความสุข มองแคบๆ ก็ดูคล้ายว่าจะดี แต่ที่จริงอันนี้แหละจะนำไปสู่ความเกียจคร้าน ความมักง่าย ความเฉื่อยชา และความตกต่ำ ถ้าหากเขาพอใจแล้วสบายดี ไม่ต้องการมีอะไรจริงๆ เขาก็คงไม่ต้องมาเที่ยวขอรอขออยู่อย่างนี้ นี่อะไร พอใจอยู่ง่ายๆ สบายๆ แต่เจอใครแบมือขอทุกที จะเอา แต่ตัวเองไม่ทำ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ต่อไปจะติดเป็นนิสัย เอาง่ายเข้าว่า มองในแง่ดีอย่างหนึ่งว่า คนอินเดียมีความทุกข์ยากมาก ถ้าแกปรับใจไม่ได้จะยิ่งทุกข์หนักหนามากมาย การที่แกมีสภาพจิตใจอย่างนี้ ก็ช่วยแกไว้ได้มากทีเดียว มองอย่างนี้ก็ดีอยู่ เราต้องยอมรับ แต่ก็ไม่ทำให้พ้นโทษแห่งความประมาทไปได้ ขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า ตอนนี้เรากำลังพิจารณาเฉพาะด้านปัจจัยภายในก่อน ส่วนปัจจัยภายนอกก็ต้องพิจารณาด้วย อย่างคนจนยากไร้ของอินเดียนี้ เขาอาจมีปัญหาด้านนอกด้วยหลายอย่าง เช่น ความขาดโอกาส ความบีบคั้นครอบงำจากระบบสังคม โดยเฉพาะเรื่องชนชั้นวรรณะ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่สัมพันธ์กัน และพระพุทธเจ้าก็ทรงถือเป็นภาระที่จะต้องแก้ไข แต่ในที่นี้จะยังไม่เอาเข้ามาพิจารณา เดี๋ยวจะซับซ้อน เลยจะทำให้สับสน อีกอย่างหนึ่ง ที่พูดนี้มิได้หมายความว่าคนไทยดีกว่าคนอินเดีย หรือดีกว่าฝรั่ง (อาจจะแย่กว่าก็ได้) แต่การเอาเรื่องที่พบเห็นข้างนอกมาพูด จะมองเห็นและเข้าใจได้ง่าย จะได้เป็นคติเตือนใจแก่คนไทย
Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2567 7:53:52 น. |
|
0 comments
|
Counter : 283 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|