 |
|
|
|
 |
|
|
ดุลยภาพพื้นฐาน ที่ประสานคน กับ ธรรมชาติและสังคม
หันไปพูดในเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นระดับพื้นฐาน จะขอยกตัวอย่างอีกคู่หนึ่งที่สำคัญมาก เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คู่นี้คือชื่อของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว พระพุทธศาสนานี้ประกอบด้วยองค์ หรือส่วนประกอบใหญ่ ๒ ส่วน ซึ่งเป็นชื่อเดิมแท้ของพระพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ที่เราเรียกกันว่าพระพุทธศาสนานั้น ที่จริง คำว่า “พระพุทธศาสนา” เป็นคำนิยมในสมัยหลัง คำว่าพระพุทธศาสนาก็แปลว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้า” เท่านั้นเอง ถ้าเอาความหมายตามตัวอักษร ก็แคบมาก ไม่ใช่ชื่อเดิมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด
ชื่อเดิมนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าเรียกพระศาสนาของพระองค์ว่าอะไรแน่ เดิมพระพุทธเจ้าทรงเรียกพระศาสนานี้ว่า ธรรมวินัย บางครั้ง เรียกเน้นในภาคปฏิบัติว่า พรหมจริยะ แต่ตอนนี้เราเอาชื่อว่า “ธรรมวินัย” แม้แต่ตอนที่จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
“ธรรมและวินัย ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลายจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป" (ที.ม.๑๐/๑๔๑) อันนี้แหละหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา พุทธพจน์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในพุทธพจน์นี้ ยังเรียกเน้นแต่ละอย่างแยกเป็น ๒ คำ ถ้าดูโดยทั่วไป พระพุทธเจ้าตรัสเรียกรวม เป็นคำเดียวว่า "ธรรมวินัย" หลักนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นต้องครบ ๒ อย่าง จึงจะมีดุลยภาพ ถ้าเอาอย่างเดียว อาจจะเสียดุล เรื่องธรรมวินัยต้องมีดุลยภาพระหว่างกัน แล้วมันจะเป็นตัวตรวจสอบกันด้วย ทำให้เกิดความพอดี มิฉะนั้นอาจจะเอียงข้างไป ธรรมและวินัยนี้เป็น ๒ ก็จริง แต่เวลามาเป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนา ในภาษาบาลีท่านใช้เป็นเอกพจน์ เรียกว่า “ธมฺมวินโย” สองในความเป็นหนึ่ง หรือหนึ่งจากสองมารวมกันเข้า เหมือนชีวิตของเรา เป็นสภาพหนึ่งเดียวที่เกิดจากนามและรูป ซึ่งจะต้องมีดุลยภาพ นามและรูป ๒ อย่าง เวลารวมกันในภาษาบาลีเป็น เอกพจน์ว่า “นามรูปํ” ท่านถือเป็นหนึ่ง นามญฺจ รูปญฺจ รวมกันเข้าเป็น นามรูปํ ธมฺโม จ วินโย จ รวมกันเข้าเป็น ธมฺมวินโย เป็นอันหนึ่งอันเดียว จากสองเป็นหนึ่ง ธรรมคืออะไร อันนี้แหละโยมจะต้องมาทำความชัดเจนกันหน่อย ธรรมนั้น เป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นอย่างนั้น เช่นสิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยในระบบความสัมพันธ์ของมันอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญา ทรงค้นพบความจริงนั้น แล้วนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่าย แต่ธรรมก็อยู่อย่างนั้นแหละ ฉะนั้น ธรรม ก็คือธรรมดา และสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา การที่จะเอาธรรม มาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่มนุษย์นี้ ต้องมีวิธีการ มนุษย์มีจำนวนมาก อยู่กันเป็นสังคม การที่จะเอาธรรมมาทำให้เกิดประโยชน์แก่แต่ละคน ก็ต้องให้แต่ละคนเข้าใจ ต้องเที่ยวสั่งสอนให้มีความรู้เข้าใจแต่ละคนไป ช้าเสียเวลา สิ้นเปลืองพลังงานมากมาย ทำอย่างไรจะให้ธรรมเกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมาก ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมนี้ ก็ต้องวางเป็นระบบ ต้องมีการจัดตั้ง จะได้เกิดโอกาส และมีวิธีการที่จะทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงธรรมนั้นได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้น มาจัดตั้งวางระบบขึ้นสำหรับมนุษย์ การจัดตั้งวางระบบแบบแผน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ที่หมู่มนุษย์จะเอาธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือได้ประโยชน์จากธรรม เรียกว่าเป็น วินัย (อย่าเข้าใจวินัยในความหมายแคบๆ แบบภาษาไทย) การที่จะจัดตั้งวางระบบเป็นวินัยที่ได้ผล ก็ต้องรู้ถ่องแท้ในธรรมก่อน และวินัยที่จัดตั้งนั้นก็ต้องสอดคล้องกับธรรม ทั้งนี้ที่จัดตั้งวางวินัยนั้น ก็เพื่อให้คนหมู่มากได้ประโยชน์จากธรรม ดังนั้น ธรรมจึงเป็นทั้งฐาน เป็นทั้งจุดหมาย และเป็นบรรทัดฐานของวินัย ที่เป็นระบบจัดตั้งทุกอย่างของสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง หรือระบบทางสังคม อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ความรู้ในความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา แล้วสามารถใช้ความรู้นั้น มาจัดตั้งวางเป็นระบบสำหรับมนุษย์ได้นี้ เป็นความสามารถพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี ทำไมเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ค้นพบธรรมเหมือนพระพุทธเจ้า รู้ เข้าถึงความจริง หมดกิเลส แต่ทำไม่ได้ตอนวางวินัย ได้แค่รู้ความจริง เข้าถึงธรรม แต่จัดวางวินัยไม่ได้ คือวางระบบแบบแผนขึ้นมาให้ธรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ หรือหมู่มนุษย์จำนวนมากนั้นไม่ได้ ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็เพราะมีความรู้ความสามารถทั้ง ๒ อย่าง ๑. มีปัญญา ที่เป็นโพธิญาณ อันสามารถเข้าถึงสัจธรรม รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ๒. มีปัญญา ที่เป็นพลญาณ อันสามารถนำเอาความรู้ในความจริงนั้น มาประกาศและจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์ ยังประโยชน์สุขให้แผ่ขยายออกไป เริ่มจากสั่งสอนให้มนุษย์อื่นเข้าใจได้ ฉะนั้น วินัย จึงเกิดจากพระปรีชาสามารถส่วนพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กลั่นกรองธรรม นำมาจัดวางเป็นระเบียบชีวิต และระบบสังคมของมนุษย์ เช่น การจัดตั้งชุมชน (คือ สังฆะ) จัดการโครงสร้างของชุมชนนั้น การจัดวางระบบวิธีเกี่ยวกับการที่จะได้มา การครอบครอง การใช้ การแบ่งสรรแจกจ่ายวัตถุปัจจัย ๔ เป็นต้น การกำหนดว่าจะกิน จะอยู่ อะไรอย่างไร การวางระบบสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน การจัดสภาพแวดล้อม ว่าทำอย่างไรให้เกื้อหนุนต่อการที่บุคคลจะพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าถึงและได้ประโยชน์จากธรรม ว่าตามภาษาปัจจุบันก็คือ การจัดตั้งวางระบบแบบแผนต่างๆ ในสังคมมนุษย์ เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง และระบบทางสังคม ไม่ว่าอย่างใดๆ พูดอีกสำนวนหนึ่ง หรือมองพลิกไปอีกด้านหนึ่ง ระบบของธรรมและวินัย ก็คือระบบขององค์ประกอบ ๓ อย่าง กล่าวคือ คน ธรรมชาติ และสังคม คน เป็นตัวโยงระหว่างธรรมชาติกับสังคม เพราะคนเดียวกันนี้ มองด้านหนึ่ง เขาเป็นชีวิต ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ในเวลาเดียวกัน มองอีกด้านหนึ่ง เขาเป็นบุคคล ที่เป็นสมาชิก หรือเป็นส่วนร่วมของสังคม เมื่อใดคนที่เป็นตัวเชื่อมกลางนี้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่ เรียกว่า ธรรม ปัญญาที่พาเขาเข้าถึงธรรม ก็จะทำให้เขาสามารถมาจัดวางระบบการอยู่ร่วมสังคม ให้เกิดผลดีแก่ชีวิตในธรรมชาติ และโยงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต เข้ากับการดำเนินการด้านบุคคลในทางสังคม ด้วยสิ่งที่เรียกว่า วินัย ได้อย่างสำเร็จผลด้วย นี้คือ ดุลยภาพใหญ่ที่สำคัญยิ่ง แต่จะต้องเอาไว้พูดเป็นเรื่องต่างหาก ในโอกาสอันควร
Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2567 |
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2567 17:21:32 น. |
|
0 comments
|
Counter : 211 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|