 |
|
|
|
 |
|
อินโดจีน ย้อนอดีตถึง ทวารวดี |
|
อินโดจีน ย้อนอดีตถึง ทวารวดี
ในดินแดนที่เป็นประเทศเวียดนามปัจจุบัน ก็เกิดอาณาจักรจัมปาของพวกจาม ขึ้นในคริสต์ ศตวรรษที่ 2 (ราว พ.ศ.๗๐๐; อาณาจักรจัมปาเริ่มถูกพวกอันนัมคือพวกเวียตนามโจมตี ในปี 939/๑๔๙๒ และถกพวกอันนัมนั้นทำลายสิ้นสลายไปในปี 1471/๒๐๑๔) ในดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ก็เกิดอาณาจักรฟูนัน (Funan ชื่อที่จีนเรียก; สันนิษฐานกันว่าคือ “พนม”) ขึ้นใน ค.ศต. 1 (ราว พ.ศ.๖๐๐) ต่อมาอาณาจักรฟูนันได้เสื่อมลง จนถูกแทนที่โดยอาณาจักรเจนละ (เป็นคำจีนเรียกเช่นกัน; สันนิษฐานกันว่า คำจริงคือ “จันทระ”) ซึ่งรุ่งเรื่อง ใน ค.ศต. 6 และ 7 แล้วเลือนรางไป เกิดมี อาณาจักรเล็กๆน้อยๆ มากมาย อยู่ราว ๒๐๐ ปี จึงถึงยุคขอมยิ่งใหญ่ คืออาณาจักรพระนคร/Angkor ที่คนไทยคุ้นกับคำว่า “นครวัด นครธม/Angkor Wat & Angkor Thom” ซึ่งเจริญในช่วง ค.ศต. 9 ถึงกลาง ค.ศต. 15 แล้วค่อยๆ หดสลายเพราะความเข้มแข็งขึ้นมาของสุโขทัยและอยุธยา จนสิ้นสุดลงด้วยการเกิดอาณาจักรเขมรที่พนมเปญ/Phnom Penh ในกลาง ค.ศต. 15 นั้น ส่วนลาว อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ไม่ติดทะเลเลย ไม่อยู่ในเส้นทางที่จะต้องผ่านต้องแวะ และภาวะของประเทศเขตแดน ในสมัยโบราณ ก็เป็นเรื่องต่างจากปัจจุบัน Indianized kingdoms ก็ขยายจากทางฝั่งทะเลเข้ามา ไม่ต้องพูดแยกต่างหาก ไทย และพม่า ส่วนที่ใกล้มาทางทะเล ในอดีตกาลนานไกล เป็นดินแดนของชนชาติมอญสมัยโบราณ และมีเรื่องราวบ่งบอกว่าได้ติดต่อกับชมพูทวีปมาแต่ก่อน ค.ศ. คือเกิน ๒,๐๐๐ ปีแล้วเมื่อเสร็จสังคายนาครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ.๒๓๕/309 BC (นับแบบฝรั่งเป็น 249 BC) ได้แก่ การที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอุปถัมภ์การส่งพระศาสนทูตสายที่ ๙ มีพระโสณะ และพระอุตตระเป็นหัวหน้า มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ ซึ่งทางไทยว่า ได้แก่ จังหวัดนครปฐม และพม่าว่า คือ เมืองสะเทิม หนังสือ The Oxford Illustrated Encyclopedia (1993) ถึงกับบอกว่า “ดินแดนส่วนที่เป็นแหลมของประเทศไทยปัจจุบัน น่าจะเป็นส่วนแรกสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการติดต่ออย่างสืบเนื่องกับอินเดีย โดยพวกพ่อค้าฮินดูจากอินเดียใต้” (ที่ว่านี้คงหมายถึงยุคหลังจากพระเจ้าอโศกด้วยซ้ำ และฝรั่งบางทีใช้คำว่า “ฮินดู” แบบคลุมๆ โดยรวมพุทธศาสนาเข้าไปด้วย) มอญในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ตลอดถึงโคราช) ได้เจริญขึ้นเป็นอาณาจักรทวารวดี (เคยเรียกกันมาว่า “ทวาราวดี”) และรุ่งเรืองอยู่นาน ตั้งแต่ ค.ศต. 6 จนถึงปลาย ค.ศต. 11 เทียบว่าราว พ.ศ. ๑๐๐๐–๑๖๐๐ โดยเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย และเป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชมพูทวีป (บางตำราว่าเป็นดุจหน้าต่างที่มองดูอินเดีย) ต่อจากนั้น อาณาจักรมอญก็ถูกอาณาจักรที่เจริญขึ้นมาใหม่พิชิตได้บ้าง กลืนไปบ้าง จนสิ้นยุคทวารวดี ใน ค.ศต.ที่ 13 คือ ราวพ.ศ.๑๘๐๐ เริ่มด้วยรามัญรัฐในแดนพม่า ที่เมืองสะเทิม (เรียกเป็นบาลีว่า สุธัมมนคร/สุธรรมนคร ฝรั่งเขียน Thaton) ถูกพระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ (ฝรั่งเขียน Anawrahta) มหาราชแห่งมรัมมะคือพุกาม ได้แก่ พม่า จากเมืองอริมัททนะ ยกมาตีได้ใน ปี 1057/๑๖๐๐ (คัมภีร์ สาสนวงส์นับแบบพม่าเป็น พ.ศ.๑๖๐๑) อาณาจักรทวารวดีส่วนอื่นๆ ค่อยๆ อ่อนแรงลงไป เมื่ออาณาจักรขอมโบราณรุ่งเรืองขึ้นในช่วง ค.ศต. 11 จนถึงปลาย ค.ศต. 13 คือราว พ.ศ.๑๕๐๐ เศษ ถึง พ.ศ.๑๘๐๐ โดยเฉพาะในดินแดนประเทศไทย อาณาจักรทวารวดีได้เลือนหายไป โดยถ่ายทอดศาสนาและวัฒนธรรม ให้แก่อาณาจักรไทย เริ่มด้วยสุโขทัยที่เจริญขึ้นมาแทนที่ เริ่มแต่ พ.ศ.๑๘๐๐
Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2567 20:12:04 น. |
|
0 comments
|
Counter : 240 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|